วิธีเขียนหนังสือ

Socail Like & Share

การเขียนหนังสือใช้อักษรให้ถูกต้อง ตามแบบแผนที่ท่านนิยมใช้กันนั้น ต้องอาศัยความสังเกตความจำเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในวิธีนี้จะรวบ รวมหลักฐานวิธีใช้ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ มาไว้เพื่อช่วยความสังเกต ความจำให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

วิธีใช้สระ สระบางตัวมีวิธีใช้แตกต่างกันไปดังนี้

สระ อะ ในแม่ ก กา มีวิธีใช้ ๒ อย่างคือ

(ก) ประวิสรรชนีย์ ได้แก่ คำที่ใช้ในภาษาไทย เช่น จะ, ปะทะ, กระทะ, มะระ ฯลฯ แต่มีคำยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ธ (เธอ), ท (ท่าน เช่น ทนาย), พ (ผู้ เช่น พนักงาน), ณ (ใน) ฯลฯ กับคำที่เป็นพยางค์ท้ายของคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ซึ่งไม่มีคำอื่นเชื่อมต่อไป เช่น เถระ, คณะ, มรณะ, พยัญชนะ, อวัยวะ ฯลฯ เพื่อกันไม่ให้ปนกับตัวสะกด

(ข) ไม่ประวิสรรชนีย์ ได้จากคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่ไม่ใช้พยางค์ท้ายดังว่าแล้ว เช่น คณะ, มรณะ ดังนี้ตัว ค และ ม ร ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ ฯลฯ แต่ถ้ามีศัพท์อื่นมาต่อเข้ากับคำเหล่านี้เป็นคำเดียวกันที่เรียกว่าคำสมาส ทำให้พยางค์ที่เคยประวิสรรชนีย์นั้นไม่เป็นพยางค์ท้าย จึงไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เช่น เถรสมาคม, คณบดี, มรณภาพ เป็นต้น ข้อนี้ต้องสังเกตคำสมาสและไม่ใช่คำสมาสให้แม่นยำ เช่น คณบดี เป็นคำสมาส แต่ คณะสงฆ์ ไม่ใช่คำสมาส คือ คณะ คำหนึ่ง สงฆ์ คำหนึ่ง

สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้ แต่เดิมใช้ในคำไทยมาก เช่น คฤก, ค้ฤๅน, ระฦก, ฦๅชา เป็นต้น มาบัดนี้คำภาษาไทยใช้ตัว ร ล แทนเกือบทั้งหมด ใช้เฉพาะคำที่มาจากสันสกฤตเท่านั้น ที่ยังคงใช้คำไทยนั้นมีบางคำ คือ (ก) ฤ หรือ ฤๅ ที่แปลว่าไม่
(ข) ฤๅ ที่เป็นคำถาม ซึ่งใช้ในโคลงว่า ฉะนั้น ฤๅ, และ ฤๅ เป็นต้น ตัว ฦ ฦๅ นั้นไม่เห็นมีที่ใช้

สระออ มีวิธีใช้ ๒ อย่าง คือ
(ก) มีตัว อ ใช้ในคำไทยทั่วไป เช่น กอ,ขอ,คอน,นอก ฯลฯ แต่มียกเว้นบางคำ คือ ‘บ’ หรือ ‘ บ ’ ที่แปลว่าไม่, บ โทน ที่แปลว่า คนติดหน้าตามหลัง

(ข) ไม่มีตัว อ ใช้ในคำมาจากบาลีและสันสกฤตที่ไม่มีตัวสะกดอย่างหนึ่ง เช่น บวร,บดี,บรม ฯลฯ และคำที่มีตัว ร  สะกดอย่างหนึ่ง เช่น จร, กร, มรณ์ ฯลฯ

สระเออ ใช้ได้ ๓ อย่าง คือ
(ก) อย่างเดิม เช่น เทอม, เทอญ ฯลฯ (วิธีนี้ใช้น้อย)

(ข) เปลี่ยน อ เป็นพินทุ์ อิ เช่น เกิน, เริง, เชิด ฯลฯ (วิธีนี้ใช้มาก แต่ใช้ในแม่เกยไม่ได้)

(ค) เอาตัว อ ออกเสีย เช่น เกย, เขย, เคย ฯลฯ (วิธีนี้ใช้มาก แต่ใช้ในแม่เกยเท่านั้น) ถ้าจะใช้อย่าง (ก) ทั้งหมด ก็ไม่ผิด ที่ใช้อย่าง (ข) และ (ค) มากนั้น ก็เพื่อจะเขียนให้น้อยตัวเข้า

สระเอีย ที่มีตัวสะกดแบบโบราณใช้ลดไม้หน้ากับพินทุ์ อิ ออกเสียก็มีเช่น วยง (เวียง), รยก (เรียก),สยด (เสียด) ฯลฯ เดี๋ยวนี้ใช้อย่างปกติ

สระอัว ที่ไม่มีตัวสะกดโบราณใช้อย่าง ว หันก็มี เช่น ตวว, ท่วว, หวว ฯลฯ เดี๋ยวนี้ใช้อย่างปกติ

สระอำ มีเสียงพ้องกับ ‘อัม’ ในแม่กม แต่มีวิธีใช้ต่างกัน คือ
(ก) สระอำ ใช้ในคำไทยทั้งหมด เช่น กำ ขำ คำ ฯลฯ อย่างหนึ่ง และในคำที่แผลงมาเป็น อำ เช่น อมาตย์ เป็น อำมาตย์, เดิน เป็น ดำเนิน, ตรวจ เป็น ตำรวจ ฯลฯ อย่างหนึ่ง

(ข) ‘อัม’ แม่กมนี้ใช้เฉพาะแต่คำที่มี ‘ม’ สะกดมาจากบาลีและสันสกฤต เช่น สัมผัส, อัมพร, กัมพล, อุปถัมภ์, คัมภีร์ ฯลฯ

สระไอและไอ มีเสียงพ้องกับ อัย แม่เกย ท่านใช้ต่างกันเป็น ๔ อย่าง ดังนี้
(ก) ไม้ม้วน มีแบบกำหนดให้ใช้ ๒๐ คำ คือ

คำไม้ม้วน

หมายความ

คำไม้มลายพ้อง

๑. ใฝ่ เอาใจใส่
๒. ใจ จิต, สิ่งที่อยู่กลาง ไจไหม
๓. ให้ สละ ร้องไห้
๔. ใน ตรงข้ามกับนอก ไนปั่นฝ้าย
๕. ใหม่ ตรงข้ามกับเก่า
๖. ใส กระจ่าง ไสกบ
๗. ใคร ผู้ใด
๘. ใคร่ อยากได้ ตะไคร่
๙. ใย เส้นละเอียด, ใส,ผุดผ่อง ไยไพ, อยู่ไย, ลำไย
๑๐. ใด คู่กับคำ “นั้น” ได(มือ), บันได, กระได
๑๑. ใช้ บังคับ, ทำประโยชน์
๑๒. ใหล เกี่ยวกับใจ หรือความประพฤติ น้ำไหล, ปลาไหล, หางไหล
๑๓. ใส่ บรรจุ
๑๔. สะใภ้ เมียญาติ
๑๕. ใบ้ พูดไม่ได้
๑๖. ใต้ ตรงข้ามกับบน จุดไต้
๑๗. ใหญ่ ตรงข้ามกับเล็ก
๑๘. ใกล้ แค่
๑๙. ใช่ ถูก
๒๐. ใบ เป็นแผ่น, หรือเรียกจำนวนของ เช่น ๑ ใบ ฯลฯ ตะไบ สไบ

คำกลอนสำหรับจำ
“ใฝ่ใจให้ทานนี้         นอกในมีและใหม่ใส
ใครใคร่และยองใย     อันใดใช้และใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้           ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง       (ใช้ให้คงคำบังคับ)”
(ประถมมาลา)

(ข) ไม้มลายพ้อง  ใช้ในคำไทยทั้งหมดนอกจากไม้ม้วน ๒๐ อย่างหนึ่ง และใช้ในคำที่มาจากสระ อิ, อี, เอ และไอในบาลีและสันสกฤต เช่น ไพหาร, ไอศวรรย์, ไกลาส, ไกรสร, ไพฑูรย์, ไตรรัตน์ ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง

(ค) ไม้มลาย มีตัว ย ใช้ในคำที่มาจากสระ เอ ย สะกด และ ย ตาม (เอยฺย) ในบาลีและสันสกฤต เช่น อสงฺเขยฺย เป็น อสงไขย, เญยฺยธมฺม เป็น ไญยธรรม, สาเถยฺย เป็น สาไถ, เวยฺยาวจฺจกร เป็น ไวยาวัจกร ฯลฯ

(ฆ) ‘อัย’ แม่เกย ใช้ในคำที่มาจากบาลีและสันสฤตที่มีสระ อะ และ ย ตามหลง เช่น ขย เป็น ขัย, วินิจฺฉย เป็น วินิจฉัย, ชย เป็น ชัย, อาศย เป็น อาศัย ฯลฯ ถ้ามี ย ซ้อนกัน ๒ ตัว ก็ควรเรียงกันทั้งคู่เพื่อไม่ให้ปนกับ ย ตัวเดียว เช่น อยฺยกา ควรเขียน อัยยกา, อัยยิกา (แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เขียนว่า อัยกา) ดังนี้เป็นต้น

วิธีใช้พยัญชนะ ผู้จะใช้พยัญชนะให้ถูกต้องนั้น ต้องอาศัยหลักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดังต่อไปนี้

(๑) ใช้พยัญชนะให้ถูกตามพวก ได้แบ่งพยัญชนะออกเป็น ๓ พวก คือ พยัญชนะกลางพวก ๑ พยัญชนะเดิมพวก ๑ พยัญชนะเติมพวก ๑ ควรใช้พยัญชนะให้ถูกต้องตามพวกของมันทั้ง ๓ คือ พยัญชนะกลางนั้นใช้ได้ทั่วไปไม่จำเป็นต้องกล่าว แต่อีก ๒ พวกนั้นควรใช้ให้ถูกต้องดังนี้

พยัญชนะเดิม ๑๓ ตัว คือ ฆฌฏฐฑฒณธภศษฬ เหล่านี้ มาจากภาษาเดิม ควรใช้เฉพาะคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แต่มียกเว้น บางคำที่ใช้ในภาษาไทย ดังนี้

ตัว ฆ คือ ฆ่า (ทำให้ตาย), เฆี่ยน, ฆ้อง, ระฆัง, ตะเฆ่ (เครื่องบรรทุก ของหนักใช้ลาก)
ตว ฌ คือ เฌอ (เขมรว่าต้นไม้)
ตัว ญ คือ ใหญ่, หญ้า (พืช), หญิง
ตัว ณ คือ ณ (ใน)
ตัว ธ คือ ธ, เธอ, ธง
ตัว ภ คือ สำเภา, ตะเภา, เภตรา, เสภา, อำเภอ, แมลงภู่, ภาย (เช่น ภายใน) ฯลฯ
ตัว ศ คือ เศร้า, ศอก, ศึก, (ศัตรู), เศิก

พยัญชนะเติม ๑๐ ตัว คือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ เหล่านี้ ตั้งขึ้นสำหรับใช้ในภาษาไทย แต่มีบางตัวใช้แตกต่างออกไป ซึ่งควรจะสังเกตดังนี้

ตัว ฃ ฅ เดิมมีใช้ตัวละคำ คือ ฃ ใช้ในคำว่า ‘เฃตร’ และ ฅ ใช้ใน คำว่า “ฅอ” แต่บัดนี้ใช้ ข และ ค แทนแล้ว นับว่าไม่มีที่ใช้

ตัว ฎ ใช้เฉพาะแต่คำที่แผลงมาจากตัว ฏ ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ฎีกา จาก ฏีกา, ชฎา จาก ชฏา, กุฎี จาก กุฏี, ราษฎร จาก ราษฏรฯลฯ ไม่ใช้ในคำไทยเลย

ตัว ด ใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ต ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ดารา จากตารา, บิดา จาก ปิตา, บดี จาก ปติ ฯลฯ และใช้ในคำไทยทั่วไปด้วย เช่น ดง, ดก, ดัด, ดับ ฯลฯ

ตัว บ ใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ป ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น บารมี จาก ปารมี, บุญ จาก ปุฌญฺญ, เบญจ จาก ปญฺจ ฯลฯ และใช้ในคำไทยทั่วไปด้วย เช่น บก, บัง, บัด, บิน ฯลฯ

นอกจากนี้ใช้ภาษาไทยล้วน

(๒) ใช้พยัญชนะให้ตรงกับกาษาเดิม คำภาษาอื่นที่เรานำมาใช้ มักจะใช้แตกต่างกันตามความพอใจของผู้ใช้ เช่น สุข, รส, วงศ์ ที่ใช้เป็น ศุข, รศ, วงษ์ ก็มี ดังนี้เป็นต้น ย่อมลำบากแก่ผู้เรียนมาก เพราะฉะนั้น ควรจะกำหนดใช้ดังต่อไปนี้

(ก) กำที่ใช้ผิดเพี้ยนไปจากภาษาเดิม และนิยมใช้กันแพร่หลายแล้ว เช่น อังกฤษ, กฤษฎาภินิหาร, พระขรรค์, ชุณหปักษ์ พฤฒา ฯลฯ เหล่านี้ จะแก้ไขให้ถูกตามภาษาเดิม สำเนียงก็จะผิคเพี้ยนไป ควรเขียนคงไว้เช่นนี้

(ข) คำที่มีเสียงตรงกับภาษาเดิม ควรใช้ให้ถูกตามภาษาเดิมเขา เสียง เป็นภาษาไหนก็ให้ใช้ตามภาษานั้น เช่นคำ ประฐม ประถม, สฐาน สถาน เช่นนี้เสียงเป็นสันสกฤต ควรเขียน ประถม, สถาน ตามสันสกฤต และคำ ปฐม ปถม, ฐาน ถาน เช่นนี้เสียงเป็นบาลี ควรเขียน ปฐม, ฐาน ตามบาลี ไม่ควรใช้ ครึ่งๆ กลางๆ เช่น ประฐม, ปถม, สฐาน, ถาน เป็นต้น

(๓) คำสมาสที่ประสมกันหลายคำ ควรใช้ให้ลงรอยกันเป็นภาษาเดียว เช่น ประถมบุรุษ (แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนว่า ปฐมบุรุษ), อัธยาสัย หรือ อัธยาศัย ไม่ควรใช้ให้ปนกันเป็น ปฐมบุรุษ หรือ อัชฌาศัย หรือ อัชฌาสัย ดังนี้ เว้นแต่คำที่เราเลือกใช้ไม่ได้ เช่น วัฒนธรรม ดังนี้ คำ วัฒน เราไม่เคยใช้ตามสันสกฤต เป็น วรรธน เลย และ ธรรม เราไม่เคยใช้ตามบาลี เป็น ธัม เลย จึงต้องคงไว้เป็น วัฒนธรรม ปนกันอยู่เช่นนั้น คำเช่นนี้มีมาก เช่น เวชกรรม, เวชศึกษา, เวชศาสตร์, นิตยภัต ฯลฯ เหล่านี้ จำเป็นต้องเขียนปนกันเช่นนั้น

(๔) ใช้ตัวสะกดให้ถูกต้อง คำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ควรสังเกต ตัวสะกดตามที่ได้อธิบายไว้ในหลักเทียบบาลีและสันสกฤต แต่คำตัว ฏ, ต และ ป สะกด ไม่ควรแผลงมาเป็นตัว ฎ, ด และ บ สะกดอย่างพยัญชนะต้น เพราะจะปนกับภาษาไทย และถึงจะแผลงหรือไม่แผลงเสียงก็เป็นอย่างเดิม เช่น คำ กรกฎ, หัตถ์, สัปดาห์ ควรเขียนตามเดิมเป็น กรกฎ, หัตถ์ สัปดาห์ ดังนี้ดีกว่า แต่ในส่วนภาษาไทยนั้น ตัวสะกดควรเป็นตามหลัก คือ กก ก สะกด, กง ง สะกด, กด ด สะกด, กน น สะกด, กบ บ สะกด, กม ม สะกด, เกย ย สะกด, เกอว ว สะกด ที่มีแตกต่างออกไปบ้าง ก็มักจะเป็นคำโบราณหรือมาจากภาษาเขมรโดยมาก ดังนี้

ตัว จ สะกด คือ ร้ายกาจ, แก้วเก็จ, ตรัดเตร็จ, เกียจ, ดุจ, เผด็จ, เสด็จ, สมเด็จ, ตรวจ, ตำรวจ, เสร็จ, สำเร็จ, โสรจ (สรง), อาจ, อำนาจ, เท็จ ฯลฯ

ตัว ช สะกด คือ กฤช (เดี๋ยวนี้เขียน กริช)

ตัว ญ สะกด คือ ขวัญ, เข็ญ (ลำบาก), ลำเค็ญ, ควาญ, จัญไร, ผจญ, ผจัญ, ประจญ, ประจัญ, ชาญ, ชำนาญ, เชิญ, อัญเชิญ, อํญขยม, เทอญ, บัญชา, เบญจา, เพ็ญ, รามัญ, มอญ, ราญ, รำบาญ, เจริญ, จำเริญ, สราญ,  สำราญ, ลาญ (แตก), สรรญเสริญ, หาญ (กล้า) ฯลฯ

ตัว ร สะกด คือ ควร, ละคร, กำธร, ประยูร, อร และคำแผลงที่มาจากตัว ระ ควบ เช่น กระ-ประ-คระ ฯลฯ ต้องใช้ ร หันทั้งนั้น เช่น กรรเชิง, กรรโชก, บรรดา, บรรทัด, ครรไล ฯลฯ

ตัว ล สะกด คือ กล, ตำบล, เมิล, ยล, สรวล, สำรวล, รางวัล, สังวาล, กังวล

ตัว ศ สะกด คือ พิศ, ปราศ, บำราศ, เลิศ

ตัว ษ สะกด คือ กระดาษ, ดาษดา, อังกฤษ

(๕) หลักที่จะใช้ ศ ษ ส คำที่จะใช้ ศ ษ ส นี้ สังเกตได้ยากนอกจากจะจำต้นศัพท์เดิมได้ แต่มีหลักพอจะช่วยความสังเกตได้บ้างดังนี้

(ก) คำที่มาจากภาษาบาลี ควรใช้ ส ทั้งหมด เพราะ ศ และ ษ ไม่มี ในภาษาบาลี

(ข) คำสันสกฤตใช้ได้ทั้ง ๓ ตัว ต้องจำต้นศัพท์ แต่มีบางคำที่สังเกต ได้ดังนี้ ศ เกิดแต่ฐานเพดานอยู่ในพวกวรรค จ. ษ เกิดแต่ฐานปุ่มเหงือกอยู่ใน พวกวรรค ฏ. ส เกิดแต่ฐานฟันอยู่ในพวกวรรค ต. ถ้าจะซ้อนหรือตามหลังกัน ต้องเป็นพวกเดียวกัน เช่น พฤศจิก, ปัศจิม, อัศจรรย์, ราษฎร, โอษฐ์, กฤษณ, พัสดุ, พิสดาร, สมพัตสร เป็นต้น และ ษ มักจะใช้ตามหลังตัว ก เช่น เกษตร, เกษียร, อักษร เป็นต้น

(ค) ส่วนคำภาษาไทย นอกจากคำที่ยืมเอา ศ ษ มาใช้ตามที่กล่าวไว้ ข้างต้นแล้ว ก็ควรใช้ ส ทั้งหมด

(๖) ตัวการันต์ ในส่วนตัวการันต์นี้มีวิธีใช้ที่ควรจะสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม้ทัณฑฆาต บางแห่งถึงเป็นตัวการันต์ท่านก็ไม่ใส่ไม้ทัณฑฆาต เช่น กาญจน ลักษณ ฯลฯ ให้ผู้อ่านสังเกตเอาเองเช่นนี้ เป็นการยากแก่ผู้ศึกษา เพราะฉะนั้นตัวใดที่เป็นตัวการันต์ คือ ไม่ต้องการ ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตเสีย แต่คำใดต้องการอ่านด้วย ไม่ต้องใช้ไม้ทัณฑฆาต เช่นคำ สาส์น (ต้องการอ่าน สาน), สุริย์วงศ์, กรรณิการ์, ธรรมลังการ์ สีห์ เหล่านี้ ไม่ต้องการออกเสียงตัว ย, ศ, ร และ ห จึงควรใส่ไม้ทัณฑฆาต ถ้าต้องการอ่านด้วยก็ไม่ต้องใส่ ดังนี้ สาสน์ (สาด) หรือ สาสน (สา-สะนะ), สุริยวงศ์, กรรณิการ (กาน), สีห, (สี-หะ)

การใช้ไม้ทัณฑฆาตนี้ ต้องสังเกตตามวิธีอ่าน ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า ควรจะสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือ ถ้าตัวใดออกเสียงเป็นตัวสะกดแล้ว ตัวนั้นไม่ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตแม้จะมีรูปสระประสมอยู่ด้วย เช่น โพธิ (โพด) ถ้าจะอ่านเป็น ‘โพ’ จึงเขียน ‘โพธิ์) ถ้าจะค้านว่าไม่ใส่ไม้ทัณฑฆาต เช่น “โพธิ” จะอ่านเป็น ‘โพ-ธิ’ ไปก็ได้ ขอแก้ว่าเป็นเช่นนี้ได้ทุกคำ เช่น อลังการ, โภค, สุข, นิติ จะอ่านเรียงพยางค์เป็น อลังกา-ระ, โภ-คะ, สุ-ขะ, นิ-ติ ดังนี้ ก็ได้ ข้อนี้ต้องแล้วแต่วิธีอ่าน

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร