รายละเอียดการเทียบเดือนและปี“ภาคเหนือกับภาคกลาง”

Socail Like & Share

ในปีหนึ่ง ๆ นั้น  เท่าที่มีประสบการณ์จากการค้นคว้าตำรับตำราที่ท่านผู้เขียนเก่า ๆ ได้เขียนไว้บ้าง  จากประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นมาด้วยตนเองบ้าง  และจากการบอกเล่าจากท่านผู้รู้บางท่านบ้างจึงพอจะประมวลไว้ตลอดปีได้ดังนี้

๑.  เดือน ๗ เหนือของทุก ๆ ปี  ตรงกับเดือน ๕ ใต้  ตรงกับเดือนเมษายน  เดือนนี้มีประเพณีการเล่นสงกรานต์,  ประเพณีสระเกล้าดำหัว, ปอยหน้อย, (บวชลูกแก้วหรือบวชเณร)  ขึ้นบ้านใหม่, เลี้ยงผีปู่-ย่า

๒.  เดือน ๘ เหนือ  ตรงกับเดือน ๖ ใต้  ของทุก ๆ ปี  ตรงกับเดือนพฤษภาคม  เดือนนี้มีประเพณีปอยหน้อย (บวชลูกแก้วหรือบวชเณร), ปอยหลวง,ขึ้นบ้านใหม่,แต่งงาน,วันวิสาขบูชา,ไหว้พระธาตุ

๓.  เดือน ๙ เหนือ  ตรงกับเดือน ๗ ใต้  ของทุกๆ ปี  ตรงกับเดือนมิถุนายนเดือนนี้อากาศมักจะร้อนจัด  และมีคำพังเพยว่า “เดือนเก้า หมาเฒ่านอนน้ำ”  มีความหมายว่า “ในเดือนเก้านั้นอากาศร้อนเป็นอันมาก  ร้อนจนกระทั่งหมาเฒ่าต้องอาศัยนอนน้ำ  เพื่อบรรเทาความร้อน”  เดือนนี้มีประเพณีการไหว้พระสารีริกธาตุต่าง ๆ เช่น พระบรมสารีริกธาตุบนดอยสุเทพ, พระบรมสารีริกธาตุวัดพระธาตุหริภุณชัย,  พระบรมสารีริกธาตุวัดลำปางหลวง เป็นต้น  ในเดือนเก้าเป็ง (ในเดือนเก้าเพ็ญ)  มีคำพูดภาษาเมืองเหนืออีกคำหนึ่งคือ  คำว่า “เป็ง”  หมายถึง “เพ็ญ” เช่น อี่นายจั๋นทร์เป็ง คือ อี่นายจันทร์เพ็ญ,   เดือนยี่เป็ง  คือ วันเพ็ญเดือนยี่,  อี่นายเป็ง(เป็งเฉย ๆ) ก็คือ อี่นายที่ชื่อ “เพ็ญ” เฉย ๆ เป็นต้น  ในเดือนนี้  ถ้าหากปรากฎว่ามีฟ้าฝนดี  บรรดาพี่น้องชาวนาทั้งหลายก็จะเริ่ม “แฮกนา”  แล้วไถดะ  จากนั้นก็ทำการ “เผือ” หรือ “เผือนา”  ดังที่ได้เล่ามาแล้ว  เมื่อเสร็จจากกรรมวิธีต่าง ๆ ก็จะหว่านข้าวกล้าเตรียมไว้ในฤดูปักดำต่อไป

๔.  เดือน ๑๐ เหนือ (เดือน ๘ ใต้ ตรงกับเดือนกรกฎาคม)  ในวันเพ็ญ เดือน ๑๐ เขาจะมีการประกอบพิธีเข้าหวะสา(เข้าพรรษา)  แล้วบรรดาชาวนาก็จะมีการเริ่มไถนากันอย่างพร้อมเพรียงทั่ว ๆไป  เพื่อหว่านข้าวกล้า  เพื่อเตรียมไว้ในฤดูปักดำด้วยเข้าฤดูฝนเต็มที่แล้ว

๕.  เดือน ๑๑ เหนือ (เดือน ๙ ใต้ ตรงกับเดือนสิงหาคม)  เป็นฤดูที่มีน้ำท่าบริบูรณ์  บรรดาพี่น้องชาวนาต่างคนก็ต่างดีใจ  คอยเร่งวันเร่งคืนเพื่อให้ข้าวกล้าที่หว่านไว้แก่จนได้ผลเต็มที่  เพื่อจะได้ถอนเอาข้าวกล้านั้นไปปลูกในนาข้าว  ดังนั้น  ในเดือนนี้จึงเป็นฤดูที่บรรดาพี่น้องชาวนามีความเบิกบาน หฤหรรษ์เป็นที่สุด  เพราะมองไปทางไหนก็มองเห็นน้ำเต็มท้องนาไกลแสนไกล  ฝูงกบเขียดจะส่งเสียงร้องหาคู่อย่างอึงคนึง  อากาศก็ไม่ร้อนไม่หนาว  พอดีที่สุดในคืนวันที่ไม่มีความร้อนอบอ้าว  ที่ทารุณที่สุดก็คือการที่ต้องยืนขาแข็งอยู่กลางน้ำท่วมเปียกแฉะเจิ่งอยู่เต็ม  ที่ร้ายไปกว่านั้น  กลางวันแดดร้อนเปรี้ยงอย่างทารุณ  หรือบางทีเป็นวันฝนตก  พี่น้องชาวนาเหล่านั้นก็ต่างคนต่างมุ่งหน้ากับงานปลูกข้าวในท้องนาของตนเองอย่างอดทน  ท่ามกลางสายฝนซึ่งตกลงมาอย่างหนักแทบตลอดวัน  พวกชาวนาหนาวสั่นสะท้านไปทั้งร่าง  แต่ทุกคนก็ยอมทน

๖.  เดือน ๑๑ เหนือ (เดือน ๙ ใต้  ตรงกับเดือนสิงหาคม)  การปลูกนา, ดำนาก็จะดำเนินไปเรื่อย ๆ จนหมดฤดู  ต่อจากนั้นก็จะมีคนแก่คนเฒ่าคือ  ผู้มีวัยอาวุโสก็จะหอบข้าวของที่จำเป็นแก่การยังชีพในวัด  เพื่อเข้าไปฟังเทศน์  ฟังธรรม  และจำศีลภาวนาในวัดซึ่งตนเองเป็นเจ้าศรัทธาอยู่

๗.  เดือน ๑๒ เหนือ (เดือน ๑๐ ใต้ ตรงกับเดือนกันยายน)  ฝนมักจะตกหนัก  น้ำจะเจิ่งนองและท่วมในบริเวณที่ลุ่มทั่วไป  ประเพณีทางศาสนาก็มีประเพณีก๋ารตาน  ก๋วยสลาก  ในวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ  เรื่อยไปจนถึงเดือน ๑๒ แรม ๑๕ ค่ำ

สำหรับในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒  จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  เรียกงานประเพณีดังกล่าวนี้ว่า “ปอยข้าวสังข์”  ทั้งนี้เพราะเหตุว่า บรรดาพี่น้องทางภาคเหนือต่างก็ถือเป็นประเพณีกันว่า  ในคืนดังกล่าวนี้ยมบาลปล่อยให้ผีมารับเอาของกินของทานได้  และชีวิตประจำวันของพี่น้องที่อยู่ในส่วนภูมิภาคนั้น  เมื่อว่างเว้นจากการทำนาแล้ว  ถ้าไม่นั่งคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ ก็ทำงานบ้านในหน้าที่ของพ่อบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ  บางวันว่างก็จะนอนหลับกันแทบจะตลอดทั้งวัน  บางคนที่ขยันหน่อยก็จะถือจอบถือเสียมเข้าไปยังไร่ยังสวนของตน  แล้วก็ทำการปลูกผักและผลไม้ไว้กินกันไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสันแต่อย่างใด  ระยะนี้หากรัฐบาลสนใจก็จะสามารถสร้างพลังงานในด้านการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย  ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่ผู้เขียนจะขอยกมากล่าวอ้างคือ  เอาจำนวนประชากร ๑ ใน ๓ ของจำนวนพลเมืองทั้งหมดในภาคเหนือ  คูณด้วยอัตราค่าแรงงานอย่างต่ำวันละ ๒๕ บาท แล้วคูณด้วยจำนวนเดือนที่ได้กระจ่ายให้เป็นวันเรียบร้อยแล้ว   สมมุติ  ๓  เดือน  ก็ได้  ๙๐ วัน  ก็เอาประชากร ๑ ใน ๓ คูณวันละ ๒๕ บาท (ตามกฎหมายแรงงานขณะนี้)  แล้วนำไปคูณด้วย ๙๐ วันเรียบร้อยแล้ว  ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเงินจำนวนมากอย่างน่าตกใจเลยทีเดียว

ทีนี้ถ้าเผื่อเราจะให้ความสนใจ  ช่วยแนะนำอาชีพอย่างอื่นให้เขา ทุกหมู่บ้าน ทุก ๆจังหวัดก็จะเป็นผลประโยชน์ในด้านการเศรษฐกิจของชาติเป็นจำนวนมิใช่น้อยเลย

๘.  เดือนเกี๋ยงเหนือ (ตรงกับเดือน ๑๑ ใต้  ตรงกับเดือนตุลาคม)  จะมีประเพณีการทำบุญออกหวะสา(ออกพรรษา)  การทานสลากภัตร (ตานก๋วยสลาก)  ทำบุญทอดกฐิน  เรื่อยไปจนถึงวันเพ็ญเดือนยี่  ชาวบ้านจะเริ่มทำสวนผักเหมือนอย่างเดือน ๑๒ เหนือ

๙.  เดือนยี่เหนือ (คือ เดือน ๑๒ ใต้  ตรงกับเดือนพฤศจิกายน)  จะมีการทำบุญทอดกฐินเรื่อยไปจากเดือนเกี๋ยงเหนือเป็นต้นมาจนถึง ๑๕ ค่ำ  เดือนนี้จะมีประเพณีการลอยกระทง  ต๋ามผางผะตี๋ด (ตามประทีป)  ทำบุญทอดผ้าป่า  ตั้งธรรมหลวง  คือ เทศน์มหาชาติ  เดือนนี้จะเป็นฤดูการทำไร่ทำสวน ของชาวบ้าน

๑๐.  เดือน ๓ เหนือ  (เดือนอ้ายใต้  ตรงกับเดือนธันวาคม)  มีประเพณีเทศน์มหาชาติ,ทำบุญทองผ้าป่า  เดือนนี้ชาวบ้านจะเริ่มเกี่ยวข้าวคอ คือข้าวที่สุกก่อนข้าวปี  พอถึงเดือน ๓ ข้างแรมก็จะมีการเกี่ยวข้าวปี ทางด้านพี่น้องทางภาคเหนือที่เป็นชาวสวนก็จะเริ่มปลูกพืชล้มลุก เช่น กะหล่ำออก กะหล่ำปี๋  ผักกาดชนิดต่าง ๆ ผั๊กขี้หุด  เป็นต้น

๑๑.  เดือน ๕ เหนือ (เดือนยี่ใต้  ตรงกับเดือนมกราคม)  ในเดือนนี้บรรดาพี่น้องชาวนาทางภาคเหนือ  ถือกันว่าถึงฤดูเก็บเกี่ยว  เขาจะช่วยกันเกี่ยวข้าว เอาเฟือง (เอาฟาง)  ตลอดจนตี๋ข้าว (นวดข้าว) เรียบร้อย  จะนำไปเก็บไว้ที่ยุ้งฉางในบริเวณบ้านของตนเอง  เมื่อเสร็จจากการเกี่ยวข้าว  ตี๋ข้าวเอาเฟืองเรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำบุญประเพณีที่เรียกว่า ตานข้าวจี่ข้าวหลาม และจะมีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่เรียกว่า  “ขึ้นเฮือนใหม่”  และบรรดาหนุ่มสาวที่ได้หมายตากันไว้นานแล้ว หรือเพิ่งจะมารักมาชอบกัน  หรือพ่อแม่จับคลุมถุงชน (เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว) ก็จะจัดให้มีการ “กิ๊นแขกแต่งงาน” กันขึ้นเป็นที่เอิกเกริกสนุกสนาน

๑๒.  เดือน ๕ เหนือ (เดือน ๓ ใต้  ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์)  จะเป็นเดือนที่มีการประกอบพิธีวัน “มาฆบูชา”  มีการทำบุญปอยหลวง  หากมีศพคนตายที่เก็บไว้นาน ๆ เขาก็จะนำเอาศพนั้น มาประกอบพิธีทำบุญสัตมวารศพ  และทำก๋ารเผาจี๋เสียในเดือนนี้  ถ้าเป็นศพของคนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือเป็นศพของ “ตุ๊หลวงเจ้าวัด”  หรือ “ตุ๊เจ้าที่มีคนนับถือมากมาย”  เขาก็จะทำพิธีกันอย่างขนานใหญ่  เรียกกันว่า พิธีลากผาสาท (ลากปราสาท)  หรือทางไทยใหญ่จะเรียกพิธีทำศพอย่างเอกเกริกดังกล่าวนี้ว่า  “ปอยล้อ”  เป็นต้น  เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า  เดือนนี้จะเป็นเดือนที่มีอากาศเริ่มร้อน คือ เริ่มเข้าหน้าร้อน

ในฤดูดังกล่าวนี้  ทางภาคเหนือจะมีดอกไม้ชนิดหนึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ดอกทองกวาว”  ซึ่งบางท้องที่บางแห่งก็เรียก “ดอกก๋าสะลอง”  และบางแห่งก็จะเรียก “ดอกก๋าว” หรือ “กว๋าว”  เฉย ๆ  ดอกไม้ที่ว่านี้จะเริ่มออกดอก  แล้วบานสะพรั่งเต็มต้นตลอดทั้งทุ่ง(ท้องนา) เลยทีเดียว  ดอกทองกวาวที่ว่านี้เป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคเหนือ

๑๓.  เดือน ๖ เหนือ (เดือน ๔ ใต้  ตรงกับเดือนมีนาคม)  ในเดือนนี้เขานิยมมีประเพณีการทำบุญ “ปอยหน้อย” (บวชพระบวชเณร) ขึ้นบ้านใหม่ และพิธีแต่งงาน

ส่วนประเพณีที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา  เช่น  ประเพณีการเลี้ยงผี  หรือการฟ้อนผีมด-ผีเม็งนั้น  จะเริ่มกันตั้งแต่เดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ เหนือ

หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว  หากจะมีการพิจารณาในชีวิตประจำวันของชาวเหนือโดยพิจารณาตลอดปีแล้ว  จะเห็นว่าชีวิตของบรรดาพี่น้องชาวเหนือนั้นดำเนินไปอย่างมีระเบียบและเรียบ ๆ ไม่โลดโผนเท่าไรนัก  สิ่งที่จะห่างเสียไม่ได้ในชีวิตประจำวันของพี่น้องชาวเหนือก็คือ  ประเพณีที่มีความคลุกคลีอย่างใกล้ชิดกับการศาสนา

อาจจะเป็นด้วยพี่น้องชาวเหนือมีศรัทธาปสาทะต่อพระศาสนาอย่างใกล้ชิดนี่เอง  ถ้าจะสังเกตดูตามวัดวาอารามหรือตามย่านหรือแหล่ง  ซึ่งเป็นที่สำหรับพบปะของผู้แก่ผู้เฒ่าหรือผู้อาวุโสทั่วไป  จะมีการเสวนากันถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างไม่ว่างเว้นในฤดูเข้าหวะสา (เข้าพรรษา)  ผู้อาวุโสเหล่านั้นก็จะให้ลูกหลาน  หาบขนเอาเครื่องสำหรับใช้นอนวัดเท่าที่จำเป็น  ไปถือศีลภาวนาอยู่เสียที่ในวัด  แม้จะมีธุรกิจจำเป็นอย่างอื่นก็หยุดกันหมด  หันมาถือศีลกินเพลกันอย่างเดียวในวันธรรมสวนะนั้น

เห็นจะเป็นเพราะเป็นผู้ที่ยึดถือสัจจะและใกล้ชิดกับวัด  อันเป็นสรณะอย่างหนึ่งของพี่น้องทางภาคเหนือ  จึงบันดาลให้ท่านเหล่านั้นมีชีวิตดำรงอยู่อย่างเรียบร้อย  รักสงบ  สันโดษ  และมีจิตใจสูง  และมีดวงหน้าที่เต็มไปด้วนสัญญลักษณ์แห่งมิตร  คือมีแต่การยิ้มและการให้อภัยอยู่เสมอ  มีความสุข มีความพอใจในชีวิตเท่าที่เป็นอยู่  ทำมาหากินกันอย่างขยันขันแข็ง ไม่ละโมภ  จึงทำให้วิถีชีวิตของบรรดาพี่น้องทางเมืองเหนือเหล่านั้น  ประสบแต่ความสุขสมบูรณ์ตามควรแก่อัตภาพตลอดมา

ชูรัตน์  ชัยมงคล

ประเพณีของ “ชาวเหนือ” ในรอบปี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *