หีบศพของชาวจีน

Socail Like & Share

หีบนั้นดูเหมือนจะมีใช้กันอยู่ทั่วไป พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่าหีบไว้ว่า เป็นนาม ภาชนะ ใส่สิ่งของรูปสี่เหลี่ยมสูงมีฝาหีบศพชาวจีน

หีบนั้นแต่เดิมมาเรานิยมใช้ทำด้วยไม้ เพราะสะดวกในการที่จะประกอบเป็นรูปหีบทั้งไม้ก็หาง่าย ราคาไม่แพง ต่อมาเมื่อทางประเทศตะวันตกส่งหีบเหล็กเข้ามาจำหน่ายเราก็นิยมหีบเหล็กเพราแข็งแรงและสวยงามดี แต่หีบเหล็กก็ราคาแพง จึงมีใช้เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้น ส่วนหีบไม้นั้นใช้กันทั่วไป ต่อมาเมื่อพวกช่างคิดประดิษฐ์พวกเครื่องหนังขึ้นมาเราก็มีกระเป๋าหนังเข้ามาใช้กันต่อไปอีก จนทุกวันนี้หีบเกือบจะหายสาบสูญไปแล้ว เพราะกระเป๋าเข้ามาแทนที่หีบ ความจริงแล้วกระเป๋ากับหีบก็เป็นพวกเดียวกันนั่นเอง เราไม่ค่อยจะเรียกกระเป๋าที่ทำด้วยหนังว่าหีบ แต่บางแห่งก็ยังเรียกกระเป๋าว่าหีบอยู่

สำหรับพวกข้าราชการที่จะต้องโยกย้ายไปรับราชการตามที่ต่างๆ หีบไม้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะบรรจุของได้ง่ายทั้งสะดวกในการขนส่งและกันของแตกหักบุบสลายได้ พวกข้าราชการจึงจำเป็นต้องมีหีบใส่ของกันทั่วไป ซึ่งบางคนก็ออกแบบให้มีประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด คือเมื่อจะขนย้ายของก็ใช้หีบนี้บรรจุของต่างๆ เมื่อเข้าที่แล้วบางคนเอาหีบมาทำเป็นตู้หรือชั้นวางของ บางคนก็เอามาเรียงกันทำเป็นเตียงนอน แล้วแต่จะใช้ช่างออกแบบให้

การต่อหีบใส่ของต้องระวังอย่างเดียวอย่าให้รูปคล้ายคลึงกับหีบศพก็แล้วกัน  เพราะเมื่อเหมือนหีบศพนำไปวางไว้ในบ้าน ดูไม่เป็นมงคลแก่ตาตนเองหรือผู้ที่พบเห็นเสียเลย

เมื่อพูดถึงหีบศพแล้ว ก็อดที่จะนึกถึงประเพณีการทำศพของชนชาติศาสนาต่างๆ ไม่ได้ ประเพณีการทำศพนั้นอาจจะแตกต่างกันตามลัทธิศาสนาความเชื่อถือของมนุษย์เรา แต่รวมแล้วคนเรารู้จัดการเกี่ยวกับศพของพวกตนอยู่ ๓ อย่างคือ อย่างที่หยาบที่สุดหรืออาจจะเป็นแบบดั้งเดิมที่สุดคือ การทิ้งซากศพให้สัตว์กินเป็นอาหาร จะเป็นสัตว์น้ำเช่น ปลาฉลามหรือสัตว์บก เช่น นกหรือสิงสาราสัตว์ก็ตาม ตามหนังสือไตรภูมิกถาได้พรรณนาเรื่องการทำศพของชาวอุตตระกุรุทวีปว่า ห่อด้วยผ้าแล้วนำเอาไปทิ้งไว้ให้นกหัสดีลิงค์กิน นกหัสดีลิงค์นั้นเป็นนกขนาดใหญ่มาก ว่ามีกำลังเหมือนช้างสาร วิธีทำศพแบบนี้ก็คล้ายคลึงกับของชาวธิเบตคือชาวธิเบตนั้นเอาผ้าห่อศพแล้วนำไปทิ้งให้แร้งกิน เพราะธิเบตเป็นประเทศที่มีภูเขามากหาไม้ยาก การเอาศพไปทิ้งให้แร้งกิน ก็นับว่าเป็นการสะดวก ไม่สิ้นเปลือง ท่านคงนึกว่าการทำศพเช่นนั้นอุจาดนัยน์ตามากแต่ที่เขาทำก็เพราะมีความจำเป็น อย่างกรุงเทพฯ ของเราสมัยก่อนนี้ศพคนอนาถาก็ถูกนำไปทิ้งไว้ป่าช้าวัดสระเกศให้แร้งทึ้งกินเป็นอาหารเหมือนกัน จนมีคำกล่าวติดปากว่า “แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” วัดสุทัศน์นั้นว่ามีเปรตคอยหลอกหลอนผู้คนเท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ

วิธีทำศพโดยวิธีเอาไปทิ้งให้แร้งกิน ยังมีปฏิบัติอยู่ในชนบทอีกพวกหนึ่ง คือ แขกปาร์ซีผู้นับถือลัทธิศาสนาโซโรอัสเตอร์  ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนักในประเทศอินเดีย แขกปาร์ซีถือว่าศพของพวกตนนั้นจะถูกต้องพื้นแผ่นดินไม่ได้ เขาจึงมีพิธีทำศพโดยนำไปทิ้งไว้บนภูเขาให้แร้งกินเหมือนชาวธิเบตหรือชาวอุตตระกุรุททวีปอย่างที่กล่าวไว้ในไตรภูมิกถา แต่มีผู้เล่าว่าแร้งทุกวันนี้ไม่ค่อยอยากจะกินซากศพของชาวปาร์ซีเสียแล้ว ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด

พิธีทำศพโดยวิธีเอาศพให้สัตว์กินนี้เป็นการทำลายศพให้สูญหายไปแล้ว ไม่ต้องการเก็บไว้เป็นที่ระลึกอะไรอีก

ส่วนวิธีการทำศพอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฝังศพไว้ในพื้นแผ่นดินหรือใส่ไว้ในอุโมงค์ การทำศพด้วยวิธีฝังนี้มีอยู่หลายชาติหลายศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม คริสต์ พุทธ หรือชนชาติจีน การฝังศพนั้นก่อนจะฝังต้องนำศพบรรจุลงในหีบเสียก่อน แล้วจึงนำศพไปฝัง แต่ศพของคนจีนนั้น การนำศพไปฝังไม่ได้ฝังโลงหรือหีบศพลงไปในดินทีเดียว ก่อนฝังเขาทำฮวงซุ้ยหรืออุโมงค์ไว้ก่อน และแล้วนำหีบศพไปบรรจุไว้ในอุโมงค์อีกทีหนึ่ง ศพที่ฝังเช่นนี้จะอยู่นานเป็นพันปี เช่นเดียวกับที่พวกอียิปต์ดองศพแล้วบรรจุโลงเก็บไว้

โลงศพของชาวคริสต์และอิสลามนั้นใช้ไม้กระดานทำดูไม่ยากนัก แต่โลงศพของชาวจีนทำโดยวิธีขุดซุงทั้งต้น แต่ต่อมาก็ใช้ไม้ประกอบเป็นรูปท่อนซุงเหมือนกัน ทำให้สิ้นเปลืองไม้มากกว่าหีบศพของชาติอื่น คนจีนถือเรื่องการตายเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการอยู่ เขาจึงต้องเลือกชัยภูมิที่จะทำที่ฝังศพกันอย่างพิถีพิถันมาก ถึงกับมีซินแสคอยดูสถานที่ที่จะฝังศพโดยเฉพาะทีเดียว ค่าตรวจสถานที่ก็ไม่ใช่ถูก ดูเหมือนจะแพงพอๆ กับค่าที่ดิน ตามที่เคยสังเกตคนจีนชอบทำฮวงซุ้ยตามเชิงเขา ถ้าได้มีน้ำอยู่ด้วยใกล้ๆ นั้น เขาว่าจะเป็นทำเลดีนักแล ว่ากันว่าถ้าเลือกทำเลทำฮวงซุ้ยบรรพบุรุษถูกต้องตามตำราแล้ว  ลูกหลานอยู่ข้างหลังก็จะทำมาค้าขึ้น ถ้าเลือกทำเลไม่ดีจะมีผลตรงกันข้าม

โลงศพของชาวจีนในเมืองไทยนั้น ส่วนมากทำด้วยไม้จำปา ซึ่งเป็นไม้ที่มีเนื้อแข็งและสวยงาม เพราะชาวจีนนิยมความสวยของไม้ที่เอามาทำโลงด้วย ถึงกับกล่าวกันว่า “อันว่าชายชาตรีชาวจีนนั้น จะเป็นผู้มีความสุขที่สุดในโลก หากได้พบสาวแสนสวนที่เมืองซูโจว (ซึ่งเป็นเมืองที่มีสาวงาม) แล้วนำเธอไปพลอดรักหรือดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่เมืองหังโจว แล้วไปรับประทานอาหารที่เมืองกวางโจว และสุดท้ายไปตายที่เมืองหลิ่วโจว”

ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ว่ากันว่าสาวเมืองซูโจวนั้นสวยงามนักหนา เห็นจะพอกับสาวโพธารามหรือบ้านโป่งหรือสาวเมืองเหนือของเรานั้นเอง ส่วนเมืองหังโจวนั้นเล่าว่าเป็นเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงามพาให้เคลิ้มฝันว่าเป็นสวรรค์อยู่บนดินทีเดียว อาหารที่เมืองกวางโจวนั้นเล่ากันว่ามีรสอร่อยที่สุด พ่อครัวฝีมือเยี่ยมไปจากเมืองนี้เป็นส่วนมาก ส่วนที่เมืองหลิ่วโจวที่เขาแนะนำให้เป็นเรือนตายนั้น ก็เพราะมีไม้สวยงามเหมาะที่จะทำโลงหรือหีบศพยิ่งนัก

คนจีนเขาคิดอะไรๆ แปลกๆ ดีเหมือนกัน

ส่วนพิธีการทำศพอีกอย่างหนึ่งก็คือเผาให้มอดไหม้เป็นเถ้าถ่านไป วิธีการแบบนี้มีในผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธ

สำหรับชาวฮินดูหรือพราหมณ์นั้น หีบศพดูเหมือนจะไม่ค่อยพิถีพิถันนัก ส่วนใหญ่เอาศพห่อเฝือกหรือฟากแล้วนำไปวางบนกองไม้แล้วจุดไฟเผา แล้วเอากระดูกขี้เถ้าโยนลงแม่น้ำไป

มีผู้เล่าว่าคนอินเดียนั้นเมื่อจะตายถือกันว่าจะต้องมาตายที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นแม่น้ำสวรรค์ ก่อนตายได้อาบน้ำในแม่น้ำคงคาว่าชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ปราศจากบาป เมื่อตายแล้วก็เผากันที่ริมฝั่งแม่น้ำนั่นเอง แล้วเอากระดูกเถ้าถ่านโยนลงแม่น้ำคงคา คนที่ร่ำรวยจะเผาจนเนื้อหนังมังสาไหม้หมด แต่คนจนๆ ไม่มีเงินจะซื้อฟืน เผาพอไหม้เกรียมก็โยนลงไปในแม่น้ำคงคาเลย ว่าเป็นการทำให้วิญญาณบริสุทธิ์เป็นครั้งสุดท้าย

ส่วนคนไทยเรานั้น ถ้าเป็นศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ เช่น ตายโหง เรามักนิยมนำศพไปฝัง แต่ถ้าเป็นการตายด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตายธรรมดาแล้ว เราก็นำศพใส่โลงแล้วนำไปเผาเหมือนกัน เช่นเดียวกับลัทธิพราหมณ์หรือฮินดู การเผาศพของคนไทยก็คงจะได้เยี่ยงอย่างมาจากลัทธิพราหมณ์นั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี