การเลี้ยงปลาสลิด

Socail Like & Share

ลักษณะและธรรมชาติ
ปลาสลิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster Pectoralis (Regan) เป็นพันธุ์ปลาน้ำจืดของเมืองไทย มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่แต่มีขนาดโตกว่า มีครีบท้องเป็นเส้นยาวเส้นเดียว ลำตัวมีสีค่อนข้างดำเป็นสีพื้นและมีริ้วดำพาดปลาสลิด1ขวางตามลำตัวจากหัวถึงโคนหาง มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย และมีชุกชุมมากในภาคกลาง

ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะที่จะสังเกตว่าผิดกันได้ง่าย คือตัวผู้มีลำตัวยาวเรียว สันหลังและสันท้องเกือบเป็นสันตรงขนานกัน มีครีบหลังยาวจรดหรือเลยโคนหาง มีสีตัวเข้มกว่าตัวเมีย ส่วนตัวเมียมีสันท้องยาวมนไม่ขนานกับสันหลัง และครีบหลังมักมนไม่ยาวจนถึงโคนหาง สีตัวจางกว่าตัวผู้ ในฤดูวางไข่ท้องจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง

ปลาสลิดชอบอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ตามหนองและบึง จึงสามารถที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อและในนาได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น ผู้ที่มุ่งหวังจะเพาะเลี้ยงปลาสลิดเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมากจะต้องมีการตระเตรียม และปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

บ่อปลาสลิด
บ่อที่จะใช้เลี้ยงปลาสลิด ควรมีชานบ่อกว้างอย่างน้อย ๑ เมตร สำหรับให้ปลาวางไข่ ผิดกับบ่อเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ต้องมีชานบ่อ บ่อเลี้ยงปลาสลิดนี้ขนาดเล็กที่สุดควรจะต้องกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร และลึก ๑.๕ เมตร ถ้าอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลองมีทางระบายถ่ายเทน้ำได้สะดวกด้วยแล้วนับว่าเป็นทำเลที่ดี

การเตรียมบ่อ
๑. การใส่ปูนขาว บ่อที่ขุดใหม่โดยทั่วไปแล้วดินมักจะเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโดยให้ทั่วบ่อจำนวน ๑ กิโลกรัมต่อเนื้อที่ ๑๐ ตารางเมตร การใส่ปูนขาวลงไปก็เพื่อแก้ความเป็นกรดของดินให้เจือจางลง เพราะปูนขาวมีคุณสมบัติเป็นด่างอย่างแรง เมื่อความเป็นกรดของดินลดลงไปแล้ว น้ำที่ปล่อยเข้ามาในบ่อสำหรับเลี้ยงปลาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงสภาพจากธรรมชาติคือ รักษาความเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อยไว้ได้ ซึ่งน้ำดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลาต่อไป

๒. การกำจัดสิ่งรก ถ้าเป็นบ่อเก่าที่มิเคยใช้เลี้ยงปลาก็ควรกำจัดพืชต่างๆ ที่รกรุงรังในบ่อปลาให้หมด หากบ่อตื้นเขินไม่เหมาะแก่การเลี้ยงปลาก็จัดการสูบน้ำออก ลอกเลนและตบแต่งคันบ่อให้มั่นคงแข็งแรงแล้วควรตากบ่อให้แห้งประมาณ ๑ สัปดาห์ เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าและกำจัดเชื้อโรคต่างๆ

สำหรับบ่อเก่าที่ไม่จำเป็นจะต้องลอกเลน หลังจากได้กำจัดสิ่งรกต่างๆ ในบ่อหมดสิ้นแล้ว ถ้ามีน้ำอย่างพอเพียงก็สามารถจะใช้เลี้ยงปลาได้เลย แต่ก่อนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาลงเลี้ยงควรจะใช้โลติ๊นฆ่าศัตรูต่างๆ ของปลาในบ่อให้หมดสิ้นเสียก่อน โดยใช้โลติ๊นสดหนัก ๑ กิโลกรัมต่อน้ำ ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร ทุบโลติ๊นให้ละเอียดแช่น้ำไว้ โลติ๊นสดหนัก ๓ กิโลกรัม ใช้น้ำประมาณ ๒ ปีบขยำสีขาวออกหลายๆ ครั้งจนหมดแล้วนำไปสาดให้ทั่วๆ บ่อปลา ปลาต่างๆ ที่เป็นศัตรูจะเริ่มตายภายหลังที่ใส่โล่ติ๊นลงไปประมาณ ๓๐ นาที จากนั้นจะตายเรื่อยๆ จนหมดบ่อที่ใส่โลติ๊นแล้วควรทิ้งไว้ประมาณ ๗-๘ วัน เพื่อให้โลติ๊นสลายตัวหมดเสียก่อนจึงค่อยนำพันธุ์ปลาสลิดปล่อยลงเลี้ยงต่อไป

๓. การเตรียมเพาะตะไคร่น้ำ เนื่องจากตะไคร่น้ำ(Algae) เป็นอาหารจำเป็นสำหรับลูกปลาสลิดขนาดเล็กและใหญ่ ฉะนั้นในขณะที่กำลังตากบ่ออยู่เพื่อมิให้เสียเวลาควรจะเตรียมการเพาะอาหารธรรมชาติสำหรับปลาไปด้วยในตัว วิธีเพาะอาหารธรรมชาติดังกล่าวนี้ ก็โดยใช้ปุ๋ยคอกโรยให้ทั่วบ่อ อัตราส่วนปุ๋ยคอก ๑๐๐ กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ ๑ ไร่ แล้วจึงค่อยไขน้ำเข้าบ่อให้มีระดับน้ำสูงจากก้นบ่อประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ ๗-๑๐ วัน ตะไคร่น้ำหรือที่เรียกว่าขี้แดดก็จะเกิดขึ้นในบ่อ จากนั้นจึงค่อยปล่อยน้ำเข้าบ่อตามระดับที่ต้องการ

ถ้าเป็นบ่อใหม่ ภายหลังที่ใส่ปุ๋ยและปล่อยน้ำเข้ามาแล้ว ควรนำเชื้อตะไคร่น้ำที่หาได้จากน้ำที่มีสีเขียวจัดโดยทั่วไปมาใส่ลงในบ่อ เพื่อเร่งให้เกิดตะไคร่น้ำเร็วขึ้น

๔. การใส่พันธุ์ไม้น้ำในบ่อปลา ในบ่อปลาสลิดควรใส่พันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง พังพวย และผักกะเฉด เพื่อให้เหมาะกับนิสัยและความเป็นอยู่ของปลาสลิด ทั้งนี้นอกจากพันธุ์ไม้น้ำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ปลาในทางเป็นอาหารและร่มเงาแล้ว ยังเป็นที่สำหรับปลาจะวางไข่ในฤดูฝน (ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม) อีกด้วย ปลาจะหาทำเลที่วางไข่ตามที่ตื้นและมีพันธุ์ไม้น้ำเพื่อก่อหวอดวางไข่ กิ่ง ใบ และก้าน จะเป็นสิ่งสำคัญในกายึดเหนี่ยวหวอดมิให้ลมพัดแตกกระจัดกระจายไป และเมื่อไข่ปลาฟักออกเป็นตัวแล้วก็จะเป็นที่ให้ลูกปลาได้อาศัยเลี้ยงตัวกำบังร่มเงา และหลบหลีกศัตรูได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง การปลูกพันธุ์ไม้น้ำดังกล่าวควรจะปลูกตามบริเวณชานบ่อ มิใช่โยนกอผักไว้กลางบ่อจะทำให้ผักไม่งาม ผักซึ่งขึ้นอยู่ตามบริเวณชานบ่อที่มีน้ำตื้นๆ เหมาะสำหรับจะเป็นที่อาศัยและเป็นที่วางไข่ของปลาสลิดมากกว่าผักที่ขึ้นอยู่กลางบ่อ

๕. การใส่ปุ๋ย บ่อปลาบางแห่งปุ๋ยธรรมชาติในดินไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดจุลินทรีย์ คือ สัตว์ที่มีชีวิตเล็กๆ ในน้ำเป็นอาหารแก่ลูกปลาได้ จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยคอกได้แก่มูลโค มูลกระบือที่ตากแห้งแล้วโรยตามริมบ่อ ในอัตราเนื้อที่บ่อ ๑๖๐ ตารางเมตร (ผิวน้ำ) ต่อปุ๋ย ๑๐ กิโลกรัม ปกติการใส่ปุ๋ยนี้ควรจะกระทำในเวลา ๒-๓ เดือน ต่อครั้ง

อนึ่งการที่จะให้บ่อปลามีอาหารธรรมชาติอยู่เสมอนี้จะกระทำได้โดยนำปุ๋ยหมักไปกองไว้ที่ริมบ่อด้านใดด้านหนึ่ง ปุ๋ยหมักนี้ใช้หญ้าสดที่ดายทิ้งกองอัดให้แน่น แล้วควรใส่ปุ๋ยคอกผสมลงไปด้วยเพื่อให้หญ้าสดสลายตัวเร็วเข้า จะได้เป็นประโยชน์แก่จุลินทรีย์และไรน้ำต่างๆ เจริญเติบโตและเป็นอาหารของปลาสลิดต่อไป

๖. การปล่อยปลาสลิดลงเลี้ยง เวลาที่เหมาะในการปล่อยปลาลงบ่อก็คือ เวลาเช้าตรู่หรือเวลาเย็น เพราะเวลาดังกล่าวน้ำในบ่อไม่ร้อนจัด ปลาที่ปล่อยลงไปจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายและไม่ตาย อัตราส่วนของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงนั้น ในเนื้อที่ผิวน้ำ ๑ ตารางเมตร ควรใช้ปลาประมาณ ๕-๑๐ ตัว เป็นอย่างมาก

การเพาะพันธุ์ปลาสลิด
๑. การคัดเลือกพันธุ์ปลาสลิด ปลาสลิดที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ควรเลือกตัวที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง สมบูรณ์ไม่มีแผล ครีบ และหางไม่แตก ปลาสลิดขนาดที่สืบพันธุ์ได้ลำตัวจะยาวกว่า ๑๐ เซนติเมตรขึ้นไป อัตราส่วนตัวผู้และตัวเมียที่จะปล่อยลงในบ่อนั้นควรกำหนดให้ตัวเมีย ๑ ตัวต่อตัวผู้ ๑ ตัว

๒. การจัดที่ให้ปลาสลิดวางไข่ ปลาสลิดจะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนสิงหาคมหรือในฤดูฝน แม่ปลาตัวหนึ่งจะวางไข่หลายครั้ง ครั้งละประมาณ ๔,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ฟอง  ฉะนั้นการจัดบ่อเพาะเลี้ยงปลาสลิดนี้ จึงควรให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม คือ หลังจากที่ได้กำจัดศัตรู ระบายน้ำเข้าและปล่อยพันธุ์ปลาลงบ่อแล้ว ควรปลูกผักบุ้งรอบบริเวณชานบ่อ ซึ่งมีน้ำลึกเพียง ๒๐-๓๐ เซนติเมตร ปลาสลิดจะเข้าไปก่อหวอดวางไข่ และลูกปลาจะเลี้ยงตัวหลบหลีกศัตรูอยู่ตามบริเวณชานบ่อนี้

จากผลการทดลองเพาะเลี้ยงพบว่า ถ้าได้จัดบ่อด้วยวิธีต่อไปนี้แล้วจะได้ลูกปลาสลิดรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมาก
(๑) ระบายน้ำเข้าบ่อผ่านตะแกรงที่มีช่องตาขนาด ๑ มิลลิเมตร จนท่วมชานบ่อโดยรอบ ให้มีระดับสูง ๒๐-๓๐ เมตร ปลาจะเข้าก่อหวอดวางไข่มากขึ้น ทั้งอาณาเขตบ่อก็จะกว้างขวางกว่าเดิม ย่อมเพิ่มที่วางไข่และที่เลี้ยงตัวของลูกปลามากขึ้นด้วย

(๒) สาดปุ๋ยมูลโคและมูลกระบือแห้งบริเวณชานบ่อที่ไขน้ำให้ท่วมขึ้นมาใหม่นั้น ตามอัตราที่ได้กำหนดไว้ในเรื่องการใส่ปุ๋ยแล้วจะทำให้เกิดไรน้ำ และช่วยทำให้ผักหญ้าบนชานบ่อเจริญงอกงาม

(๓) ปล่อยให้ผักหญ้าขึ้นรกในบริเวณชานบ่อ ผักหญ้าเหล่านี้ปลาสลิดชอบเข้าไปก่อหวอดวางไข่ และเป็นที่กำบังหลบหลีกศัตรูของลูกปลาในวัยอ่อน จนกว่าจะแข็งแรงหลบหลีกลงน้ำลึกได้

๓. การวางไข่ จากผลการทดลองเพาะเลี้ยง จะสังเกตการวางไข่ของปลาสลิดได้ คือ
ก่อนจะเริ่มวางไข่ ตัวผู้เป็นฝ่ายตระเตรียมการ ชั้นแรกตัวผู้จะเลือกสถานที่ มักจะก่อหวอดในระหว่างต้นผักบุ้งโปร่งๆ ไม่หนาทึบเกินไป เพราะปลาสลิดตัวเมียชอบวางไข่ในที่ร่มมากกว่ากลางแจ้ง ตัวผู้จะเป็นผู้จัดหาที่ที่เห็นว่าเหมาะสม แล้วเริ่มก่อหวอดเช่นเดียวกับปลากัด ปลากริม และปลากระดี่

เมื่อได้ตระเตรียมหวอดเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นปลาก็จะเริ่มผสมพันธุ์กัน ตัวผู้จะเริ่มไล่ต้อนตัวเมียเข้าใต้บริเวณหวอดและรัดท้องตัวเมียให้ไข่ออกและผ่านน้ำเชื้อ แล้วตัวผู้ก็จะอมไข่นี้ไปพ่นเข้าใต้หวอด ไข่จะลอยติดอยู่ที่หวอด แม่ปลาจะวางไข่จนกว่าจะหมดรุ่นของไข่แก่ในคราวหนึ่ง ลักษณะของไข่เป็นสีเหลือง

ปลาสลิดนั้นนอกจากจะเพาะให้ขยายพันธุ์ในบ่อดังกล่าวมาแล้วยังใช้วิธีเพาะในภาชนะได้ ดังจะได้อธิบายให้ทราบต่อไปนี้คือ

จากการที่ทดลองได้ผลมาแล้ว ใช้ถังไม้สักปากกว้าง ๑.๕๐ เมตร ยาว ๓ เมตร ลึก ๖๐ เซนติเมตร ใช้น้ำคลองที่สะอาดใส่น้ำลึกเพียง ๔๐ เซนติเมตร วางไว้กลางแจ้ง ทำเป็นเพิงคลุมถังขนาด ๒ ใน ๔ ของถังเพื่อกำบังแดด ใช้ผักบุ้งลอยไว้ในถัง ๓ ใน ๔ ของถัง ปล่อยแม่ปลาที่กำลังมีไข่แก่ลงไป ๑๐ ตัว ตัวผู้ ๑๐ ตัว หลังจากปล่อยลงถังเพียง ๔-๖ วัน ปลาสลิดจะเริ่มก่อหวอดวางไข่ ไข่ปลาจะฟักเป็นตัวและเติบโตเช่นเดียวกับการเพาะฟักในบ่อดิน จากนั้นจึงช้อนพ่อปลาแม่ปลาออก เลี้ยงลูกปลาในถังนี้ไปก่อน โดยให้ไข่ผงหรือไรน้ำเป็นอาหารไปสัก ๒ สัปดาห์ ต่อจากนี้ควรให้รำผงละเอียดต่อไปจนกว่าจะโตมีขนาดยาวได้ ๒ เซนติเมตร จึงปล่อยลงบ่อเลี้ยงต่อไป

อนึ่ง นอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีวิธีเพาะลูกปลาสลิดอีกวิธีหนึ่งคือ ช้อนหวอดไข่จากในบ่อเพาะเลี้ยงนำมาเพาะฟักในถังไม้สักจนลูกปลาสลิดโตแล้วจึงปล่อยลงในบ่อ วิธีนี้ช่วยให้ลูกปลาสลิดมีชีวิตรอดอยู่ได้จำนวนมากกว่าที่จะปล่อยให้เจริญเติบโตในบ่อเพาะเลี้ยงเอง เพราะในบ่อย่อมมีศัตรูของปลาสลิดอยู่เสมอไม่มากก็น้อย เช่น แมลงในน้ำ กบ ปลา งู ฯลฯ ซึ่งอาจจะคอยทำลายไข่และลูกปลา แต่อย่างไรก็ดี การกระทำโดยวิธีช้อนรังไข่จากบ่อมาเพาะฟักในถังไม้นี้ ยังไม่ดีเท่ากับปล่อยพ่อปลาแม่ปลาลงผสมกันในถังไม้ดังกล่าวในตอนต้น เพราะการช้อนหวอดไข่มาเพาะฟักในถังนั้นอาจมีแมลงในน้ำและไข่ปลาบางชนิดติดปะปนมากับหวอดเป็นศัตรูต่อลูกปลาสลิด ทำให้ลูกปลาสลิดรอดชีวิตน้อยกว่าวิธีแรก

การเจริญเติบโต
ไข่ปลาสลิดจะเริ่มฟักเป็นตัวภายในระยะ ๒๔ ชั่วโมง โดยทยอยออกเป็นตัวเรื่อยๆ ไข่จะออกเป็นตัวหมดภายใน ๔๘ ชั่วโมง แต่ไข่บางฟองที่ไม่ได้รักการผสมจะเป็นราสีขาวไม่ออกเป็นตัว

ลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ยังมีถุงอาหารติดอยู่ที่ท้องและจะยังไม่กินอาหารจนกว่าจะพ้น ๗ วันไปแล้ว เมื่อถุงอาหารยุบหมดจึงจะเริ่มกินอาหารต่างๆ และเมื่อมีอายุได้ ๗ เดือน จะมีความยาวตั้งแต่ ๑๐ เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นขนาดที่จะสืบพันธุ์ได้ต่อไปอีก

การให้อาหาร
อาหารปลาสลิดชอบกินก็คือ ตะไคร่น้ำ รำละเอียด หรือปลายข้าวต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นแล้ว แหนสด และปลวก

ตะไคร่น้ำและไรน้ำเป็นอาหารของลูกปลาในวัยอ่อนอายุตั้งแต่ ๗ วัน ถึง ๑ เดือน เมื่อปลามีอายุได้ ๒๑ วัน ก็ควรลองให้รำข้าวอย่างละเอียดต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นละเอียดหรือแหนสดและปลวกบ้าง เพราะลูกปลาบางตัวโตเร็วจนสามารถกินอาหารดังกล่าวได้บ้างแล้ว

สำหรับผักบุ้งที่จะใช้ต้มปนกับรำนั้น ควรใช้ผัก ๑ ส่วน รำ ๒ ส่วน โดยต้มผักให้เปื่อยเสียก่อน แล้วจึงเอารำลงไปเคล้าแล้วปั้นเป็นก้อน ให้เพียงวันละ ๒ ครั้งในเวลาเช้า โดยจัดวางบนแป้นใต้ระดับน้ำ ๑ คืบ ควรกะให้ปลากินหมดพอดีในวันหนึ่งๆ ถ้าเหลือข้ามวันไปจะบูดเน่าทำให้น้ำเสียได้ แต่การที่จะกำหนดปริมาณอาหารให้แน่นอนลงไปเป็นการยากที่จะคำนวณได้ เพราะปลาย่อมเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน อาหารที่ให้ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเสมอ

ในการให้อาหารนี้ ควรพยายามให้เป็นเวลาและในระหว่างที่อากาศยังไม่ร้อน เช่นระหว่าง ๗.๐๐ นาฬิกา ถึง ๘.๐๐ นาฬิกา และในตอนเย็นก่อนจะวางอาหารบนแป้นไม้ ควรดีดน้ำให้เป็นสัญญาณปลาจะได้เคยชินแล้วเชื่องด้วย

โรค
ตามธรรมชาติ ปลาสลิดไม่ค่อยจะเป็นโรคร้ายแรง ทั้งยังไม่เคยปรากฏว่ามีโรคระบาดขึ้นในบ่อปลาสลิดเลย เว้นจากน้ำในบ่อจะเสีย และจะสังเกตได้โดยปลาขึ้นลอยหัวเพราะออกซิเจนที่จะละลายในน้ำไม่เพียงพอจึงต้องขึ้นหายใจบนผิวน้ำ ในเรื่องนี้ต้องระวังให้มาก ปลาอาจตายหมดทั้งบ่อ วิธีแก้ไขก็คือ ต้องถ่ายน้ำเก่าออกและระบายน้ำใหม่เข้า หรือย้ายปลาไปไว้ในบ่ออื่น อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในฤดูร้อนปรากฏว่ามักจะเกิดตัวเห็บน้ำ (Natirlouse) เกาะติดตามตัวปลา ตัวเห็บน้ำนี้จะเกาะดูดเลือดของปลากิน ทำให้ความเจริญเติบโตของปลาชะงัก  ถ้ามีเพียงเล็กน้อยก็พอจะแกะออกจากตัวปลาได้ แต่ถ้ามีมากเกินไป ทางที่กำจัดก็โดยระบายน้ำสะอาดเข้าไปในบ่อให้มากๆ ก็จะทำให้ตัวเห็บหนีหายไปได้

อีกประการหนึ่ง ปลาที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ถ้าปรากฏว่ามีบาดแผล ไม่ควรนำลงไปเลี้ยงรวมกันในบ่อ เพราะปลาที่เป็นแผลจะกลายเป็นโรคและไปติดตัวอื่นได้

ศัตรูและการป้องกันกำจัด
ศัตรูของปลาสลิดมีดังนี้ คือ
๑. สัตว์ดูดนม เช่น นาก
๒. นกกินปลา เช่น นกกระเต็น นกยาง นกกาน้ำ และเหยี่ยว
๓. สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เหี้ย งู ตะพาบน้ำ
๔. กบ เขียด
๕. ปลาจำพวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาไหล จะกินปลาสลิดขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ปลากิม ปลากัด ปลาหัวตะกั่วจะกินไข่ของปลาสลิดและลูกปลาในวัยอ่อน

ตามธรรมชาติปลาสลิดย่อมจะรู้หลบหลีกศัตรูได้ดี แต่เมื่อนำมาเลี้ยงไว้ในบ่อเช่นนี้ปลาสลิดก็ยากที่จะหาทางหลบหลีกศัตรูได้ ฉะนั้นจำเป็นจะต้องช่วยโดยการป้องกันและกำจัด

ในการป้องกันและกำจัดพวกสัตว์ดูดนม เช่น นาก และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เหี้ย งู กบ เขียด ตะพาบน้ำเหล่านี้ ถ้าทำรั้วล้อมรอบบ่อได้ก็เป็นการป้องกันได้พอ

ส่วนจำพวกนกก็ต้องทำเพิงคลุมแป้นอาหารไว้ เพื่อป้องกันนกโฉบปลาในขณะปลากินอาหารอยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่ม

ส่วนจำพวกปลากินเนื้อต่างๆ นั้น ควรต้องระวังผักที่จะเก็บลงมาปลูกในบ่อเพราะอาจจะมีไข่ปลาดังกล่าวติดมาด้วยอีกอย่างหนึ่งท่อระบายน้ำต้องพยายามใช้ลวดตาข่ายที่มีช่องตาขนาดเล็กรองน้ำที่จะผ่านลงไปในบ่อและต้องหมั่นตรวจตะแกรง ถ้าชำรุดก็ต้องเปลี่ยน

การจับ
เมื่อมีความจำเป็นจะต้องจับลูกปลาสลิดในวัยอ่อน เพื่อแยกไปเพาะเลี้ยง ควรใช้กระชอนผ้าช้อนตักและใช้ขันหรือถังตักลูกปลาทั้งน้ำและตัวปลาเพื่อมิให้ชอกช้ำ ถ้าเป็นปลาที่โตขึ้นแล้วใช้สวิงตาถี่ช้อนแล้วใช้ขันตักขึ้นจากสวิงอีกชั้นหนึ่ง

การจับเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันนั้น จะต้องจับปลาที่มีขนาดยาวตั้งแต่ ๑๐ เซนติเมตรขึ้นไปควรใช้ลอบยืนวางไว้ตามบ่อ เพราะถ้าใช้แหทอดหรือสวิงตักที่แป้นอาหาร ปลาก็จะเข็ดไม่กินอาหารไปหลายวัน

ส่วนการจับปลาให้หมดทั้งบ่อเพื่อจำหน่าย ควรจับในเดือนมีนาคมเพราะไม่เป็นฤดูที่ปลาวางไข่ โดยใช้เฝือกล้อมและสวิงตักเอาจากเฝือกที่ล้อมนั้น

การลำเลียง
การลำเลียงพันธุ์ปลาสลิด เพื่อจะนำไปจำหน่ายมีวิธีการ ดังนี้
๑. การลำเลียงทางเรือ ควรหมั่นระบายถ่ายเทน้ำ โดยเอาน้ำในเรือออก และเอาน้ำในลำน้ำเติมลงไปตามระยะทางในเวลาอันสมควรคือ ถ้าหากเห็นว่ามีปลาขึ้นลอยหัวมากก็จะต้องมีการถ่ายเทน้ำบ่อยครั้ง ถ้าปลาจำนวนน้อยและเรือลำเลียงใหญ่ การถ่ายเทน้ำควรจะกระทำนานๆ ครั้ง แต่ถ้าหากปลาจำนวนมากเรือลำเลียงคับแคบจะต้องถ่ายเทน้ำบ่อยครั้ง

๒. การลำเลียงด้วยวิธีอื่น
ก. ก่อนการลำเลียงควรพักปลาไว้ในที่กว้าง เช่น ถังขนาดใหญ่ และไม่ต้องให้อาหาร
ข. ใช้ภาชนะปากกว้าง เช่น ปีบ หรือถัง ฯลฯ บรรจุน้ำ ๓ ใน ๔ ของภาชนะบรรจุปลาขนาดใหญ่ในอัตราปีบละ ๔ ตัว หรือขนาดกลาง ๘๐ ตัว ถ้าเป็นลูกปลาขนาดเล็กก็เพิ่มจำนวนได้มากขึ้นตามสมควร
ค. ลอยผักบุ้งในภาชนะที่ใช้ลำเลียง และควรมีฝาที่มีช่องตาโปร่ง หรือตาข่ายคลุมภาชนะไม่ให้ปลากระโดดออก
ง. ระหว่างเดินทางพยายามเปลี่ยนน้ำทุก ๑๒ ชั่วโมง โดยระวังอย่าให้ปลาบอบช้ำ
จ. ใช้ภาชนะที่บรรจุปลานี้อยู่ในที่ร่มเย็นเสมอ
ฉ. ภาชนะที่ใส่พันธุ์ปลา ควรตั้งให้สนิทอย่าให้โคลงเคลง เพราะอาจจะทำให้ปลาเมาน้ำได้
ช. เมื่อถึงปลายทาง ต้องรีบย้ายปลาให้อยู่ในภาชนะที่กว้างใหญ่และถ่ายเทน้ำใหม่หรืออาจปล่อยลงในบ่อเลี้ยงเลยก็ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี