ไม้เริ่มมีขึ้นในโลกเมื่อไร

Socail Like & Share

ไม้เริ่มมีขึ้นในโลกเมื่อไร ? ผู้รู้ได้ค้นคว้าพบว่า เมื่อประมาณ ๔๐๕ ล้านปี หรือเมื่อเริ่มยุค “ดีโวเนียน” (Devonain) ป่าไม้ได้บังเกิดขึ้นบนพื้นพิภพประกอบด้วยพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญขึ้น เสื่อมลงและสูญพันธุ์ไป มีชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นแทนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของดินฟ้าอากาศไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน ๒ พวก พวกหนึ่งคือไม้ใบแคบ เช่นไม้พวกสนเขา เริ่มมีในยุค “จุราสสิค” ป่าไม้1(Jurassic) หรือประมาณ ๑๘๑ ล้านปีมาแล้ว ต่อมาอีก ๔๕ ล้านปี ไม้อีกพวกหนึ่งคือที่ใบกว้าง เช่นไม้สัก จึงมีขึ้น และได้เจริญสืบเนื่องมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ไม้บางชนิดเช่นไม้พวกจำปา มีพบแน่นอนตั้งแต่ยุค “ครีเตเซียส” (Creta Ceous) คือระหว่าง ๑๓๕-๖๓ ล้านปีมาแล้ว

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานเช่นนั้น ป่าไม้คงมีแต่สรรพสัตว์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ พวกครึ่งบกครึ่งน้ำ พวกเลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ร่วมกันมีส่วนเป็นเจ้าของ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเบียดเบียนซึ่งกันและกันบ้าง ตามเพศพันธุ์ของสัตว์เดรัจฉาน จนกระทั่งเมื่อไม่ถึงล้านปีมานี้เอง จึงมีมนุษย์ขึ้นมาและพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งป่าไม้มาจนกระทั่งทุกวันนี้

สำหรับประเทศไทยเรานั้น โดยเหตุที่แต่เดิมมาเต็มไปด้วยภูเขาลำเนาไพรเรามีไม้เหลือเฟือ ไม้จึงเป็นของที่ไม่จำเป็นจะต้องควบคุมจากทางการแก่ประการใด เว้นแต่จำพวกไม้หอมซึ่งเป็นสินค้าสำคัญเพราะต่างประเทศต้องการและใช้เป็นราชบรรณาการผูกสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นของที่เข้าใจว่าจะมีการควบคุมโดยทางการเป็นผู้ค้าขายเสียเอง สำหรับไม้อื่นๆ ใครจะตัดฟันก็ได้ไม่หวงห้าม แต่ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนพลเมืองเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความต้องการไม้ปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและทำยานพาหนะเช่นเรือเป็นต้นก็ย่อมมีมากขึ้น ป่าก็ถูกตัดไม้มากขึ้น นอกจากนี้ความจำเป็นในการทำเกษตรกรรม เป็นเหตุให้ป่าถูกทำลายมากขึ้นอีก ทางการเล็งเห็นว่าขืนปล่อยไว้เช่นนี้ไม่เท่าไร ป่าของเราจะหมดไป และเมื่อไม่มีไม้ ป่าก็ไม่เป็นป่าอีกต่อไป ทางการจึงได้จัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๑๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๙ ในรัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว หน้าที่ของกรมนี้นอกจากจะควบคุมการตัดไม้แล้วยังมีหน้าที่ค้นคว้าทดลองการใช้ไม้ว่าไม้ชนิดไหนควรจะทำอย่างไรจึงจะใช้ได้ดีและทน และมีหน้าที่บำรุงรักษาไม้ให้อยู่ในสภาพที่จะให้คนรุ่นหลังได้ใช้ต่อไปอีกนาน ป่าไม้นั้นนอกจากจะให้ไม้เรามาทำประโยชน์ใช้สอยแล้ว ในป่ายังมีของป่าอีกมากมายเช่นผึ้ง ครั่ง สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ซึ่งกรมป่าไม้มีหน้าที่ควบคุมดูแลมิให้คนทำลายเสียโดยไม่คำนึงถึงวันข้างหน้า นอกจากนี้ป่ายังเป็นแหล่งของต้นน้ำลำธาร หากป่าถูกทำลายหมดไป น้ำในแม่น้ำลำธารก็จะแห้งไปอย่างรวดเร็ว และยิ่งกว่านั้นท้องที่ใดปราศจากป่าไม้ ฝนฟ้าก็ไม่ค่อยจะตกเสียด้วย เพราะขาด ความชุ่มชื้น อันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ฝนตก ดังนั้นในทะเลทรายจึงแห้งแล้งเพราะฝนไม่ตก หรือตกก็น้อย เพราะขาดความชุ่มชื้นนี่เอง

เราเกือบทุกคนรู้คุณค่าของต้นไม้หรือป่าไม้แทบทั้งนั้น แต่ก็มีน้อยคนเหมือนกัน ที่คิดถึงอนาคตว่าเราจะไม่มีป่าให้มีไม้ไว้ใช้สอย ส่วนมากมักจะคิดถึงแต่ประโยชน์ปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่ต้องคำนึงถึง ไม้ในป่าจึงถูกโค่นทำลายเผาเป็นเถ้าถ่านเสียมากต่อมาก แม้แต่ป่าที่ทางการได้ลงทุนปลูกขึ้นก็ยังถูกคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ลักลอบตัดไปอย่างน่าอเน็จอนาถใจ การจะทำลายต้นไม้ต้นหนึ่งนั้น ในชั่วเวลาไม่กี่นาทีเราก็สามารถที่จะทำลายได้ แต่กว่าต้นไม้ต้นหนึ่งจะเจริญเติบโตมาให้เราตัดนั้น ต้องใช้เวลานับเป็นสิบๆ ปี บางต้นเป็นร้อยๆ ปี เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะตัดต้นไม้จึงควรนึกถึงข้อนี้ไว้บ้าง ป่านั้นนอกจากจะทำให้ฝนตกแล้ว เมื่อป่าหมดไปนอกจากฝนไม่ตกแล้วยังเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมบ้านเมือง อย่างรวดเร็วอีกด้วย เพราะถ้ามีป่าอยู่ต้นไม้ในป่าจะคอยดูดซึมปะทะน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วอีกด้วย ป่าจึงมีคุณค่าแก่มนุษย์เป็นเอนกประการ

นอกจากป่าไม้จะให้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ป่ายังให้ความร่มรื่นแก่ผู้ที่ได้เข้าไปเที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยอากาศสกปรกอย่างทุกวันนี้แล้ว ถ้าท่านได้ไปเที่ยวในป่าจะได้พบกับความแตกต่างระหว่างป่ากับเมืองอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในเมืองนั้นเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายด้วยศัพฑ์สำเนียงต่างๆ อากาศที่ไม่บริสุทธิ์ และความร้อนระอุของสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์เราพากันสร้างขึ้นแต่ในป่าจะตรงกันข้าม มีแต่ความสงบเย็นร่มรื่น อากาศก็บริสุทธิ์ และสดชื่น จึงสมควรที่เราจะช่วยกันรักษาป่าและต้นไม้ไว้ให้นานเท่านาน

เมื่อพูดถึงต้นไม้แล้ว ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน ก็อดที่จะคิดถึงเรื่องพุทธประวัติเสียมิด้ เพราะพระพุทธองค์นั้น ทั้งๆ ที่เป็นโอรสของกษัตริย์ แต่พระองค์ได้ประสูติในป่าลุมพินี และเวลาตรัสรู้ก็ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ และส่วนใหญ่พระองค์จะประทับอยู่ในป่าไม้ และที่แปลกที่สุดก็คือที่ปรินิพพานก็ปรินิพพานใต้ต้นรังทั้งคู่ ชานเมืองกุสินาราย ท่านจะเห็นว่าตลอดพระชนมายุของพระพุทธองค์นั้น พระองค์ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ในป่า ถ้าท่านยังไม่เห็นความสำคัญหรือความงามของป่า เวลาฟังเทศน์มหาชาติทั้งกัณฑ์จุลพนและมหาพน ก็ควรนิมนต์ให้พระท่านเทศน์อย่างพิสดารให้ฟัง เพราะกัณฑ์เทศน์ทั้งสองนี้ได้พรรณนาความงามของป่าไว้ไพเราะเพราะพริ้งเหลือเกิน คงจะขอยกข้อความในกัณฑ์จุลพน ตอนพรานเจตบุตร บอกทางแก่ชูชกผู้จะไปยังอาศรมของพระเวสสันดร มาให้ท่านอ่านสักตอนหนึ่ง ข้อความตอนนี้มีว่า
“มหาพฺรฺเหม ดูกรมหาพราหมณ์พฤฒาจารย์จอมพระทูตหลวง อมฺพา กปิตฺถา ทางที่จะครรไลก็มะม่วงหมู่มะขวิดแขวนทุกขั้วขวั้น ปนสา หน้านั้น ก็ขนุนเป็นขนัดแน่น เอนกผลติดเต็มแต่โคนต้นตลอดจนยอดเยื่อยวงที่ขังน้ำ ควรจะบริโภคผลพะวาหว้าหวาน วิเศษ วิเภทกา สมอพิเภกเทศไทยเป็นทิวแถวที่เถื่อนทาง ที่รังเลี่ยนตะเคียนคางแคข่อย มะค่าเคี่ยมขึ้นสะพรั่งพร้อม พรรณมะขามป้อมปู่เจ้าแจงจิกจันทน์ประจำป่า จารุติมฺพรุกฺขา เหล่ามะพลับพลองมะต้องแต้วมะตูมตาด มะเดื่อดกเด่นแดงดังแสงขาด ประชุมช่อลออผล กทลิโย ทั้งกล้วยกล้ายก็เกลื่อนกล่นดังแกล้งสรรมาปลูกไว้ ในดงดอน…..” ดังนี้ยังมีพรรณนาพรรณไม้อีกมากมาย ผู้สนใจเวลาฟังเทศน์มหาชาติก็จงตั้งใจฟังก็แล้วกัน ท่านจะรักต้นไม้ขึ้นกว่าเก่าอีกหลายเท่า

เมื่อเรารู้ว่าป่าไม้หรือไม้มีประโยชน์แก่เราเป็นเอนกประการอย่างนี้แล้ว เราควรจะปฏิบัติอย่างนี้

๑. จงอย่าทำลายป่าสงวนหรือหวงห้าม แม้เพื่อจะประกอบอาชีพ เช่นทำไร่หรือทำนาเพราะที่ดินสำหรับทำไร่หรือทำนานั้น ทางราชการได้จัดสรรให้ท่านอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่ท่านเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า นอกจากท่านได้ชื่อว่าช่วยกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติของลูกหลานท่านแล้ว ท่านจะต้องมีโทษตามกฎหมายอีกด้วย ค่าปรับที่ศาลปรับท่าน และค่าเสียเวลาที่ท่านต้องถูกจับกุมคุมขังนั้นมิใช่เล็กน้อยเลย ถ้าตัดต้นไม้มากๆ หรือถางป่ามากๆ ศาลท่านอาจจะลงโทษจำคุกท่านด้วยก็ได้ เรียกว่าทั้งจำทั้งปรับกันทีเดียว

๒. หมู่บ้านใดพอมีที่ว่างพอจะปลูกต้นไม้ได้ ก็จงช่วยกันปลูกต้นไม้ ทำที่ดินที่ว่างเปล่าให้เป็นป่าประจำหมู่บ้านขึ้น อย่างน้อยในชีวิตของท่านก็ควรจะปลูกต้นไม้ที่ถาวรไว้สักต้น ในวันที่ทางการประกาศให้เป็นวันต้นไม้ของชาติคือวันเข้าพรรษานั้น จงช่วยกันปลูกต้นไม้ไว้ในวัด หรือในบ้านคนละต้น และช่วยกันบำรุงรักษาให้เจริญเติบโต ก็เท่ากับท่านได้ ทดแทนในการที่ท่านใช้ต้นไม้ของชาติไปมากมายในชีวิตของท่านประการหนึ่ง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี