การใช้ศักราช

Socail Like & Share

ในสมัยก่อนใช้ศักราชกันหลายอย่างตามความนิยมของแต่ละสมัย ศักราชที่เคยใช้มาในประเทศไทยมีสามศักราช คือ พุทธศักราช มหาศักราช จุลศักราช แต่ศักราชที่ใช้กันแพร่หลายในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงรัชกาลที่ ๕ คือ จุลศักราชซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจุลศักราชเป็นของพม่า นอกจากนี้วิธีกำหนดเดือนปีของไทยในสมัยก่อนนับทางจันทรคติ แต่ในประเทศยุโรป นับทางสุริยคติ เมื่อมีการคบหาสมาคมกับนานาประเทศและมีกิจการเกี่ยวข้องกันมากขึ้นโดยลำดับมา ความลำบากก็เกิดขึ้นด้วยวิธีนับเดือนปีใหม่ไม่เหมือนกัน จึงทรงกำหนดให้ใช้รัตนโกสินทรศกแทนโดยให้นับปี พ.ศ.๒๓๒๕ เป็น ร.ศ. ๑ อันเป็นปีประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการใช้รัตนโกสินทรศกลำบากในการนับเหตุการณ์ในอดีต เพราะจำนวนปียังมีน้อย เรื่องราวที่ต้องกล่าวถึงก่อนประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์จะใช้จุลศักราชหรือศักราชใดยังไม่ได้คิดไว้ ทรงเห็นว่า พุทธศักราชเคยใช้ในราชการสำคัญๆ ประกอบกับประเทศต่างๆ ก็ใช้ศักราชของศาสนาที่ตนนับถืออยู่ จึงประกาศให้ใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) นับเป็นการสะดวกและสอดคล้องกับนานาประเทศด้วย และเริ่มใช้ศักราชใหม่เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา (ขณะนั้นยังถือเอาวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่)

ที่มา:กรมศิลปากร