การเลี้ยงปลาดุก

Socail Like & Share

ปลาดุกเป็นปลาที่ชาวไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารประจำวัน และถือว่าเป็นปลาที่มีรสดีชนิดหนึ่ง ถึงแม้จะมีขายอยู่ตามตลาดทั่วไปก็ตาม แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง ได้เคยมีผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้มานานแล้ว ปรากฏว่าเลี้ยงง่ายโตเร็วและอดทนต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสะดวกในการขนส่งM2061M-1014ในระยะไกล ฉะนั้นจึงมีผู้สนใจเลี้ยงปลาดุกมากขึ้นตามลำดับ โดยพยายามหาซื้อลูกปลาที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาเลี้ยง บางครั้งก็ได้มากและบางครั้งก็ได้น้อยไม่แน่นอน ประกอบกับความต้องการของผู้เลี้ยงมีมากขึ้น จึงทำให้พันธุ์ปลาดุกราคาสูงและหาได้ยากยิ่งขึ้น

กรมประมง จึงได้ทดลองและค้นคว้าหาวิธีเพิ่มพูนปริมาณลูกปลา เช่นการเพาะพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้เลี้ยง ตลอดจนวิธีเลี้ยงปลาที่ถูกต้องให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการโดยถูกหลักวิชาและเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจ

เนื่องจากปลาดุกที่รู้จักกันแพร่หลายนั้นมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ปลาดุกด้านและปลาดุกอุย จากผลการทดลองค้นคว้า ปรากฏว่าปลาดุกด้านมีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงมากกว่าปลาดุกอุย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการสมควรที่จะเสนอเรื่องราวและคำแนะนำการเลี้ยงปลาดุกด้านแก่ผู้ที่สนใจดังต่อไปนี้

แหล่งกำเนิด
แหล่งของปลาชนิดนี้ มีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำจืดในเขตร้อนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย หมู่เกาะบอเนียว ฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศเรานั้นพบตามลำคลอง หนอง บึง ทั่วทุกภาคของประเทศ

นิสัยของปลาดุก
ตามธรรมชาติปลาดุกชอบอยู่ในลำคลอง หนอง บึง บ่อ ที่น้ำจืดสนิท พื้นดินเป็นโคลนตม ปลาดุกมีนิสัยชอบหาอาหารตามหน้าดิน เป็นปลาที่มีตาเล็กผิดส่วนกับขนาดของตัว แต่มีหนวดซึ่งรับความรู้สึกได้ดี ฉะนั้น ปลาดุกจึงใช้หนวดมากกว่าใช้ตาเมื่อหาอาหารตามพื้นหน้าดิน ตามปกติปลาดุกมีนิสัยว่องไว ชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่ถ้านำมาเลี้ยง อาจให้อาหารจำพวกพืช และสามารถหัดให้ปลาดุกขึ้นมากินอาหารบนผิวน้ำได้

ลักษณะของปลาดุก
ปลาดุกเป็นปลาที่อยู่ในสกุล (Clarias) ลักษณะโดยทั่วไปนั้นเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ดตัวยาวเรียว ครีบหลังยาวไม่มีกระโดง ครีบท้องยาวเกือบถึงโคนหาง มีหนวด ๔ คู่ และมีอวัยวะช่วยในการหายใจ ซึ่งช่วยให้ปลาดุกอดทนสามารถอยู่พ้นน้ำได้นาน ความแตกต่างของปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) และปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) นั้นอยู่ที่กระดูกท้ายทอย ปลาดุกด้านมีกระดูกท้ายทอยแหลมกว่าของปลาดุกอุย ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญ นอกนั้นมีลักษณะอื่นอีก เช่นสีที่ลำตัวซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความชำนาญ

ลักษณะเพศของปลาดุก
การแยกเพศนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะก่อนที่จะนำปลาไปทำการเพาะพันธุ์ต้องทราบเพศของปลาเสียก่อนว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ลักษณะของเพศที่เห็นได้ง่ายและเด่นชัดคือ ตัวผู้ที่บริเวณใกล้ช่องทวารมีอวัยวะแสดงเพศลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา ถ้าเป็นตัวเมียอวัยวะแสดงเพศจะสั้นกว่าและค่อนข้างกลม ปลาดุกที่จะทราบเพศได้ดีนั้นต้องเป็นปลาที่มีขนาดยาวเกินกว่า ๑๕ เซนติเมตรขึ้นไป นอกจากนี้ฤดูวางไข่ ส่วนท้องของปลาตัวเมียจะอูมเป่งกว่าปกติ ซึ่งเป็นลักษณะที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าฝักไข่เจริญเต็มที่ ถ้าเอามือบีบเบาๆ ที่ท้องของตัวเมียจะมีไข่ออกมา

ฤดูที่ปลาดุกวางไข่
จากการศึกษาและสังเกตการณ์วางไข่ของปลาดุกตามธรรมชาติทราบว่า ปลาดุกจะเริ่มวางไข่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ระยะที่ปลาดุกวางไข่มากนั้นคือ ในระหว่างเดือนที่มีฝนตกชุก และในระยะนี้จะพบปลาดุกตามท้องนาและคูเสมอ ฉะนั้นในการที่จะเพาะพันธุ์ปลาดุก จึงควรทำการเพาะในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น

การเพาะปลาดุก
ก. การเตรียมสถานที่เพาะปลาดุก โดยที่ปลาดุกสามารถวางไข่ได้ในท้องนาและคู หรือในทำเลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ฉะนั้นการเตรียมสถานที่สำหรับเพาะปลาดุก ก็ควรอนุโลมตามสภาพธรรมชาติที่ปลาดุกวางไข่ เท่าที่ได้ทำการทดลองได้ผลมาแล้วนั้นได้ใช้บ่อกว้างแระมาณ ๕ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ลึก ๗๕ เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อการดูแลได้สะดวก ควรตั้งอยู่ในที่เงียบสงัดห่างไกลจากการรบกวน นอกจากการใช้บ่อดังกล่าวแล้ว อาจใช้คูซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกันเป็นที่เพาะปลาดุกได้ผลดีเหมือนกัน

ข. การเตรียมที่วางไข่  เนื่องจากธรรมชาติปลาดุกเป็นปลาที่วางไข่ตามชายน้ำก่อนที่จะวางไข่นั้นพ่อปลาดุกจะกัดดินทำโพรงเพื่อวางไข่ ฉะนั้นในการเพาะปลาดุกจึงควรขุดโพรงที่ริมบ่อหรือคูให้ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ให้ปากโพรงกว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ที่ก้นโพรงควรเป็นแอ่งกว้างกว่าที่ปากโพรงเล็กน้อยวิธีนี้ดัดแปลงมาจากการใช้หม้อนมแขก โอ่งปากกว้าง หม้อหรือหวดนึ่งข้าวเหนียว ซึ่งใช้ในการเพาะพันธุ์ปลาจำพวกเดียวกัน ได้ผลมาแล้วในต่างประเทศ แต่วิธีการขุดโพรงดังกล่าวแล้วข้างต้น เป็นวิธีการที่ทุ่นรายจ่ายและได้ผลดีมาก เหมาะสมที่จะใช้ในประเทศเรา

อนึ่งการเตรียมโพรงเพื่อให้ปลาวางไข่ ควรให้โพรงอยู่ห่างกันพอสมควร จำนวนโพรงนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนพ่อแม่พันธุ์ปลาที่จะใช้เพาะในสถานที่นั้นๆ

ค. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ควรจะเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีขนาดสมบูรณ์เป็นปลาที่เติบโตเร็วไม่มีโรคพยาธิ มีไข่และน้ำเชื้อแก่เต็มที่ นอกจากนี้ควรจะเป็นปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน โดยปกติควรใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีขนาดตั้งแต่ ๒๐ เซนติเมตรขึ้นไป

ง.  อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะ ถ้าผู้เลี้ยงปลามีบ่อหรือคูจำนวนจำกัด ภายหลังที่ใช้บ่อหรือคูในการเพาะปลาแล้ว จะใช้บ่อนี้เลี้ยงลูกปลาไปจนโตก็ได้ อัตราส่วนที่เหมาะสำหรับผู้ที่จะเพาะปลาดุกโดยวิธีนี้ ควรใช้พ่อแม่พันธุ์ขนาดใหญ่ประมาณ ๑๐ คู่ ต่อเนื้อที่บ่อ ๒๐๐ เมตร

ถ้าหากว่าผู้เลี้ยงปลาดุกมีบ่อหลายบ่อ ภายหลังที่เพาะปลาดุกในบ่อด้วยวิธีดังกล่าวแล้วก็อาจจะช้อนปลาดุกขนาด ๒-๓ เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกปลาดุกยังไม่แตกฝูงนำไปเลี้ยงในบ่อที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงลูกปลาอีกต่างหากก็ได้ แล้วใช้บ่อเดิมนั้นเป็นบ่อสำหรับเพาะลูกปลารุ่นอื่นอีกต่อไป ทั้งนี้จะเพาะได้อีกประมาณ ๒ รุ่น โดยปล่อยพ่อแม่ปลาชุดใหม่ลงไปครั้งละประมาณ ๑๐ คู่ ถ้าหากว่าถ้าบ่อดังกล่าวสามารถถ่ายเทน้ำได้สะดวก ภายหลังที่เพาะปลาดุกรุ่นแรกแล้ว ควรจะระบายน้ำออกโดยจับพ่อแม่ปลารุ่นแรกออก กำจัดศัตรูและตบแต่งหลุมวางไข่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย จากนั้นจึงไขน้ำใหม่เข้าเพื่อเพาะปลูกปลารุ่นต่อไป

จ. การวางไข่และการผสมพันธุ์ การวางไข่และการผสมพันธุ์ของพ่อและแม่ปลาที่ปล่อยนั้น จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความอ่อนแอของไข่และน้ำเชื้อ รวมทั้งสภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้ามีฝนตกชุก อุณหภูมิของน้ำพอเหมาะพอดี ปลาดุกก็จะวางไข่และผสมพันธุ์เร็วขึ้น คือหลังจากที่ได้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ ๓-๗ วัน ในฤดูวางไข่ฤดูหนึ่งๆ ปลาดุกสามารถจะวางไข่ได้ประมาณ ๒ ครั้ง และปลาดุกคู่หนึ่งสามารถให้กำเนิดลูกปลาได้ประมาณ ๒,๐๐๐-๕,๐๐๐ ตัว

ในขณะที่ปลาผสมพันธุ์กันนั้น เราจะสังเกตเห็นได้ว่าตัวผู้และตัวเมียจะว่ายเข้าออกในบริเวณโพรง การวางไข่ ตัวเมียจะวางไข่ติดดินหรือติดกับรากหญ้าบริเวณก้นหลุม ไข่ปลาดุกมีลักษณะสีเหลืองอ่อนขนาดประมาณ ๑ มิลลิเมตร ภายหลังจากการวางไข่และผสมพันธุ์แล้วปลาตัวผู้จะเฝ้าดูแลรักษาไข่ ซึ่งอยู่ในโพรงจนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว และจนถุงไข่แดง ซึ่งอยู่ที่บริเวณท้องของลูกปลายุบ ทั้งนี้จะกินเวลาประมาณ ๕-๗ วัน ในระหว่างนี้ลูกปลาจะผุดขึ้นผุดลงเพื่อหายใจบนผิวน้ำบริเวณโพรง

การรวบรวมพันธุ์ปลาดุกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
นอกจากทำการเพาะปลาดุกในบ่อ คู ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้เลี้ยงปลาดุกยังอาจรวบรวมพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้อีกด้วยสำหรับลูกปลาขนาดเล็กสามารถรวบรวมได้ในฤดูเดียวกันกับระยะที่เพาะปลาในบ่อ ส่วนลูกปลาขนาดโตจะสามารรถรวบรวมได้จากแอ่งน้ำที่ปลาตกคลักในขณะน้ำลด

แหล่งที่จะรวบรวมลูกปลาดุกนั้น มักจะเป็นบริเวณคู หรือคลองที่มีกระแสน้ำเล็กน้อย หรือในน้ำนิ่งตามท้องทุ่งทั่วๆ ไป และในแหล่งน้ำจืดซึ่งมีระดับน้ำตั้งแต่ ๕๐ เซนติเมตรขึ้นไป ลักษณะของแหล่งที่ปลาดุกจะวางไข่ตามธรรมชาติ มักจะเป็นบริเวณท้องทุ่งที่มีหญ้าปกคลุมเล็กน้อย หรือที่บริเวณชายน้ำ ริมคู คลอง ปลาดุกจะทำหลุมหรือโพรง ปากโพรงจะอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำ ๒๐-๒๕ เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕-๓๐ เซนติเมตร

วิธีรวบรวมลูกปลาดุกสามารถกระทำได้โดยง่าย ปกติแล้วผู้รวบรวมลูกปลามักลงไปในน้ำ และใช้มือคลำตามชายน้ำตามทำเลที่เหมาะสม ครั้งแรกเมื่อพบหลุมหรือโพรง ก็ใช้มือค่อยๆ คลำลงไปที่ก้นหลุมหรือโพรงนั้น ถ้าลักษณะก้นหลุมหรือโพรงลื่นเป็นมัน แสดงว่าปลาดุกกำลังกัดแอ่งเพื่อที่จะวางไข่ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นพ่อแม่ปลาดุกว่ายเข้าออกในบริเวณนั้น ถ้าปลาดุกไข่แล้ว ไข่จะติดอยู่ที่ผิวดินหรือติดกับรากหญ้าที่บริเวณก้นหลุมหรือโพรงนั้น ถ้าปลาดุกวางไข่ใหม่ๆ เมื่อเอามือคลำจะรู้สึกว่ามีเม็ดเล็กๆ ติดอยู่ที่ก้นหลุม หากหยิบขึ้นมาพร้อมกับดินในบริเวณนั้นจะเห็นเม็ดสีเหลืองอ่อน ขนาดประมาณเม็ดสาคูเล็ก แต่ถ้าไข่ฟักออกเป็นตัวแล้ว เมื่อเอามือคลำลงไปจะรู้สึกว่ามีสิ่งที่เคลื่อนไหวมากระทบมือ แสดงว่ามีลูกปลาดุกอยู่ในที่นั้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกปลาที่มีอยู่ในหลุมโพรงนั้นแข็งแรงพอที่จะตักออกไปเลี้ยงในบ่อได้หรือยัง ผู้รวบรวมลูกปลามักจะใช้กระชอนช้อนลูกปลาขึ้นมาดู ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกปลายังมีถุงไข่แดงติดอยู่ที่ส่วนท้องก็ควรทิ้งไว้ในหลุมหรือโพรงนั้นอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วจึงค่อยกลับมาช้อนเอาลูกปลาไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลภายหลัง

การอนุบาลลูกปลา
การอนุบาลลูกปลาดุกนั้นทำได้หลายวิธีตามความจำเป็นของผู้เลี้ยง โดยอาจแบ่งออกดังต่อไปนี้

ก. การอนุบาลในบ่อดิน ปรากฏว่าลูกปลาดุกเจริญเติบโตดีกว่าการอนุบาลในบ่ออื่น ทั้งนี้เนื่องจากในบ่อดินมีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ ช่วยให้ลูกปลาเจริญเติบโตได้เร็ว บ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลาแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. บ่อดินขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้มีความประสงค์เลี้ยงลูกปลาไว้ชั่วระยะหนึ่ง เพื่อจำหน่าย บ่อขนาดนี้นอกจากจะเป็นบ่อพักลูกปลาแล้วยังสะดวกในการดูแลรักษา ตลอดจนการคัดขนาดและการจับเพื่อจำหน่าย การคัดขนาดมีความจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลา โดยเฉพาะปลาดุกเป็นอย่างมาก เพราะปลากินกันเอง ปลาที่มีขนาดโตกว่าจะกินปลาที่ขนาดเล็กกว่า บ่อดินขนาดเล็กที่ใช้ทั่วไปควรมีขนาด ๒-๓ ตารางเมตร น้ำลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร และควรปล่อยลูกปลาขนาดเล็กลงเลี้ยงประมาณ ๑๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ตัว

๒. บ่อดินขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่จะเลี้ยงลูกปลาดุกให้เติบโตเป็นขนาด ๓-๕ นิ้วไว้จำหน่าย บ่อดังกล่าวนี้เมื่อปล่อยปลาลงเลี้ยงไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่กับลูกปลานัก เพราะการปล่อยปลาลงในบ่อขนาดใหญ่ดังกล่าว อัตราส่วนที่ปล่อยน้อยกว่าที่ปล่อยเลี้ยงในบ่อขนาดเล็ก คือประมาณตารางเมตรละ ๑,๐๐๐ ตัว ลูกปลาดุกที่อนุบาลในบ่อขนาดใหญ่นี้จะมีความเจริญเติบโตรวดเร็ว เพราะในบ่อมีอาหารธรรมชาติเพียงพอ ข้อเสียสำหรับการอนุบาลลูกปลาในบ่อขนาดใหญ่นี้ก็คือ เลี้ยงลูกปลามีขนาด ๓-๕ นิ้ว จะปรากฏว่าอาจเสียหายได้ถึง ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการคัดขนาดของลูกปลา โดยใช้ปลาขนาดเดียวกันเลี้ยงรวมกันจะได้ผลดีกว่าการเลี้ยงปลาคละต่างขนาดกัน บ่อดินขนาดใหญ่ที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาดุกมักใช้ขนาด ๑๐๐-๒๐๐ ตารางเมตร

ข. การอนุบาลในบ่อหรือถังซีเมนต์ การอนุบาลลูกปลาดุกโดยวิธีนี้สะดวกในการถ่ายเปลี่ยนน้ำ ตลอดจนการดูแลรักษาและการคัดขนาดปลาที่โตออก แต่ในบ่อหรือถังซีเมนต์นี้ไม่มีอาหารธรรมชาติเพียงพอ จึงทำให้ลูกปลาเติบโตช้ากว่าที่ควร นอกจากนั้นข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ อาจทำให้เกิดมีบาดแผลที่ปาก ลำตัวและครีบของลูกปลาอันเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคได้ง่าย บ่อหรือถังซีเมนต์ที่นิยมใช้มีขนาดประมาณ ๑ ตารางเมตร สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร

ค. การอนุบาลด้วยกระชัง การอนุบาลลูกปลาดุกด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้กับคู คลอง หรือแหล่งน้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะใช้แหล่งน้ำดังกล่าวเป็นที่ลอยกระชัง ส่วนดีของการอนุบาลลูกปลาด้วยวิธีนี้คือ น้ำถ่ายเทได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการคัดลูกปลาที่ต่างขนาดออก กระชังที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปทำด้วยตะแกรงลวดอลูมิเนียมขนาดช่องตาเล็กเท่าช่องตาของมุ้งลวด และควรมีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๑.๕ เมตร ลึก ๙๐ เซนติเมตร กระชังขนาดนี้อนุบาลลูกปลาได้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ตัว เหมาะสำหรับอนุบาลลูกปลาดุกไว้ชั่วคราวเพื่อจำหน่ายต่อไป

การเลี้ยงปลาดุกขนาดใหญ่
ก. การเตรียมบ่อ สำหรับเลี้ยงปลาดุกนั้น ควรจะได้พิจารณาเป็นพิเศษแตกต่างกว่าการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาชนิดอื่น ทั้งนี้เนื่องจากปลาดุกมีนิสัยชอบหนีออกจากบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะขณะที่ฝนตกน้ำไหลลงไปในบ่อ ปลาจะว่ายทวนน้ำออกไป ฉะนั้นการเตรียมบ่อปลาควรจะได้หาทางป้องกันไว้ด้วย โดยทั่วๆ ไปนิยมใช้ล้อมขอบบ่อด้วยรั้วไม้รวก หรือเฝือก สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ในบางแห่งใช้ต้นหมากทาบขนานกับขอบบ่อโดยรอบ สำหรับผู้ที่มีบ่ออยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลอง คู ก็ควรพิจารณากรุภายในบ่อด้วยไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเจาะชอนหนีไปได้

ข. อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยง ในเนื้อที่ ๑ ตารางเมตร ควรปล่อยปลาที่มีขนาดยาว ๗-๑๐ เซนติเมตร ประมาณ ๕๐ ตัว ถ้าปลาที่มีขนาดเล็กกว่านี้ก็ควรปล่อยประมาณตารางเมตร ๘๐ ตัว สำหรับบ่อที่มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวกจะเพิ่มจำนวนปลาให้มากกว่านี้เล็กน้อยก็ได้ แต่ไม่ควรปล่อยให้มากเกินไปจนแน่น จะทำให้ปลาเติบโตช้า และทำอันตรายกันเอง

อาหารและการให้อาหาร
ก. อาหารลูกปลา หลังจากที่นำลูกปลาซึ่งมีถุงไข่แดงยุบหมดแล้วมาเลี้ยง ควรจะให้อาหารจำพวกไรน้ำประมาณ ๕-๗ วัน ทุกวันในเวลาเช้าและเย็น ต่อจากนั้นก็ให้อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้แก่
๑. อาหารจำพวกแมลง เช่น ปลวก ลูกน้ำ ไรน้ำ ฯลฯ
๒. เนื้อสัตว์ เช่น เศษเนื้อวัว ควาย ปลา ไส้เป็ด ไส้ไก่ เลือด และเครื่องใน ฯลฯ
๓. เนื้อกุ้ง หอย และปูต่างๆ
๔. เนื้อสัตว์จำพวกกบ เขียด และอื่นๆ ตามแต่จะหาได้และเหมาะสม

อาหารจำพวกเนื้อสัตว์เหล่านี้ จะต้องนำมาสับจนละเอียด แต่สำหรับเนื้อปลานั้นอาจใช้ต้มทั้งตัวแล้วจึงให้ลูกปลากิน แต่ระวังอย่าให้อาหารมากจนเกินไป จะทำให้ปลาตาย เนื่องจากอาหารที่กินเข้าไปย่อยไม่ทัน ทั้งอาหารที่เหลือกินจะทำให้น้ำเสียได้ง่าย นอกจากอาหารจำพวกเนื้อแล้ว อาหารจำพวกพืช เช่น กากถั่ว รำต้ม กากมัน ก็นิยมใช้เป็นอาหารสมทบได้

หลักในการให้อาหารแก่ลูกปลานั้น ควรให้อาหารวันละประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักรวมของปลาที่เลี้ยงทั้งหมด แต่ทั้งนี้ให้สังเกตดูว่าอาหารที่ให้จะเหลือมากน้อยเพียงใด ถ้าเหลือมากควรลดปริมาณอาหารลงบ้าง การให้อาหารแต่ละครั้งควรให้ปริมาณที่ปลาจะกินได้หมดในเวลาไม่มากนัก

ข. อาหารปลาใหญ่ ปลาดุกเป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งเนื้อและผัก ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็นพวกดังนี้

๑. อาหารจำพวกเนื้อได้แก่ เนื้อปลาเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมตามแต่จะหาได้ หรือเครื่องใน เช่น เครื่องในของโคและสุกรตลอดจนเลือดสัตว์ และพวกแมลงเช่นปลวก หนอน ตัวไหมตลอดจนไส้เดือน ฯลฯ

๒. อาหารจำพวกพืชผัก ได้แก่รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้งข้าวโพด แป้งมันและผักต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มอาหาร สำหรับปลาที่เลี้ยงอาจจะให้มูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลหมู และมูลแพะ ฯลฯ โดยจัดตั้งคอกเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ใกล้กับบ่อปลา มูลสัตว์เหล่านี้จะเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ปลาดุกได้เป็นอย่างดี

โดยทั่วๆ ไปแล้ว ปลาดุกชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าอาหารประเภทพืชและประเภทแป้ง แต่การให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์แต่อย่างเดียว ปลาเจริญเติบโตไม่ได้สัดส่วน ทำให้ตัวอ้วนสั้น มีไขมันมากเกินไป ดังนั้นการให้อาหารปลาดุก เพื่อจะให้เจริญเติบโตได้สัดส่วนและมีน้ำหนักดี ควรจะให้อาหารจำพวกพืช และแป้งปนสลับอาหารประเภทเนื้อ ในอัตราส่วนอาหารประเภทเนื้อ ๓๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ของอาหารประเภทพืชและแป้ง

สำหรับการให้อาหารนั้น ควรจะให้เป็นเวลาและควรจะให้อาหารมากกว่า ๑ ที่ เพื่อจะให้ปลากินอาหารได้ถึงกัน ไม่เป็นการอัดแอและทำอันตรายกันเองได้ ปริมาณของอาหารนั้น ให้พิจารณาตามความมากน้อยของปริมาณปลาที่ปล่อยเลี้ยง และควรให้ประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักของปลาทั้งหมดที่ปล่อยเลี้ยงดังกล่าวแล้วในข้างต้น

การจับปลา
ปลาดุกที่นิยมซื้อขายกันในท้องตลาดนั้นเป็นปลาขนาดพองามประมาณ ๓-๕ ตัวต่อ ๑ กิโลกรัม ปลาดุกขนาดดังกล่าวนี้มีอายุประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี ทั้งนี้สุดแล้วแต่ผู้เลี้ยงเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาขนาดใดลงเลี้ยง ประกอบกับปริมาณและประเภทของอาหารที่ให้ ฤดูและระยะเวลาที่ควรจับปลาดุกส่งจำหน่ายยังตลาดนั้น ควรจะพิจารณาจับจำหน่ายในฤดูที่ปลาขาดแคลนซึ่งจะทำให้ราคาดี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี