สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี

Socail Like & Share

เป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับการยกย่องพระเกียรติอย่างยิ่ง ดังปรากฏในความตอนหนึ่งของคำประกาศสถาปนาพระอิสริยยศในรัชกาลที่ ๗ ว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี

“…พระปรีชาญาณรอบรู้ราชกิจน้อยใหญ่ มีพระอัธยาศัยเป็นสัจธรรมมั่นคงกอปรด้วยพระขันตีคุณ และทรงพระเมตตาอารีแก่ผู้น้อยทั่วไปมีได้เลือกหน้า เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่ง ตั้งแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดไป จนคนทั้งหลายอื่นโดยมาก…”

ดังนั้นจึงสมควรทราบพระราชประวัติของพระองค์ต่อไป

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากเจ้าคุณจอมมารดาสำลี(เจ้าคุณจอมมารดาสำลี เป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) และหม่อมคล้าย เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ ในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณในรัชกาลที่ ๕ ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๔๓ อายุ ๖๔ ปี) เมื่อวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงพระประสูติกาลของพระราชธิดาไว้ในพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีถึงพระยาศรีพิพัฒน์ และนายสรรพวิไชย คณะราชทูตไทย ซึ่งเดินทางไปราชการ ณ ประเทศฝรั่งเศส พระราชหัตถเลขาลงวันอังคาร ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๒๓ ว่า

“…สำลีคลอดบุตรหญิง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เวลาเที่ยงแล้ว แต่แรกออกมาไม่ร้องไม่ลืมตา ต้องแก้ไขกันอยู่นานจึงได้อาบน้ำ แล้วไม่กินนมไป ๑๒ ชั่วโมง แต่บัดนี้เป็นปกติแล้ว หญิงนั้นข้าพเจ้าให้ชื่อสุขุมาลมารศรี สำลีกับบุตรหญิงทั้งสอง บัดนี้ก็อยู่ดีเป็นปกติ เมื่อคลอดและทำขวัญนั้น พระยาวรพงศ์พิพัฒน์มาดูแลจัดการ”

อีกฉบับหนึ่ง ทรงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ บอกข่าวเกี่ยวกับพระราชธิดาอีกครั้งว่า

“…บุตรหญิงของข้าพเจ้าที่เป็นหลานของท่านทั้งสอง คือ บุษบงเบิกบาน และสุขุมาลมารศรี กับทั้งมารดาสำลี อยู่ดีกินดีเป็นสุขสบายอยู่ ไม่ได้ป่วยเป็นไข้อะไร…”
พระนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระราชธิดานั้น เข้าใจว่าทรงพิจารณาจากลักษณะเมื่อประสูติไม่ร้องดังเด็กอื่นๆ จึงพระราชทานพระนามอันเป็นมงคลถึงความสุขุม คือ การคิดพิจารณาก่อนกระทำการใดๆ ซึ่งตรงกับพระอุปนิสัยในกาลต่อมา ดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ขอตั้งนามบุตรหญิงที่เกิดจากสำลี ประสูติวัน silapa-0137 - Copy1 ค่ำ ปีระกา ตรีศกนั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองศ์เจ้า สุขุมาลมารศรี วรรคบริวารเป็นอาทิ และอันตอักษร จงเจริญอายุ วรรณ สุข พลปฏิภาณ สรรพศฤงคารสมบัติพัสดุบริบูรณ์ทุกประการเทอญ

ตั้งนามไว้ ณ วัน silapa-0137 - Copy2 ค่ำ ปีระกา ตรีศก เป็นวันที่ ๓๖๘๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้”

นอกจากนี้มีคาถาพระราชทานนามเป็นภาษาบาลี มีคำแปลดังนี้

“ธิดาของเราผู้บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี จงทรงนามนั้นไว้มีสุขเสมอ อนึ่ง จงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีบริวาร งดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ”

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มีพระประยูรญาติร่วมพระชนนี ดังนี้

๑. พระองค์เจ้าหญิงเขียว
๒. พระองค์เจ้าหญิงบุษบงเบิกบาน
๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
๔. พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี)

การศึกษาขณะทรงพระเยาว์นั้น สันนิษฐานว่า ได้ทรงศึกษาเช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายในสมัยนั้น คือ ศึกษาทั้งด้านอักขรวิธี และวิชาความรู้ขั้นต้น จากตำหนักของเจ้านายฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนการเรียนภาษาชั้นสูง หรือภาษามคธนั้น อาจ เรียนในสำนักเดิมหรืออาจเรียนกับอาลักษณ์และราชบัณฑิต นอกจากนี้ก็ทรงศึกษาวิชาการอันสมควรแก่กุลสตรี เช่น ศาสนา วรรณคดี ขนบธรรมเนียม ประเพณี หัตถกรรม และคหกรรมต่างๆ ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้คงจะทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจากหนังสือ ตำราเพิ่มเติม แล้วแต่พระอัธยาศัยว่าจะโปรดทางใด ปรากฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงสนพระทัยด้านวรรณคดี การประพันธ์ โบราณคดี และราชประเพณีอย่างยิ่ง ประกอบกับในกาลต่อมาได้ทรง รับราชการเป็นราชเลขาธิการฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโอกาสให้ได้ทรงใกล้ชิดกับภาษาและหนังสืออยู่เสมอ จึงทรงเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์มาก ปรากฏว่า ทรงพระนิพนธ์คำประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองหลายชิ้น แต่เป็นบทสั้นๆ ซึ่งทรงพระนิพนธ์เล่นบ้าง ทรงแต่งทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง หรือประทานแก่ผู้ที่ทรงชอบพระอัธยาศัย ฝีพระหัตถ์ด้านร้อยกรองนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ สุขุมาลนิพนธ์ ว่า

“..ได้รับความนิยมยอมทั่วกันหมดว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญวรรณคดี และเป็นกวี แต่งดีสู้ผู้ชายได้

ในส่วนสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ นั้น แต่เดิมนอกจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็มิใคร่มีใครทราบว่าทรงสามารถในวรรณคดีดังกล่าวมา จนเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ ให้แต่งสุภาษิตคนละบท สำหรับรวมเข้าเป็น “หนังสือวชิรญาณสุภาษิต” พิมพ์พระราชทานแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองหอพระสมุดวชิรญาณ ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงพระนิพนธ์สุภาษิตเป็นโคลงดั้น ๒ บท ส่งมาลงพิมพ์ พอปรากฏก็มีเสียงสรรเสริญแลยอมทั่วกันหมดในทันทีว่า ทรงสามารถแต่งสู้กวีผู้ชายได้ แลโคลงดั้น ๒ บทนี้ก็มีผู้ชอบจนจำกันได้มาก..”

งานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบทูลแนะนำจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรม พระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ให้ทรงรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น และได้พิมพ์แจกครั้งแรกเป็นที่ระลึกเนื่องในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร พระศพสมเด็จพระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ให้ชื่อว่า สุขุมาลนิพนธ์ บทพระนิพนธ์เหล่านี้ นอกจากจะแสดงถึงพระปรีชาสามารถแล้ว ยังแสดงให้เห็นพระอุปนิสัยขององค์ผู้ประพันธ์ด้วย กล่าวคือ ทรงใฝ่การศึกษาหาความรู้ ซื่อสัตย์ อดทน มั่นคงอยู่ในความยุติธรรม ไม่ถือพระองค์ มีพระวิริยะ อุตสาหะและประหยัด

พระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อแรกรับราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙) ยังคงเรียกเป็นทางการว่า พระองค์เจ้าสุขุมาล
มารศรี แม้เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ และพระราชธิดาองค์แรก เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๐ นั้น ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทรงได้รับพระราชทานเครื่องยศ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่ด้วยทองคำที่พระคลังข้างที่จัดซื้อ ได้แก่ พานพระศรีทองคำลายบัวลงยาราชาวดี ๑ เครื่องผอบลงยาราชาวดี ปริกประดับเพชร ๓ จอกหมากลงยาราชาวดี ๒ มีดพับด้ามลงยาราชาวดี ๑ ซองพลูลงยาราชาวดี ๑ ตลับขี้ผึ้งเป็นลูกลิ้นจี่ฝังทับทิม มีลายสร้อยห้อยไม้ควักหูเป็นต้น ประดับเพชรบ้างเล็กน้อย ๑ พานรองและหีบหมากลงยาฝังเพชร ทับทิม มรกต ด้านบนเป็นรูปสระบัว ๑ ตลับเครื่องในฝังมรกตมงคลเพชรสามใบเถา ๑ ขันครอบลงยาราชาวดีสำรับ ๑ ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาราชาวดีพร้อมพานรอง ๑ กานํ้าร้อนหูหิ้วมีถาดรองทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสำรับ ๑ บ้วนพระโอษฐ์ทองคำลงยาราชาวดี ๑ ได้รับพระราชทาน เงินเดือน ๗ ตำลึง

พ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สวรรคตลงด้วยอุบัติเหตุ เรือพระประเทียบล่ม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศพระมเหสี อีก ๓ พระองค์ขึ้น ดังนี้ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้า ศรีพัชรินทร์และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เป็น พระนางเธอ ทรงได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ ๑๐ ตำลึง หลังจากประสูติพระราชโอรสคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ แล้วทรงได้รับสถาปนาเป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงได้รับการ เฉลิมพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นการสถาปนาหลังสิ้นพระชนม์แล้ว

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๒ พระองค์ และเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ทรงมีฐานะเป็นพระราชธิดา หรือลูกหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น พระราชโอรสพระราชธิดาของพระองค์จึงดำรงเป็นเจ้าฟ้าตั้งแต่ประสูติ คือ ดำรงพระยศเท่ากับเจ้าฟ้าที่มีพระราชชนนีเป็นเจ้าฟ้า ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ นิยมเรียกเจ้าฟ้าชั้นนี้ว่า “ทูลกระหม่อม” คือ

๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาณี ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับสถาปนาเป็นจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นต้นราชสกุล บริพัตร

การอบรมพระราชโอรสพระราชธิดาของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี อาจเรียกได้ว่าทรงเข้มงวดกวดขันด้านความประพฤติและอุปนิสัยเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความสำนึกในส่วนพระองค์อยู่ลึกๆ ว่าทรงเป็นเชื้อสายสกุลบุนนาค (ทางเจ้าคุณจอมมารดาสำลี) หรือเรียกเป็นสามัญในขณะนั้นว่า “พวกฟากข้างโน้น” ซึ่งบรรพบุรุษบางท่านอาจกระทำสิ่งใดเป็นที่ขัดเคืองใต้เบื้องพระยุคลบาท  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสพระราชธิดาเป็นที่พอใจ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป จึงทรงอบรมให้มีความจงรักภักดีในสมเด็จพระชนกนาถ มีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาและกิจการทั้งปวง เคารพผู้มีอาวุโส ถ่อมพระองค์ ผูกมิตรกับเจ้านาย ตลอดจนข้าราชการทั่วไปทุกระดับ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม ละเว้นจากอบายมุข และมัธยัสถ์ พระโอวาทของพระองค์ปรากฏอยู่ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ขณะที่เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษและเยอรมนี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๗ – ๒๔๔๖ และลายพระหัตถ์อื่นๆ ในกาลต่อมา ซึ่งการอบรมของพระองค์นับว่าสัมฤทธิผลอย่างดียิ่ง เพราะทั้งพระราชโอรสพระราชธิดาล้วนปฏิบัติพระองค์ได้ตามพระราชประสงค์ เป็นที่รักใคร่ ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระชนกนาถ เป็นที่เคารพยกย่องของพระประยูรญาติ พระราชวงศ์ และข้าราชการทั้งปวง ทรงประสบความสำเร็จในหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรศ์วรพินิต พระราชโอรสนั้น ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการในกระทรวงทหารเรือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ในช่วงรัชกาลที่ ๕ – ๗

ด้านความใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ปรากฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี เป็นพระอัครมเหสีพระองศ์หนึ่งที่โปรดให้ประทับ และรับราชการใกล้ชิดพระองค์เสมอ คือ โปรดให้ทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการฝ่ายใน ได้รับพระราชทานเงินเดือนในตำแหน่งนี้เป็นพิเศษ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองก็โดยเสด็จด้วยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อทรงสร้าง พระราชวังที่สวนดุสิต ได้โปรดให้แบ่งที่ดินพระราชทานแด่พระอัครมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระเจ้าลูกเธอ เป็นส่วนๆ เรียกว่าสวน มีคลอง ประตู ถนน เรียกชื่อตามเครื่องลายครามที่นิยมเล่นกันขณะนั้น ส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ เรียกว่า “สวนนกไม้” เมื่อแรกสร้างพระราชวังดุสิต ขณะยังไม่ได้สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพลับพลาเป็นที่ประทับแรม ได้เสด็จไปประทับบ่อยครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระราชธิดาก็ตามเสด็จ และได้ประทับบนพลับพลา ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์นั้นด้วย เมื่อสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จัดชั้นที่ ๒ ของพระที่นั่งส่วนที่เป็นแปดเหลี่ยมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระราชธิดา

พ.ศ. ๒๔๔๙ พระที่นั่งอัมพรสถานที่ประทับแห่งใหม่สร้างเสร็จ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระราชธิดาได้ประทับที่พระที่นั่งอุดร และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ก็ทรงเฝ้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องจัดเครื่องเสวยถวาย และได้เสด็จขึ้นถวายการพยาบาลประจำตั้งแต่วัน พฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันสวรรคต ขณะที่ถวายการพยาบาลตลอด ๔ วันนั้นไม่ได้พักบรรทมเลย

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน นอกจากการประพันธ์ที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ยังทรงพระปรีชาด้านอาหารและงานประณีตศิลป์ต่างๆ ทั้งทรงฝึกหัดให้
พระราชธิดา เจ้านาย หรือบุคคลในปกครองในพระตำหนักเชี่ยวชาญทางด้านนี้ด้วย ปรากฏว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดงานเลี้ยงขึ้นในพระราชวังครั้งใด สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มักทรงได้รับเกณฑ์เรื่องเครื่องคาวหวานเสมอ หรือเมื่อต้องพระราชประสงค์สิ่งใดเป็นพิเศษ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มักทรงรับหน้าที่จัดหาเครื่องเสวยเสมอ ส่วนเรื่องการฝีมือและการจัดดอกไม้นั้น เป็นงานที่ทรงเป็นประจำ ซึ่งพระปรีชาสามารถต่างๆ นี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระราชธิดาทรงได้รับถ่ายทอดมา และเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า นอกจากทรงพระสิริโฉมงดงามแล้ว ยังทรงฉลาดหลักแหลมทันสมัย มีฝีมือทั้งด้านการประกอบอาหาร การฝีมือและการถ่ายรูป อีกสิ่งหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี โปรดคือโคเกต์ ซึ่งเป็นกีฬาที่เจ้านายในรัชกาลที่ ๕ นิยมกันอย่างยิ่ง ปรากฏว่าเป็นกีฬาที่มักจะทรงเสมอ เช่น ขณะประทับ ณ พระราชวัง บางปะอิน แม้เมื่อย้ายไปประทับที่วังบางขุนพรหมกับพระราชโอรสแล้ว ก็ได้จัดสร้างสนามโครเกต์ไว้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระญาติสนิท เสด็จมาทรงเล่นด้วยเนืองๆ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิตกับพระราชธิดาระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อประชวร จึงขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับรักษาพระองค์ ณ วังบางขุนพรหมของพระราชโอรส ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงสร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังหนึ่งในบริเวณวังบางขุนพรหม อยู่ด้านหลังตำหนักใหญ่ มีสะพานชั้นบนเชื่อมถึงกัน และเสด็จประทับประจำตั้งแต่นั้นมา เรียกกันว่า “ตำหนักสมเด็จ” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ออกมาประทับด้วยกัน เมื่อประทับ ณ วังบางขุนพรหมเป็นการถาวรแล้ว ภายหลังได้ทรงคืนพระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง พระญาติและผู้ดูแลพระตำหนักต่างก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่วังบางขุนพรหมทั้งหมด(วังบางขุนพรหม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่บางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อเป็นที่สร้างวังประทับ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เริ่มก่อสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๔ เข้าประทับใน พ.ศ. ๒๔๔๖)

เมื่อประทับ ณ วังบางขุนพรหม ได้ทรงอบรมดูแลพระนัดดา คือ พระโอรสพระธิดาของจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตอย่างใกล้ชิด และทรงอุปถัมภ์เจ้านายน้อยๆ จากวังอื่นๆ หลายพระองค์ เช่น หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล หม่อมเจ้าผจงรจิต กฤดากร และหม่อมเจ้าสรรพางค์พิมล วรวรรณ เป็นต้น ทรงเลือกสรรค์จ้างครูมาสอนหนังสือที่วัง ตั้งแต่ ภาษาไทยจนถึงภาษาอังกฤษและฝรั่งเสสโดยใช้ห้องโถงที่พระตำหนักเป็นที่เรียนทรงควบคุมการศึกษาเล่าเรียนด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด การศึกษาในวังบางขุนพรหมเป็นที่เลื่องลือในสมัยนั้นมาก ผู้ที่คุ้นเคยจึงเรียกล้อเลียนกันว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” และเป็นเหตุหนึ่งให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกบรรดาพระธิดาในจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตว่า “พวกยูนิเวอร์ซิตี้” หรือ “ยูนิเวอร์ซิตี้”

พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงจัดงานฉลองพระชนมายุถวาย ที่วังบางขุนพรหม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเสวยพระกระยาหารค่ำพร้อมด้วยพระนางเธอลักษมีลาวัณ และได้พระราชทานหีบหมากทองขอบลงยา มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ฝังเพชรภายใต้พระมหามงกุฎ และมีลายพระหัตถ์ลงยาสีนํ้าเงินเป็นข้อความว่า

“ถวายเสด็จป้าสุขุมาล ในการฉลองพระชนมายุ ๖๐ ทัศ
ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
วชิราวุธ ป.ร.”

พ.ศ. ๒๔๖๕ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ทรงเศร้าเสียพระทัยมาก เพราะมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว เคยอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุสินี พระขนิษฐภคินี จึงทรงย้ายจากพระตำหนักในสวนสุนันทา มาประทับที่พระตำหนักในวังบางขุนพรหมด้วย เพื่อให้ทรงคลายความคิดถึงพระราชธิดา อย่างไรก็ตาม การประทับ ณ วังบางขุนพรหมก็มิได้ทรงเงียบเหงามากนัก เนื่องจากนํ้าพระทัยเมตตาเอื้ออารีแก่พระญาติและบุคคลทั่วไป สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี จึงยังเป็นที่เคารพรักนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์ และคนทั่วไป มีผู้มาเฝ้าเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าเหมวดี พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าแขไขดวง พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอาง พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏมหาราชปดิวรัดา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ก็ทรงเคารพและสนิทสนมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวีอย่างยิ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายนํ้าสงกรานต์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทุกปี และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ดังกล่าวมาแล้ว

พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ประชวรด้วยพระโรควัณโรคที่ พระปับผาสะ เมื่อมีพระอาการมาก จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้ย้ายพระแท่นบรรทมจากพระตำหนักสมเด็จ มาไว้ที่ห้องเสวยส่วนพระองค์บนชั้น ๒ ของพระตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม เพื่อที่จะได้ทรงพยาบาลพระราชชนนีอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงประทับอยู่ที่นี่ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ มีพระชนมพรรษา ๖๖ พรรษา นับเป็นเจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์อีกพระองค์หนึ่งที่มีพระชนมพรรษายืน ระหว่างที่กำลังประชวรหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมพระอาการหลายครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กหลวงผลัดเวรกันมาประจำที่วังบางขุนพรหม คอยเชิญพระอาการ ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว โปรดให้อัญเชิญพระโกศพระศพจากวังบางขุนพรหม โดยเรือพระที่นั่งอเนกซาติภุชงค์ มีขบวนเรือนำเรือตาม อัญเชิญพระโกศขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ นำขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และโปรดให้ไว้ทุกข์เป็นพิเศษมีกำหนด ๑๐๐ วัน บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพทุก ๗ วัน จนถึงงานออกพระเมรุ และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มีดังนี้

๑. พระสาทิสลักษณ์สีนํ้ามัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างเขียนขึ้นในขณะที่ยังดำรงพระอิสริยยศ พระนางเธอสุขุมาลมารศรี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ผนังห้องโถงมุขกระสัน ด้านตะวันตก ชั้นกลางของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

๒. ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ได้สร้างอาคารเรียนหลังหนึ่งที่วัดพิชัยญาติการาม ซึ่งเป็นวัดของบรรพบุรุษ ด้วยเงิน ๑๒๕ ชั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า “สุขุมาลัย” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ พระราชโอรสพระราชธิดาและพระญาติจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนและเครื่องใช้ในอาคาร

๓. สุสานในวัดราชบพิธ ในบริเวณสุสานหลวงทางทิศตะวันตกของวัดราชบพิธ มีอาคารประดิษฐานพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระประยูรญาติในราชสกุลบริพัตร มีชื่อจารึกไว้ที่อาคารว่า “สุขุมาลนฤมิต” ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาดย่อม แบบตรีมุข มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงกลมสีทอง

๔. ตึก “สุขุมาลมารศรี” อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลสระบุรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง กรมหลวงทิพยรัตกิริฏกุลินี ผู้เป็นพระขนิษฐภคินี ประทานเงิน ๕ ล้านบาท ให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ