สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

Socail Like & Share

เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๕๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามาตา ในรัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ สมเด็จพระราชชนก พระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา มีพระบรมวงศ์ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน คือ

๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (พ.ศ. ๒๓๙๙ – ๒๔๑๖)

๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พ.ศ. ๒๔๐๑ – ๒๔๙๘) ต้นราชสกุล เทวกุล

๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พ.ศ. ๒๔๐๓ – ๒๔๒๓)

๔. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๔๙๘)

๕. สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พ.ศ. ๒๔๐๖ – ๒๔๖๒)

๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๗๘) ต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์

เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังและทรงได้รับการศึกษาตามแบบราชประเพณีของขัตติยนารีเช่นเดียวกับพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น หลังจากที่สมเด็จพระราชชนกเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ทรงตามเจ้าจอมมารดาออกไปประทับที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ครั้นพระชันษาครบ ๑๒ พรรษา พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีโสกันต์ เวลาต่อมา พระเจ้าน้องนางเธอ พระองศ์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระนางเธอ เช่นเดียวกับพระพี่นางและพระน้องนาง คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระพี่นางต่างพระชนนี ๑ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระภรรยาเจ้าฟ้า ๔ พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงยกย่องไว้ในที่เสมอกัน ส่วนพระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้น ขึ้นอยู่กับการมีพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ ภายหลังเมื่อพระภรรยาเจ้าทั้ง ๔ แต่ละพระองค์ได้มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรก กล่าวคือ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ฯ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนามีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเงินเดือนเท่ากันทุกพระองค์

ครั้นใน พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้จัดระเบียบภายในราชสำนักในเรื่องที่เกี่ยวกับตำแหน่งพระภรรยาเจ้าให้เป็นที่เรียบร้อย ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เนื่องจากเป็นพระชนนีสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ซึ่งเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๘ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ – ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗) (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก)

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ฯ (๔ – ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒)

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน์ ขัตติยราชกุมารี (๒๑ เมษายน – ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔)

๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัยฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์) (๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๒)

๕. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) (๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑)

๖. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ) (๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑)

๗. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒) (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน)

๘. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ ๔ วัน) (๙ – ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖)

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระราชินี พระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรสยามได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จ แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกิจสำคัญต่างๆ อาทิ พระราชพิธีแรกนาขวัญ และโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จประพาสหลายครั้ง เช่น คราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออก พ.ศ. ๒๔๓๐ เสด็จประพาสแหลมมลายู พ.ศ. ๒๔๓๑

ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒” ซึ่งทำให้ไทยต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสหลายประการ ที่สำคัญคือ ไทยต้องเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่นํ้าโขงให้แก่ฝรั่งเศสและต้องใช้เงินค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนถึง ๓ ล้าน วิกฤตการณ์ครั้งนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร เนื่องจากตรอมพระราชหฤทัย สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ได้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด และได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสมทบเป็นเงินชดใช้แก่ฝรั่งเศสด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตแห่งพระชนมชีพ ทรงโทมนัสอย่างใหญ่หลวงจากการสูญเสียพระราชโอรส พระราชธิดาในระยะเวลาใกล้ๆ กัน นับตั้งแต่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภาฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาพระองค์เล็กสิ้นพระชนม์หลังจากประสูติได้เพียง ๔ วัน โดยเฉพาะเหตุการณ์สะเทือนพระทัยครั้งรุนแรงที่สุด ก็คือ การที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สวรรคต เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ทรงเสียพระทัยเป็นอันมากจนถึงกับประชวร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ตามเสด็จประพาสที่ต่างๆ เช่น ประพาสชวา พ.ศ. ๒๔๓๙ ด้วยมีพระราชดำริว่า การได้เปลี่ยนภูมิอากาศและภูมิประเทศจะทำให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระสำราญขึ้น หายจากพระอาการประชวรและคลายความทุกข์โศกได้บ้าง แต่ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ และ ๒๔๔๒ ก็ต้องทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดา อีก ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัยฯ ตามลำดับ พระอาการประชวรที่ทุเลาแล้วกลับทรุดตามเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่บางพระ จังหวัดชลบุรี เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) อดีตแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงซึ่งได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ และไป อำนวยการบริษัทป่าไม้ที่ศรีราชา ได้จัดสร้างพระตำหนักไม้องค์หนึ่งที่ศรีราชาแล้วเสร็จ จึงได้เชิญเสด็จประทับ ต่อมาได้มีการปลูกสร้างพระตำหนักแห่งใหม่บนเนินเขา แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เนื่องจากพระตำหนักเก่าคับแคบและไม่แข็งแรง สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังพระตำหนักใหม่นี้หลายครั้ง อนึ่ง ในช่วงเวลาที่ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับที่ศรีราชาได้มีข้าราชบริพารที่ตามเสด็จและเจ้าหน้าที่ประจำการรักษาพระองค์เกิดเจ็บป่วยอยู่เนืองๆ ประกอบกับศรีราชาในสมัยนั้นเป็นที่ห่างไกลแพทย์ จึงมีพระดำริจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่ออำนวยประโยชน์โดยทั่วไป ทั้งนี้โปรดให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวีศิษฎ์ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และพระบำบัดสรรพโรค (หมอเอช อดัมสัน) ดำเนินการวางผังโดยเลือกทำเลไม่ไกลจากพระตำหนักนํ้า เริ่มปลูกสร้างใน พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้วเสร็จและเสด็จฯ ประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบันมีชื่อที่ใช้อย่างเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา”

ครั้นพระตำหนักสวนหงส์ ซึ่งเป็นพระตำหนักใหม่ในพระราชวังดุสิตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานแล้วเสร็จ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ได้ทรงย้ายกลับมาประทับ ทรงสำราญพระทัยมากขึ้น ทรงเข้าร่วมในงานรื่นเริงต่างๆ และกิจกรรมอันเป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายขณะนั้น เช่น การเล่นตลับงา เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงดำเนินกิจการทอผ้าในพระตำหนักอย่างเต็มรูปแบบ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ต้องทรงประสบกับความทุกข์อย่างใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระนาง เจ้าสว่างวัฒนาฯ ได้ทรงสถิตในที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ครั้นใน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศเฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ความตามคำประกาศสถาปนาในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่อง ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒ ตอนหนึ่งดังนี้

“พระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงเปนประธานราชการฝ่ายในตั้งแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคตมาจนบัดนี้ เปนที่เคารพนับถือของพระบรมวงศานุวงศและคนทั้งหลายทุกชั้นบันดาศักดิ์ ทั้งทรงคุณแก่บ้านเมืองปรากฏเปนเอนกปริยาย ดังเช่นทรงอำนวยการสภากาชาดสยาม เปนต้น ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าก็ได้ทรงประคับประคองโดยทรงพระเมตตากรุณามาเปนนิจ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ไวย มีพระคุณควรนับเปนอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็เปนที่ทรงเคารพนับถือเหมือนดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่ง เพื่อเปนที่ทรงปฏิบัติบูชาต่อไป

จึงมีพระบรมราชโองการ มาณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเปนสมเด็จพระพันวัสสา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า”

ถึงรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำ ทั้งได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บำรุงพระอารามต่างๆ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมาตลอดพระชนมชีพ ที่สำคัญได้แก่ทรงเป็นผู้ก่อตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น เมื่อพ.ศ.๒๔๓๖ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ทหารป่วยเจ็บ โดยทรงรับตำแหน่งสภาชนนี พร้อมทั้งได้พระราชทานทุนทรัพย์จำนวนมาก พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้พระราชทานทุนทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งแก่สภากาชาดไทยที่รับช่วงกิจการของสภาอุณาโลมแดง และทรงรับ ตำแหน่งสมาชิกพิเศษ ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา แห่งสภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ จนถึงวันเสด็จสวรรคต

ในช่วงปัจฉิมวัย สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นับว่ามีพระสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ดี มีพระอาการประชวรบ้างเป็นบางช่วง กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงประชวร ด้วยไข้หวัดใหญ่ ต้องใช้เวลารักษาพระวรกายนานถึง ๓ เดือน ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงประสบอุบัติเหตุทำให้พระอัฐิคอต้นพระเพลาหัก ทรงพระดำเนินไม่ได้ราว ๓ เดือน และอีก ๕ ปีต่อมา เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีพระอาการประชวรไข้ คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจรักษาโดยละเอียด ปรากฏว่ามีการอักเสบที่พระปัปผาสะ พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด ในที่สุดได้เสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักวังสระปทุม ด้วยพระหทัยปเทสวายด้วยพระอาการสงบ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ สิริรวมพระชนมายุได้ ๙๓ พรรษา ๓ เดือน ๗ วัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงอาลัยและรำลึกถึงพระคุณูปการที่ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระองค์ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มาแต่ยังทรงพระเยาว์ นับว่าทรงมีพระคุณเป็นอเนกปริยาย เนื่องด้วยเป็นพระอัยยิกาบรมราชบุพการิณีโดยตรง และมีพระจริยวัตรตั้งอยู่ในสัจธรรมและขันติธรรม ตลอดจนเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง ของพระองค์ และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง จัดการพระบรมศพ ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี และในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้จัดการพระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง แล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จจึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมราชสรีรังคารนั้นได้อัญเชิญไปบรรจุ ณ พุทธบัลลังก์พระสัมพุทธวัฒโนภาส ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อิสรีย์ ธีรเดช