วิธีแก้ปัญหาชีวิต

Socail Like & Share

ปัญหาชีวิต ทุกคนย่อมอาจมีเหมือนกันหรือต่างกันบ้าง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการเล่าเรียน การเศรษฐกิจ การครอบครัว การปกครอง การค้า การไม่ได้รับความยุติธรรม การสุขภาพ ความพลัดพรากจากคนรักหรือของที่รัก ความผิดหวัง ความวิตกกังวลห่วงใย การถูกนินทาว่าร้ายและใส่ร้าย ความแก่ เจ็บ ตาย ความประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ทำอย่างไรตายแล้วจะไม่ไปทุคติ นรกสวรรค์มีจริงหรือ ทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว ก็อยู่ที่ปัญหาเดียว คือความไม่ได้อย่างใจเท่านั้น

ปัญหาชีวิตเหล่านี้ ในพระพุทธศาสนามีวิธีแก้ไว้หมด เช่น

๑. ความแก่ เจ็บ ตาย
สิ่งเหล่านี้ คนทั่วไปกลัว ไม่ชอบ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นภัย คือสิ่งที่กลัวกันและก่อให้เกิดทุกข์

สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนพิจารณาบ่อยๆ จะได้กล้า จะได้ยอมรับความจริง จะได้รู้เท่าทัน ดังที่ทรงแสดงไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยโดยย่อว่า ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่าสัตว์ทั้งปวง(หมายถึงทั้งคนทั้งสัตว์) มีความแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นต้น เป็นการเตรียมพื้นจิตใจไว้คอยรับ คือเตรียมรับสิ่งที่ตนกลัวเหล่านั้นไว้ เมื่อภัยเหล่านั้นมาถึงตัวจะได้สู้ได้อย่างมีทีท่าไม่เสียขวัญ แล้วแก้ไขไปตามควร อย่างคนเตรียมพร้อม ไม่ใช่สอนให้นึกอย่างนั้นแล้วนั่งนอนรอแก่ รอเจ็บ รอตาย ไม่ทำอะไร คนอย่างนี้เรียกว่า คนโง่ คนประมาท

พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ความจริงของชีวิตอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ประมาทจะได้เตรียมพื้นของใจไว้คอยรับสิ่งเหล่านั้น จะได้สร้างความดีไว้ก่อนที่จะเจ็บจะตาย พระองค์ทรงสอนไม่ให้ประมาท ไม่ให้วางใจในเรื่องวัย ในความไม่เจ็บไข้ ในความตาย ทรงสอนว่าควรทำความพากเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาถึงพรุ่งนี้

เมื่อยอมรับความจริงในสิ่งเหล่านี้ ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ เมื่อแก่ก็เป็นคนแก่ที่ดี มีศีลธรรมมีสติ เมื่อเจ็บก็เป็นคนเจ็บที่ดี เจ็บเป็นคือ เป็นนักสู้ความเจ็บ และควบคุมความรู้สึกได้ เมื่อตายก็ตายเป็น คือ ตายดี มีสติและมีความสำนึกมั่นอยู่ในความดี คนอย่างนี้เรียกว่า แก่เป็น เจ็บเป็น ตายเป็น

ถ้าไม่อยากแก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องไม่เกิด ถ้าจะไม่เกิดก็ต้องให้หมดเหตุคือ กิเลส ถ้าจะให้หมดกิเลส ก็ต้องบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มพิกัด แต่จะร้อยละเท่าไรที่ไม่อยากเกิด ส่วนมากมีแต่อยากเกิด แต่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และถ้าคนและสัตว์ไม่ตายเลย ป่านนี้โลกจะเป็นอย่างไร การตายเป็นการถ่ายเทที่เหมาะสมแล้วตามธรรมชาติ

๒. ความผิดหวัง
๒.๑ ความผิดหวังเป็นของคู่กันกับความสมหวัง
ข้อนี้ตรงกับการได้รับ และการไม่ได้รับในโลกธรรม เป็นสภาพที่เป็นจริงของโลก ซึ่งทุกคนต้องได้พบ วิธีแก้ไขความทุกข์ทางใจในเรื่องผิดหวังนี้ ควรใช้โลกธรรมกับไตรลักษณ์ รวมทั้งเรื่องหลักกรรมดังที่ได้กล่าวแล้วด้วย เป็นเครื่องประกอบในการพิจารณา

และในเรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้า ทรงให้พิจารณาบ่อยๆ ว่าเราต้องพรากจากของที่เป็นที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อได้อะไรมาต้องคิดถึงความจริงว่า วันหนึ่งเราจะต้องจากสิ่งนี้ไปเพราะความตาย หรือสิ่งนี้จะต้องจากเราไปเพราะแตกหรือหายไปเป็นอย่างนี้แน่ ไม่ต้องสงสัย ความจริงมีอยู่อย่างนี้ ต้องรู้ความจริง ยอมรับความจริง ต้องรู้จักคิด ความทุกข์ทางใจก็จะน้อยลง และในเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสุตตนิบาต ขุททกนิกาย ความไทยว่า ไม่ควรเพลิดเพลินติดในของเก่า ไม่ควรทำความพอใจติดในของใหม่ เมื่อสิ่งนั้นๆ เสื่อมสิ้นไป ก็ไม่เดือดร้อนดังคนอื่น ข้อนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับความผิดหวังทั่วๆ ไป

๒.๒ ความผิดหวังในการเรียน
ถ้าไม่ต้องการผิดหวังในเรื่องนี้ ก็ขอให้ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ประการ และเว้นอบายมุข ดังที่กล่าวแล้วเป็นเครื่องประกอบในการเรียน หรือใช้หลักธรรมเหล่านี้ คือ
๑. ฟังดี คือฟังเป็น
๒. ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟัง
๓. ตั้งใจรับความรู้
๔. เอาใจใส่ในการเรียน เช่น หมั่นถาม หมั่นจด หมั่นทดลอง เป็นต้น

ถ้าทำได้อย่างนี้ จะสมหวังในการเรียน ถ้าทำแล้วยังผิดหวัง ก็นึกว่าตนเองยังทำเหตุไม่พอ ต่อไปต้องทำเหตุให้มากกว่านี้ ไม่ควรไปโทษคนอื่น เพราะไม่สำเร็จประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้เกิดศัตรู เกิดความผิดหวังยิ่งขึ้น

พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักพิจารณาตัวเอง รู้จักตัวเอง เตือนตัวเอง และในเรื่องนี้นั้นเพื่อน มีส่วนสำคัญอยู่มาก

๒.๓ ความผิดหวังในความรัก ในของรัก ในความจากของที่รักที่ชอบใจ
วิธีแก้ปัญหานี้ให้สบายใจ คือ ขอให้ยอมรับความจริงว่า ในชีวิตของทุกคนทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต ต้องพบสิ่งเหล่านี้ แต่บางคนได้รับความทุกข์ทางใจมาก จนทำลายตนเอง บางคนเป็นทุกข์มากจนป่วย บ้างก็เป็นเพียงแต่เป็นทุกข์ใจ บางท่านเฉยๆ เช่น พระอรหันต์ ทั้งนี้สุดแต่ว่าใครยึดเอาไว้มากหรือน้อย หรือไม่ยึดเลย

แต่ถ้าเกี่ยวกับความรัก นอกจากจะพิจารณาแก้ไขดังข้อ ๒.๑ แล้ว ต้องคิดดังที่มีปรากฏในชาดกขุททกนิกาย ความไทยว่า ความรักย่อมเกิดเพราะเหตุ ๒ ประการ อันจะทำให้ได้อยู่กินด้วยกันคือ

๑. บุพเพสันนิวาส เคยเป็นเนื้อคู่มาก่อน
๒. ความเห็นอกเห็นใจเกื้อกูลกันในปัจจุบัน

เมื่อผิดหวังในความรักก็อาจเป็นเพราะขาดเหตุดังกล่าวแล้วนั้นก็ได้ เมื่อไม่ใช่คู่ของเรา ก็ไม่ควรกับเรา และควรกับคู่ของเขา อย่างนี้ก็ยุติธรรมดีแล้ว แต่การที่จะคิดทำลายคู่แข่งขันนั้น มิใช่เป็นการกระทำของคนที่เจริญแล้ว แต่เป็นการกระทำของคนป่าเถื่อน หรือของสัตว์มากกว่า สัตว์ที่จำทำลายกันก็ด้วยเหตุคือ แย่งตัวเมีย แย่งอาหาร แย่งความเป็นใหญ่ คนป่าก็เหมือนกัน

๒.๔ ความผิดหวังในคนภายใน เช่น ลูก พี่น้อง เป็นต้น
บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับลูกบ้าง พี่น้องบ้าง ที่เรียนไม่ดี หรือเสียความประพฤติ เรื่องนี้มีวิธีแก้อย่างนี้

เกี่ยวกับการเรียน ควรแนะนำสอนให้ใช้หลักอิทธิบาท และวิธีการดังข้อ ๒.๒ เว้นอบายมุข โดยเฉพาะเรื่องเพื่อนนั้นสำคัญนัก

เกี่ยวกับความประพฤติ ควรแนะนำตักเตือนให้รู้ว่าทำอย่างนี้ดี ทำให้เป็นคนมีอนาคตแจ่มใส ทำอย่างนี้เลว ทำให้อนาคตมืดมน พูดให้เขาเป็นคนมีอนาคต คนมีอนาคตดีนั้นต้องละสิ่งที่ควรละคือ อบายมุข โดยเฉพาะการคบเพื่อนเลว ต้องชี้แจงลักษณะเพื่อนดีเพื่อนเลวให้เขาพิจารณา และให้เขาทำสิ่งที่ควรทำ คือวิธีตั้งตัวในชาตินี้ มีต้องขยันเล่าเรียนเพื่อหาเครื่องรับประกันอนาคต และขยันหาทรัพย์ เป็นต้น

เรื่องการแนะนำสอนคนนั้น ต้องรู้ความจริงว่า คนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนรู้ได้เร็ว บางคนต้องแนะนำก่อนจึงรู้ บางคนต้องแนะนำชี้แจงหลายครั้งจึงรู้ บางคนเหลือที่จะแนะนำ เพราะดื้อเกินไปหรือโง่เกินไป บุคคลประเภทสุดท้ายนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องทรงชักสะพานคือไม่สอน ถ้าไปถูกคนชนิดนี้เข้าก็ต้องปลงใจว่า เราทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ไหวก็ต้องปล่อย แม้พระพุทธองค์เองก็ยังทรงปล่อยคนประเภทนี้ นับประสาอะไรกับคนขนาดเรา นึกเสียว่าเป็นกรรมของเขาด้วยของเราด้วยที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับเขา ต้องใช้หลักกรรมมาช่วย อย่างนี้ก็จะทำให้ค่อยสบายใจขึ้น

๒.๕ ผิดหวังเพราะสู้เขาไม่ได้
เรื่องที่สู้เขาไม่ได้นั้นมีมาก เช่น สู้เขาไม่ได้ทางการเรียน ทางการทำงานต่างๆ ทางความงาม ทางแต่งตัว ทางการพูด เป็นต้น

ในเรื่องนี้ เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งก่อนว่า คนนั้นมีปัญญา มีความสามารถ มีปฏิภาณไม่เท่ากัน แม้สำเร็จการศึกษาพร้อมกันจากสำนักเดียวกันก็ไม่เท่ากัน บางคนเก่งแต่พูด ทำไม่เก่ง บางคนเก่งคิด แต่ทำไม่เก่ง

เฉพาะในเรื่องเรียน หรือทำงานควรจะได้คิดอย่างนี้คือ
๑. เรียน หรือทำลำบาก ต้องขยันมาก ต้องทำงานหนักมาก แต่ได้ผลช้า คือรู้ช้า หรือประสบผลช้า อย่างนี้ก็มี

๒. เรียน หรือทำลำบาก แต่รู้เร็ว หรือได้ผลเร็วอย่างนี้ก็มี

๓. เรียน หรือทำง่าย ไม่ต้องอาศัยความขยันขันแข็ง ทำงานหนักมาก แต่ได้ผลช้า คือรู้ช้า หรือประสบผลช้า อย่างนี้ก็มี

๔. เรียน หรือทำง่าย แต่ได้ผลเร็ว คือรู้เร็ว หรือได้ประสบผลเร็ว อย่างนี้ก็มี

หรือคิดว่าตนยังทำเหตุไม่สมผลยังทำเหตุน้อยไป จึงยังสู้เขาไม่ได้ หรือจึงยังไม่พบความสำเร็จ เมื่อคิดได้อย่างนี้ จะได้ไม่ท้อใจ เมื่อยังไม่ประสบความสำเร็จจะได้ขยันยิ่งขึ้น

การแข่งขันนั้น ท่านว่า แข่งรถแข่งเรือแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนานั้นแข่งกันไม่ได้ ข้อนี้ก็เป็นคติอีกอย่างหนึ่ง สำหรับให้คิดเพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจ จะได้คิดสร้างความดี และข้อนี้ เป็นเรื่องของหลักกรรมอีกเช่นเดียวกัน ดังที่ว่ากรรมคือ การกระทำ ย่อมทำให้สัตว์(หมายถึงคนด้วย) ดีบ้าง เลวบ้าง แล้วแต่กรรม(การกระทำนั้นๆ) และขอให้นำหลักในข้อ ๒.๒ พร้อมทั้งหลักสำหรับการตั้งตัวมาพิจารณาประกอบเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

ส่วนเรื่องความงามนั้น ศัตรูของความงาม คือความแก่และใครๆ ก็แก่ พอแก่ตัวอายุ ๖๐-๗๐ แล้ว คนสวยคนไม่สวยก็อยู่ในสภาพเดียวกัน คือ แก่ดูไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ความงามรูปจึงสู้งามคุณธรรมไม่ได้ เพราะงามคุณธรรมยั่งยืนกว่า มีคุณค่ากว่างามรูป ดังนั้น อย่าไปทุกข์ใจว่างามสู้เขาไม่ได้ เพราะพอแก่แล้วก็เหมือนกัน คือดูไม่ได้เท่าๆ กัน

๓. ปัญหาทางการเมือง
ประเทศต่างๆ ย่อมมีปัญหาทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ปัญหาเหล่านี้ ในประเทศก็ย่อมมีวิธีแก้ด้วย
ความสามัคคี
เศรษฐกิจ
การบริหาร
การศึกษา
การพระศาสนา
ให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน
ภายนอกประเทศแก้ด้วย
วิธีการทูต
มนุษยธรรม

ความสามัคคี
กลุ่มคนตั้งแต่ครอบครัวจนถึงประเทศชาติ จะยังคงอยู่ได้ไม่แตกสลายไป เพราะภายในมีความสามัคคี ข้อนี้เป็นความจริงของทุกยุคทุกสมัย และเหตุให้เกิดความสามัคคีนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น สาราณียธรรม ๖ ประการ อปริหานิยธรรม ๗ ประการ สังคหวัตถุเรื่องการช่วยเหลือกัน ๔ ประการ ผู้ใหญ่มีพรหมวิหารธรรม ไม่มีอคติ คือลำเอียงด้วยความรัก โกรธ กลัว และหลง และผู้น้อยมีธรรมของผู้น้อย เช่นเป็นผู้มีความเคารพผู้ควรเคารพ ไม่เบ่งอวดดีจองหอง มีความกตัญญูกตเวที ว่าง่าย พูดกันรู้เรื่อง เป็นต้น

และคนทั้งหลายควรระลึกถึงกัน ทำความรักในกันและกัน เคารพในกันและกัน สงเคราะห์กันไม่วิวาททะเลากัน มีความพร้อมเพรียงกลมเกลียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เศรษฐกิจ
ข้อนี้มีหลักอยู่ว่า ถ้าประชาชนมีฐานะดีแล้ว เศรษฐกิจของบ้านเมืองก็ดีไปด้วย

ประชาชนจะมีฐานะดีนั้นทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ต้องเว้นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อม หรือตั้งตัวไม่ได้ และต้องบำเพ็ญเหตุตั้งตัวได้ในปัจจุบันชาตินี้ มีขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันหาทรัพย์ เป็นต้น

เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ประชาชนก็จะมีฐานะดี อยู่ดีกินดี มีความสุข โจรผู้ร้ายก็มีน้อย ประชาชนทำงานเพิ่มผลิตผลให้เกิดแก่ชาติ ภาษีอากรก็ได้เพิ่มขึ้น รายได้ของชาติมีมากขึ้น

และในพระพุทธศาสนา ยังแสดงคุณสมบัติของบุคคลผู้มีหน้าที่เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์อีก ดังนี้ คือ จกฺขุมา เห็นกาลไกล เห็นว่าอะไรตลาดต้องการ ไม่ต้องการ ฉลาดวิธุรา เอาใจใส่ติดตามงานติดต่อตลาด นิสฺสยสมุปนฺนา มีหัวทางนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาติย่อมมีรายได้มาก เมื่อมีรายได้มาก เศรษฐกิจของชาติย่อมดีขึ้นเป็นธรรมดา การที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้งส่วนย่อยคือ ในครอบครัว หรือในส่วนใหญ่คือ ในชาตินั้น ถ้าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเป็นเพราะขาดหลักธรรมดังกล่าว

การบริหารบ้านเมือง
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักธรรมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารบ้านเมือง และหลักธรรมสำหรับผู้บริหารไว้เป็นอันมาก เป็นต้นว่า

ก. หลักบริหาร เช่น
๑. ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ
๒. จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ
๓. ราชสังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ
๔. หลักข่มผู้ที่ควรข่ม ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง
๕. สังคหวัตถุ ๔ ประการ
๖. สัปปุริสธรรม ๗ ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นหลักบริหารที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ สำหรับผู้บริหารบ้านเมืองได้ใช้ปฏิบัติ

ผู้บริหาร
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงคุณสมบัติของผู้บริหารไว้เป็นอันมาก เช่น

ข. หลักของผู้นำ เช่น
๑. ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ เว้นอคติธรรม ๔ ประการ

๒. หลักของผู้นำ ๖ ประการ มีอดทน เป็นต้น ในเรื่องผู้นำ

๓. หลักของผู้นำ ๕ ประการ มีช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น ในเรื่องผู้นำ

๔. อีก ๒ ประการ มีความสามารถในการค้นปัญหาเป็นข้อต้น ในเรื่องผู้นำ

๕. และอีก ๗ ประการ มีองอาจ ฉลาดเป็นข้อต้น ในเรื่องผู้นำ

๖. และอีก ๕ ประการ มี ๑. ฉลาด ๒. กล้า ๓. เป็นพหูสูต ๔. ทรงธรรมประจำใจไร้อคติ ๕. ประพฤติสุจริต

ค. หลักของข้าราชการอื่นๆ ฝ่ายพลเรือน เช่น
๑. หลัก ๔ ประการ มีขยันเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๒. หลัก ๙ ประการ มีเป็นผู้นำที่ดีของประชาชนเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๓. หลักอีก ๔ ประการ มีเป็นผู้พูดให้เขาฟังเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๔. อีก ๔ ประการ มีความประพฤติดีเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๕. อีก ๔ ประการ มีนับถือผู้เจริญด้วยคุณวุฒิ และวัยวุฒิเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๖. อีก ๕ ประการ มีฉลาดรอบรู้เป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๗. และอีก ๙ ข้อ ซึ่งแสดงหลักการใช้วาจาของข้าราชการ มีไม่พูดมากเกินไปเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๘. กับหลักทั่วไปอีก ๗ ประการ มี ๑. ขยันทำงาน ๒. ทำงานด้วยมีสติสัมปชัญญะเสมอเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๙. และหลักเป็นเครื่องประกอบอีก ๔ ประการ คือ ๑. รู้ราชกิจ ๒. ปฏิบัติราชการไม่บกพร่อง ๓. ไม่ทะเลาะกับผู้ใหญ่ ๔. ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

๑๐. และอีก ๔ ประการ คือ ๑. มีความกตัญญูกตเวที ๒. ถ่อมตนไม่จองหอง ๓. พูดดีไม่ดุร้ายหยาบคาย ๔. พูดมีประโยชน์ ไม่พูดเลว

ฆ. ข้าราชการฝ่ายปราบปราม หรือฝ่ายทหารหรือตำรวจ มีหลักธรรมเช่น
๑. หลักธรรม ๓ ประการ มีความขยันปฏิบัติการเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๒. อีก ๖ ประการ มีเป็นคนแกล้วกล้าเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๓. และอีก ๔ ประการ มีเป็นคนฉลาดรอบรู้เป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๔. และมีอีก ๔ ประการ มีเก่งในการตั้งทัพหรือกองทัพเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

เมื่อผู้บริหารบ้านเมืองทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายหัวหน้า ฝ่ายบำรุง ฝ่ายปราบปราม มีคุณสมบัติเพื่อการบริหารตามหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีความสุข ทำให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

การศึกษา
ประชาชนมีความรู้ดีย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญ พูดกันรู้เรื่อง และเข้าใจ ในการที่จะรับผิดชอบร่วมกันในการช่วยกันสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนจะมีความรู้ดีก็ต้องศึกษาดี(ส่วนความประพฤติดีนั้น ย่อมมีเพราะการอบรมทางบ้าน และความคิดดีย่อมได้จากทางวัด หรือทางศาสนา) และหลักการศึกษามีดังนี้

หลักการศึกษา
ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้มาก เป็นต้นว่า

๑. ครูต้องใช้หลัก ๔ ประการ มีแนะนำสอนนักเรียนดีเป็นข้อต้น ในเรื่องหน้าที่ครูอาจารย์

๒. นักเรียนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของนักเรียน ๔ ประการ มีเชื่อฟังครูเป็นข้อต้น ในเรื่องหน้าที่ของนักเรียน

๓. และนักเรียนต้องใช้หลักอิทธิบาท คือ เหตุให้ประสบความสำเร็จ ๔ ประการ มีความพอใจในการเรียนเป็นข้อต้น ในเรื่องหลักความสำเร็จ

๔. และนักเรียนต้อง
๔.๑ ฟังดี คือ ฟังได้เรื่องได้ราว
๔.๒ ตั้งใจฟัง
๔.๓ ตั้งใจรับรู้
๔.๔ ตั้งใจศึกษา
เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาชนย่อมมีการศึกษาดีโดยทั่วไป และอำนวยให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

พระศาสนา
ความรู้ดีย่อมได้จากครู หรือโรงเรียน ความประพฤติดีย่อมได้จากผู้ใหญ่ หรือทางบ้าน ส่วนความคิดดีย่อมได้จากทางวัด หรือทางพระศาสนา คือทางภิกษุสามเณร ดังนั้น ภิกษุสามเณรจึงมีความสำคัญต่อบ้านเมือง ในการที่จะทำให้ประชาชนเป็นคนคิดดี โดยสอนเขา ทำตนให้เป็นตัวอย่างแห่งความดี และเป็นที่พึ่งทางใจของเขา เป็นต้น และภิกษุสามเณรจะทำได้ก็ต้องเป็นภิกษุสามเณรอย่างนี้ คือ

สุกตกมฺมการี=ทำดี
สุภาสิตภาสี=พูดดี
สุจินฺติตจินฺตี=คิดดี
สุวิชาโน=รู้ดี และ

๑. มีความประพฤติดี เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชน
๒. มีความรู้ดี
๓. มีความเสียสละ
๔. มีความสามัคคี
๕. รู้จักหน้าที่ และทำตามหน้าที่ไม่ละเลย

๑. มีความประพฤติดี
ภิกษุที่ประพฤติดีคือ

๑.๑ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ สำรวมในศีล เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต

๑.๒ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังไม่ให้ถูกความยินดี ยินร้ายครอบงำได้เมื่อเห็นรูป เป็นต้น

๑.๓ ไม่เป็นคนเอิกเกริก เฮฮา เป็นคนเรียบร้อย

๑.๔ อยู่ในที่อยู่อันเงียบสงบ

๑.๕ มีความเห็นถูกต้อง

เกี่ยวกับความประพฤติของภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาก ดังในบรรพชิตธรรม แต่นำมากล่าวเพิ่มเพียงเท่านี้ก็พอสมควรแล้ว

๒. มีความรู้ดี
คือเป็นพหูสูต โดยมีความรู้ในวิชาหลัก คือทางธรรม และวิชาประกอบคือ ทางโลก เพื่อประโยชน์ในการบำเพ็ญอัตตัตถจริยา และโลกัตถจริยา คือประโยชน์ตน เช่น การอบรมใจของตน และประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น สั่งสอนและอบรมแนะนำผู้อื่นตามหน้าที่ของตน(มโนรถปูรณี) ความรู้ดีย่อมมีได้ด้วยวิธีแห่งการศึกษาดังกล่าวแล้ว ในเรื่องการศึกษา และการศึกษานี้ย่อมเป็นธุระหรือหน้าที่ของภิกษุอย่างหนึ่ง เรียกว่า คันถธุระ หรือปริยัติธรรม

๓. มีความเสียสละ
คือเสียสละความสุขส่วนตัว โดยการบำเพ็ญโลกัตถจริยา ตามอย่างที่พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญมาแล้ว พระพุทธองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาลชาติ เมื่อตรัสรู้แล้วแทนที่จะเสวยวิมุติสุขส่วนพระองค์ กลับเสด็จไปโปรดผู้อื่นโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และลำบากเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี พระสาวกทั้งหลายของพระองค์ได้เที่ยวไปเผยแผ่พุทธธรรม เที่ยวไปช่วยผู้อื่นถึงจะสิ้นชีวิตก็ยอม และสาวกที่ยังอยู่ก็ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ด้วยความเสียสละกำลังกาย กำลังความรู้ กำลังความคิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และของพระสาวกอย่างนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้แพร่หลายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้คนมีความคิดดี ดำเนินชีวิตอย่างมีหลักใจ และพ้นทุกข์ ก็จาคะ หรือความเสียสละนี้ย่อมเป็นความดีอย่างหนึ่ง

๔. มีความสามัคคี
เรื่องนี้มีความสำคัญมาก จึงมีพระบาลีกล่าวไว้มาก เช่น ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้เกิดความสุข และความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้สำเร็จความเจริญ ภิกษุเป็นผู้สอนเขาให้มีความสามัคคี ถ้าจะมาแตกความสามัคคีเองก็เป็นเรื่องที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง ทำให้เกิดผลเสียแก่ทุกฝ่าย ดังนั้นความสามัคคีจึงเป็นสิ่งจำเป็นของหมู่คณะ และความสามัคคีนั้นย่อมเกิดได้ และตั้งมั่นยืนนานก็โดยอาศัยหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับสังคม และสามัคคี เช่น หลักสังคหวัตถุ ๔ ประการ และสาราณียธรรม ๖ ประการ เป็นต้น

๕. หน้าที่ หน้าที่ของภิกษุมี

๕.๑ เล่าเรียน ได้แก่ คันถธุระ หรือเรียนปริยัติธรรม

๕.๒ ปฏิบัติ ได้แก่ วิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติเพื่อปฏิเวธ

๕.๓ บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น และรักษาพระศาสนา

ข้อ ๕.๑, ๕.๒ เป็นอัตตัตถจริยา คือ ทำเพื่อประโยชน์ตน ข้อ ๕.๓ เป็นโลกัตถจริยา คือ ทำเพื่อประโยชน์คนอื่น เมื่อภิกษุมีความประพฤติดี มีความรู้ดี ปฏิบัติหน้าที่ดีอย่างนี้ ย่อมเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน ย่อมสามารถสอนชี้แจง และอบรมให้ประชาชนมีความคิดดีได้ โดยให้เขารู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ ข้อนี้ย่อมอำนวยผลเป็นความมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วย และเป็นการแก้ปัญหาทางด้านการเมืองภายในได้อีกอย่างหนึ่ง

ให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน และปฏิบัติหน้าที่ของตน
ประชาชนแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร กับฝ่ายพลเมืองทั่วไป และประชาชนทั้ง ๒ ประเภทนี้ มักไม่ค่อยถูกกัน คือ ฝ่ายบริหารก็ว่าฝ่ายพลเมืองไม่ให้ความร่วมมือ คอยประพฤติผิดกฎหมาย ไม่เสียภาษีอะไร เป็นต้น ฝ่ายพลเมืองก็ว่าฝ่ายบริหารออกกฎหมายมากดขี่พลเมือง และใช้อภิสิทธิ์ แต่ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็มีหน้าที่ทั้งส่วนย่อย คือส่วนตัว และครอบครัว ทั้งส่วนใหญ่คือ ส่วนกลางหรือส่วนรวม แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ หน้าที่ส่วนกลางที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน กล่าวคือ ในส่วนความมั่นคงของประเทศชาติบ้านเมือง เรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคล ในเรื่องนี้ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ มีรู้เหตุ รู้ผล รู้หน้าที่ของตน เป็นต้น ใช้หลักสาราณียธรรม หลักอปริหานิยธรรม และหลักสังคหวัตถุ หลักพรหมวิหารธรรม เป็นต้น คนเมื่อพูดกันรู้เรื่องเข้าใจเหตุผล มีความสามัคคี มีความดีแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องสำคัญคือ บ้านเมือง จริงอยู่บางคนอาจจะเห็นแก่ตัวไม่ยอมรับรู้อะไร จะพูดจะชี้แจงอย่างไรก็ไม่ได้ผล เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ขอให้นึกถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ

๑. รู้เรื่องเร็ว
๒. ต้องแนะนำจึงรู้
๓. เป็นคนพอแนะนำได้
๔. เหลือที่จะแนะนำ

บุคคลชนิดที่ ๔ นี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำไม่ไหว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องปล่อยไป เป็นคนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน หากปฏิบัติได้เช่นนี้จะทำให้ฝ่ายปกครอง

๑. ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนทั่วไป บริหารบ้านเมืองได้สะดวกด้วยกุศลจิต

๒. ทำตนเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วไปดุจเป็นญาติ เป็นเพื่อน

๓. ทำตนให้เป็นที่รัก เคารพยำเกรงของประชาชนทั่วไป ไม่ทำตัวเป็นนายผู้บังคับกดขี่

๔. ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ด้วยความภาคภูมิใจ ส่วนประชาชนทั่วไปย่อมจะ

-รู้จักหน้าที่ของตน เช่น เสียภาษีอากร และรู้จักรับผิดชอบร่วมกันในความมั่นคงของบ้านเมือง

-รู้จักตนว่ามีฐานะภาวะเช่นไร แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามฐานะกับภาวะนั้น

-รู้จักเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง

-มีความสามัคคี มีศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ มีพระมหากษัตริย์เป็นที่รวมแห่งใจ

ส่วนปัญหาการเมืองภายนอกประเทศนั้น แก้ได้ด้วยวิธีการทูต ดังนี้

ทูตเป็นผู้แทนประเทศ ต้องมีคุณสมบัติประจำตัว และคุณสมบัติประจำตัวทูตนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น
๑. คุณสมบัติของทูต ๘ ประการ มีเป็นคนฟังเป็น เป็นข้อต้น ในเรื่องทูต

๒. และมีหลักเหล่านี้คือ ฉลาด กล้า เป็นพหูสูต เป็นคนมีธรรมประจำใจ และประพฤติแต่สุจริต

๓. กับมีหลักอีก ๕ ประการ คือ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ผูกมิตร รู้จักพูด ใจกว้าง เป็นผู้นำ

เมื่อทูตมีคุณสมบัติอย่างนี้ ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศหรือนอกประเทศได้ อย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

นอกจากนี้ ควรใช้ มนุษยธรรม เป็นเครื่องประกอบการแก้ปัญหาทางการเมืองภายนอกประเทศด้วย แสดงความเห็นใจในความทุกข์ยากของคนนอกประเทศผู้ลำบาก โดยใช้หลักเมตตาธรรม ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า พึงทำเมตตาจิตในหมู่มนุษย์ พึงเจริญเมตตาจิตอย่างกว้างขวางแก่ชาวโลกทั่วไป เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ชาวโลก นอกจากเมตตาธรรมแล้ว สังคหวัตถุ ๔ ประการ มีการให้เป็นข้อต้นดังกล่าวแล้ว ก็ใช้เพื่อมนุษยธรรมได้

ความประหม่า
เกิดจากความกลัว เช่น กลัวผิด กลัวผู้ฟังจะว่า และจากตนนึกดูถูกตัวเองว่า สู้ผู้ฟัง ผู้ดูไม่ได้ จะพูดจะทำอะไรก็เกรงว่าจะผิด ข้อนี้นับว่าเป็นปัญหาชีวิตอย่างหนึ่ง

ปัญหานี้พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีแก้ไว้ดังนี้ คือ
๑. มีความเชื่อมั่น เช่น เชื่อมั่นในตัวเอง
๒. มีความประพฤติดี
๓. มีความรู้ดี
๔. มีความขยันในการทำหน้าที่การงาน
๕. มีความฉลาดรอบรู้

เมื่อมีความประพฤติดี ใครก็ไม่สามารถติเตียนความประพฤติได้ มีความรู้ดี ใครจะมาด้านไหนเป็นสู้ได้ทั้งนั้น มีความขยัน ปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อย ไม่บกพร่อง ไม่เปิดช่องให้เขาติเตียน มีความฉลาด มีปฏิญญา และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง อย่างนี้ย่อมแก้ความประหม่าได้แน่นอน

เครื่องค้ำจุนโลก
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก มิให้ตกไปสู่ความยุ่งยาก เมตตา คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น การแผ่เมตตานั้นคือ ตั้งใจว่า ขอสรรพสัตว์(หมายถึงสิ่งมีวิญญาณทั้งหมด)
๑. จงอย่ามีเวรมีภัยต่อกันเลย
๒. จงอย่าเบียดเบียนกันเลย
๓. จงอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
๔. จงมีความสุขกาย-ใจ บริหารตนให้พ้นจากทุกภัยเถิด

ถ้าคนทุกคนหรือส่วนมากมีเมตตาจิตต่อกันแล้ว สังคมทุกระดับตลอดจนโลกก็จะมีแต่ความสงบ อานิสงส์ของการเจริญเมตตาจิตมากๆ นั้นมี ๑๑ ประการ มีหลับ-ตื่นเป็นสุขเป็นข้อต้น มีไปสู่พรหมโลกเป็นข้อสุด

ข้อความดังกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางมนุษย์ ส่วนทางทุคติ คือ ทางไปสู่ที่เลว ที่ไม่ดี ที่มีความทุกข์ ตลอดจนทางไปอบายนรกภูมิแห่งเดรัจฉาน และทางไปสุคติสวรรค์ในปรโลกนั้น ย่อมแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงก็เป็นความจริงอยู่ในตัวเอง ความจริงไม่ใช่ความเชื่อ ความเชื่อก็ไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเป็นเชื่อความจริง อย่างนี้ย่อมใช้ได้ ใครจะไปทางไหนก็สุดแล้วแต่จะเลือก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา