ปฏิสนธิ

Socail Like & Share

ปฏิสนธิ (การถือกำเนิด) นั้นมี ๒๐ จำพวก ซึ่งจัดได้เป็น ๓ กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง คือ กามาพจร ปฏิสนธิ ๑๐, กลุ่มที่สองคือ รูปาวจร ปฏิสนธิ ๖, กลุ่มที่สาม คือ อรูปาวจร ปฏิสนธิ ๔

กามาพจรปฏิสนธินั้น ได้แก่การถือกำเนิดของสัตว์ในกามภูมิ จำแนกออกได้เป็น ๑๐ จำพวก คือ จำพวกที่หนึ่ง ภพภูมิเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบาปอารมณ์ที่ไม่ดี พร้อมด้วยความวางเฉย จำพวกที่สอง เกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ อารมณ์ที่ดี พร้อมด้วยความวางเฉย จำพวกที่สาม เกิดด้วยจิตที่เกิดเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดีมีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สี่ เกิดด้วยจิตที่เกิดโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่ห้า เกิดด้วยจิตที่เกิดเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่หกเกิดด้วยจิตที่เกิดโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี ไม่มิภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เจ็ดถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งครัดจริงจัง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่แปดถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน พร้อมด้วยความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เก้า เกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สิบเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม

รูปาวจรปฏิสนธิ ๖ นั้น ได้แก่การเกิดของสัตว์ในรูปภูมิ จำแนกออกเป็น ๖ จำพวก คือ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของรูปฌาน ๕ จำพวก และถือกำเนิดด้วยรูปอย่างเดียว ๑ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของรูปฌาน ๕ จำพวกนั้น ได้แก่ จำพวกที่หนึ่งเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ  จำพวกที่สาม เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่สี่ เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่ห้า เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่หกเกิดด้วยรูปอย่างเดียว พรหมที่มีรูปร่างอันเรียกว่า รูปพรหมนั้น ย่อมเกิดด้วยปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้

อรูปาวจรูปฏิสนธิ ๔ ได้แก่การเกิดของสัตว์ในอรูปภูมิ คือ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของอรูปฌาน ๔ จำพวก ได้แก่ จำพวกที่หนึ่ง เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน ที่กำหนดอากาศอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ จำพวกที่สอง เกิดด้วยจิต ที่เป็นผลของฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ จำพวกที่สาม เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดภาวะไม่มีอะไรๆ แม้แต่น้อยเป็นอารมณ์ จำพวกที่สี่ เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดภาวะที่มีสัญญาละเอียดยิ่ง จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่เป็นอารมณ์ พรหมทั้งหลายที่หารูปมิได้ ย่อมเกิดด้วยปฏิสนธิจิต ๔ อย่างนี้

ปฏิสนธิใน ๓ ภูมิ คือ กามาวจรปฏิสนธิ ๑๐ รูปาวจรปฏิสนธิ ๖ และ อรูปาวจรปฏิสนธิ ๔ จึงรวมเป็นปฏิสนธิ ๒๐

สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมินรกนั้น เกิดด้วยกำเนิดผุดขึ้นอย่างเดียว คือ พอเกิดขึ้นมาก็มีรูปกายโตใหญ่ในทันใด และเกิดด้วยจิตซึ่งเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิของเปรต ภูมิสัตว์เดรัจฉาน และในภูมิของอสุรกาย มีลักษณะในการเกิดเช่นเดียวกัน คือมีจิตเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย

สรรพสัตว์ในภูมิเดรัจฉาน ภูมิเปรต ภูมิอสุรกาย ทั้ง ๓ ภูมินี้ เกิดด้วย กำเนิด ๔ อย่าง บางครั้งเกิดจากไข่ บางครั้งจากครรภ์ จากไคล หรือเกิดผุดขึ้น มีจิตซึ่งเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย

สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิมนุษย์ย่อมถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิได้ทั้ง ๑๐ อย่าง (กามาวจรปฏิสนธิ ๑๐) ถ้าเป็นคนมีบุญถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิ ๙ อย่าง แลคนที่มีบาปและพวกเทวดาชั้นตํ่า ถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลแห่งอกุศลที่เกิดพร้อมด้วยความวางเฉย พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี

ผู้รู้หลักเหตุผล ผู้มีสติปัญญา ผู้รู้บุญและบาป และผู้รู้ธรรม เป็นต้นว่า พระโพธิสัตว์ ย่อมถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิ ๘ จำพวก คือ จำพวกที่หนึ่ง เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สอง เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยสิ่งชักจูง มีความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่สามเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สี่เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่ห้า เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่หกเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความวางเฉยมีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เจ็ด เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึมชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่แปด เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม

สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิของเทวดา ๖ ชั้น เรียกว่า ฉกามาพจร ซึ่งเริ่มด้วย ชั้นจาตุมหาราชิกา นั้นเกิดด้วยกำเนิดผุดขึ้นอย่างเดียวคือ เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด และเกิดด้วยปฏิสนธิทั้ง ๘ จำพวกดังกล่าวแล้ว การกล่าวถึงกามาพจรปฏิสนธิ ๑๐ จำพวก และกำเนิด ๔ ในกายภูมิ จบลงเพียงเท่านี้

ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นแรกนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขสบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใด พิจารณาฌานเพียงเล็กน้อย ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปาริสัชชา หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลาง ก็จะไปเกิด ในพรหมชั้นปโรหิตา และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นมหาพรหม ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้คือ ปฐมฌานภูมิ

ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นที่สองนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรอง ความอิ่มใจ ความสุข สบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลาง ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาฌาน และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก จะไปเกิดในพรหมชั้น อาภัสสรา ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้ คือ ทุติยฌานภูมิ

ผู้เป็นพรหมฌานภูมิชั้นที่สามนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานเพียงลางเลือน ก็จะได้ไปเกิดในพรหมชั้น ปริตตสภา หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลาง ก็จะไปเกิดในพรหมชั้น อัปปมาณสภา และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นสุภกิณหา ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้ คือ ตติยฌานภูมิ

ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นที่สี่นั้นเกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ และจะได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลา และชั้นสุทธาวาส ๕ อันเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีและพระอรหันต์ อันได้แก่ชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ส่วนพรหมชั้นอสัญญีสัตตาภูมิ เกิดด้วยรูปปฏิสนธิอย่างเดียว ปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้ ชื่อว่า รูปาวจปฏิสนธิ

ผู้เป็นพรหมในอรูปาวจรภูมิ ๔ ชั้น ซึ่งเป็นปัญจมฌานภูมินั้น เมื่อเกิดในชั้นอากาสานัญจายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตเพ่งความว่างเปล่า หรืออากาศเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้นวิญญาณัญจายตนะ ก็ไม่มีรูปกายเช่นกัน เกิดด้วยจิตเพ่งวิญญาณ อันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้น อากิญจัญญายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตเพ่งภาวะไม่มีอะไรแม้แต่น้อยเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตซึ่งเพ่งภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งสิ้น ๓๑ ภูมิ ซึ่งจัดอยู่ใน ไตรภูมิ

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน