มารยาทในที่สาธารณะ

Socail Like & Share

“แหม! ไม่ได้เจอเธอตั้งน้านนาน สวยขึ้นแยะนี่ จำเกือบไม่ได้แน่ะ จริงๆ นะ สมัยเธออยู่ที่โรงเรียนน่ะ ท่าทางยังกับยายเพิ้งดูไม่ได้เชียว ทำไมถึงได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายอย่างนี้”

“เธอก็เหมือนกันแหละย่ะ อย่ามาทำชมเขาข้างเดียวหน่อยเลย อยากให้ฉันชมตอบก็บอกมาเสียตรงๆ เถอะ ตอนแรกนึกว่านางเอกหนังเสียอีก…”

คนแถวๆ นั้นต้องหันมามอง เมื่อได้ยินสองเสียงที่ดังลั่นมาจากเด็กสาวรุ่นสองคน ที่กำลังเลือกซื้อผ้าที่ตลาดพาหุรัด ทั้งสองคนแต่งตัวทันสมัย สีฉูดฉาด ใส่รองเท้าส้นสูงมาก ไม่เหมาะกับรูปร่างเลย ท่าทางไม่แคร์สายตาใคร ต่างก็แย่งกันคุยเรื่องความสวยงาม เรื่องผ้า นินทาคนเคยรู้จักเสียดังลั่น

คนหนึ่งยืนเท้าสะเอว ในปากเคี้ยวหมากฝรั่งหยับๆ แล้วพูดว่า
“จำยายเล็กได้ไหม? ยายเล็กที่ชื่อจริงว่า อุบลวรรณ แต่งหน้ายังกะแขกขายผ้าน่ะ เค้าจะไปเมืองนอกย่ะ”

“อุ๊ยตาย! เซอะอย่างงั้นน่ะหรือ จะไปถึงเมืองนอก เวลาสอบก็ได้ที่โหล่ทุกที อย่ามาโม้ให้ฟังเลย เดี๋ยวฉันหัวเราะตะเข็บปริ”

มีสาวรุ่นอีกคนหนึ่งเดินผ่านมา เธอแต่งกายเรียบๆ เสื้อผ้าก็มีสีอ่อนเย็นตา เหมาะกับอากาศที่ร้อนๆ เธอมองดูทั้งสองคนที่คุยกันดังลั่นอย่างเวทนา เมื่อชำระเงินค่าผ้าแล้วก็ออกจากร้านไป อีกฟากหนึ่งของถนน บิดาของเธอก็นั่งรออยู่ที่ร้านขายเครื่องดื่ม เธอข้ามถนนด้วยความระมัดระวังแล้วเข้าไปนั่งใกล้บิดา ยิ้มให้บิดาและวางห่อผ้าลง

บิดาถาม
“ร้อนเหงื่อแตกเชียว เล็กได้ของหมดทุกอย่างไหม?”

“ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ที่อุตส่าห์นั่งรอเล็ก คุณแม่ยังไปซื้อขนมไม่กลับหรือคะ?”

“ยังจ้ะ สงสัยว่าจะเจอของอื่น เลยหยุดซื้อกระมัง จึงได้ช้า พ่อสั่งไอศกรีมให้เล็กแล้วนะ”

“ขอบพระคุณค่ะ”

“เล็กนั่งซึมไปนี่ คิดอะไรหรือลูก?”

“เล็กเจอเพื่อนเก่าโรงเรียนสองคนที่ค่ะ เขาพูดถึงเรื่องเล็ก”

“อ้อ! ดีสินะ แสดงว่าเขาจากไปแล้วก็ยังไม่ลืมเรา”

“ไม่ใช่อย่างนั้นน่ะสิคะ คุณพ่อ เขากำลังนินทาเล็กเสียงลั่นเลย ว่าหน้าตาเหมือนแขกและเรียนได้ที่โหล่ ความจริงเล็กเรียนไม่เก่ง แต่เล็กก็พยายามเสมอ สองคนนั่นก็เคยผลัดกันได้ที่โหล่ออกบ่อยไปค่ะ”

บิดาปลอบ
“อย่าเสียใจเลยลูก ลืมเสียก็แล้วกัน”

“แต่เขาพูดกันเสียงลั่นร้านเลย คุณพ่อคะ ใครๆ ต้องหันไปดูเขาทั้งนั้นแหละค่ะ ถึงเขาจะไม่พูดเรื่องเล็ก เล็กก็อดดูเขาไม่ได้ เพราะเขาแต่งกายสะดุดตาเหลือเกิน”

บิดาพูด
“คนที่ชอบแต่งตัวสะดุดตา และพูดคุยเสียงดังในที่สาธารณะน่ะ ไม่ใช่คนมีมารยาทดีหรอกนะ ลูก”
“แม้แต่คนที่เอาความลับส่วนตัวในบ้านของตัวเองมาแผ่ให้คนอื่นทราบ ก็เรียกว่า เสียมารยาท เท่ากับว่าเราพังกำแพงบ้านเราเองให้คนอื่นมองเข้าไปดูอย่างสบายทีเดียว”

เล็กตอบว่า
“อ้อ! เล็กจำได้ค่ะ มิสซิสแจ็คเกอลีน เคนเนดี้ อย่างไรล่ะคะ คุณพ่อ สามีของเธอสิ้นชีวิตไปทั้งคน เธอยังไม่เคยร้องไห้คร่ำครวญให้คนภายนอกเห็นเลย”

บิดาพูด
“ถูกละ แม้ว่าเวลาเธออยู่ตามลำพังที่บ้าน เธอคงจะต้องเสียจนแทบจะไม่มีน้ำตาเหลือ เห็นไหมล่ะ….แล้วโลกก็นิยมชมชอบว่าเธอเป็นคนกล้าหาญ”

สายตาของเล็กมองออกไปนอกร้านขณะที่รับประทานไอศกรีมอยู่ เธอมองเห็นชายคนหนึ่งถือห่อของพะรุงพะรัง เดินตามหลังสตรีที่มือเปล่า และเธอเป็นเจ้าของร้านขายผ้าที่ชายคนนี้ซื้อมาทั้งสิ้น ชายคนนี้มีร่มสีแสดคล้องแขนมาด้วย ถุงผ้าก็มีชื่อร้านของสตรีผู้นี้

เล็กพูดขึ้นว่า
“แหม! ดูสิคะคุณพ่อ ผู้ชายคนนั้นสุภาพจังเลย เขาไม่ยอมให้ผู้หญิงถืออะไรเลย”

บิดายิ้มแล้วพูดว่า
“ตรงกันข้ามจ้ะลูก ผู้หญิงคนนั้นไม่สุภาพต่างหาก ตามปกติ ถ้าของหนักมากเกินแรงผู้หญิงจึงขอให้ผู้ชายช่วยถือ ไม่ใช่ว่าจะให้เขาขนให้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งของที่มองดูก็รู้ว่าเป็นของผู้หญิง เช่น ร่มสีแสบตาอย่างนั้น เธอก็ควรจะถือเอง และห่อของ ถุงผ้าเท่าที่พอจะช่วยเขาได้”

เล็กบอกว่า
“เขาอาจจะเป็นคนรถของเธอนะคะ คุณพ่อ”

พ่อตอบว่า
“พ่อคิดว่าไม่ใช่ ดูการแต่งกายของเขารู้สึกว่าเขาก็เป็นคนฐานะเท่าเธอ ถ้าเผื่อเขาเป็นเพื่อนชายของเธอ พ่อก็แน่ใจว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่มีวันพาเธอออกมาซื้อของอีก แต่ถ้าเขาเป็นพ่อ พ่อคิดว่าจะไม่ดูหน้าผู้หญิงคนนี้อีกเลยนั่นแน่ะ”

เล็กหัวเราะชอบใจ และพูดว่า
“ผู้หญิงก็ต้องคิดรอบคอบเหมือนกันนะคะ สมัยนี้”

คุณพ่อตอบ
“ใช่จ้ะ ผู้ชายเขาไม่รังเกียจที่จะช่วยถือของที่ดูคล้ายกับของผู้ชายหรอก แต่เกณฑ์ให้เขาถือของผู้หญิงมองดูก็เห็นชัดอย่างนี้ พ่อว่ามันเป็นการบังคับจิตใจมากเกินไปสักหน่อย”

ชายหญิงอีกคู่หนึ่ง ฝ่ายหญิงเอามือเกาะแขนฝ่ายชายไว้แล้วเดินผ่านไป เล็กก็พูดขึ้นว่า
“คุณพ่อคะ คู่นี้ทำท่าเหมือนฝรั่งนะคะ”
“เวลาเดินก็ต้องควงแขนกันด้วย คนไทยด้วยกันเอาแบบฝรั่งมาทำแล้วดูพิลึกจังนะคะ”

บิดาอธิบาย
“ลูกรู้ไหมว่า ฝรั่งเขาก็ไม่ทำกันพร่ำเพรื่อ”
“ถ้าเดินทางในที่มืดหรือขรุขระ ฝ่ายชายจะบอกให้หญิงเกาะแขนเขาไว้เป็นหลัก จะได้ไม่หกล้ม นอกจากนั้นชายจะบอกให้หญิงเกาะแขนชายเสมอเป็นการช่วยเหลือ เวลาจะข้ามถนนเขาก็มักจะกุมข้อศอกฝ่ายหญิงไว้เบาๆ ช่วยให้รู้ว่าควรข้ามเมื่อไหร่ แต่เขาไม่เดินจูงมือ หรือควงแขนกันในเวลากลางวันอย่างประเจิดประเจ้อและฟุ่มเฟือยหรอก ยกเว้นบางคู่ที่เป็นสามีภรรยากัน และเดินเล่นช้าๆ นั่นแหละเขาอาจจะควงแขนกันไว้”

เล็กถามต่อ
“คุณพ่อคะ คนเดินตามถนนแล้วกินหมากฝรั่งไปพลางนี่มารยาททรามไหมคะ?”

พ่อตอบ
“พ่อคิดว่า คงไม่มีอะไรทรามและน่าเกลียดไปกว่าแล้วละลูก อีกพวกหนึ่งคือ คนที่เดินตามถนนและสูบบุหรี่ไปด้วย ยิ่งถ้าชายกับหญิงเดินด้วยกัน และฝ่ายหนึ่งสูบบุหรี่พ่นควันฉุยละก็ พ่อคิดว่าเป็นภาพที่ดูไม่ได้เอาเลยทีเดียว”

เล็กถามต่อว่า
“ถ้าไม่ใช่ถนนหลวงล่ะค่ะ? เขาจะสูบบุหรี่ไม่ได้หรือคะ?

พ่อตอบ
“ถ้าไม่ใช่ถนนหลวง ก็ควรออกไปนอกเมืองเลยทีเดียว ที่ผู้ชายสามารถเดินทอดน่องพลางสูบบุหรี่ หรือยาเส้นไปพลางได้อย่างสบายอารมณ์”

และมีชายคนหนึ่งกำลังจะข้ามถนน เขาทิ้งซองบุหรี่ไว้บนถนนถูกลมพัดอยู่ไปมา เมื่อมีรถยนต์วิ่งผ่านไปมาซองบุหรี่นั้นก็ปลิวไปอีกด้านของทางเดินข้างถนน

บิดาพูดขึ้นว่า
“ถ้าคนไทยสะเพร่า มักง่าย อย่างนี้ทุกคน บ้านเมืองเราคงจะสกปรกแย่”
“พ่อเห็นนิสัยคนมักง่ายแล้วอดไม่ค่อยได้ วันก่อนนี้เราไปเขาดินกัน ลูกก็คงจำได้ว่ามีคนกินถั่ว อ้อยควั่น และน้ำอัดลม แล้วทิ้งถุง ทิ้งชานอ้อยกับขวดเปล่าเอาไว้เต็มลานริมน้ำ ดูราวกับกองขยะ ลมพัดมาทีหนึ่งก็ปลิวไปถึงไหนๆ ทั้งๆ ที่กระป๋องทิ้งเศษผงเขาก็มีไว้ให้ แต่ไม่ใช้เสียดื้อๆ อย่างงั้นแหละ ใครจะทำอะไร!”

เล็กเปรยขึ้นว่า
“แล้วก็เด็กคนนั้น ที่ชอบเก็บดอกไม้เวลาเจ้าหน้าที่เขาเผลออีกละคะ คุณพ่อ จำได้ไหมคะ?”
“เสียดายดอกกุหลาบสวยๆ เก็บแล้วก็เอาไปขยี้ทิ้ง อยากให้หนามคมๆ มันตำมือเสียมั่ง จะได้เข็ด”

พ่อพูดตอบว่า
“นั่นนะซี คนพวกนี้น่าจะได้รับการอบรมเรื่องมารยาท และให้รู้จักรักษาความสะอาดของบ้านเมืองกันทุกวัน จนเข้าหัวสมอง เวลาพ่อขับรถไปตามถนน พ่อมักจะเห็นคนในรถข้างหน้าปาเศษขยะออกมาจากรถลงบนถนน ขณะที่รถกำลังแล่น วันหนึ่งลมมันพัดมาทางพ่อ ใบตองห่อขนมจากรถคันหน้าเลยลอยมาปะหน้าหม้อรถของพ่อ ต้องแกะและต้องล้างกันยกใหญ่ เพราะว่าเป็นใบตองห่อข้าวเหนียวแดง!”

เล็กหัวเราะอย่างขบขัน พอดีกับที่มารดาเดินเข้ามาในร้านพร้อมถุงใส่ของ อากาศร้อนจนทำให้เหงื่อหยด มารดาของเล็กพูดอย่างอารมณ์ดีว่า
“ซื้อได้หลายอย่าง แทนที่จะอย่างเดียวตามเคยค่ะ”
“ขอน้ำส้มเย็นๆ สักขวดเถอะค่ะ”

บิดาเรียกบ๋อยมาสั่งพร้อมกับพูดว่า
“กำลังคุยกับเล็กถึงเรื่องความสะเพร่า มักได้ และเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่บางคน”

ภรรยาของเขาตอบ
“อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลยค่ะ เด็กๆ สมัยนี้ ก็เรียนรู้ความเห็นแก่ตัวตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นเหมือนกันนะคะ”

เล็กสงสัย
“ลูกใครคะ คุณแม่?”

แม่อธิบาย
“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกใคร แต่วันก่อนนี้ แม่นั่งดูเด็กๆ เล่นชิงช้าและไม้ลื่นอยู่ที่เขาดินน่ะ แม่เห็นลูกของผู้หญิงคนหนึ่งไม่ได้เล่นอะไรเลย เพราะว่าคนอื่นๆ ไม่ยอมผลัดให้เล่นเลย แถมแม่ของเด็กยังร้องบอกลูกตัวเองว่า ‘อย่าลงจากชิงช้าๆ ขืนลงละก็ คนอื่นแย่งขึ้นแล้วไม่ได้ขึ้นอีกอย่ามาร้องนา’ แม่รู้สึกสลดใจมาก ผู้ใหญ่ควรจะสอนให้เด็กรู้จักเพียงพอ และเสียสละให้คนอื่นบ้าง แต่นี่กลับตรงกันข้าม”

คุณพ่อควักกระเป๋าสตางค์ออกมาเมื่อบ๋อยเข้ามาเก็บเงิน แล้วพูดกับลูกสาวว่า
“ลูกทายซิว่า แม่กับพ่อใครมีเงินในกระเป๋ามากกว่ากัน?”

เล็กตอบ
“คุณพ่อสิคะ”

“ผิด แม่ต่างหาก เพราะพ่อเอาเงินให้ลูกไปซื้อของเสียเกือบหมด เอ้า…ทายอีกทีนะ ทำไมแม่จึงไม่จ่ายเงินแทนพ่อบ้างเวลาเราออกมากินอะไรกันข้างนอกอย่างนี้?”

“เพราะคุณพ่อเป็นสุภาพบุรุษน่ะสิคะ”

บิดามารดายิ้มชอบใจ มารดาพูดหยอกว่า
“พ่อลูกรักกันแย่ ลูกสาวก็ปากหวาน พ่อก็ช่างให้ท้ายเข้าข้างตัวเอง”

บิดาพูดต่อว่า
“เปล่าหรอกจ้ะ ฉันอยากจะหัดให้เล็กเขารู้ไว้ว่า เมื่อไหร่ผู้ชายควรเป็นคนออกเงิน และเมื่อไหร่ผู้หญิงไม่ควรให้เขาออกเงินให้ตัว”

ลูกสาวอยากรู้และถามว่า
“เมื่อไหร่มั่งล่ะคะคุณพ่อ?”

คุณพ่ออธิบายว่า
“ตามธรรมเนียมนั้น ถ้ารู้จักกันดี และของราคาไม่แพงเช่นหนังสือพิมพ์ เขาอาจออกสตางค์ซื้อให้เราได้ แต่ถ้าผู้ชายคนนั้นเป็นคนที่เรารู้จักอย่างผิวเผิน และของมีราคามากกว่าหน่อยหนึ่ง ผู้หญิงก็ไม่ควรรับ ไม่ควรยอมให้เขาออกเงินเลยทีเดียว เธอควรจะวางเงินให้คนขาย และบอกว่า ‘นี่ของดิฉัน’ ผู้ชายคงจะไม่กล้าเซ้าซี้อีกต่อไป”

ลูกสาวยังซักต่อว่า
“เขาจะไม่หาว่าเราหยาบคายหรือคะ”

พ่อตอบ
“จะว่าอย่างนั้นได้หรือ? ในเมื่อเรารู้จักกับเขาน้อยมากและของก็ไม่มีราคาสักหน่อย เรื่องอะไรเขาจะต้องมาออกเงินให้เรา ในเมื่อเราออกของเราเองได้? เราจะไปทำพันธะให้ตัวเองทำไม ในเมื่อถ้าไม่พบเขา เราก็ต้องจ่ายเงินเองอยู่ดี?”

มารดาพูดว่า
“จำไว้เถอะเล็ก เวลาจากไปอยู่ไกลจะได้ไม่ทำอะไรผิดพลาด”

แล้วมารดาก็หันไปพูดกับบิดาต่อว่า
“คุณจะไม่อธิบายให้ลูกฟังถึงการเดินถนน นั่งโต๊ะ หรือนั่งในรถยนต์หรือคะ?”

สามีตอบ
“ได้ซีจ้ะ”
“เล็กจำไว้นะว่าเวลาเดินถนนนั้น ตามประเพณี ผู้ชายต้องเดินข้างนอก หญิงเดินด้านใน หมายความว่า ชายเดินด้านที่อยู่ใกล้ถนนเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากยวดยานให้หญิง”

“อ้อ! เล็กไม่เคยสังเกตหรอกค่ะ ดูเหมือนว่าเราจะเดินกันตามสบายมากกว่านะคะ”

บิดากล่าว
“นั่นนะซิ”
“แต่ถ้าชายคนหนึ่ง เดินกับหญิงสองคน เขาจะต้องไม่เดินกลางให้หญิงขนาบข้างเป็นอันขาด แต่จะเดินชิดขอบถนน แล้วหญิงสองคนก็เดินใกล้กัน”

ลูกสาวขมวดคิ้วแล้วถามว่า
“ทำไมอย่างนั้นล่ะคะ?”

คุณพ่ออธิบาย
“เหตุผลมีอย่างเดียวว่า ขณะที่เขาพูด เขาจะได้มองตรงมาทางหญิงทั้งสองพร้อมกันเลยทีเดียว ถ้าเขาเดินกลางเขาจะต้องหันไปพูดกับคนนั้นที คนนี้ที ส่วนการนั่งรถยนต์นั้น ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนตัวพวงมาลัยขวาเจ้าของรถยนต์ที่เป็นหญิงจะนั่งบนเบาะด้านหลังทางซ้าย เฉียงกันกับคนขับเสมอ ฉะนั้นถ้าเล็กเป็นแขกมาใหม่นั่งไปด้วย เล็กก็ควรรู้ว่า ควรนั่งด้านหลังคนขับ และปล่อยที่นั่งด้านซ้ายไว้ให้หญิงเจ้าของรถนั่ง”

คุณแม่พูดขึ้น แล้วชวนกันหิ้วของออกจากร้านไป
“ไปกันเถอะ แล้วอยากทราบอะไรก็เอาไปซักกันที่บ้านเผื่อเขาจะต้องการโต๊ะของเรา”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์