โลกธรรมและไตรลักษณะ

Socail Like & Share

โลกธรรม
ในโลกนี้มีสิ่งหนึ่ง คือ ความได้(ลาภ) ความเสีย(อลาภ) ความยกย่อง(ยศ) ความไม่ยกย่อง(อยศ) ความถูกนินทาว่าร้าย ความสรรเสริญ ความทุกข์ ความสุข ๘ อย่างนี้ เป็นของประจำโลก คนทุกคนย่อมประสบในฐานะเป็นผู้รับบ้าง เป็นผู้ทำบ้าง(เช่นเคยนินทาหรือสรรเสริญเขา) ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นของธรรมดา เป็นของประจำโลก เป็นความจริงที่ทุกคนต้องได้ประสบ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง และก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร เป็นของเปลี่ยนแปรได้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนยอมรับความจริงในสิ่งนี้ และสอนไม่ให้ยินดีกับสิ่งที่ชอบ ยินร้ายกับสิ่งที่ไม่ชอบ ให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตของทุกคนหมด แล้วทำใจให้เป็นปกติ ปลงใจยอมรับสิ่งนั้นๆ เสียในเมื่อแก้ไม่ตกหรือแก้ไปก็ยิ่งเสีย เรื่องนี้เป็นเครื่องมือแก้ความผิดหวัง แก้ความที่ถูกเขานินทาได้เป็นอย่างดี และทำเรื่องที่ทำท่าว่าจะยาวให้สั้นเข้า และยุติ

ไตรลักษณะ
คือ ลักษณะ ๓ หรือสามัญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีทั่วไปแก่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาวะที่มีใบเบื้องต้น แปรเปลี่ยนไปในตอนกลาง และสลายทลายไปในที่สุด คือมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

ลักษณะทั้ง ๓ มี

อนิจจัง คือความไม่เที่ยง

ทุกขัง คือคงที่อยู่ไม่ได้

อนัตตา คือหาสิ่งที่เรียกว่าตัวไม่ได้ หรือบังคับอ้อนวอนขอร้องไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ

ลักษณะหรืออาหารทั้ง ๓ นี้เป็นของธรรมดา เกิดแก่สิ่งทั้งที่มีชีวิตทั้งไร้ชีวิต ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า เรื่องไตรลักษณะนี้มิขัดกับเรื่องกรรม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วหรือ ข้อนี้มีอธิบายดังนี้

เรื่องกรรมนั้นเป็นเรื่องอยู่ในกรอบแห่งเหตุผล เป็นเรื่องของคนและสัตว์เท่านั้น แต่เรื่องไตรลักษณะเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นเรื่องพิจารณาความจริงของสิ่งเหล่านั้น เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น เรื่องกรรมเป็นเรื่องการกระทำ และผลของการกระทำ เช่น คิด(เป็นมโนกรรม) ว่าที่เราแก่นี้ก็เป็นเรื่องไม่เที่ยงของร่างกาย เราบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วเกิดสบายใจ ความสบายใจเป็นผลของความคิด คือทำทางใจ(มโนกรรม) อย่างนี้เป็นเรื่องกรรม และเรื่องกรรมเป็นเรื่องการกระทำ ส่วนเรื่องไตรลักษณะเป็นเรื่องประกอบของการกระทำ เป็นเรื่องสำหรับคิดพิจารณาตามความเป็นจริง

เรื่องไตรลักษณะนี้ สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ตั้งแต่ระดับต่ำจนระดับโลกุตระ คือ สูงจนพ้นโลก เช่น ปัญหาชีวิตเกี่ยวกับความผิดหวังในการงานบ้าง ในความรักบ้าง ในการศึกษาบ้าง เป็นต้น โดยคิดเสียว่าจะไปเอาอะไรแน่นอนกับสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเป็นอย่างนั้นได้ ก็น่าจะเป็นอย่างอื่นได้ ไม่แน่นอนอะไร บังคับก็ไม่ได้ เราเองบังคับตัวเองไม่ให้แก่ยังไม่ได้ แล้วจะไปบังคับคนอื่นให้เขายอมเราทุกอย่างได้อย่างไร

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา