เด็กกับเยาวชนต่างกันอย่างไร

Socail Like & Share

เด็กนั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า คนที่มีอายุน้อยนับตามความนิยมกันต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ต้องนับผู้ที่ต่ำกว่า ๑๕ ปี ว่าเป็นเด็กก็เพราะว่าคนที่มีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์หากเป็นผู้หญิงกฎหมายก็อนุญาตให้แต่งงานได้แล้ว คนที่แต่งงานได้จึงไม่ควรเรียกว่าเด็ก (ปัจจุบันถืออายุ ๑๗ ปีจึงแต่งงานได้)เด็กกับเยาวชน

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ ให้คำจำกัดความ คำว่าเด็กไว้ว่า “บุคคลอายุเกินกว่าเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกินกว่าสิบสี่ปีบริบูรณ์” คือถ้าเกินกว่านี้เรียกว่า เยาวชน

มีคำที่ใช้แทนคำว่าเด็กอยู่หลายคำ เช่นคำว่า ทารกหรือทาริกา ซึ่งหมายเอาเด็กชายหรือเด็กผู้หญิง ซึ่งยังไม่เดียงสา โดยมากเราหมายเอาคนที่ยังมีอายุไม่เกินเจ็ดปี ทำอะไรผิดกฎหมายก็ไม่ต้องรับโทษ

ทางภาคเหนือของเราเรียกเด็กว่า ลูกอ่อน แต่มักจะเพี้ยนเป็น ละอ่อน ทั้งนั้น

รวมความแล้วเด็กก็คือลูกของคนที่อายุยังน้อยส่วนมากก็นิยมกันว่าอายุไม่เกินสิบสี่ปียังเป็นเด็ก กฎหมายทุกวันนี้บัญญัติว่า เด็กที่อายุไม่เกิน ๑๔ ปี ทำความผิดขึ้นท่านว่าเด็กไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายให้อำนาจศาลไว้ว่า ให้ว่ากล่าวตักเตือนหรือเรียกผู้ปกครองมาให้ทำ สัญญาไว้ต่อศาลให้รับเด็กไปดูแลไว้มิให้เด็กก่อให้เกิดความผิดขึ้นในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถ้าเด็กทำความผิดจะต้องเสียเงินให้ศาลเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้วแต่ศาลจะสั่ง หรือถ้าเห็นว่าเด็กนั้น เหลือขอจริงๆ หรือไม่มีผู้ปกครองดูแล ศาลอาจจะส่งตัวเด็กนั้นให้ไปอยู่ในความปกครองดูแลของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กของศาลเด็กต่างๆ ได้ เช่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรานี้ ศาลอาจจะส่งเด็กไปฝึกอบรม ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ที่จังหวัดนครราชสีมาก็ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี