โกศ

Socail Like & Share

หีบหรือโลงศพนั้นถ้าจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ก็มี ๒ อย่าง คือ
๑. หีบหรือโลงศพชนิดธรรมดาอย่างหนึ่ง
๒. ที่ใส่ศพนั่งหรือกระดูก ซึ่งเรียกว่าโกศอีกอย่างหนึ่ง

หีบศพชนิดธรรมดานั้น ใช้ต่อด้วยไม้กระดานเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีด้านไม่เท่ากัน คือด้านกว้างแคบและด้านยาวเท่าส่วนสูงของผู้ตาย ถ้าเป็นคนจนก็ทำเพียงไม้กระดานมาตีกันเป็นรูปโลง บางทีก็มีกระดาษขาวหรือผ้าขาวมาโกศหุ้มอีกทีหนึ่ง ศพคนจนต้องรีบนำไปเผาเพราะถ้าไว้หลายวันนอกจากจะเปลืองเงินทองแล้ว โลงหรือหีบศพ ซึ่งทำอย่างง่ายจะกันน้ำเหลืองหรือกลิ่นศพไม่ได้ กลายเป็นที่รังเกียจของคนอื่น ถ้าคนมีฐานะดีขึ้นมาหน่อย นอกจากจะทำโลงให้มั่นคงมีชันยาตามรอยต่อให้เรียบร้อยแล้ว ยังมีการปิดกระดาษเงินกระดาษทอง ซึ่งสลักเป็นลวดลาย ตามขอบประดับด้วยหยวกกล้วย ซึ่งสลักเป็นลวดลายไทยอย่างสวยงามอีกด้วย ตรงฐานที่ตั้งโลงศพก็ประดับด้วยลวดลายที่เรียกว่าเครื่องสด แต่สมัยนี้ช่างสลักเครื่องสดดูเหมือนจะหาดูไม่ค่อยจะได้ง่ายนัก เพราะช่างเก่าก็ตายไป ช่างใหม่ก็ไม่นิยมที่จะสืบต่อความรู้ไว้ ยิ่งกว่านั้นโลงศพสมัยนี้ ก็มักนิยมทำเป็นโลงธรรมดามียาชันแน่นหนาแล้วมีโลงทองหรือลองประกอบข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง ลองประกอบชั้นนอกนี้ทางวัดสั่งให้ช่างทำไว้ประจำตามวัด หรือฌาปนสถานใครต้องการก็มาเช่าไปประกอบเข้ากับโลงตามต้องการได้ พวกช่างเครื่องสดหรือกระดาษโลงจึงหายหน้าไปเกือบจะหมด

สมัยก่อนนี้ การทำศพเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากทีเดียว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำขึ้นใหม่และต้องทำกันเอง แม้แต่โลงหรือหีบศพ ครั้นต่อมามีพ่อค้าซึ่งไม่รังเกียจในการที่จะทำหีบหรือโลงศพไว้จำหน่าย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ พ่อค้าต่อโลงหรือหีบศพไว้จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นโลงของผู้ถือศาสนาใด การต่อโลงเองจึงหมดภาระไปอย่างหนึ่ง เพียงแต่มีเงินไปซื้อก็ซื้อหาได้ทุกเวลา แต่สำหรับบ้านนอกหรือต่างจังหวัด เรื่องของการต่อโลงยังจำเป็นอยู่มาก เพราะการค้าสินค้าประเภทนี้ยังแพร่หลายไปไม่ถึง

การจัดพิธีศพก็เหมือนกัน แต่ก่อนนี้ก็หาเครื่องประดับหน้าศพลำบาก แต่ทุกวันนี้ ตามจังหวัดหรืออำเภอมีวัดที่จัดการเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ทำให้การจัดการศพสะดวกสบายขึ้นมาก

โลงหรือหีบศพประเภทหนึ่งสำหรับใช้กับศพที่นั่งหรือบรรจุกระดูกเรียกกันว่าโกศ โกศนั้นตามปกติแล้วจะใช้สำหรับข้าราชการชั้นสูงหรือพระราชวงศ์บรมวงศานุวงศ์ขึ้นไป จนชั้นพระมหากษัตริย์ และส่วนมากมักจะเป็นของหลวงทั้งนั้น ดังนั้นเรามาพูดกันถึงเรื่องโกรศก็คงจะไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ถึงแม้ว่าพวกเราส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสจะได้นั่งในโกศเวลาตายแล้วก็ตามที แต่อย่าอิจฉาคนที่ต้องนั่งโกศเลย โกศหรือโลงก็มีค่าเท่ากันในสายตาของพระ

ในเรื่องโกศนี้  จมื่นสิริวังรัตน  ได้เขียนไว้ในสารานุกรมไทยว่า “โกศที่ใส่ศพนั่งมีอยู่ ๒ ชั้น คือ ชั้นในและชั้นนอก ชั้นในเรียกในทางราชการว่า “โกศ” มีอยู่ ๒ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นรูปกลมทรงกระบอกปากผาย ฝาครอบเป็นลูกแล้ว ๕ ชั้น มียอม ทำด้วยเงินลงรักปิดทอง มีอยู่องค์เดียวสำหรับทรงพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ นอกนั้นทำด้วยทองแดง หรือเหล็ก ลงรักปิดทองสำหรับทรงพระศพพระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ฝาครอบ ๕ ชั้น มียอด และสำหรับพระราชวงศ์ตั้งแต่พระองค์เจ้าลงไปจนถึงข้าราชการ ฝาครอบ ๓ ชั้นมียอด อีกชนิดหนึ่งทำด้วยเหล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมฝาครอบ ๓ ชั้น มียอด หุ้มผ้าขาวสำหรับพระราชวงศ์ และลงรักปิดทองสำหรับข้าราชการ

ส่วนชั้นนอกเรียกว่า “ลอง” สำหรับประกอบนอกตัวโกศอีกทีหนึ่ง มีลักษณะและชื่อเรียกต่างกันตามขั้นดังนี้

๑. พระลองทองใหญ่ (รัชกาลที่๑) ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยมหุ้มด้วยทองคำตลอดองค์ฝายอดทรงมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ สำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ทรงพระอาลัยมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระลองทองใหญ่นี้ทรงพระศพเป็นประเดิม แล้วจึงได้ใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และอัครมเหสี

โดยที่พระลองทองใหญ่นี้ ในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพมาแล้ว ในรัชกาลต่อมาจึงได้อนุโลมพระราชทานทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า และสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ ที่ทรงมีพระเกียรติคุณยิ่งเป็นกรณีพิเศษ

๒. พระลองทองใหญ่ (รัชกาลที่ ๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมือง พ.ศ. ๒๔๔๓ อีกองค์หนึ่ง เป็นพระลองหุ้มด้วยทองคำเช่นเดียวกันกับพระลองทองใหญ่ที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ นั้น และมีศักดิ์เสมอพระลองทองใหญ่ (รัชกาลที่ ๑) สำหรับทรงพระบรมศพและพระศพ

๓. พระลองทองเล็ก  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยมหุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ ฝายอดทรงมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า

๔. พระลองทองน้อย  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าและพระอัครชายา

๕. พระลองกุดั่นใหญ่  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองล่องชาดประดับกระจกสี สร้างในรัชกาลที่ ๑ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมวงศ์ สมเด็จพระมหาสมณะหรือสมเด็จพระสังฆราช

๖. พระลองกุดั่นน้อย  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี สร้างในรัชกาลที่ ๑ สำหรับพระราชทานทรงพระศพพระบรมวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดี และพระเจ้าบรมวงศ์ที่ทรงพระอิสริยศักดิ์เป็นกรมหลวง และศพเจ้าจอมมารดาที่ธิดาเป็นพระอัครมเหสี  ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ และที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

๗. พระลองมณฑป  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี สร้างในรัชกาลที่ ๔ สำหรับพระราชทานทรงศพพระเจ้าบรมวงศ์พระองค์เจ้าที่ทรงกรม ข้าราชการชั้นเสนาบดีที่เป็นราชสกุล

๘. พระลองราชวงศ์  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ฝายอดทรงพระชฎาพอก ปิดทองล่องชาดประดับกระจกสี สร้างในรัชกาลที่ ๔ สำหรับพระราชทานทรงพระศพพระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า

๙. ลองไม้สิบสอง  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายย่อมุมหักเหลี่ยม ทรงไม้สิบสองฝายอดทรงมงกุฎปิดทองประดับประจกสี สร้างในรัชกาลที่ ๑ สำหรับพระราชทานทรงพระศพ พระราชวงศ์ฝ่ายพระราชวังบวร
พระวรวงศ์พระองค์เจ้าที่ทรงรับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญและสำหรับพระราชทานประกอบโกศศพข้าราชการชั้นเสนาบดี เจ้าพระยา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ซึ่งถึงแก่กรรมขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่นั้น และศพสมเด็จพระราชาคณะ

๑๐. ลองแปดเหลี่ยม  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม ฝาทรงมณฑปปิดทองล่องขาดประดับกระจกสี สร้างในรัชกาลที่ ๖ สำหรับพระราชทานประกอบโกศศพ ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้าหรือประถมาภรณ์ช้างเผือก และเจ้าพระยาชั้นสัญญาบัตรหรอืรัฐมนตรีสั่งราชการที่ถึงแก่กรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่ เจ้าจอมมารดาและท้าวนางที่มีพระโอรสธิดาทรงกรมและที่ไม่ทรงกรม ซึ่งประกอบด้วยคุณงามความดีในราชการและส่วนพระองค์ หม่อมห้ามของพระบรมวงศ์ที่เป็นสะใภ้หลวง พระราชาคณะชั้นหิรัญบัตร

๑๑. ลองโถ  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายรูปกลม ฝายอดปริก ปิดทองประดับกระจกมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ สำหรับพระราชทานประกอบโกศศพหม่อมห้าม พระบรมวงศ์ที่มีพระโอรสดำรงตำแหน่งเสนาบดี ศพท่านผู้หญิง ท.จ.ว. ท้าวนาง ข้าราชการที่ได้รับราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย หรือผู้ที่เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการหรือสั่งราชการและไม่ได้รับสายสะพาย ซึ่งถึงแก่กรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีเวลานั้น

แต่ทั้งนี้ ถ้าผู้นั้นเป็นราชสกุล  ราชนิกูล ก็เปลี่ยนเป็นพระราชทานลองราชนิกูลประกอบโกศศพ

๑๒.  ลองราชนิกูล  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงสี่เหลี่ยมตัดมุม ฝาทรงชฎา ปิดทองประดับกระจกสี สำหรับพระราชทานข้าราชการผู้เป็นราชสกุล ราชนิกูล ซึ่งมีเกียรติยศชั้นที่ได้รับพระราชทานลองโถประกอบโกศศพ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับพระลองอีกหลายอย่าง จะว่าโดยละเอียดก็จะยืดยาวเกินไป

การจะพระราชทานเกียรติยศแก่พระศพและศพของผู้ใดเพียงใดก็ย่อมแล้วแต่พระราชอัธยาศัยที่จะทรงพระมหากรุณา

ทั้งชั้นในที่เรียกว่าโกศและชั้นนอกที่เรียกว่าลองนั้น เมื่อเรียกรวมกันเรียกว่า “โกศ”

เรื่องของหีบหรือโลงศพหรือโกศดังได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นนั้น แม้จะแตกต่างกันโดยสภาพภายนอก แต่สิ่งที่อยู่ภายในก็คือศพนั่นเอง ซึ่งมีการเน่าเปื่อยผุพังและสลายไปในที่สุด จะคงไว้ก็แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้ตายเท่านั้นที่ยังคงอยู่จนตราบเท่ากัลปาวสาน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี