ประเพณีชาวเหนือเกี่ยวกับการบวชเณร

Socail Like & Share

ประเพณีของชาวเหนือ ถือการบวชเณรเป็นงานใหญ่กว่าบวชพระ การบวชพระนั้นทำกันเงียบๆ แต่การบวชเณรถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังปรากฏข้อความในหนังสืองานฉลอง ๒๕ ศตวรรษของจังหวัดแม่ฮ่องสอนตอนหนึ่งว่า “การบวชลูกแก้ว (คือการบวชเณร) เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวเงี้ยวในด้านเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะถือกันว่า ถ้าผู้ใดได้ จัดการบวชลูกแก้วด้วยตนเองแล้ว จะได้รับอานิสงส์ผลบุญอย่างมหาศาล และเป็นการการบวชลูกแก้วแสดงให้เห็นว่า เจ้าภาพเป็นผู้มีใจบุญสุนทร์ทาน มีฐานะดี เพราะการบวชจะทำเป็นงานใหญ่ ชาวบ้านในละแวกตำบลใกล้เคียงจะมาร่วมในงานเหมือนงานนักขัตฤกษ์ต่างๆ เจ้าภาพจะจัดให้มีการแห่แหน เด็กที่จะบวชซึ่งโกนหัว แต่งตัวประดับประดาเหมือนตัวละครหรือพวกรำพม่า ข้าวของทองหยองที่มีอยู่เท่าไรจะขนมาแต่งให้แก่ ส่างลอง (ส่างลองคือเด็กที่จะบวชหรือโกนหัวแล้ว) เต็มที่ มีการแห่ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยให้ขึ้นขี่คอพวกผู้ชายที่มาในงานเต้นไปฟ้อนไปตามถนนหนทางให้เข้ากับจังหวะกลองยาว ไปตามบ้านเพื่อนบ้านหรือเจ้าของบ้านที่เจ้าภาพเคารพนับถือ ในการนี้เจ้าของบ้านจะให้การต้อนรับอย่างดี มีการนำสุราอาหารมาเลี้ยงดูแก่พวกที่ติดตามมากับส่างลอง และเจ้าบ้านจะหาด้ายสายสิญจน์มาผูกข้อมือส่างลองอวยชัยให้พรและให้เงินแก่ ส่างลอง ตามแต่จะศรัทธาเป็นเครื่องแสดงว่าตนประสงค์จะร่วมทำบุญในงานกุศลนี้ด้วย การบวชลูกแก้วจะประกอบพิธีในราวเดือนเมษายนของทุกปี เพราะผู้ที่บวชส่วนมากเป็นนักเรียน . . . เมื่อถึงวันบวชจะมีการแห่แหนเป็นขบวนใหญ่โต มีม้าที่แต่งเครื่องประดับพร้อมนำหน้า ๑ ตัวไม่มีคนขี่ มีสัปทนกั้นบังแดดให้แก่ม้านั้นด้วย โดยถือกันว่าเป็นม้าสำหรับเจ้าเมืองที่นำไปสู่พิธีการกุศล” . . . นี่เล่าตามที่คนอื่นเขียนไว้ ผมเองยังไม่เคยเห็นพิธีเช่นว่านี้สักที ถ้าได้เห็นกันก็จะได้ไต่ถามว่าทำไมจึงต้องจัดงานบวชเณรใหญ่โต สิ้นเปลืองเงินทองถึงขนาดนั้น แต่ถึงถามเขาก็คงให้เหตุผลไม่ได้ เหมือนเราบวชพระสิ้นเปลืองมากมายนั่นเอง ใครถามก็หาเหตุให้สมผลไม่ได้ นอกจากว่าอยากดัง

ในทางสังคม การนำเด็กไปบวชเณร นับว่าเป็นอุบายอันหนึ่งที่จะกล่อมเกลานิสัยเด็กให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของวินัย เพราะเด็กในวัยรุ่นนั้น ถ้าเราปล่อยปละละเลย แล้วมักจะไปประกอบกรรมที่สังคมไม่ค่อยต้องการนัก และบางทีก็ถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสียได้ง่าย เมื่อให้บวชเป็นสามเณรเสียแล้ว ธรรมและวินัย ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มของสมณะเป็นเครื่องบังคับมิให้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร เมื่ออบรมไปนานๆ เข้าก็เกิดความเคยชินเป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีความประพฤติดีงามไปเอง

พระภิกษุ เป็นอันมากที่บวชเป็นสามเณรแล้วเลยอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อมาจนเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ประเพณีการบวชเณรเห็นจะมีมานานแล้ว และนิยมตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา จนกระทั่งเชื้อพระวงศ์เพราะปรากฏว่าสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงแตกฉานในกวีนิพนธ์และทรงนิพนธ์กวีไว้หลายเรื่อง ก็ทรงผนวชเป็นสามเณรมาก่อน ดังคำกลอนในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ด้กล่าวถึงไว้ว่า

‘‘เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก พระกลดหักทองขวางกางถวาย พี่เหลียวพบหลบตกเสียเจียนตาย กรตะกายกลิ้งก้อนศิลาตาม”

ลูกหลานของท่านผู้ใดเห็นว่าจะอบรมบ่มนิสัยในทางฆราวาสไม่ไหว จะลองเอาเข้าเครื่องแบบของสามเณรเสียสักเดือนสองเดือนหรือสักพรรษา ก็อาจจะทำให้เป็นคนที่เรียบร้อยขึ้นได้ การบวชเณรจึงมีอานิสงค์มากมายไม่ว่าในทางการปกกรองหรือทางการพระศาสนา

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี