มหาตมะคานธีผู้ปฏิวัติอินเดีย

Socail Like & Share

มหาตมะคานธี
อุบัติกถา
เวลาเที่ยงวัน วันที่ ๑๘ มิถุนายน คริสตศก ๑๙๒๒ ดวงอาทิตย์ฤดูร้อนกำลังแผดแสง เผาผลาญแหล่งชมพูทวีปอยู่ทั่วทุกๆ ส่วนอย่างน่าสะพึงกลัวยิ่งนัก ร้อน-ร้อนผากจนแสบเนื้อแสบตัวทั่วสรรพางค์กาย ร้อนเสมือนว่าจะเผาผลาญดวงชีวิตสรรพพฤกษาลดาวัลลิ์ อันวสันตฤดูที่จะเพิ่งผ่านไปหยกๆ ได้ปรุงแต่งประดับประดาไว้ด้วยทิวทัศน์อันสดชื่นเขียวขจี และสรรพคณาสัตวจตุบาททวิบาทพร้อมทั้งอุรคชาติทั้งมวลที่อ้วนพี ให้ถึงความพินาศแปรผันไปในชั่วพริบตาเดียว เพราะความรุ่มร้อนแรงกล้าแห่งคิมหันตฤดูนั้นเทียว เหล่าสัตว์ต่างๆ ต่างพากันเที่ยวซอกซอนซ่อนเร้นแฝงแดดกำบังกาย และต่างต้องพากันหยุดชงักพักกายสัญจรแสวงหาเหยื่อลงชั่วมื้อ นอนฟุบทนหิวหอบฮั่กๆ อยู่ภายใต้สุมทุมพุ่มไม้อันหนาทึบที่มีใบไม้บังมิดชิด เพื่อแอบแฝงหนีความทารุณร้ายกาจแห่งดวงอาทิตย์ ณ วันนั้นทั้งสิ้น

ถึงกระนั้น ถ้าจะกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดของทวยนาครภารตวัส(อินเดีย) ซึ่งกำลังหลั่งไหลมานับจำนวนพันๆ ดูเหมือนว่าหาได้เอาใจใส่และรู้สึกถึงพิษความร้อนแห่งวันนั้นไม่ ทั่วหน้าต่างได้ยอมพลีศีรษะของเขาออกรับแสงแดด แม้จะร้อนเท่าร้อนก็ยินยอมให้แสงแดดแผดเผาทั่วเรือนกาย มิได้อนาทรร้อนใจถึงเลย ทุกเหล่าทุกเพศทุกชั้นวรรณะ ต่างรีบสาวเท้าดุ่มเดินหลั่งไหลเทมาไม่ขาดสาย พยับแดดเต้นเหมือนเปลวไฟ ร้อนจี๋แผ่ไปทั่วทุกถนนหนทาง แต่ก็หาอาจขัดขวางความตั้งใจให้ขาดสายได้ไม่ พวกเขาเดินฝ่าแดดมาเหมือนผ่านกองเพลิงใหญ่ในเวลาเที่ยงวัน บ้างก็เดินบ้างก็วิ่ง

นั่นเขาวิ่งไปไหนกันหนอ เขาหลังไหลฝ่าแดดกลางเที่ยงไปไหนกัน วิ่งไปสู่สนามหญ้าใหญ่หน้าศาลจังหวัดอาหัมมหวาท ทุกคนเดินและวิ่งไปโดยอาการรีบร้อนอย่างทุรนทุราย แต่ไม่ใช่เพราะพิษสงแห่งธรรมชาติแม้แต่นิดหนึ่ง เขารีบร้อนไปคอยสกัดดูและต้อนรับจำเลยคดีอาญาผู้เลอเกียรติของเขา เพื่อฟังคำพิพากษาของศาลอันจะมีในเพลาวันนั้นด้วย

ในทันใดที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ คุมตัวจำเลยมาสู่ศาลอาญาตามเวลาหมายกำหนดของศาล คือเวลาเที่ยงวัน คณะผู้รักษาบทพระอัยการพร้อมทั้งประชาชน ซึ่งกำลังนั่งคอยอยู่หน้าศาลและทั่วบริเวณศาล ต่างลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพแก่จำเลยพร้อมกัน เมื่อจำเลยเดินเข้ามาในห้องศาลยุติธรรม แล้วท่านได้หยุดยืนนิ่งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วหันหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสไปรอบๆ ตัว พลางปราศัยขึ้นว่า “นี่ดูเหมือนมิใช่ศาล แท้จริงมันเป็นการชุมนุมแห่งญาติพี่น้องกันเองทั้งนั้น”

ในขณะต่อมา แทนที่จ่าศาลจะสั่งบังคับให้จำเลยเข้ายืนในคอกให้การ ตามระเบียบที่เคยปฏิบัติมาแล้วแก่จำเลยทั่วไป ศาลกลับเชิญให้จำเลยนั่งบนที่นั่งพิเศษที่ศาลได้จัดเตรียมไว้รับรองทางเบื้องขวาบัลลังก์  ครั้นการเรียบร้อยแล้วการพิจารณาคดีก็ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งประวัติศาสตร์ของชาติๆ หนึ่ง ได้รวบรวมจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อันใครๆ จะลบให้เลือนไปเสียมิได้ แม้แต่น้อยหนึ่ง

ในทันใดนั้น กระแสความคิดของปวงชน ก็ได้กลับหวลไปคำนึงถึงเรื่องการพิจารณาคดีอีกรายหนึ่งขึ้น กล่าวคือ สมัยเมื่อเยซูแห่งนาซารัตผู้ถูกหาเป็นจำเลยยืนอยู่เฉพาะหน้าไปเล็ต เป็นเรื่องที่ได้เกิดปรากฎขึ้นแล้ว เป็นเวลานานเกือบสองพันปี ขณะนั้นผู้ฟังคดีทั้งหลายต่างนิ่งหยุดถอนหายใจ เพื่อฟังคารมของศาลและจำเลย ครั้นท่านอธิบดีอัยการอ่านคำฟ้องกล่าวหาโทษจำเลย  ทุกข้อทุกประเด็นความจบลงแล้ว ท่านจำเลยผู้มีเกียรติก็ลุกขึ้นยืนโดยอาการสง่าผ่าเผยทันที พลางเปิดกระดาษขึ้นอ่านตอบข้อหาของศาลทุกๆ ข้อแล้ว และแถลงคารมปากเปล่าเพิ่มเติมอีกว่า “ฉันขอรับเอาข้อกล่าวโทษ ที่ท่านอธิบดีอัยการได้กล่าวมานั้น ทุกๆ ข้อ การก่อการเผยแผ่และการเพาะความเกลียดชังต่อระเบียบการของรัฐบาลปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นนิสัยสันดานอันแรงกล้าของฉันเสียแล้ว ฉันจะไม่ร้องขอความกรุณาและทั้งจะไม่ขอแก้คำกล่าวหานั้น แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่งด้วย เพราะกิจการซึ่งกฎหมายเห็นว่าเป็นความผิดโดยเจตนา แต่ฉันกลับเห็นว่าเป็นหน้าที่อันสูงสุดของราษฎร เพราะเหตุแห่งการกระทำนั้น ฉันขอรับการลงโทษอย่างหนักที่สุด และขอมอบตัวให้ราชทัณฑ์ โดยประการทั้งปวง”

ครั้นจำเลยให้การต่อศาลสิ้นสุดสำนวนลงแล้ว ศาลได้พร้อมกันพิพากษาลงโทษจำเลย ในฐานเจตนากระทำการละเมิดกฎหมาย จึงให้ลงโทษจำเลยไว้ ๖ ปี โดยบทแถลงว่า “ย่อมเป็นการพ้นวิสัยเหลือเกิน ที่จะลืมเสียได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ต่างไปจากบุคคลที่ฉันได้เคยพิจารณาพิพากษาลงโทษมาแล้ว หรือแม้ที่จะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปภายหน้าอีกด้วย ย่อมเป็นการพ้นวิสัยเหลือเกินที่จะลืมเสียได้ว่า ในสายตาของประชาชนจำนวนแสนๆ ผู้ร่วมประเทศชาติของท่านต่างเห็นกันว่า ท่านเป็นบุรุษผู้รักชาติ และเป็นผู้นำที่ประเสริฐยิ่งนัก แม้ถึงผู้ที่มีความเห็นในทางแง่การเมืองที่แตกต่างไปจากท่านแล้ว ก็ยังต้องนับถือท่านในฐานเป็นบุคคลผู้มีอุดมคติอันสูงสุด และมีชีวิตจิตใจประเสริฐที่สุดดังผู้วิเศษที่ได้สำเร็จคุณวิเศษแล้วฉะนั้น แต่ฉันจำเป็นอย่างแท้จริงที่จะต้องพิจารณา และพิพากษาท่านแต่แง่เดียว คือพิจารณาและพิพากษาท่านในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลภายใต้กฎหมาย ตามที่ท่านได้รับสารภาพแล้วว่าท่านเป็นผู้กระทำการละเมิดกฎหมายจริง สำหรับสามัญชนข้อนั้นนับว่า เป็นการผิดต่อรัฐอย่างใหญ่หลวงทีเดียว ถ้ากระแสเหตุการณ์ต่างๆ ของอินเดียเปลี่ยนแปลงได้ ถึงกับสามารถจะทำให้รัฐบาลดหย่อนผ่อนโทษลงมาให้น้อยและปล่อยท่านเป็นอิสระได้ จะไม่มีใครยินดีมากยิ่งไปกว่าฉัน”

เมื่อผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังจบลงแล้วจำเลยได้แสดงความขอบคุณผู้พิพากษา และผู้พิพากษาก็ได้แสดงความเคารพต่อจำเลย

ครั้นเสร็จเรื่องแล้ว นักโทษค่อยๆ เดินลงมาจากศาลในขณะนั้นคนจำนวนพันๆ ซึ่งกำลังฟายน้ำตาอยู่ต่างก็วิ่งพรูกันเข้าไปสัมผัสเท้าของนักโทษผู้มีเกียรติ ท่านต้อนรับประชาชนด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมด้วยคำอวยพรอยู่ทั่วหน้า แล้วท่านก็หายวับเข้าไปในรถตำรวจ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในคุก ซึ่งได้กลายเป็นสำนักงานสร้างประวัติการณ์อันรุ่งเรืองของชาติ

ท่านนักโทษผู้นี้แหละ ที่โลกทั่วไปรู้จักกันในนามว่า โมหนจานท์ กรมจานท์ คานธี หรือมหาตมะคานธี

มหาตมะคานธี ได้อุบัติ ณ วันที่ ๑ เดือนตุลาคม ค.ศ.๑๘๖๙ ณ จังหวัดสุทามาปุรี ซึ่งบัดนี้เรียกว่า โปรบันทร ถึงแม้ว่ามหาตมะคานธี จะมีความบริสุทธิ์ และอำนาจธรรมเสมอด้วยพราหมณ์ก็จริง แต่ท่านจะได้อุบัติขึ้นในตระกูลพราหมณ์ก็หาไม่ ถึงแม้ว่ามหาตมะคานธี จะมีเดชพลอันมหึมาไพศาลเสมอด้วยกษัตริย์ก็จริง แต่ความจริงท่านมิได้อุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ ตระกูลวงศ์ของท่านเป็นตระกูลแพทย์  ดังที่ปรากฎอยู่ในนามสกุลของท่านว่าคานธี  ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่า ตระกูลนี้เคยมีอาชีพในทางการค้าขายเครื่องเทศ แต่ถ้าจะกล่าวเพียงชั้นปู่ของท่านลงมาถึงชั้นมหาตมะคานธีเอง เคยได้รับราชการเป็นนายกรัฐมนตรีในแคว้นกาลิยาวาท  ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอินเดีย

ปู่ของท่านคานธี ชื่ออุตตะมะจานฺท์ คานธี มีภรรยา ๒ คน ภรรยาคนแรกมีบุตรด้วยกัน ๔ คน ภรรยาคนหลังมีบุตรด้วยกัน ๒ คน พี่น้องร่วมบิดา ๖ คน นี้ต่างมีความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันจนใครๆ ที่ไม่ทราบเรื่องไม่อาจจะคาดคะเนได้ว่าเป็นพี่น้องต่างมารดากัน  ในระหว่างพี่น้อง ๖ คนนี้ คนที่ ๕ คือกรมฺจานท์ คานธี และคนที่ ๔ คือตุลสีทาส คานธี ทั้งสองคนนี้ ได้เคยครองตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในแคว้นโปรบันทร

หลังจากเวลาที่กรมฺจานท์คานธี ได้ลาออกจากตำแหน่งดังว่านี้แล้ว ท่านได้เข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นสมาชิกของสภาราชสถาน และในคราวนี้เองท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ของแคว้นพิกานีย์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ในที่สุดต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการในตำแหน่งขุนนางฝ่ายราชสำนัก แห่งราชสำนักเจ้าราชโกฐ และได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้จนตลอดชีพ

ท่านกรมฺจานท์คานธีผู้นี้ ปรากฎว่ามีภรรยาที่ได้ทำการสมรสและอยู่กินด้วยกัน ๔ คน ภรรยาคนแรกมีแต่บุตรหญิง ๒ คน ไม่มีบุตรชาย ฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้ท่านจำต้องทำการสมรสใหม่อีก ๒ ครั้ง แต่บังเอิญภรรยาทั้ง ๒ คนนี้ได้กลายเป็นหญิงหมันไปเสียอีก โดยเกรงกลัวว่าจะไม่มีบุตรชายผู้สืบสกุล ดังนั้นถึงแม้ท่านจะมีอายุขัยผ่าน ๔๐ ปีล่วงมาแล้วก็ตาม แต่ท่านจำต้องทำการสมรสใหม่อีกหนหนึ่งกับนาง ปุตลี พาอี (อ่านว่าไบ) ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสุดท้าย ภรรยาคนใหม่ คือ นางปุตลีไบนี้ มีบุตรด้วยกัน ๔ คน คือ บุตรหัวปีเป็นหญิง อีก ๓ คนเป็นชาย ท่านมหาตมะคานธี เป็นบุตรคนสุดท้อง ซึ่งคลอดจากนางปุตลีไบนี้

ตามหลักฐานดังกล่าวมานี้พอเห็นได้แล้วว่า ตั้งแต่ชั่วปู่ของท่านมหาตมะคานธีลงมา มีอาชีพในทางการเมืองตลอดมา อาศัยเหตุนี้มาในชั่วชีวิตของท่านมหาตมะคานธี จึงได้กลายเป็นส่วนสำคัญชิ้นส่วนหนึ่ง ถึงกับเป็นเหตุกระตุ้นเตือนให้เกิดการปฏิวัติ และเปลี่ยนแปลงประวัติการณ์ขึ้นในประเทศใหญ่ ๒ ประเทศคืออาฟริกาใต้และอินเดีย นอกจากงานในหน้าที่การเมืองเป็นงานประจำตระกูลแล้ว ยังมีคุณธรรมที่ท่านได้รับจากบิดาอีกคือ ความยึดมั่นอยู่ในทางธรรมเป็นหลัก และเกลียดชังสิ่งที่เป็นอธรรมอยู่เสมอ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าท่านอาจจะพลีชีวิตเพื่อความเป็นธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ  ในการคัดค้านสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ในการต่อสู้ กับสิ่งที่ถือธรรมเป็นอำนาจ เหล่านี้ ท่านกรมฺจานท์คานธี ผู้บิดาของท่านมหาตมะคานธีไม่เคยถอยหลังและเบือนหน้าหนีเลย ครั้งหนึ่งเมื่อทูตอังกฤษประจำแคว้นราชโกฐ ได้แสดงความดูหมิ่นต่อเจ้าราชโกฐ ท่านกรมฺจานท์คานธี เมื่ได้เห็นพฤติการณ์อันเป็นไปในแง่อธรรมดังนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะเว้นเสียจากการคัดค้านการกระทำของทูตอังกฤษผู้นั้นได้ ผลซึ่งได้สืบเนื่องมาจากกรณีนั้น คือทูตอังกฤษได้สั่งให้จำขังกรมจานท์ไว้ในเรือนจำ จนกว่ากรมจานท์จะได้ขอขมาโทษต่อทูตอังกฤษแล้ว แต่ท่านผุ้นี้ยึดมั่นอยู่ในสิ่งที่ชอบด้วยธรรม จึงไม่ยอมขอขมาโทษทูตอังกฤษ ทูตจำต้องสั่งให้ปล่อยท่านออกจากที่คุมขังเป็นอิสระ โดยไม่ได้รับขอขมาโทษแม้แต่คำเดียว เหตุการณ์ข้อนี้ย่อมเป็นพยานให้เห็นประจักษ์แจ้งว่า กำลังแห่งต่อสู้อธรรม โดยความยึดมั่นอยู่ในอำนาจธรรมดังปรากฎชัดอยู่ในพฤติการณ์ของท่านมหาตมะคานธีนั้น ได้มีกระแสเดิมสืบเนื่องมาจากพฤติการณ์ของท่านบิดานั้นด้วย

คุณสมบัติของท่านมหาตมะคานธี อันนับว่าเป็นชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือสมรรถภาพในการอดอาหาร ซึ่งในหลักดำเนินการเมืองของท่าน ได้กลายมาเป็นอาวุธสำคัญยิ่งขึ้นประการหนึ่งนั้น ท่านได้รับมรดกตกทอดมาจากมารดาของท่าน มารดาของท่านมหาตมะคานธี เป็นสตรีผู้เคร่งครัดอยู่ในศาสนกิจอย่างแรงกล้า การเว้นจากอาหารแม้สองสามวันติดๆ กัน เช่นในวันอุโบสถเป็นต้นนั้นนับว่าเป็นเพียงวัดสมาทานเครื่องเล่น ตามปรกติวิสัยของท่าน ทุกๆ ปีในชีวิตของท่านเคยจำพรรษาตลอดมา ในระหว่างการจำพรรษานั้น ท่านได้ตั้งปฏิญาณว่า ก่อนแต่จะรับอาหารต้องได้เป็นพระอาทิตย์เสียก่อน จึงจะยอมรับ ในประเทศอินเดีย การเห็นพระอาทิตย์ในฤดูพรรษานับว่าเป็นการยากเย็นมาก เพราะตามธรรมดาดวงอาทิตย์จะถูกเมฆบังอยู่ตลอดวัน หรือบางครั้งแม้แต่แสดงพระอาทิตย์ก็ไม่มี เพราะเหตุนี้บางคราวมารดาของท่านมหาตมะคานธีจึงต้องอดอาหารติดๆ กันตลอดหลายๆ วัน โดยมิได้รับอะไรแม้แต่น้ำหยดเดียว ท่านมหาตมะคานธีได้เขียนไว้ในหนังสืออัตตประวัติว่า “พวกเราเด็กๆ กำลังคอยพระอาทิตย์อยู่ว่า เมื่อไรพระอาทิตย์จะได้โผล่ออกจากเมฆ มารดาจะได้รับอาหารเสียที ทันใดนั้นพระอาทิตย์ก็บังเอิญโผล่ออกมา พวกเราลูกๆ ได้ร้องขึ้นทันทีว่า คุณแม่พระอาทิตย์โผล่แล้ว แต่มารดาเดินออกมาดูไม่ทัน พระอาทิตย์ก็ลับหายเข้าไปเสียในหมู่เมฆอีก มารดายิ้มแล้วพูดว่า ไม่เป็นไรดอกลูก วันนี้เป็นวันที่พระเจ้าไม่ทรงปรารถนาจะให้แม่รับอาหาร พูดแล้วท่านก็กลับเข้าไปปฏิบัติงานของท่าน ประดุจว่าท่านได้รับอาหารแล้วอย่างสมบูรณ์” ความอดทนต่อความหิวนี้ ได้ถ่ายสืบเนื่องลงไปถึงบุตรของท่านปุตลีไบเป็นอย่างดี จนกลายเป็นอาวุธสำคัญขึ้นประการหนึ่ง ในการดัดแปลงกระแสประวัติแห่งชาติๆ หนึ่งในกาลข้างหน้า

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี