โปงลาง:เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน

Socail Like & Share

โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นกันในภาคอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กาฬสินธุ์  ขอนแก่น  และอุบลราชธานี โปงลางเป็นเครื่องดนตรีทำด้วยท่อนไม้ร้อยต่อกันเหมือนกับระนาดประกอบด้วยท่อนไม้ยาวประมาณ ๑ ฟุตเศษ ๑๒ ท่อน(๑๒ เสียง) แต่ไม่มีราง  เวลาจะตีก็เอาสายเชือกแขวนที่ต้นเสาหรือต้นไม้  ให้อีกด้านหนึ่งห้อยลง  เวลาเลิกก็ม้วนเก็บเหมือนม้วนเสื่อ  ดนตรีชนิดนี้เริ่มบริเวณภูพานก่อนที่อื่น  จากนั้นจึงค่อย ๆ แพร่หลายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของอีสาน  ยังสืบหาประวัติดั้งเดิมไม่ได้ว่า โปงลางเริ่มขึ้นเมื่อสมัยใดได้มีผู้สนใจสืบเสาะหาประวัติหลายต่อหลายท่าน แต่ยังไม่สามารถจะยืนยันได้  ทุกท่านก็ได้ข้อมูลมาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เพราะอาศัยหลักฐานปากคือจากคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่า  จึงใช้วิธีสันนิษฐานเอาเป็นส่วนใหญ่  แต่ก็เป็นข้อสันนิษฐานที่มีเหตุผลเชื่อได้

กำเนิดโปงลาง โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนหรือตั้งบนต่างวัว หมากโปงลางก็เรียก โปงหรือกระดิ่งทำด้วยโลหะหรือไม้  ใช้แขวนคอสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ม้า เป็นต้น ก็เรียกโปง(ชนิดเล็กเรียกขิก)  ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากมันโต  หรือพองออก โป่งออก (หำโปง=หำโต) โปงสำริด พบที่บ้านเชียงมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ปี มาแล้ว สัตว์ตัวเล็กใช้กระดิ่งแขวน สัตว์ตัวใหญ่ใช้โปงแขวน

นอกจากโปงที่ใช้แขวนคอสัตว์แล้ว โปงยังใช้แทนระฆังในวัดอีกด้วย  โปงของวัดนี้ใหญ่มาก  ขนาดเท่าตัวคน  เจาะขอนไม้ใหญ่ ๆ เป็นโปง  ตีเป็นสัญญาณในวัดทางอีสานทุกวัดเลย ส่วนมากเคาะบอกสัญญาณเวลาเย็น  ส่วนโปงที่ใช้แขวนคอสัตว์เลี้ยงนั้นมีประโยชน์หลายอย่างคือ

๑.  เพื่อเป็นสัญญาณให้เจ้าของรู้ว่า วัว ควายของตนอยู่ที่ไหน  สะดวกในการติดตามหรือต้อน  เมื่อวัว ควาย เข้าป่า ลงน้ำ หรือปะปนไปกับฝูงอื่น ๆ ป้องกันการสูญหายได้เป็นอย่างดี เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กเลี้ยงควายเคยจำเสียโปงควายของตน เวลาควายหากิน อยู่ชายป่า ไม่ต้องตามไปดู  ฟังแต่เสียงก็รู้ว่าควายเราอยู่

๒.  เพื่อกันความแตกตื่น เวลาวัว ควายอยู่ชายป่าหรือชายทุ่ง  หากได้ยินเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงคน เสียงวัวควายตัวอื่น มันมักจะหยุดหรือตื่น แต่ถ้ามีเสียโปงกล่อมหูมันอยู่เสมอมันก็จะมีสมาธิในการหากิน  หรือแม้แต่เวลาใช้ลากเกวียน  ลากล้อ ก็ให้ประโยชน์ในข้อนี้ได้

๓.  เพื่อเป็นสัญญาณจ่าฝูง โปงที่เสียงดัง ๆ ใช้แขวนคอที่เป็นจ่าฝูง  เวลาจ่าฝูงไปทางไหน  ลูกน้องหรือตัวเมียก็จะตามไปด้วย  คือมีสัญชาตญาณตามผู้นำไม่ว่าวัวหรือควายถ้าตัวเล็กกระโดดหรือวิ่ง ตัวโตหรือจ่าฝูงกระโดดบรรดาตัวเล็กตัวน้อยจะกระโดดโลดเต้นตาม ๆ กัน ดังนั้นเขาจึงให้มีจ่าฝูง ๆ ละ ๑ ตัว

เดิมทีเดียวเจ้าของก็คงจะมีจุดมุ่งหมายเพียงเท่านี้  คงมิได้มุ่งหมายที่จะให้มันกลายมาเป็นเครื่องดนตรี คราวนี้หันมาถึงเรื่องโปงลางว่ามันมาอย่างไร  เนื่องจากประชาบนในบริเวณประเทศลาวและภาคอีสาน ไม่ค่อยมีแม่น้ำและทุ่งราบมากเหมือนท้องที่ภาคกลางของไทย  อาชีพในการค้าขายจึงต้องอาศัยวัวต่างและเกวียนเป็นส่วนใหญ่  ถ้าในที่ราบเกวียนไปได้สะดวกก็ใช้เกวียน แต่ถ้าแห่งใดที่มีป่าและเหวห้วย  เกวียนไปไม่ได้ก็ต้องใช้วัวและต้องใช้ครั้งละหลาย ๆ ตัวด้วย เพื่อบรรทุกสินค้าไปขายต่างแดน ในการควบคุมวัวต่างข้ามป่าเขานี้เจ้าของจะต้องรู้ศิลปะในการควบคุมวัว เช่น ต้องคัดเอาจ่าฝูงเป็นตัวนำเป็นต้น  และเพื่อจะให้ตัวนำมีสัญญาณในการนำฝูงก็ต้องใช้โปงใหญ่ ๆ เสียงดี แต่การใช้โปงลูกเดียวคงไม่มีเสียงพอ เจ้าของจึงนำเอาโปงหลายลูกมารวมกัน  ทำเป็นเหมือนต่างพาดหลังวัวเลย  เท่าที่เคยเห็นเป็นรูป ๔ เหลี่ยมเหมือนกล่องชอล์ค  มีโปงสำริด ๔ ลูก แขวนอยู่ข้างในใช้วางบนหลังวัว(เข้าใจว่าอันใหญ่อาจจะมี ๒ ลูก ก็ได้ คือข้างละ ๓ ลูก) ใช้เฉพาะตัวจ่าฝูง  ในขบวนที่มีวัวต่างเป็นจำนวนมาก  ขบวนยาว วัวที่อยู่ท้ายกระบวนก็จะมีโปงลางด้วย เป็นการปิดท้ายขบวน และโปงลางของตัวปิดท้ายขบวนนี้  เสียงจะเล็ก (เสียงแหลม) กว่าเสียงตัวหน้า  เพื่อให้เป็นที่สังเกตง่าย ว่าหัวขบวนอยู่ทางไหนหางขบวนอยู่ทางใด  ส่วนประโยชน์ของโปงลางที่ใช้กับวัวต่างนี้มีมากกว่าโปงที่แขวนคอธรรมดา  คือนอกจากประโยชน์ ๓ ข้อข้างต้นนั้นแล้ว โปงลางยังใช้เพื่อ

๔.  เสียงสัญญาณจราจร เมื่อเวลาเข้าป่า เข้าดงที่เปลี่ยว ต้องคอยฟังเสียงโปงลางตัวหน้าและตัวหลัง ถ้าเสียงยังดังปกติไม่มีอันตราย

๕.  เป็นการโฆษณาสินค้า เมื่อเสียงโปงลางดังไปถึงชาวบ้านต่างถิ่น เขาก็รู้ทันทีว่ามีสินค้าต่างแดนมาถึง – เขาก็จะออกมาซื้อหาแลกเปลี่ยนสินค้ากับพวกพ่อค้าทันที

นอกจากนี้เสียงของโปงลางตัวหน้าและตัวหลังสลับกันไปเช่นนั้น ก็ย่อมทำให้เจ้าของเดินไปฟังไป  เกิดความเพลิดเพลินและมีกำลังเดินต่อไปอีกด้วย  เพราะเสียงโปงลางมันดังไม่ซ้ำเสียงเก่า  คือดังสม่ำเสมอเฉพาะทางที่เรียบ แต่พอขึ้นที่สูงหรือลงที่ต่ำหรือที่ขรุขระวัวเดินไม่สะดวก การโยกตัวของมันไม่สม่ำเสมอเสียงโปงลางก็ดังขึ้นอีกจังหวะหนึ่ง  คือตอนขึ้นเสียงจะช้า ตอนลงเสียงจะถี่เร็ว ที่ขรุขระเสียงจะถี่บ้างช้างบ้าง ค่อยบ้างดังบ้างสลับกันไป  จากต้นกำเนิดของเสียงนี้แหละต่อมากลายเป็นโปงลางดนตรีที่เล่นกันอยู่ในปัจจุบันด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดโปงลางมาจากการตีเกราะของชาวนาชาวไร่  ถึงฤดูการทำนาทำไร่ก็มักจะขนย้ายวัวควายและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปอยู่ประจำที่นาไร่ของตน ปลูกโรงนา(เถียงนา)อยู่เฝ้าตลอดฤดูกาล ผู้นอนเฝ้าโรงนาก็จะมีเกราะไว้ประจำ  พอตอนหัวค่ำก็เคาะเกราะเป็นสัญญาณว่ามีคนอยู่  เพื่อนฝูงจะเดินไปคุยบ้างก็ได้ นอกจากนั้นเกราะยังใช้เป็นสัญญาณอันตรายได้อีกด้วย  คือถ้ามีโจรขโมยมาจี้หรือปล้น  หรือเกิดเจ็บป่วยกระทันหัน ชาวนาก็จะรัวเกราะบอกเพื่อนที่อยู่ใกล้เคียงให้ไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที  เกราะที่ใช้นิยมทำด้วยลำไม้ไผ่ปล้องเดียวเจาะรู ๑ ด้านตามทางยาว ตีเสียงก้องดี  แต่บางคนก็นิยมทำด้วยไม้แก่นเป็นแท่ง  เจาะรูตรงกลางท่อนไม้เป็นที่แขวน  เคาะด้วยฆ้อนหรือท่อนไม้อีกท่อนหนึ่ง  ไม้แก่นที่นิยมทำเกราะคือไม้มะหาดและไม้หนามเลี้ยบ(หมากเหลื้อม) เพราะเสียงกังวานดี จากเสียงเกราะที่ทำด้วยไม้แก่นนี้เองที่ชาวนาชาวไร่เคาะเวลาเช้าหรือเย็น ๆ ทำให้มีเสียงต่าง ๆ กันสูงบ้างต่ำบ้าง เลยทำให้ผู้ได้ยินเกิดความไพเราะจับใจแล้วเอาท่อนไม้แก่นเหล่านั้นมาผูกเรียงกันตามลำดับเสียง เคาะเป็นดนตรีต่อมา

อย่างไรก็ตาม  ก็มีเหตุผลควรฟังว่าต้นเหตุเดิมน่าจะมาจากเสียงโปงวัว แล้วชาวบ้านนำเอาเสียงนั้นมาเป็นต้นคิด พอดีกับได้ยินเสียงเกราะท่อนไม้  ซึ่งมีความไพเราะกังวาน  จึงเกิดมีความคิดใหม่ที่จะทำเสียงเกราะเลียนแบบเสียงโปงลางขึ้นในที่สุดการเลียนแบบเสียงก็สำเร็จ  นั่นคือเกิดมีโปงลางขึ้น เพราะคำ “โปงลาง” นี้เป็นชื่อเรียกโปงแขวนวัวต่างจริง ๆ ซึ่งทราบจากอาจารย์จารุบุตรว่าทางเชียงใหม่ก็มีโปงลางเหมือนกัน  แต่เรียกชื่อว่า “ผังฮาง” วัตถุประสงการใช้ก็คงจะเหมือน ๆ กัน  ส่วนบางท่านให้คำอธิบายว่า คำว่า “ลาง” หมายถึงสิ่งบอกเหตุร้าย เช่น ลางดีลางร้าย เป็นต้น

ดังนั้น โปงลางจึงมีความหมายว่า โปงที่บอกเหตุดีเหตุร้ายให้ชาวนาชาวไร่รู้ เช่น เกิดโจรหรือสัตว์ร้ายมาทำอันตรายดังกล่าวมาแล้วนั้น ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะเหตุผลยังอ่อนไป คำว่า “ลาง” น่าจะเพี้ยนมาจาก “ราง” เพราะอีสานไม่ใช้ตัว “ร”

สำหรับไม้ที่ทำโปงลางนิยมกันอยู่ ๒ ชนิด คือไม้มะหาด(หมากหาด และไม้หนามเลี้ยบ หมากเหลื้อม) ทราบว่าบางคณะใช้แก่นไม้ยูงก็มี  ไม้เหล่านี้เหนียวและมีเสียงก้อง ส่วนลักษณะของท่อนลูกโปงลางนั้นคล้าย ๆ กับลูกระนาด แต่ว่าหนากว่าและยาวกว่ามีน้ำหนักประมาณ ๓๐ กิโลกรัม  หนักกว่าลูกระนาดประมาณ ๓ เท่า (น้ำหนัก ๑๒ ท่อน)

วิวัฒนาการโปงลาง ดังกล่าวมาแล้วว่า ดนตรีชนิดนี้เลียนแบบเสียงมาจากโปงลางวัวต่าง ๆ ครั้นกลายมาเป็นเครื่องดนตรี  ครั้งแรกก็ดีหรือเคาะเดี่ยว ๆ เล่นอยู่ตามสวนตามโรงนาต่อมาก็มีผู้นำมาดัดแปลงให้เป็นเครื่องดนตรีชาวบ้าน  เคาะเล่นเพลงต่าง ๆ ซึ่งชาวอิสานเรียกว่าลาย เช่น ลายกาเต้นก้อน ลายลมพัดพร้าว เป็นต้น (เอาอย่างลายแคน) ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ลายกาเต้นก้อน  ต่อมามีผู้ประยุกต์ใช้(ทราบว่าคุณประชุม อินทรดุล จ.กาฬสินธุ์) คือให้มีแคนกลองประกอบเป็นวงขึ้น  ต่อมาอีกก็ให้มีเด็กสาว ๆ มารำหรือเซิ้งตามจังหวะของลายนั้น ๆ เลยกลายเป็นวงสมบูรณ์ขึ้นมา  ปัจจุบันนี้มีหลายวงที่แสดงเป็นอาชีพ  แต่อีกหลายวงเป็นของธนาคารบ้าง ของสโมสรบ้าง ของร.พ.ช.บ้าง ของกรมทางหลวงบ้าง

โปงลางอันดั้งเดิมกำลังจะสูญ ปัจจุบันนี้ โปงลางที่ใส่วัวต่างเริ่มจะหายากจะมีอยู่ก็เฉพาะในหมู่บ้านเก่าแก่ที่บรรพบุรุษเขาเป็นพ่อค้าวัวต่างเท่านั้น  บางบ้านก็เอาไปขายเป็นเศษทองเหลืองสำริดไปก็มี  จากข้อเขียนของอาจารย์จารุบุตรว่า  การหล่อโปงลางนี้ ทำอยู่ทั่วไปในแหลมทอง  โดยเฉพาะทางภาคอีสานฝีมือเยี่ยมเป็นพิเศษ  ซึ่งทำทั้งขนาดเล็กและโตเท่าระฆังใบเขื่องก็มี  มีทั้งรูปทรงกลมและทรงเหลี่ยม  ถ้าจะให้เสียงไพเราะกังวาน  ต้องผสมโลหะเงิน  ทองหรือทองคำลงในเบ้าหลอมทองสำริดด้วย  เพราะฉะนั้น ลูกโปงลางจึงเป็นของมีค่าที่คนปัจจุบันมองไม่เห็น แต่ไปเห็นราคาของมันแล้วนำออกไปขาย  ให้เขาเอาไปหลอมเป็นอย่างอื่นน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าหากต้องการจะดูของจริง  ก็อาจจะขอดูได้ที่บ้านอาจารย์จารุบุตร เรืองสุวรรณ (เลขที่ ๒ ถนนพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร) ท่านมีอยู่หนึ่งอัน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *