การเลือกที่ตั้งหมู่บ้านตามตำราโบราณของล้านนา

Socail Like & Share

การเลือกที่ตั้งของหมู่บ้าน และลักษณะบริเวณบ้าน ตามตำราแผนโบราณ
ความรู้จากตำราดังกล่าวนี้โดยทั่วไปแล้วมิใช่วิสัยของชาวบ้านโดยทั่วไปจะทราบ หากแต่ชาวบ้านจะต้องพึ่งความรู้จากพระที่ท่านมีความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้รู้รุ่นก่อนๆ และมีสมุดข่อยบันทึกความรู้ไว้เป็นตำราโดยเฉพาะ หรือไม่ ก็ได้แก่พวกชาวบ้านที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมให้แก่ชุมชน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านของภาคเหนือแม้ในปัจจุบันนี้จะมีอย่างน้อย ๑ คน ซึ่งมักเป็น “อาจารย์วัด” ของวัด ประจำหมู่บ้าน (อาจารย์วัด คือ ฆราวาสที่เป็นผู้นำการทำพิธีเกี่ยวกับสงฆ์ในวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนาของวัดประจำหมู่บ้านมีตำแหน่งคล้ายมรรคทายกในภาคกลาง) ในที่นี้จะยกมาบางตำราโดยเฉพาะตำราจากสมุดข่อยของครูบาโน อดีตเจ้าอาวาสวัดปงสนุก จังหวัดลำปางซึ่งชาวลำปางในสมัยก่อนถือว่าท่านเป็นผู้รู้ที่สำคัญคนหนึ่งในตำราได้กล่าวถึงการเลือกรูปแบบลักษณะพื้นที่ดินอันเป็นทำเลที่ เหมาะสำหรับสร้างบ้านสร้างเมืองไว้ดังนี้ “จักรอมบ้านแปงขบวนบ้านดังนี้ ดีและร้ายจุ่งพ่อและพิจารณาเต้อะ
(ที่ดินมีลักษณะ) มนดังตาวันมักฉิบหาย และบ่ดี
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นสามแจ่ง (สามเหลี่ยม) ดังนี้อุดมดีแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนดั่งก๋งธนู บ่ดีฉิบหายแล
(ที่ดินมีลักษณะ) (ต้นฉบับชำรุด) มีดบ่ดีฉิบหาย
(ที่ดินมีลักษณะ) ขบวนเป็นสี่แจ่งดังนี้ บรมวลด้วยข้าวของแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นดั่งหน้าราหูและหน้าพรหมดังนี้ ฤทธิ์มากแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นแปงขบวนยาวดั่งขัว (สะพาน) คนไต่ สมติถีจุอัน
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นดั่งวงกดดังนี้ แป้ เจ้าเรือนมักฉิบหาย
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นสะเปา (สำเภา) เหงี่ยง (เอียง) มักฉิบหายแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนบ้านเป็นดั่งสะเปาคว่ำ สมฤทธิ์ด้วยข้าวของจุอัน

(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นดั่งเต่ามักฉิบหายแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นดั่งราชสีห์ดังนี้มักฉิบหายและวายของ
ผิว่าจักแปงขบวนบ้าน ขบวนเมืองและขบวนวัดวาอารามหื้อพิจารณาผ่อดูขบวนนเต้อะ ขบวนบ้านดีก็ดี ขบวน บ่ดีก็ย่อมหื้อบังเกิดเป็นภัย
ลักษณะของที่ดินที่จะปลูกสร้างบ้านจากตำรา “โลก สมมุติราช” ซึ่งนายผดุง รุ่งเรืองศรี อดีตครูประชาบาลตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยืมมาจากวัดในละแวกบ้านนั้นได้กล่าวถึงลักษณะหาที่ทำเรือนและปลูกบ้านว่า “ประการหนึ่งจักอาศัยเซิ่งฐานะที่ใดหือเล็งดูฐานะที่นั้นก่อนเถอะ
ผิว่าสูงทักขิณะต่ำอิสาณ ชื่อสิทธิลักขณะ อยู่ดี
ผิว่าสูงปัจฉิมะ ต่ำปุพพะ ชื่อติรัตนรัสสรถี อยู่ดี
ผิว่าสูงทักขิณะ ต่ำอาคไน ชื่อธนูลักขณะ อยู่ดี
ท่ามกลางสูงรอดชุมื้อ ชื่อ สักคะราชดีนักแล
ผิว่าปุพพะต่ำ และใต้ต่ำ และอาคไนสูงชื่อชรา บริบูรณ์ ดีนักแล
ผิว่าสูงทักขิณะแห่งอื่นต่ำชื่อสุวัณณะดี
ผิว่าสูงปัจฉิมะ ชื่อ ธรณีสาร ดีนักแล”
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *