ชีวิตดำเนินไปตามกระแสกรรม

Socail Like & Share

กรรม
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญมากนั้นมีมาก และเรื่องกรรมนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในศาสนาอื่นถือว่า คนจะดีจะชั่ว หรือจะมีชีวิตเป็นอย่างไร อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงลิขิต เช่น พรหมลิขิต เป็นต้น แต่ในพระพุทธศาสนาสอนว่า เป็นอย่างนั้นๆ เพราะกรรม ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้มากแห่งด้วยกัน เช่นว่าเรามีกรรมเป็นของเรา เราเป็นผู้รับผลของกรรม เราเกิดมาเพราะกรรม เราพัวพันอยู่กับกรรม เรามีกรรมเป็นผู้นำ เราทำกรรมดีหรือชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ และกรรมย่อมจำแนกสรรพสัตว์(ทั้งคนทั้งสัตว์ทั้งพวกอทิสสมานกาย) ให้มีดีบ้างเลวบ้าง ตามประเภทของกรรมของตน และคนทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เหมือนหว่านพืชชนิดใดก็ได้พืชชนิดนั้น และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และสรรพสัตว์ย่อมพัวพันเนื่องอยู่กับกรรม เหมือนสลักติดรถที่แล่นไป

การรับรองหรือปฏิเสธเรื่องกรรม เป็นสิทธิของแต่ละคน ใครมีความรู้ความเห็นอย่างไรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ย่อมขึ้นกับวิจารณญาณ และข้อเท็จจริงของเขา ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่บังคับให้เชื่อ แต่ก็แสดงว่ากรรมเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง

โดยนัยดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าชีวิตของคน มีส่วนดำเนินไปตามกระแสกรรม ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องกรรมก่อนโดยสังเขปตามควร

ในเรื่องกรรมมีปัญหาที่น่าพิจารณาดังนี้
๑. กรรมคืออะไร
๒. กรรมมีจริงหรือไม่ ผลของกรรมมีจริงหรือไม่
๓. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่
๔. กรรมติดตามเราไปได้อย่างไร มองไม่เห็น
๕. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่
๖. หลักกรรมแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร

๑. กรรมคืออะไร
กรรมคือการกระทำ เป็นคำกลางๆ ถ้าทำดีเรียกว่า กุศลกรรม ถ้าทำชั่วเรียกว่า อกุศลกรรม ถ้าทำเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่า อัพยากตกรรม คำว่า กรรม หรือกัมมเป็นภาษาทางพระพุทธศาสนา ส่วนคำว่า กระทำเป็นคำไทย และเป็นคำแปลของคำว่า กรรม หรือกัมมนั้น คำว่า กรรม มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า กัมม มาจากภาษาบาลี เรานำภาของเขามาใช้เป็นภาษาไทย

๒. กรรมมีจริงหรือไม่
ถ้าสงสัยเรื่องนี้ก็ควรคิดว่า การกระทำมีหรือไม่ เช่น การกระทำทางกาย เป็นต้นว่า การเขียนหนังสือ การกระทำทางวาคือ พูด การทำทำทางใจคือ คิด เหล่านี้มีหรือไม่ ถ้ายอมรับว่ามีก็เป็นอันยอมรับว่า กรรมนั้นมีจริง

กรรมมีผลจริงหรือไม่
ขอให้คิดดูว่าเมื่อทำเหตุแล้วผลจะมีหรือไม่ เมื่อจับไฟ(อันเป็นเหตุ) ก็ต้องร้อนมือ(อันเป็นผล) เราอ่านหนังสือออกเพราะเหตุคือ การเรียน อย่างนี้จริงหรือไม่ ถ้ายอมรับว่าจริงก็เป็นอันยอมรับว่ากรรมมีผลจริง

๓. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกรรมในชาติก่อน
ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่รอบตัว แล้วแต่ว่าเราจะดูหรือไม่ก็เท่านั้น เช่น คนเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาพิการ บางคนไม่พิการ บางคนพอเกิดมาก็ตาย บางคนอยู่จนเบื่อทั้งๆ ที่อ่อนแอ บางคนเป็นใบ้ บางคนอายุ ๖ ขวบพูดได้ ๖ ภาษา บางคนปัญญาอ่อน บางคนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พี่น้องท้องเดียวกัน พิมพ์เดียวกัน ต่อให้เป็นฝาแฝดก็ไม่เหมือนกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ที่ปรากฏผลอย่างนี้ แสดงว่าต้องมีเหตุ เหตุนั้นทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า คือ กรรมเก่าแต่ปางก่อนนั่นเองจัดสรร ถ้าทุกคนเป็นของใหม่ คนทุกคนก็ต้องเหมือนๆ หรือต่างกันไม่มาก หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเป็นทิวแถวแล้ว พระพุทธองค์เองก็ตรัสไว้ดังในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า เราเกิดเพราะกรรม(กมฺมโยนิ) เรามีกรรมติดตัวไป(กมฺมพนฺธุ) และตรัสไว้ดังในอปาทาน ขุททกนิกาย ทรงแจ้งให้รู้ว่า การที่พระองค์ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องบำเพ็ญเหตุคือ บารมีมากเหลือประมาณ มาแต่ชาติก่อนๆ ตลอดจนในชาตินี้ ในอุทาน ขุททกนิกาย ก็ตรัสไว้ว่า เราท่องเที่ยวในชาติภพสังสารวัฏเป็นอเนก

ข้อนี้แสดงว่าที่เป็นอย่างนั้นๆ เริ่มตั้งแต่เกิดมานั้น เพราะเหตุคือ กรรมเก่าแต่ชาติก่อน จะว่าเป็นกรรมในชาตินี้ส่งผลก็ไม่ได้ เพราะตอนเกิดนั้นยังเล็กยังไม่ได้ก่อกรรมทำดีชั่วทางกายวาจาอะไร เราไม่ควรลืมหลักที่ว่า ผลในปัจจุบันย่อมแสดงเหตุในอดีต ข้อนี้ย่อมเป็นที่รับรองกันอยู่แล้ว พระอุโบสถวัดพระแก้วยังมั่นคงไม่พังจนปัจจุบันนี้ เราก็รู้ว่าเพราะเหตุคือ ก่อสร้างดีทั้งๆ ที่เราเกิดไม่ทันเห็นการก่อสร้างนั้น เห็นแต่ผลของเหตุคือ ความคงอยู่ของวัดพระแก้ว ผลย่อมแสดงเหตุแม้ที่มองไม่เห็นอย่างนี้ ถ้าจะว่าเป็นเพราะบังเอิญ ก็ควรคิดว่า บังเอิญนั้นควรใช้เมื่อยังหาเหตุผลยังไม่ได้ ก็นี่มีเหตุคือ กรรมแล้วก็ควรงดใช้

การกระทำในปัจจุบัน เรียกว่า กรรมในปัจจุบัน การกระทำในวินาทีที่แล้วมา นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ที่แล้วมา เรียกว่า กรรมเก่า หรืออดีตกรรม และวันนี้ก็คือ พรุ่งนี้ของเมื่อวานนี้ วันซืนนี้ก็คือเมื่อวานนี้ของเมื่อวานนี้ ชาติที่แล้วมาก็เป็นชาติปางก่อนของชาตินี้ ชาตินี้ก็คือชาติหน้าของชาติที่แล้วมา การกระทำในชาติที่แล้วมาจึงเป็นการกระทำหรือกรรมแต่ปางก่อน

เรื่องกรรมเก่ากรรมใหม่นี้ อาจจำกัดความโดยกำหนดเอาชาติก่อนชาตินี้เป็นหลักดังนี้คือ กรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อนเป็นกรรมเก่า กรรมที่ทำในชาตินี้เป็นกรรมใหม่ กรรมทั้งสองนี้ย่อมอาศัยกันและกัน เช่น เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชแล้วทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อบรรลุโมกขธรรม และทรงประสบความสำเร็จ คนอื่นออกบวชบำเพ็ญเพียรแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะกรรมเก่าคือ พระบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้แต่ชาติปางก่อนมีมากอย่างยิ่ง จึงทำให้ประสบความสำเร็จ กรรมเก่าคือ บารมีดังกล่าว และกรรมใหม่คือ การบำเพ็ญเพียร ต่างอาศัยกันอย่างนี้ แต่ว่าการทำกรรมใหม่โดยไม่เกี่ยวกับกรรมเก่าก็มีอยู่มากเหมือนกัน มิใช่ต้องเกี่ยวกับกรรมเก่าไปทุกอย่าง

มีเรื่องน่าคิดอยู่คือ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในติกนิบาตร อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า ผู้มีวาทะต่อไปนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ

๑. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเพราะมีกรรมเก่าเป็นเหตุทั้งหมดอย่างเดียว(ปุพฺเพกตเหตุกวาท)

๒. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเพราะมีการสร้างของพระผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ(อิสฺสรนิมฺมานเหตุกวาท)

๓. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเอง หาเหตุหาปัจจัยมิได้(อเหตุกปจฺจยวาท)

ในข้อที่๑ อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะถือว่า ทุกอย่างมีขึ้นเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว แต่ตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่า การทำกรรมใหม่นั้น เพราะกรรมเก่าส่งให้ทำก็มี ที่ทำใหม่โดยมิได้เกี่ยวกับกรรมเก่าก็มี ดังนั้นการถืออย่างข้อ ๑ จึงเป็นการเห็นผิด

ในอภิธัมมสังคณี ท่านกล่าวถึงกิเลส กรรม และผลของกรรม(วิบาก) กิเลสทำให้มีการกระทำ คือ กรรม เมื่อมีการกระทำก็มีผลของการกระทำ และผลนั้นก่อให้เกิดกิเลสอีก กิเลสก่อให้เกิดกรรมอีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ กิเลสแม้หมดแล้ว แต่ถ้าคนผู้หมดกิเลสนั้นยังไม่ดับ(ตาย) ก็ยังคงมีการกระทำคือ กรรมอยู่ กรรมจึงเป็นเรื่องยืดเยื้อ เมื่อผู้นั้นดับแล้ว ทุกอย่างก็ยุติ ดังนั้น เมื่อกล่าวว่าคนเกิดเพราะกรรม หรือกิเลสจึงได้ทั้งนั้น ที่กล่าวดังนี้ เพื่อแก้ความข้องใจของบางท่านที่อาจคิดว่า คนเกิดเพราะกิเลส หรือเพราะกรรม

ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านกล่าวถึง
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาตินี้ หรือให้ผลทันตา

อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในระยะใกล้ คือชาติต่อไป

อปราปรเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป

และถ้าจะพูดไปแล้ว ผลของกรรมย่อมเกิดจากอดีตกรรมคือ กรรมเก่าทั้งนั้น ต่างแต่ว่าอดีตหรือเก่าระยะสั้น หรือระยะยาวเท่านั้น เมื่อระยะสั้นมีได้ ระยะยาวก็มีได้ เช่น เราจับไฟรู้สึกร้อน ความรู้สึกร้อนเป็นผลของการกระทำคือ จับไฟ และเกิดขึ้นภายหลังการจับในระยะแรก ดังนั้นการจับไฟในระยะแรกผ่านแล้วเป็นอดีตแล้ว จึงเกิดรู้สึกร้อน ด้วยเหตุดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผลย่อมเกิดจากอดีตกรรมทั้งนั้น จะเกิดพร้อมกันไม่ได้

เมื่อพูดถึงเรื่องกรรมเก่า ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า ถ้ายังมีเหตุ คือกิเลส ก็ต้องเกิด คือ มีชาติอีก ถ้าสิ้นเหตุ คือหมดกิเลส ก็สิ้นการเกิดใหม่อีก การเกิดที่สิ้นเหตุนั้น เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ดังในตอนท้ายของธัมมจักกัปวัตตนสูตร ในมหาขันธกมหาวรรค ความไทยว่า การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่ไม่มี(อยมฺนติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว) เรื่องนี้ในพระไตรปิฎกมีมาก แม้แต่เพียงในมหาวรรคทีฆนิกาย ซึ่งมีพระสูตรอยู่ในวรรคนี้ ๑๐ สูตร ก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน้อย ๓ สูตรแล้ว เช่น มหาปทานสูตร อันกล่าวถึงชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้าเป็นต้น มหานิทานสูตร อันว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องเหตุผลของการเกิดการดับ ถ้ามีเหตุคือ กิเลส ก็ยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตลอดไป ถ้าสิ้นเหตุ การเกิดครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้าย อีกสูตรหนึ่งคือ ปายาสิราชัญญสูตร สูตรนี้ พูดตรงทีเดียวถึงเรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ มีเรื่องโต้กันระหว่างพระกุมารกัสสปเถระ กับพระเจ้าปายาสิผู้มีความเห็นว่าตายแล้วสูญไม่เกิดอีกอันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพียงวรรคเดียวก็ยังมีการกล่าวเรื่องนี้ไว้ถึงอย่างน้อย ๓ สูตร เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ควรคำนึงอย่างหนึ่งว่า เมื่อจะต้องเชื่อ ระหว่างผู้มีกิเลสกับผู้ไร้กิเลส เราควรเชื่อใคร หรือระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนอื่น ถ้าเราจะเชื่อ หรือจะถือมติควรจะเชื่อหรือถือมติของใคร เมื่อเราเองยังไม่รู้จริง

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าคนตายแล้วศูนย์หมด ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละพระญาติ ราชสมบัติ และฆราวาสสุข ออกบวช ต้องทนทุกข์ทนยากจนแทบจะสิ้นพระชนม์ ก็เพื่อแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดอีก จนพบจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าทุกคนตายแล้วไม่เกิดอีก พระองค์ก็ทรงอยู่ครองเรือนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยสุขในราชสมบัติ สิ้นพระชนม์แล้วก็แล้วกันไม่เกิดอีก อย่างนี้สบายกว่า ไม่ต้องไปบวชไปทนทุกข์ยาก ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นความเกิดให้ลำบาก ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าทรงเที่ยวสอนให้เขาพยายามบำเพ็ญธรรมเพื่อพ้นความเกิดให้ยุ่งยาก

ความเห็นนี้ ผู้ใดจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ย่อมเป็นสิทธิของแต่ละคน

๔. กรรมติดตามไปได้อย่างไร มองไม่เห็น
กรรมย่อมติดตามสัตว์ไปเหมือนลิ่มสลักรถติดไปกับรถ ในขณะแล่น หรือเหมือนพลังที่ติดไปกับลูกบอล และผลักดันลูกบอลให้ลอยไปในอากาศ หรือกลิ้งไปในสนาม เพราะการเตะของคน พลังนั้นเกิดจากการเตะ แต่ก็มองไม่เห็นพลังนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าติดไปกับลูกบอล หรือดุจความร้อนที่ติดไปกับไฟ หรือดุจความผิดที่ติดตัวคนฆ่าเขาตายแล้วหนีไป โทษที่ติดตัวไปนั้นมองไม่เห็น แต่รู้ว่ามี

สิ่งที่มองไม่เห็นจะปฏิเสธว่าไม่มีเสียทั้งหมดนั้นไม่ได้ คลื่นวิทยุมีอยู่ทั่วไป แต่ก็มองไม่เห็น

๕. ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริงหรือไม่
ข้อนี้เป็นความจริง ความเข้าใจผิด หรือความสงสัยในเรื่องนี้ หรือในเรื่องตรงกันข้าม คือทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่วนั้น ได้เกิดมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแก้ความเข้าใจผิดนี้ไว้ในมหากัมมวิภังคสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย และในที่นั้นได้สรุปว่า อตฺถิ กมฺมํ แปลว่า กรรมชั่วครอบงำกรรมชั่วให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมชั่วครอบงำกรรมดีให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมดีครอบงำกรรมดีให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมดีครอบงำกรรมชั่วให้ผล(ก่อน)ก็มี คือแล้วแต่กรรมหนักกรรมเบามากน้อย หรือแล้วแต่จังหวะ กรรมใดแรงกว่า หนักกว่า หรือได้จังหวะกว่า กรรมนั้นก็ให้ผลก่อน ดุจดังคนพายเรือ จ้ำอย่างแรงจนเรือแล่นพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่ถอยหลังแน่ เพราะพลังของการพายตอนแรกแรงกว่า

อีกอย่างหนึ่ง คนที่พูดว่า คนทำดีกลับได้ชั่ว คนทำชั่วกลับได้ดีนั้น เหมือนคนอ่านหนังสือไม่จบ อ่านได้ครึ่งเล่มก็นำมาพูด นำมาตัดสินแล้ว ขอให้อ่านให้จบ ให้ดูคนๆ นั้นไปให้ตลอดก็จะรู้เองว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ และปริมาณของกรรมดีชั่วนั้นก็ดุจเกลือกับน้ำ เกลือกำมือหนึ่ง ใส่น้ำครึ่งแก้ น้ำก็เค็ม ถ้าใส่ในน้ำสิบถัง น้ำก็ไม่เค็ม ทั้งที่เกลือก็มีเท่าเดิม

คนที่พูดว่า ทำดีไม่ได้ดีนั้น มักเป็นคนทำดี เพื่อหวังผลตอบแทนส่วนตัว มิได้ทำความดีเพื่อความดี พอไม่ได้ดังหวังก็ผิดหวัง เลยกล่าวอย่างนั้น

๖. หลักกรรมแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร
คนทั่วไปย่อมมีปัญหาชีวิตที่จะต้องแก้ เมื่อแก้ไม่ตก ถ้าไม่มีหลักสำหรับคิด หรือไม่มีทางออก ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ปล่อยๆ ไป แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ก็มักทำลายตนเองด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อยก็ด้วยการดื่มเหล้า ซึ่งเป็นการทำลายสุขภาพของตนเอง หรือมักทำร้ายหรือทำลายผู้อื่น อันอาจทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าจนปัญญา แก้ไม่ตก ก็นึกปลงใจเสียว่าเป็นกรรมของเราของเขา หรือเป็นกุศลกรรมของเขา เป็นอกุศลกรรมของเรา หรือเป็นอกุศลกรรมทั้งของเขาทั้งของเรา การใช้หลักกรรมเป็นทางออก หรือเป็นทางแก้ปัญหาชีวิตขั้นสุดท้ายอย่างนี้ย่อมทำให้เบาใจ ค่อยสบายใจขึ้น และไม่ไปทำลายตนเอง ไม่ทำร้ายและทำลายคนอื่นด้วย เรื่องร้ายทั้งหลายก็จะยุติ

คนที่ใช้หลักกรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิตขั้นสุดท้าย และได้ผลดีนั้น ขอให้ดูคนไทยเราก็แล้วกันเป็นตัวอย่าง

ในบางลัทธิศาสนาถือว่า คนจะดีจะชั่วอยู่ที่พรหมลิขิต กล่าวคือแล้วแต่พระเจ้า คือพระพรหมจะเป็นผู้กำหนด ใครจะแก้ไขไม่ได้ นอกจากพระพรหม ส่วนในพระพุทธศาสนาถือว่า คนจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของตัวเองเป็นสำคัญ ผู้อื่นสิ่งอื่นเป็นส่วนประกอบ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา