กระดิ่งของพ่อขุนรามคำแหง

Socail Like & Share

สัญญาณระฆังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรก ก็น่าจะได้แก่กระดิ่งของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชซึ่งแขวนที่ประตูวัง ใครทุกข์ร้อนเจ็บท้องข้องใจ ก็ไปสั่นกระดิ่งอันนั้น พ่อขุนรามคำแหงได้ยินก็จะออกมาถาม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เคยมีหอกลองประจำเมือง ๓ ใบ ไว้สำหรับตีบอกเหตุต่างๆ กัน คือ ใบหนึ่งชื่อ “ย่ำพระสุรีย์ศรี’’ ใช้ตีบอกเวลายํ่ารุ่ง ย่ำค่ำและเที่ยงคืน ใบหนึ่งชื่อ “อัคคีพินาศ” ใช้ตีเวลาเกิดเพลิงไหม้ ใบหนึ่งชื่อ “พิฆาตกระดิ่งพ่อขุนรามฯไพรี” ใช้ตีเวลาเกิดศึกสงครามสำหรับเรียกระดมพล แต่หอกลองทั้งสามนี้ได้ถูกรื้อไปเสียนานแล้วด้วยว่าเหตุทั้งสามอย่างนั้นไม่จำเป็นต้องใช้กลองแล้ว ยิ่งสมัยนี้ขืนใช้กลองบอกเหตุเวลาเกิดเพลิงไหม้ ก็เห็นจะถูกเพลิงไหม้ไปหมดเมือง คนก็ยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพราะมีเสียงอื่นกลบเสียงกลองเสียหมด ส่วนการบอกเวลานั้นเมื่อเลิกกลองก็ใช้ยิงปืนบอกเวลาเมื่อเวลาเที่ยงวันแต่ก็ใช้เฉพาะในกรุงเทพมหานคร จนมีสำนวนเย้ยคนที่อยู่ไกลความเจริญว่าไกลปืนเที่ยง ต่อมาประเพณีการยิงปืนเที่ยงก็เลิกไปอีกเพราะมีนาฬิกาเข้ามาแทนเทียบเวลาใช้ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

เครื่องให้สัญญาณอีกอย่างหนึ่งของไทยเรา ซึ่งใช้มาแต่โบราณกาลก็ เห็นจะเป็นฆ้อง ฆ้องนั้นมีหลายประเภทและหลายขนาด ถ้าเป็นฆ้องที่ใช้บอกเวลาก็เป็นฆ้องขนาดใหญ่ เพื่อเวลาตีจะได้ยินไปไกลสมัยตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็ใช้ฆ้องตีบอกเวลาคู่กับกลองโดยตีกลองบอกเวลากลางคืน ส่วนฆ้องนั้นบอกเวลากลางวัน เสียงกลองและเสียงฆ้องนี้เองเป็นต้นเหตุของคำว่าทุ่มและโมง คือเสียงกลองดังตูม ตูมหรือตุ้มๆ ส่วนเสียงฆ้องนั้นดังโหม่งๆ ดังนั้นเราจึงเรียกเวลากลางคืนว่าหนึ่งทุ่ม สองทุ่ม ส่วนเวลากลางวันเราเรียกว่า ๑ โมง ๒ โมงดังนี้

ฆ้องนอกจากจะตีบอกเวลาและขานยามแล้วยังมีฆ้องอีกชนิดหนึ่งเรียกกันว่าฆ้องระวัง ใช้สำหรับตีเมื่อจะประกาศกฎหมายหรือข่าวคราวให้ราษฎรทราบ ผู้ที่ตีฆ้องชนิดนี้เรียกว่านายฉมอง หรือฉม่อง จึงมีคำที่กล่าวกันติดปากว่า ‘‘ตีฆ้องร้องป่าว” การป่าวประกาศนี้ ใช้ประกาศความชั่วของคนก็มี เช่นกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลข้อหนึ่งว่า

‘‘ถ้าคนอยู่ในพระราชวังออกไปเองก็ดี ผู้ใดลักพาไปขายก็ดี ทำชู้เมียก็ดี ให้ทวนผู้ลักนั้นด้วยลวดหนัง ๕๐ ที แล้วให้สักรูปคนไว้ในหน้า เอาเฉลวปะหน้าให้นายฉม่องตีฆ้องรอบเมือง” ก็คือตีฆ้องร้องประจานอย่าให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างนั่นเอง

ฆ้องอีกอย่างหนึ่งเรียกฆ้องชัย ใช้สำหรับตีเวลายกทัพ หรือทำพิธีมงคลการต่างๆ ฆ้องชนิดนี้เมื่อตีแล้วต้องโห่เอาชัยด้วยจึงเรียกว่าฆ้องชัย

พูดถึงฆ้องแล้วฆ้องอะไรๆ ก็ดีหมด เว้นแต่คนที่เราเรียกว่า ฆ้องปากแตกเท่านั้น ที่ไม่ค่อยมีใครชอบคนที่มีลักษณะเป็นฆ้องปากแตกนั้น ใครบอกความลับอะไร หรือรู้เรื่องอะไรมาเป็นเอาไปโพนทนาหรือเล่าให้ใครต่อใครฟังจนหมดตลอดหัวบ้านท้ายบ้านทีเดียว คนชนิดนี้ระวังตัวให้ดี ขืนไปเล่าเรื่องไม่ดีของคนอื่นบ่อยๆ อาจจะถูกฟ้องร้องหาว่าหมิ่นประมาท ใส่ความเขาได้ง่าย

ตอนนี้ตั้งใจจะพูดถึงเรื่องระฆังเท่านั้น แต่ทำไมถึงพูดเรื่องกลองและฆ้องไปก็ไม่ทราบ เห็นจะเป็นเพราะเป็นเครื่องตีให้สัญญาณด้วยกันนั่นเอง ทีนี้กลับมาพูดถึงเรื่องระฆัง ต่อไปดีกว่า

ถ้าท่านเคยไปไหว้พระพุทธบาทที่สระบุรี หรือที่ไหนๆ ที่ตามรอบๆ บริเวณเขามักจะมีระฆังแขวนไว้เป็นระยะๆ ระฆังเหล่านี้แขวนไว้เพื่อให้คนที่ไปทำบุญแล้วได้ตี ว่ากันว่าเมื่อทำบุญแล้วต้องตีระฆัง เพื่อให้เทวดาบนสวรรค์ได้ยินและรับรู้ด้วยว่าเราได้ทำบุญแล้วเพื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์หรือให้เทวดาลงบัญชีฝ่ายบุญไว้ก็ไม่ทราบแน่เหมือนกัน  แต่ที่พระพุทธบาทนั้นใครไปแล้วก็ต้องได้ยินเสียงระฆังไม่ขาดเสียงที่เดียว แม้ท่านสุนทรภู่เองก็ได้พรรณนาไว้ใน นิราศพระบาทของท่านว่า

ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ
ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์

ปี่ระนาดฆ้องกลองประโคมดัง
ระฆังหงั่งหงั่งลงครางครืม”

การทำบุญแล้วตีระฆังเป็นเรื่องของประเพณีโบราณ แต่สมัยนี้ระฆังเกือบไม่มีความหมาย เพราะคนเราเวลาทำบุญต้องประกาศหนังสือพิมพ์ ประกาศทางวิทยุ และสุดท้ายที่ดีที่สุดก็คือ ประกาศทางโทรทัศน์เห็นทั้งหน้าตาท่าทางและบางทีก็มีเสียงด้วย นับว่าก้าวหน้าไปไกล เทวดาคงจะจำได้แม่นเป็นแน่

อย่างไรก็ตามระฆังนั้นเป็นของกู่กับวัดมากกว่าบ้าน ตามวัดของเราจึงนิยมสร้างหอระฆังกันแทบทั้งนั้น

บางวัดกุฏิพระเกือบจะพังมิพังแหล่ แต่สร้างหอระฆังราคาเป็นแสนๆ ประโยชน์ที่ได้มีเพียงนิดเดียวถ้าอย่างอื่นมีพร้อมแล้ว จะสร้างหอระฆังให้สวยงามอย่างไร ก็ไม่น่าเสียหายอะไร หอระฆังเป็นสัญญลักษณ์ของวัดอย่างหนึ่ง นายนรินทร์อินทร์จึงพรรณนาความงามของวัดไว้ในนิราศนรินทร์ว่า

“โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น    ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน        พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน            ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว        ค่ำฟ้าเฟือนจันทร์

พูดเรื่องระฆังมาก็พอสมควรแล้ว ขืนพูดยาวความไปก็จะกลายเป็นฆ้องปากแตก ลำบากเสียเปล่าๆ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี