หมากฝรั่งกับคนไทย

Socail Like & Share

คนไทยสมัยเก่า เคี้ยวหมากปากเปรอะ คนรุ่นคุณย่าคุณยายท่านจะเคี้ยวหมากเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ ถ้าอยากจะบ้วนน้ำหมากสีแดงเหมือนโลหิตตรงไหนก็ได้ที่คิดว่าไม่ทำให้สกปรกเกินไป เวลาสนทนากันก็ไม่ต้องระวังว่าน้ำหมากจะหก ฝรั่งจึงอดที่จะสงสัยในสิ่งนี้ไม่ได้

แต่คนไทยที่เห็นฝรั่งเคี้ยวยางชนิดหนึ่งในปากกลับไม่เห็นว่าน่ารังเกียจ คนไทยสมัยใหม่ไม่คิดว่าจะกินหมากอย่างคุณย่าคุณยาย แต่กลับซื้อหมากฝรั่งมาไว้เคี้ยวต้องใช้เงินไปสัปดาห์ละหลายบาท เพราะคิดว่าโก้เก๋ จะได้ดูเหมือนอย่างฝรั่งเขา ทั้งๆ ที่สรรพคุณของหมากฝรั่งก็ไม่เห็นว่าจะมี

สมมติว่าท่านเคี้ยวหมากฝรั่งจนติดเสียแล้วก็แล้วไป แต่ขอให้พยายามรักษาไว้ซึ่งมารยาทของสุภาพชน ดังนี้

ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งในที่สาธารณะชน หรือต่อหน้าผู้อาวุโส หรือผู้ที่ไม่ชอบกิริยาแบบนี้

ไม่ควรเคี้ยวเสียงดังจั๊บๆ จนน่าเกลียด ถ้าจำเป็นก็ต้องออกไปห่างๆ คนอื่น ไม่เคี้ยวเสียงดังต่อหน้าคนอื่น เพราะอาจทำให้เขาคลื่นเหียนและรำคาญได้จากกลิ่นหมากฝรั่งในปากของท่าน ที่สลับกับเสียงเคี้ยวที่น่ารำคาญ

เวลาเคี้ยวไม่ควรแลบลิ้นเลียริมฝีปากแผล็บๆ หรือสูดน้ำลายดังซี้ดซ้าดด้วยความเผ็ดซ่า

อย่าดึงหมากฝรั่งในปากออกมาเป็นสายยาวยืดและม้วนกลับเข้าไปใหม่เหมือนเด็ก

ไม่ควรหยิบหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วออกมาให้ผู้อื่นเห็นเป็นอันขาด ควรทิ้งไปเลย ควรทิ้งในที่ที่เหมาะสม เพราะอาจทำให้คนอื่นไปเหยียบหรือจับเข้าได้

ไม่ควรเอาหมากฝรั่งที่คนอื่นเคี้ยวแล้วมาเคี้ยวต่อเป็นอันขาด ไม่ว่าจะสนิมสนมกันเพียงใดก็ตาม

ก่อนทิ้งถังขยะให้ห่อด้วยกระดาษเสียก่อน เพื่อไม่ให้ติดเหนียวเหนอะหนะไปทั่ว

การแต่งตัวและการกระทำของเยาวชนสมัยนี้ เมื่อมองแล้วก็ชวนให้ปวดหัว ถ้าเขามีอายุผ่านวัยคะนองไปสักนิด แล้วนึกถึงตนเองในท่าทางเช่นนี้ ก็คงรู้สึกละอายและเสียใจไม่น้อย ถ้าเขาคิดขึ้นมาได้ว่าไม่ใช่มารยาทที่ดีงาม

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์