สมัยเยาว์วัยของมหาตมะคานธี

Socail Like & Share

มหาตมะคานธี
สมัยเยาว์วัย เยาว์วัยของท่านมหาตมะคานธีได้ผ่านไปในโปรบันทร จนกระทั่งถึงอายุ ๗ ขวบ ในตอนนี้ท่านได้เข้าศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง การศึกษาที่ท่านได้รับมาจากโรงเรียนนี้ ไม่มีส่วนใดได้แผ่อานุภาพเข้าสู่จิตใจของท่านแม้แต่ประการใดประการหนึ่งเลย เรื่องราวอันเกี่ยวแก่โรงเรียนนี้ที่ท่านยังจำได้อยู่บ้างก็คือ ท่านกับพวกนักเรียนรุ่นเล็กๆ แต่งโคลงด่าครูกันเท่านั้นเอง เป็นความจริงที่ครูในโรงเรียนชั้นต่ำ มักจะไม่สามารถแผ่อานุภาพของตนไปยังชีวิตจิตใจของนักเรียนได้ ทั้งนี้คงได้แก่เหตุที่ครูโรงเรียนชั้นต่ำมักจะขาดการศึกษาชั้นสูงนั้นเอง จึงไม่สามารถจะดำเนินการศึกษาให้เป็นที่จับใจของเด็ก อย่างจริงจังได้

อย่างไรก็ดี เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบบิดาของท่านได้เดินทางเข้ามารับราชการอยู่ในราชโกฐ  โดยรับตำแหน่งเป็นสมาชิก แห่งราชสำนักของนครราชสถาน เพราะเหตุนี้ครอบครัวของท่านจึงต้องยกตามมากับท่านด้วย เมื่อท่านบิดาของท่านได้มาอยู่ในราชโกฐเรียบร้อยแล้ว ได้ส่งให้ท่านมหาตมะคานธีบุตรชาย เข้าศึกษาวิชาต่อในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ครั้นสำเร็จขั้นสูงสุดของประถมศึกษาแล้ว ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม (High School) อีก เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ในฐานะเป็นนักเรียนของท่านเกือบจะตลอดมา เป็นที่สังเกตได้ว่าท่านมหาตมะคานธี ไม่ใช่เด็กที่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องอะไรมากนัก และไม่เคยมีหลักฐานอันใดแสดงว่าท่านได้รับรางวัล ถึงแม้ว่าท่านได้รับทุนเล่าเรียนของรัฐบาล ๒ ครั้งก็จริง แต่นั่นเป็นเพราะเหตุที่เหล่านักเรียนที่สมัครเข้าแข่งขัน มีจำนวนน้อยประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งนักเรียนเหล่านั้น มีปัญญาความรู้อ่อนด้วย

ถึงแม้ว่าในการเล่าเรียนท่านมหาตมะคานธีจะมิได้แสดงความเฉลียว

ฉลาดอะไรมากมายนัก็จริง แต่ข้อที่น่าสังเกตในสมัยเมื่อยังเป็นเด็กนักเรียนมีอยู่ว่า ท่านไม่เคยกล่าวคำเท็จล่อลวงใครๆ ทั้งเพื่อนนักเรียนและครูแม้แต่คราวเดียวที่จริงการดำเนินชีวิตในทางที่มิชอบด้วยความสัตย์จริง เคยเป็นการเหลือวิสัยของท่านมหาตมะคานธี ที่จะประพฤติตั้งแต่ยังเยาว์มา มีเรื่องเรื่องหนึ่ง ได้เกิดขึ้นในสมัยเมื่อท่านมหาตมะคานธียังเป็นนักเรียน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่านิสัยมหาตมะคานธี ย่อมเป็นไปในทางที่ซื่อสัตย์สุจริตอยู่เสมอ กล่าวคือ ในปีแรกแห่งสมัยที่ท่านเข้ามาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้น ๓ มิสเตอรไยลล์ผู้ตรวจการศึกษา ได้เข้ามาเยี่ยมนักเรียนในโรงเรียน ท่านผู้นี้ได้เข้าไปในห้องที่มหาตมะคานธีเรียนอยู่ แล้วสั่งให้นักเรียนเขียนคำว่า Kettle ท่านมหาตมะคานธีเขียนคำนี้ไม่ถูก เมื่อครูประจำชั้นได้สังเกตเห็นมหาตมะคานธีเขียนผิด จึงได้ออกอุบายโดยเคาะพื้นเป็นเครื่องสัญญาณให้มหาตมะคานธีมองดูเพื่อนข้างหน้า ต่อมามหาตมะคานธีได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ในอัตตประวัติว่า การที่ครูแนะแนวให้แอบดูของเพื่อนนักเรียนด้วยกันเพื่อเขียนให้ถูกนั้นมิได้เข้ามาสู่สมองของฉันเลย ฉันทราบว่าครูได้กล่าวหาว่าฉันเป็นคนโง่ แต่ความฉลาดของท่านครูผู้นี้ มิได้แสดงอานุภาพเหนือจิตใจของฉันแม้แต่น้อย การเขียนโดยแอบดูของเพื่อน หรือลอกของเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่ฉันกระทำมิได้เป็นอันขาด

ในโรงเรียนท่านไม่สู้จะมีเพื่อนฝูงมากมายนัก ท่านมีนิสัยชอบเข้าห้องเรียนตรงต่อเวลาเสียงระฆังรัวอยู่เสมอ และมีความหวาดกลัวอยู่เสมอด้วยว่า ถ้าขืนไปเกี่ยวข้องคลุกคลีกับเพื่อนมากเกินไป พวกเพื่อนเหล่านั้นอาจจะจูงไปในทางที่ผิดได้ จึงได้พยายามหาหนทางหลบหลีกพวกเพื่อนๆ อยู่เสมอ

ในสมัยเยาว์วัยนี้ เคยมีเรื่องบังเกิดขึ้นเรื่องหนึ่งและได้เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลครอบเหนือชีวิตจิตใจของท่านมหาตมะคานธีตลอดมา กล่าวคือ เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๒ ปีมีคณะละครคณะหนึ่ง เดินทางเข้ามาแสดงละครในนครราชโกฐ เรื่องแรกที่คณะละครได้แสดงคือ เรื่องท้าวหริศจันท เมื่อท่านดูละครมองเห็นการเสียสละของท้าวหริศจันท เพื่อทรงสงวนความสัตย์ไว้จึงได้ทรงเสียสละราชสมบัติพระมเหสีและราชโอรสทั้งสิ้น  เด็กคานธีได้เกิดความรำพึงรำพรรณขึ้นว่า เหตุไฉนหนอสรรพมนุษย์ชาติจึงไม่ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรม คือความสัจจริง ดังท้าวหริศจันทพระองค์นั้นเล่า อย่างไรก็ดี ในคืนวันนั้นเอง เด็กคานธีได้เกิดความเลื่อใสอย่างสูงสุด จนเกิดปฏิญาณขึ้นในใจของตนว่าตราบใดที่ฉันดำรงชีวิตอยู่บนพื้นพิภพนี้ ฉันจะดำรงมั่นอยู่ในสัจธรรมดังท้าวหริศจันทพระองค์นั้นได้เคยทรงดำรงมาแล้ว

ในสมัยต่อมา เมื่อยามท่านจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายแห่งอสัจธรรม ท่านก็มิได้ยอมที่จะกระเถิบถอยหลังแม้แต่ชั่วก้าวหนึ่ง เป็นความจริงทีเดียวที่ท่านมหาตมะคานธีได้เคยกล่าวไว้ว่า “ตามแง่แห่งประวัติศาสตร์ท้าวหริศจันทคงไม่มีตัวจริง แต่ในดวงหทัยของฉัน พระองค์ท่านทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่เสมอโดยไม่รู้จักอวสาน

ที่มา : สวามี  สัตยานันทปุรี