ชาวอีสานกับความเชื่อเรื่องเทวดา ผีสาง นางไม้

Socail Like & Share

เทวดา
ชาวอีสานอพยพไปประกอบอาชีพ มักไปบุกร้างถางพง ป่าดงภูเขาลำเนาไพร ในเมื่อมีภัยอันตรายสะพึงกลัวเกิดขึ้นจึงเกิดมีความสะทกสะท้านและลังเลใจ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดความเชื่อ เทวดา ผีสาง นาง ไม้ ทำให้มีการไหว้วอนนับถือ เจ้าป่า เจ้าภูมิ เจ้าไพร ซึ่งเชื่อว่ามีเทวดาอยู่ในที่ทั่วไป ในทางพุทธศาสนาจะทำพิธีมงคล อันใดมีนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์ เป็นต้น จะทำพิธีชุมนุมเทวดาก่อน ประกาศให้เทวดามาร่วมฟังพระปริตมงคลด้วย ในเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน ล้วนกล่าวถึงเทวดา
รุกขเทวดา        เทวดาสิงสถิตอยู่ต้นไม้ใหญ่
ภูมิเทวดา        เทวดาอยู่ตามพื้นดิน
อากาศเทวดา    เทวดาอยู่บนอากาศ
มวลหมู่เทวดาทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ จึงเป็นเหตุท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในวัฏสงสาร แม้จะเป็นความเชื่อของชาวชนบทจำเป็นต้องยอมรับ
เพื่อความอยู่รอดแห่งชีวิต     จึงเกิดคติความเชื่อ
เพื่อพ้นภัยอันตราย        จึงเกิดคติความนับถือ
เพื่อความเป็นอยู่สบาย     จึงเกิดคติความเลื่อมใส
ความเชื่อ เจ้าไพร เจ้าป่า เทวดา ผีสาง นางไม้ จะเป็นความเชื่อปรำปราหรือยังตกลงปลงใจเชื่ออยู่ในเทวนิกาย ถือว่า มีกายอันเป็นทิพย์ประเภท “อทิสมานะกาย” ซึ่งไม่มีตนตัวประจักษ์แก่ตาเนื้อ
อนึ่ง สมัยเป็นเด็กผู้เขียนย้ายเข้าโรงเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๒ มีต้นตะเคียนใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ริมห้วย ชาวบ้านพูดว่า ต้นตะเคียนต้นนี้มีนางไม้สิงอยู่รักษาเป็นประจำ มีพวกนักการพนันเบี้ยโบกไปบนบาน เมื่อบนบานคราวใดรวยทุกที พากันจัดเครื่องเซ่นสังเวยมาแก้บนต้นตะเคียนใหญ่ ต้นนี้ มีตะกวด (แลน) จับอยู่บนคาคบ และมักมีไก่ป่า- อีแร้งมาจับอยู่บนยอดมิได้ขาด พวกนายพรานหน้าไม้ไม่กล้ายิง เพราะกลัวเจ้าภูมินางไม้จะเล่นงาน ชาวบ้านบางคนพูดว่า ถึงวันพระกลางเดือนเวลาพลบค่ำโพล้เพล้ มักมีหญิงสาวมายืนอยู่ใต้ร่ม ไม่นานประเดี๋ยวหายไป ผู้ที่เห็นนั้นมักพูดยืนยันว่าเห็นจริงๆ คนทั้งหลายจึงพูดเล่าต่อกันไป
สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก ค่ำมาแล้วไม่กล้าเดินผ่าน เพราะสัญชาติญาณเด็กกลัวผีอยู่แล้ว ส่วนต้นตะเคียนใหญ่ต้นนั้นไม่นานถูกน้ำลำห้วยเซาะโคนต้นจึงโค่นลง ชาวบ้านจึงทำการสังเวยบวงสรวงเลื่อยไปสร้างกุฎีถวายพระสงฆ์ไว้ในวัด
คติความเชื่อ เจ้าภูมิ เจ้าไพร เจ้าป่า ผีสางนางไม้ เป็นคติความเชื่อของชาวอีสานมาแต่โบราณ ซึ่งชาวไทยอีสานเรียกว่า “ไทยน้อย” เมื่ออพยพครอบครัวไปตั้งหมู่บ้าน ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่แห่งใด มักเลือกชัยภูมิป่า เห็นเหมาะสมทำพิธีตั้งพระภูมิบ้าน เรียกว่า “ปู่ตา” หรือดอนปู่ตาให้เป็นพระภูมิเทพาอารักษ์ของหมู่บ้าน เพื่อคุ้มครอง ดูแลหมู่บ้านรักษาผู้คนและปศุสัตว์ ช่วยป้องกันอันตรายและภัยจะพึงมีเกิดขึ้นทุกหมู่บ้าน เมื่อไปถึงหมู่บ้านใดจะเห็นโคกป่าตนไม้ใหญ่ อยู่ติดเขตของหมู่บ้านกว้างยาวประมาณ ๒๐- ๓๐ ไร่ ห่างจากนั้นจะเป็นสวนหรือไร่นาของชาวบ้าน ชาวหมู่บ้านจะสร้างศาลปู่ตา (เจ้าปู่ตา) จะมีพิธีทำการเซ่น บวงสรวงประจำทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า “เลี้ยงปู่ตา” คติความเชื่อของชาวอีสานตั้งพระภูมิปู่ตาประจำหมู่บ้านเช่นนี้ เป็นการรักษาป่าไม้ต้นไม้ใหญ่ไว้ การรักษาป่าโดยปริยายอันใครๆ ไม่กล้าโค่นตัดต้นไม้ คนเรายังรักษาไว้ไม่ได้ จะถูกขโมยตัดไม่มีเหลือ สู้ผีรักษาไม่ได้ ซึ่งใครไม่กล้าตัดโค่นเลย ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บผักหักฟืนยังกลัวไม่กล้าเข้าไปเก็บผักหักฟืนในดอนปู่ตา กลัวผีดอนปู่ตาจะทำความเดือดร้อนให้เกิดเจ็บป่วยหรือทำคุณไสย์ให้รับความอัปยศอดสูไม่สบาย ชั้นที่สุดในดอนเจ้าปู่นั้นมีหนอง บึง อยู่ที่ดอนเทพารักษ์นั้น คนไม่กล้าลงน้ำทอดแหตกเบ็ด ไม่กล้าจับปูปลา เต่า หอย นำไปเป็นอาหารซึ่งถือว่าเป็นช้าง ม้า ของเจ้าปู่ ตอนเจ้าปู่จึงมักมีลิงเป็นจำนวนร้อย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัยในดอนบุงริมชี มีลิงเป็นฝูงๆ จะมีผู้คนต่างจังหวัดไปชมฝูงลิงเสมอมิได้ขาด ศัพท์ว่า “ปู่ตา” ชาวอีสานยกย่องให้เป็น เจ้าปู่เจ้าตา เรียกสั้นๆ ว่า “ปู่ตา” แม้กลางคืนดึกสงัดเข้าไปในดอนปู่ตาคนเดียวเถิด ขนลุกทั้งตัว เว้นแต่เคยชิน
ต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้ชานบ้านและชานเมือง คติความเชื่อของชาวอีสาน เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผี คือ รุกขเทวดา เช่น ต้นประดู่ใหญ่ ต้นตะเคียนใหญ่ วงกลมได้ ๓-๔ วา เป็นต้น ถือว่าเป็นไม้มิ่งมงคลของชาวบ้าน ใครๆ ไม่กล้า ตัดโค่น ชาวบ้านหวงแหนนักทีเดียว ถ้ามีการตัดโค่นแล้ว ชาวบ้านกลัวความเดือดร้อนจะพึงเกิดมีให้แก่ชาวบ้านเกิดความระส่ำระสาย จะไม่ได้รับความผาสุกในการกินอยู่หลับนอน จะเกิดความวุ่นวาย เพราะถือคติความเชื่อว่ารุกขเทวดา รักษาสิงอยู่ที่ต้นไม้นี้ แม้ในทางพระพุทธศาสนามีอยู่ในคัมภีร์พระธรรมบทขุททกนิกาย ปรารภถึงพระภิกษุไปตัดต้นไม้ในป่า ใช้ขวานฟันโคนต้น บังเอิญฟันถูกหัวลูกเทวดา เลยตาย ขณะนั้นนางเทวดาผู้เป็นแม่ไปกิจธุระ กลับมาเห็นลูกตายร้องไห้ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงตรัสเรียกภิกษุมาถามเป็นความจริง ทรงห้ามภิกษุตัดต้นไม้ในป่าเพื่อไปสร้างกุฎี ภิกษุใดตัดฟันต้นไม้เป็นอาบัติ ในคัมภีร์พระวินัย ภิกษุตัดฟันต้นไม้เป็นอาบัติ อันนี้เป็นคติความเชื่อมีมาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และทรงห้ามพรากของเขียว คือ ใบไม้อีกด้วย ภิกษุเด็ดใบไม้เป็นอาบัติ เพราะพรากของเขียวออกจากที่
คติทางใจของมนุษย์เรียกว่า “มโนคติ” มีทางให้เกิดความเชื่อหลายอย่าง ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน
เชื่อผีสาง นางไม้
สมัยเป็นเด็กได้เห็นชายหนุ่มคนหนึ่ง มีนิสัยชอบเป่าแคน แกซื้อแคนมาฝึกหัดเป่าจนแคนแตกหลายดวง เป่าไม่เป็นเสียงแคนดังไม่เพราะหูคนฟัง แกจึงไปหารือผู้เฒ่าซึ่งชำนาญเป่าแคนเมื่อสมัยเป็นหนุ่ม ผู้เฒ่าแนะนำให้หาเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ขาว ๕ คู่ เทียน ๕ คู่ ธูป ๕ คู่ เรียกว่า ขัน ๕ ดอกไม้ ๘ คู่ เทียน ๘ คู่ ธูป ๘ คู่ เรียกขัน ๘ ถึงวันเพ็ญกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง ให้ไปหาที่ต้นกล้วยตานี นางกล้วยตานีจะออกมาจากต้นจะฝึกหัดเป่าแคนให้จะฝึกเพลงไหนฝึกได้ทุกเพลงแคน ให้ทำตอนดึกคนนอนหลับสงัด คือ อย่าให้คนอื่นเห็น ชายหนุ่มคนนั้นแกอยากเป่าแคนเป็นหมอแคน แกไปทำอย่างผู้เฒ่าแนะนำ ปรากฏว่านาง กล้วยตานีออกจากต้นกล้วยมาฝึกให้จริงๆ นางกล้วยตานี แนะนำมาวันไหนแกก็มาหัดเป่าเพียงอาทิตย์เดียวแกก็ชำนาญในการเป่า แกกลัวผีนางกล้วยตานีเหมือนกัน แกอดทนเอา เพราะอยากเป่าแคนเป็น ไม่ถึงปีมีชื่อเสียงในการเป่าเพลงแคนเป็น มีคนนับถือมาก ต่อมาเลยป่วยไข้ตาย ยังไม่ได้แต่งงานมาตายก่อน อันนี้เป็นคติความเชื่ออันหนึ่งของชาวอีสาน

อนึ่ง การทำนาของชาวอีสานมีอาชีพเป็นชาวนา ชาวอีสานจะมีที่ดินทำนาเป็นของคนแต่ละครอบครัว จะมีนาทำเป็นของตนทั้งนั้น ไม่นิยมเช่าที่ดินคนอื่นทำนาเหมือนภาคอื่น เจ้าของนามีที่ดินทำนาคนละ ๓๐-๔๐ ไร่ เป็นอย่างน้อย บางคนมีที่นา ๒-๓ ทุ่ง เจ้าของนาแต่ละเจ้านั้น นิยมปลูก ศาลขึ้นที่กลางนา สากลทั่วไปนิยมเรียก “พระภูมินา” แต่ชาวอีสานเรียกพระภูมินานั้นว่า “ตาแฮก” ใครมีนาอยู่แห่งใด จะตั้งศาลพระภูมินาตาแฮกก่อนลงทำนา จะมีพิธีเซ่นสังเวยบวงสรวงตาแฮกก่อน เมื่อจะเลิกนาเอาข้าวขึ้นยุ้ง เจ้าของจะต้องทำพิธีเซ่นสังเวยบวงสรวงตาแฮกก่อน เพื่อบอกเล่า มีคฅิความเชื่อถือว่า การทำนาจะได้ผลดีข้าวเต็มเม็ดเต็มรวง นกหนูสิงสาราสัตว์ไม่มาทำอันตรายข้าวในนา พระภูมินาคือ ตาแฮกคุ้มครองรักษา คอยปกป้องข้าวในนาไม่ให้มีอันตรายเกิดขึ้น ประคับประคองเจ้าแม่โพสพ คือ ข้าวกล้าในนา จึงปลอดภัยและได้ผลเก็บเกี่ยวเต็มที่ได้ ซึ่ง ถือเป็นปรัมปราประเพณีมาแต่บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวงตาแฮกนั้นคือ มะเขือขื่นผ่า ๒-๓ ชิ้น ปลาจ่อม ๑ ช้อนใส่กระลา มะพร้าว ๒-๓ กระลา ข้าวปั้น ๒-๓ คำ ต้มไก่ ๒ ตัว เอาเฉพาะกระดูกคางไก่ ๒ ชิ้น กล่าวว่า “ปู่แฮก ย่าแฮก เอย ข้าขอเชิญมาเหวยเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวง ขอเชิญรักษาไร่นา ให้ลูกหลานทำกินเลี้ยงชีวิต อย่าให้อดอยาก ให้ได้กิน ได้ทานสืบต่อไปเทอญ” จุดธูปเทียนก่อนจึงเซ่น
พอถึงหน้าแล้ง เลิกจากการทำนาแล้ว เด็กเลี้ยงวัว เลี้ยงควายมันเห็นศาลตาแฮก มักอุตริซุกซนถลกผ้ากางเกง เยี่ยวใส่ตาแฮก ผีสางมันจะมีที่ไหนไม่เคยเห็นตัวมันสักที เยี่ยวใส่แล้วเดินหนีไป พอถึงตอนเย็นปวดท้องน้อยเยี่ยวไม่ออก ทั้งเป็นไข้ พ่อแม่รู้เข้าพวกเด็กด้วยกันบอกให้ทราบ จึงได้ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ใส่พานออกจากบ้านไปศาลตาแฮกขออ่อนยอมลูกช้าง ลูกม้า ไม่รู้จักเดียงสา ครั้งหนึ่งหนเดียว ขออ่อนราบคาบหญ้า เมื่อหายแล้วจะมาเซ่นสังเวยบวงสรวง เด็กซนที่นอนไข้เยี่ยวไม่ออกนั้นหายเป็นปลิดทิ้งทันที อันนี้เป็นคติความเชื่อของชาวอีสานอันหนึ่งเหมือนกัน
พระภูมิเมือง
การสร้างเมืองมีประวัติเป็นมาอย่างไร ในหัวเมืองของชาวอีสานมีคตินิยมควรเชื่อถือได้ก่อนจะตั้งเมืองในสถานที่แห่งใดปรึกษานักปราชญ์อาจารย์ ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในชัยภูมิ บริเวณที่จะตั้งเมืองนั้นจะถูกต้องในคชนาม สิงหนาม มหาสิทธิโชค โภคสมบัติ บริวาร เดช ศรี มนตรี เศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นต้น นักปราชญ์ทางโหราศาสตร์มีความรู้ชัยภูมิวิทยา วางแผนที่จะตั้งหลักเมือง มเหศักดิ์เมือง ในหนังสือท้าววรกิตติ ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดีไทยน้อยโบราณ กล่าวถึงการตั้งมเหศักดิ์หลักเมือง เพื่อความเป็นมงคลของเมืองซึ่งผู้ครองเมืองจะได้รับความร่มเย็นเป็นสุข และจะได้รับความเจริญรุ่งเรืองของชาวเมืองนิยมตั้งพระภูมิเมืองในทิศทั้ง ๔ ซึ่งเรียกว่ามเหศักดิ์เมือง ชะรอยจะให้เป็นที่สถิตย์ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ
ท้าวธตรฐะ        ทางทิศบูรพา    คือทิศวันออก
ท้าววิรูปักขะ    ทางทิศทักษิณ    คือทิศใต้
ท้าววิรุฬหะ    ทางทิศปัจฉิม    คือทิศตะวันตก
ท้าวกุเวรุราช    ทางทิศอุดร    คือทิศเหนือ
เมื่อพิจารณาแล้วเป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียในสมัยโบราณ ซึ่งอยู่ในคัมภีร์มหาสมัยสูตรใน ๑๒ ตำนาน พระภูมิเมืองเรียกว่า “มเหศักดิ์เมือง” ซึ่งมาจากพระภูมิบ้านเรียกว่า “ปู่ตา” แต่ยกขึ้นให้สูงจึงเรียกว่ามเหศักดิ์ คือ ปลูกศาลขึ้นทำให้มั่นคง เป็นแน่นหนา เรียกว่า “ศาลเจ้ามเหศักดิ์” ยกย่องให้เป็นเจ้าเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่
ส่วนพิธีกรรมฝังหลักเมือง มักฝังในที่ชัยภูมิอันเป็น บริวาร เดช ศรี เพื่อคุ้มครองชาวเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็น เศรษฐี-มหาเศรษฐี พระเสื้อเมืองพระทรงเมืองในคำแช่งน้ำน่าจะได้แก่มเหศักดิ์-หลักเมือง ในหัวเมืองอีสานแต่ละเมือง มีศาลมเหศักดิ์-หลักเมือง ซึ่งเจ้าเมืองสมัยนั้นพร้อมด้วยกรรมการเมืองจัดตั้งขึ้น คติความเชื่อถือในเจ้า เทพผู้มารักษาเมือง ประชาชนมีความเคารพเซ่นไหว้ แม้จะไปที่ไกลรอนแรมหลายวัน จะพากันไปจุดธูปเทียนอำลาหลักเมือง ข้าราชการจะย้ายหรือเข้ามาอยู่ทำราชการ จะพร้อมด้วยลูกเมียไปไหว้หลักเมืองก่อน เมื่อถึงวันเทศกาลปีใหม่สงกรานต์ ประชาชนพากันไปไหว้เซ่น-สังเวยบวงสรวงจำนวนมาก ผู้ รักษาศาลหลักเมืองอีสานเรียกว่า “เข้าจ้ำ” พร้อมนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพุทธมนต์ในตอนเย็น เช้าเลี้ยงพระ
เสร็จจากการเลี้ยงพระแล้ว จะมีการเป่าแคนฟ้อนรำกันอย่างสนุกเฮฮา ซึ่งถือว่าเป็นการฟ้อนรำแคนถวายเจ้าพ่อหลักเมือง ถือเป็นงานประจำปีในการเซ่นไหว้ ชาวเมืองถือศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีคติความเชื่อผีเจ้าเข้าทรง ซึ่งชาวเมืองเรียกว่า “หมอผี”
โดยนัยพรรณนามานี้ จะเห็นได้ว่า ผีกับคนหรือคนกับผีแยกคติความเชื่อออกได้ยาก ผีหรือเทวดาเป็นจำพวกเทวนิกายหาตนตัวไม่ได้ ชนิดมีกายเป็นทิพย์มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อเป็นเพียงอรูปนาม คือไม่มีรูปจะมีแค่ชื่อเท่านั้น ศัพท์ว่า “ผี” เป็นภาษาไทยแท้ ผีชั้นสูงคือเทพเจ้า เช่น ผีฟ้า-ผีแถน หมายเอาเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ลักษณะของผีนั้นมีหลายจำพวก เมื่อแยกประเภทออกเป็นผีชั้นเลว ซึ่งทำการหลอกหลอนให้คนกลัว เช่น ผีหลอก เผตหรือเปรต แสดงอทิศมานะกาย ผีกระสือหรือชมบ ผีปีศาจหรือยักษ์ ผีโป่งหรือบังบด ซึ่งอยู่ตามภูเขาลำเนาไพร ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก อรรถกถามหาวรรค ปาฏิโมกขุทเทศ กล่าวถึงการลงอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ ขณะนั่งฟังสวดอยู่นั้น ถ้ามีภิกษุถูกผีสิงให้ชักสุตบท คือ สวดย่อให้ ในทางพระพุทธศาสนาคัมภีร์พระวินัย อ้างมีผีจริง หมายถึงภิกษุถูกผีปีศาจสิง อันนี้เป็นคติความเชื่อของชาวอีสานอันหนึ่ง
เชื่อผีวิญญาณบรรพบุรุษ
กล่าวถีงผีวิญญาณบรรพบุรุษ อันได้แก่วิญญาณของ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ซึ่งตายไปแล้ว ยังเป็นสัมภเวสีแสวงหาที่เกิด เที่ยวไปๆ มาๆ ยังบ้านเรือนของลูกหลาน มาดูแลความสุขทุกข์คุ้มครองบ้านเรือนเพื่อลูกหลานได้รับความผาสุก ช่วยให้ดำรงวงศ์สกุลเจริญรุ่งเรืองสืบทอด ธรรมเนียมจีนมีพิธีไหว้เจ้า คือ ไหว้เซ่นสังเวยผีวิญญาณพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว เหตุนั้น คนอีสานจึงมีความเชื่อเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนกันมาถึงเทศกาล ตรุษ สารท จึงทำบุญตรุษ สารทอุทิศบุญกุศลไปถึงผีวิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งยังเป็นสัมภเวสีจะได้รับส่วนกองบุญของลูกหลาน เมื่อได้รับแล้วจะมีความปลาบปลื้มดีใจ เรียกว่า ประเพณีส่งข้าวเผตหรือเปรต
ประชาชนอีสาน มีประเพณีทำบุญอุทิศถึงดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษ เรียกว่า “ทำบุญข้าวสาก” นิยมทำในวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๐ เป็นเทศกาลถวายทานแก่พระสงฆ์ถือเป็นเทศกาลประจำปี ศัพท์ว่า “สากะ” หมายเอาของสุกแห้งแล้ว มีผลไม้กล้วยอ้อยปูปลาอาหารคาวหวาน เป็นต้น จะไปรวมกันที่วัด มีพิธีรับศีลกล่าวคำเวนถวาย พระสงฆ์รับสาธุ รูปหนึ่งสมมุติตนเป็นภัตตุเทศก์ตามพระวินัย เพื่อแจกอาหารบิณฑบาตรถวายสงฆ์ พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน จึงอนุโม¬ทนา ยถาสัพพีเป็นวิเสสอนุโมทนาไปจนจบ
ทายกทายิกา นำข้าวสากไปบูชาโพธิรุกขเจดีย์ บูชาแจกยังยายรอบพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ เสร็จแล้วพากันฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก คติความเชื่อผีวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อได้รับข้าวสากแล้วคงไปเกิดในสุคติภพแน่นอน เฉพาะวันนี้จะมาทำบุญข้าวสากกันทุกหลังคาเรือน เพราะ เป็นห่วงในผีวิญญาณบรรพบุรุษ ถือว่ายมบาลปล่อยให้มารับทานจากญาติพี่น้อง ผีวิญญาณคนใดมาที่วัดไม่เห็นญาติพี่น้อง ไม่มาทำบุญข้าวสาก ผีวิญญาณคนนั้นจะเสียใจ ร้องไห้กลับคืนยมโลกมือเปล่าพร้อมสาปแช่งลูกหลานสารพัดทีเดียว เหตุนั้นแต่ละหลังคาเรือนจำเป็นขาดไม่ได้เป็นอันขาด มีความเชื่อในจารีตประเพณีอันมีมาในทางพระพุทธศาสนา เชื่อนรก-เชื่อสวรรค์ สัตว์โลกเป็นไปตามอำนาจของกรรม เชื่อนรกสวรรค์มีจริง สัตว์มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมที่ทำไว้นั้น หยาบหรือละเอียด ปราณีต ย่อมไม่ฉิบหาย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวแลปราณีต ชาตินี้มีจริง ชาติหน้ามีจริงย่อมเป็นไปตามอำนาจ สังสารวัฏ การเวียนเกิดเวียนตายท่องเทียวไปๆ มาๆ ของสัตว์โลก ย่อมมีเป็นธรรมดา สุขแลทุกข์ติดตามไปดุจเงา ติดตามตนฉะนั้น คติความเชื่อของชาวอีสาน ในธรรมจารีต อันเป็นจริยธรรม ย่อมมีจนเป็นนิสัยสันดาน
ที่มาโดย:พระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ
วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *