สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

Socail Like & Share

เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่สนิทเสน่หาและไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงเรียกขานว่า “แม่เล็ก” ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองนานัปการ ทรงเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาความก้าวหน้าให้แก่สตรีเพศ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา การพยาบาลและผดุงครรภ์สมัยใหม่ แม้พระราชภารกิจที่ไม่เคยทรงปฏิบัติมาก่อนก็ทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง การดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประพาสทวีปยุโรป เป็นเวลา ๙ เดือน ย่อมเป็นประจักษ์พยานถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นอย่างดี และยังเป็นราชนารีพระองค์แรกของไทยที่ได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๖๖ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ ที่ ๕ ในเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ในรัชกาลที่ ๖ พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. ๑๒๒๕ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖ เมื่อมีพระชนมายุครบ 9 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า “พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” ปรากฏสำเนาพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามพระราชธิดา ดังนี้

“ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้บิดาขอตั้งนามบุตรี ซึ่งประสูติ แต่เปี่ยม เป็นมารดา ในวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีกุน เบญจศก นั้นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วัคบริวาร นามเดิมเป็นอาทิ และ อันตอักษร ขอพระคุณพระรัตนตรัยและพรเทวดารักษาพระนครแลพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สารศิริสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล ศุภผลวิบูลย ทุกประการ เทอญ

ตั้งนามมา ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรมสิบค่ำ ปีกุน เบญจศก เป็นวันที่ ๔๖๔๗ ในราชการปัจจุบันนี้”

พร้อมด้วยคาถาพระราชทานพรเป็นภาษามคธ ว่า

“โสภาสุทฺธสิริมตี อิติ นาเมน วิสฺสุตา
โทตุ มยฺหํ อยํ ธีตา ปิยมาย สุปุตฺติกา
สุขินี จ อโรคา จ โหตุ เสฏฺฐา ยสสฺสิมี
สพฺพทาเยว นิทฺโทสา อุปฺปสยฺหาว เกนจิ
อทฺฒา มหทฺธนา โภค วดี พหูหิ เอฌฺชิตา
ปิตุโน มาตุยาจาปิ สพฺพทา รกฺขตํ ยสํ
สุหิตา โหตุ ภาตูนํ ภคินีนญฺจ สาธุกํ
พุทฺธาทิวตฺถฺวานุภาโว สทาตํ อภิรกฺขตุ”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลเป็นภาษาไทยมี ใจความว่า

“ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดี ของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่า โสภา สุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุขและไม่มีโรค มีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใครๆ อย่าข่มเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้จงทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อ เทอญ”

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงศึกษาเล่าเรียนในราชสำนัก อันสมควรแก่ขัตติยนารี ที่พึงมีในสมัยนั้น พระองค์มีพระสติปัญญาเฉียบแหลม มีพระปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นและได้ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี ทรงปกครองเหล่าข้าราชบริพารที่อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อครั้งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงตัดสินพระทัย ปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ และลุล่วงไปด้วยดี

ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือพระราชประวัติว่า

“ในปลายรัชกาลที่ ๔ นั้น ยังหาได้มีที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ดีเสมอเหมือนอย่างทุกวันนี้ไม่ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ซึ่งทรงชำนาญในการอักษร เคยเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของเจ้านายชั้นหลังนั้น ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียหมดแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงมีโอกาสที่จะทรงศึกษาเล่าเรียนได้น้อยนัก แต่หากว่าทรงมีพระวิริยพระปัญญามาก ตั้งแต่ประสูติมาเดิมแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเมตตากรุณาใช้สอย ติดตามเสด็จมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงเห็นทรงฟังพระกระแสรับสั่งและการงานในพระราชสำนักมาก อีกทั้งได้ทรงพระอุตสาหะหมั่นฟังหมั่นถามเล่าเรียน หมั่นเขียนหมั่นตริตรองตามวิสัยบัณทิตยชาติ จึงได้ทรงทราบสรรพวิชาอันควรจะทราบได้ถ้าแม้จะไม่ดีกว่า ก็เสมอเหมือนผู้ที่มีความรู้และศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้วได้

ความข้อนี้มีพยานที่จะให้เห็นปรากฏชัดในลายพระหัตถ์ที่ทรงไว้เป็นอันมาก กับทั้งในราชการบ้านเมืองอันสำคัญที่สุด ซึ่งได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในเวลาซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปโน พ.ศ. ๒๔๔๐ ย่อมปรากฏชัดเจนแก่คนทั้งปวงทั่วหน้ากันแล้ว ทรงพระปัญญาสามารถที่จะวินิจฉัย ราชการได้ทั่วไป แม้ที่สุดในข้อสำคัญๆ ซึ่งเกิดมีความเห็นแตกต่างกันในระหว่างเจ้ากระทรวงทบวงการนั้นๆ ก็ยังทรงพระราชวินิจฉัยได้แต่โดยสำนึกพระองค์ให้เป็นที่พอใจกันได้ทั่วหน้าแล้ว และมิให้เป็นที่เสียประโยชน์ราชการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย”

เมื่อพระชันษา ๑๕ ปี ทรงดำรงตำแหน่งพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี) ทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่โปรดปรานยิ่งนักถึงกับให้ทรงประทับอยู่ใกล้ๆ บนพระราชมณเฑียร จนได้ รับการขนานพระนามว่า “สมเด็จที่บน” มีพระอิสริยยศตามลำดับ ดังนี้

พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑
พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัซรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และทรงมอบการปกครองภายในพระบรมมหาราชวังถวายเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระองศ์ ต่อมายังถวายพระเกียรติในทางทหาร ทรงเป็นพันโทผู้บังคับการพิเศษ กองพันที่ ๒ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว และพันเอกพิเศษแห่งกรมทหารม้าที่ ๕ นครราชสีมา

สมเด็จพระศรีพัชรนทรา บรมราชินีนาถ ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ชั้นที่ ๑ ทุกตระกูล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แล้ว ทั้งทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินี แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในฐานันดรศักดิ์คณาธิปตานีของฝ่ายในทั้งปวง ตำแหน่งนี้มีหน้าที่กำหนดตัวผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานตราขึ้นถวายเพื่อพิจารณา ในรัชกาลที่ ๕ ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นสูงสุดคือ มหาวชิรมงกุฎ ซึ่งได้ถวายแด่พระองค์เป็นปฐมสำหรับสตรี และเป็นการถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว นอกจากนี้ยังทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายในชั้นสูงของต่างประเทศอีกหลายประเทศด้วย

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๑๔ พระองค์ ตกเสีย ๕ พระองค์ ทรงเจริญพระชันษา ๙ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
๒. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
๔. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๕. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
๗. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ซรบูรณ์อินทราชัย
๙. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์

ในจำนวนพระราชโอรสดังกล่าว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรี บรมราชวงศ์ถึง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ทรงมองเห็นการณ์ไกลในการพัฒนาชาติให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ นอกเหนือไปจากพระราชภาระในฐานะอัครมเหสีของพระประมุขของชาติไทยแล้ว พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ปรากฏแก่สายตาคนทั่วไปนั้นล้วนแล้วแต่ทรงคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงในหลายๆ ประการ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุขและการอนามัย ด้านสาธารณประโยชน์ ด้านการช่างฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรป สิ่งต่างๆ ดังกล่าวได้ยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างต่อมาหลายประการ พระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีดังนี้

การบริหารราชการแผ่นดิน ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ การดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อันเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงการไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ดังพระราชดำรัสในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีมุขมาตย์ และข้าราชการทั้งปวงในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ความตอนหนึ่งว่า

“… เราได้สั่งให้พระอัครราชเทวี รักษาราชการในหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการปฏิบัติอธิษฐานนํ้าใจ ให้ตั้งอยู่ในความสัตย์ธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเป็นธรรมอันพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงปฏิบัติอธิษฐานในพระราชหฤทัย มิให้อคติทั้งหลายสี่ประการมาครอบงำในสันดานได้ ให้มีความกรุณาปรานีและตั้งใจทำนุบำรุงทั่วไปในพระบรมวงศา¬นุวงศ์ และข้าราชการผ่ายหน้าผ่ายใน และสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร และอารีตั้งใจเป็นธรรมต่อชนทั้งหลายอันจะมายังพระนครนี้ และรักษาสัญญ ทั้งปวงอันได้ทำไว้แล้ว ดุจเราได้ประพฤติปฏิบัติต่อท่านทั้งหลาย ๒๙ ปีมาแล้ว

เราหวังใจว่า ด้วยความสุจริตอันมีอยู่แล้วในสันดานแห่งพระอัครราชเทวี และด้วยความจงรักภักดีที่เธอมีต่อตัวเรา คงจะประพฤติตามที่เราหวังใจและที่ได้แนะนำนี้ทุกประการ”

ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลายาวนานนั้น เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะเป็นพระราชภาระอันหนัก และมิได้เคยทรงปฏิบัติมาก่อนก็ตาม แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความรอบคอบสุขุมคัมภีรภาพ การงานต่างๆ จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีปราศจากข้อบกพร่องใดๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสชมเชยมาในพระราชหัตถเลขาว่า

“หนังสือราชการของแม่เล็กที่เป็นผู้สำเร็จราชการ มีมาเก่งเต็มที”
หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตอนพระราชประวัติว่า

“สมเด็จฯ ก็ต้องทรงสละเวลาและความสุขสำราญส่วนพระองค์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก จริงอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งคณะที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการไว้ด้วย (มีสมาชิก ๕ ท่าน) แต่ภาระหนักก็ตกอยู่แก่พระองค์เป็นส่วนมาก ซึ่งภาระทั้งนี้ พระองค์มิได้เคยทรงศึกษาหรือฝึกหัดให้ทำมาก่อนเลย นอกจากจะทราบเรื่องอยู่บ้างโดยที่เป็นผู้ไว้วางพระราชหฤทัยใกล้ชิดสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราชการที่ต้องทรงวินิจฉัยและสั่งก็มีอยู่มาก ไหนยังงานในด้านสังคมอีกเล่า พระองค์เสด็จประทับในที่ประชุมคณะเสนาบดี เสด็จออกให้ผู้มีราชการเฝ้า เสด็จเป็นประธานในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าในปัจจุบันนี้มาก ถึงเทศกาลกฐินก็ต้องเสด็จไปพระราชทานพระกฐินหลวง แม้จนกระทั่งเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในพระนครก็ได้เสด็จไปเป็นประธานในการดับเพลิงด้วย ทุกๆ วันในเวลาเย็น เสด็จลงสวนศิวาลัย เพื่อร่วมทรงสนทนาเล่นหัวกับพระราชวงศ์และข้าราชการฝ่ายใน บางทีก็สรงนํ้ากันในสระ โปรดให้ช่างสตรีเข้าไปฉายรูปในการเสด็จลง เวลาเย็นๆ นี้ส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชหฤทัยว่า ทางนี้มีความสุขสำราญดีอยู่ทั่วกัน ครั้นค่ำลงก็ทรงพระอักษรอยู่จนดึก เพราะนอกจากหนังสือราชการที่ต้องทรงวินิจฉัยโดยลำพังแล้ว ยังมีลายพระราชหัตถ์ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวาย อยู่แทบจะทุกวัน ในระหว่างที่แทนพระองค์อยู่นี้ได้ทรงจัดการต่างๆ ขึ้นใหม่ก็มาก เช่น วางระเบียบในพระบรมมหาราชวัง”

พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ มีอาทิ การเสด็จออกรับแขกเมืองต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น รวมตลอดทั้งแขกเมืองประเทศราช ซึ่งนำเครื่องราชบรรณการ ต้นไม้เงิน ทอง มาถวาย การออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพิกัดภาษีภายใน ร.ศ. ๑๑๖ พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ การประกาศแก้พระธรรมนูญศาลหัวเมือง ประกาศพระราชทานนามถนนสุริวงศ์และถนนเดโช ประกาศ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแบบแผนบังคับบัญชาการเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ เมืองสตูล ประกาศตั้งมณฑลกรุงเก่า ร.ศ. ๑๑๖ ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคเพิ่มเติม พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล และตั้งรัฐมนตรี พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล เป็นต้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตสู่พระนครแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเหรียญพระราชินีให้แก่บรรดาผู้ตามเสด็จ แสดงความขอบใจที่ได้ปกปัก อภิบาลรักษา และปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เป็นเหรียญที่ทำด้วยเงินห้อยแถบสีฟ้า มีอักษรพระนามย่อ ส.ผ. ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีอักษรบรรทัดบนว่า พระราชทาน บรรทัดล่างว่า ร.ศ. ๑๑๖ เหรียญนี้ใช้ประดับเช่นเดียวกับเหรียญที่ระลึกงานพระราชพิธีต่างๆ ของหลวง

ด้านการศึกษา
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะในหมู่กุลสตรี ในสมัยก่อนการศึกษาในหมู่กุลสตรียังไม่กว้างขวาง กุลสตรีไม่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิให้ได้ศึกษาเช่นบุรุษเพศ การศึกษามักเน้นในทางวิชาการบ้านการเรือน มารยาทสำหรับกุลสตรี การเย็บปักถักร้อย เป็นต้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นหลายแห่ง ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนราชินี โรงเรียนเสาวภากรุงเทพมหานคร โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินีจังหวัดตรัง โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนราชินีบูรณะจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนราชินี ทรงมีอุปการคุณเป็นพิเศษ ทรงเป็นพระธุระในทุกสิ่งทุกอย่างอย่างใกล้ชิด พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินเดือนครู ค่าใช้จ่ายของโรงเรียน เพื่อให้เกิดความนิยมแก่คนทั้งหลาย พระองค์ได้ส่งพระราชวงศ์และเด็กหญิงในราชสำนักของพระองค์ให้เข้าเรียน ทรงจัดรางวัลอันมีค่าพระราชทานแก่นักเรียนที่มีความประพฤติและเล่าเรียนดี ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนทุกคนจะได้รับพระราชทานเข็มกลัดอักษรพระนาม “เสาวภา” ตลอดทั้งครูและเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ก็ได้รับ พระราชทานเข็มกลัดอักษรพระนาม “เสาวภาผ่องศรี” ในที่สุดโรงเรียนนี้มีผู้นิยมเข้าเรียนอย่างแพร่หลาย

จะเห็นได้ว่าโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นแหล่งสรรพวิชาการเพื่อผลิตอนาคตของชาติ เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองมาจนทุกวันนี้

ด้านการสาธารณสุข
ในสมัยนั้นการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าวิชาแพทย์และผดุงครรภ์มีความจำเป็นแก่ชีวิตและอำนวยคุณประโยชน์อย่างมาก ทรงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้น ในโรงพยาบาลศิริราช สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรี เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงริเริ่มและเป็นผู้นำผดุงครรภ์สมัยใหม่ด้วยการเลิกบรรทมเพลิง (อยู่ไฟ) ซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ ต่อมาคนชั้นสูงเกิดความนิยมและค่อยๆ เลิกตาม นอกจากนี้ยังทรงประกาศชักชวนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการแพทย์สมัยใหม่ โดยวิธีการเชิญชวนให้หญิงคลอดบุตรด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ และเมื่อหญิงคนใดคลอดบุตรในโรงพยาบาล จะพระราชทานเงินทำขวัญ ๔ บาท พร้อมเบาะและผ้าอ้อมแก่ทารก ๑ ชุด

ในการที่ทรงส่งเสริมให้ขยายสถาบันการแพทย์ และการพยาบาลผดุงครรภ์นี้ พระองค์ต้องสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากในการจ่ายเป็นเงินเดือนนายแพทย์ มิชชันนารี รวมทั้งบรรดานักเรียนแพทย์ ผดุงครรภ์ ซึ่งได้รับพระราชทานเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นพระธุระจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง เพื่อเป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ เป็นองค์สภานายิกา ต่อมาสภาอุณาโลมแดงเปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษยชาติทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ วัย หรือศาสนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกามาตลอดพระชนมชีพ เป็นเวลาถึง ๒๖ ปี นับได้ว่าทรงเป็นผู้วางรากฐานการแพทย์ผดุงครรภ์สมัยใหม่ และตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงการแพทย์และการผดุงครรภ์มาตลอด ทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปสู่อาณาประชาราษฎร์ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด ด้วยโปรดให้สร้างโรงพยาบาลขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านศาสนา
นอกจากมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเยี่ยงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปแล้ว ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์ พระอารามทั้งในกรุงและต่างจังหวัด สร้างเจดียวัตถุ พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ สร้างพระวิหารสมเด็จที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทรงปฏิสังขรณ์วัดวัดหนึ่งในอำเภอหัวหิน และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดอัมพาราม แม้พุทธเจดีย์นอกพระราช อาณาจักรก็ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายนิตยภัต ถวายข้าวสารเป็นอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุสามเณรทั้งพระอารามอีกหลายพระอาราม รวมทั้งค่านํ้าประปา กระแสไฟฟ้า และ ค่าชำระปัดกวาด รักษาพระอารามบางแห่งอีกด้วย

ด้านสาธารณประโยชน์
ทรงสร้างสะพานเสาวนีย์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองริมทางรถไฟสายเหนือ เชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอด เมื่อคราวเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา พ.ศ. ๒๔๕๔ กรมโยธา¬ธิการได้ออกแบบและสร้างถวายตามพระราชเสาวนีย์ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานไม้ที่มีอยู่เดิม ต่อมาโปรดให้สร้างรูปพระนางธรณีบีบมวยผมให้นํ้าเป็นอุทกทานให้ประชาชนได้บริโภคนํ้าบริสุทธิ์ ที่หัวมุมถนนใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๔พรรษา พ.ศ. ๒๔๖๐ นอกจากนี้ยังทรงสร้างบ่อนํ้าสาธารณะที่อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องในคราวเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมฤดูร้อน

การช่างฝีมือ
การช่างเป็นวิชาการอีกแขนงหนึ่งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัย นอกจากมีฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยม และพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์ดอกไม้สดแล้ว ยังทรงอุปถัมภ์ผู้มีฝีมือในด้านต่างๆ เช่น งานเย็บปักถักร้อยทุกชนิด การปักสะดึง กลึงไหม หักทองแล่ง ทองขวาง การประดิษฐ์จัดแต่งดอกไม้สดนานาชนิด การพับจีบ อบ ร่ำ ปรุงเครื่องหอม ตลอดจนการแกะสลักผลไม้ ไว้ในราชสำนัก เป็นที่ปรากฏว่าตำหนักที่บนของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จะได้รับความนิยมยกย่องว่ามีฝีมือเป็นเยี่ยม นอกจากบรรดาข้าหลวงพนักงานช่างฝีมือที่ทรงชุบเลี้ยงเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทรงอุปถัมภ์ช่างฝีมือชาวญวนไว้ด้วย โดยพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีให้ นับได้ว่าทรงทำนุบำรุงงานช่างฝีมือ เพื่อให้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนี้ต่อมา

ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างทุ่งพญาไทขึ้น เป็นที่เพาะปลูกอย่างแบบฝรั่ง รวมทั้งเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ดกของฝรั่ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระสำราญยิ่งกับสถานที่แห่งนี้ ทั้งได้ทรงดำนาด้วยพระองค์เอง ต่อมาพระราชวังพญาไทนี้ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จนกระทั่งเสด็จสวรรคต นอกจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ กล่าวมาแล้ว ยังทรงเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ ด้วยการเสด็จประพาสตามหัวเมืองและทรงเยี่ยมราษฎร พระราชทานพระราชานุเคราะห์ เช่น การศึกษาเล่าเรียน การบำบัดโรค บำรุงวัดวาอาราม อุปถัมภ์บำรุงภิกษุสามเณร บำรุงถนนหนทาง พระราชทานแจกข้าวสาร ผ้าห่ม ยารักษาโรค แก่ประชาราษฎร์ในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น แม้ข้าราชการในพระองค์ บุตรหลานข้าราชการ ตลอดจนพระราชนัดดา พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงอุปถัมภ์คํ้าจุนให้การศึกษาเล่าเรียน การอยู่ดีกินดี และอื่นๆ ผู้ใดขาดแคลนก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทดรองให้ปัน และกู้ยืมตามปรารถนาเป็นทุนรอน ทรงห่วงใยในทุกข์ สุขของทหารอันเป็นรั้วของชาติ ด้วยการเสด็จประทับทอดพระเนตรการซ้อมรบอยู่เนืองๆ พร้อมทั้งพระราชทานอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ตลอดจนการส่งแพทย์หลวงรักษาเยียวยาทหารผู้บาดเจ็บอีกด้วย ยังความปลื้มปิติแก่ทหารทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง

ในบั้นปลายแห่งพระชนมชี ทรงเริ่มมีพระโรคาพาธบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงประสบความวิปโยคอย่างแสนสาหัส ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ทำให้กำลังพระหทัยอ่อนลง ส่งผลสำคัญแก่พระวรกาย แพทย์ต้องถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด และแนะนำให้พระองศ์เสด็จประพาส เพื่อให้ทรงสำราญพระราชหฤทัย เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ประพาสหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งเสด็จประพาสต่างประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก็มีพระโรคาพาธมารบกวนบ่อยๆ ทั้งมีพระโรคประจำพระองค์ คือ ประชวรด้วยพระวักกะไม่ปรกติ พระบังคนเบามีไข่ขาว พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเป็นเหตุให้พระกำลังลดถอยลง ในระยะหลังถึงกับทรงพระดำเนินโดยลำพังพระองค์ไม่ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ประชวรไข้อันเกิดจากพิษในพระอันตะ กำลังพระหทัยทนพิษไข้ไม่ได้ เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักพญาไท เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ตรงกับวันจันทร์ แรมสิบเอ็ดค่ำ เดือนสิบ ปีมะแม เอกศก จ.ศ. ๑๒๘๑ และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

พระราชจริยาวัตร และพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างมาก กิจการหลายสิ่งหลายอย่างเป็นรากฐานแห่งความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งในขณะที่พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพ และในปัจจุบันอย่างทั่วหน้ากัน สมดังที่เป็นพระบรมราชินีคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นสมเด็จพระปิยมหาราชของชาวไทยอย่างแท้จริง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง