ลักษณะคำไทย

Socail Like & Share

คำอธิบาย ‘วจีวิภาค’ เป็นภาษาบาลี แปลว่า การจำแนกถ้อยคำ ใช้เป็นชื่อตำราไวยากรณ์ ซึ่งว่าด้วยถ้อยคำที่ใช้อยู่ในภาษาไทย นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของตำราไวยากรณ์ ต่อจากตำราอักขรวิธี ซึ่งว่าด้วยตัวหนังสือ

ความหมายของคำ “คำ” ในตำราไวยากรณ์ มีความหมายต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. หมายความว่า พยางค์หนึ่งๆ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ ดังที่ ใช้อยู่ในตำราอักขรวิธีว่า คำเป็น คำตาย และที่ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ว่าคำครุ คำลหุ หรือจำนวนคำ ที่ใช้ในวรรคหนึ่งๆ ของคำประพันธ์ว่า โคลงบาทนั้นมีเท่านั้นคำ ฉันท์บทนี้มีเท่านั้นคำ เป็นต้น

๒. หมายความว่า คำร้องท่อนหนึ่ง เป็นคำหนึ่ง ดังที่ใช้ในคำกลอนบท ละครต่างๆ คือหมายความว่า คำกลอน ๒ วรรค เป็นคำหนึ่ง เช่นตัวอย่าง “มาจะกล่าวบทไป ถึงสี่องค์ทรงธรรมนาถา’’ เรียกว่าคำหนึ่ง คือ หมายถึงคำร้องคำหนึ่ง

๓. ต่อไปนี้ ก็คือคำที่ใช้ในตำราวจีวิภาคนี้ คือหมายความว่าเสียงที่พูด ออกมา ได้ความอย่างหนึ่ง ตามความต้องการของผู้พูดจะเป็นกี่พยางค์ก็ตาม เรียกว่าคำหนึ่ง บางคำก็มีพยางค์เดียว บางคำก็มีหลายพยางค์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘นา’ (ที่ปลูกข้าว) เป็นคำ ๑ มีพยางค์ ๑
‘นาวา’ (เรือ) เป็นคำ ๑ มี ๒ พยางค์
‘นาฬิกา’ (โมงหรือทุ่ม) เป็นคำ ๑ มี ๓ พยางค์  ดังนี้เป็นต้น

เค้าเงื่อนของคำ คำไทยแต่เดิมมักมีพยางค์เดียวโดดๆ คล้ายกับ คำภาษาจีน ซึ่งใกล้เคียงกัน เช่นตัวอย่าง พ่อ แม่ เงิน ทอง ดิน น้ำ ลม ไฟ ม้า ช้าง เป็ด ไก่ เป็นต้น ภายหลังรับเอาคำภาษาอื่น เช่น บาลี และสันสกฤต ซึ่งมักมีหลายๆ พยางค์มาใช้ จึงได้มีพยางค์มากออกไป เช่น บิดา มารดา สุวรรณ ปถวี อุทก อัคคี สุนัข สุกร เป็นต้น คำเหล่านี้ ในภาษาเขาออกเสียงมีพยางค์มากกว่าที่เราใช้อยู่ แต่เพราะว่าเราเคยใช้คำน้อยพยางค์ เราจึงเอามาตัดทอนให้น้อยพยางค์ลงกว่าภาษาเดิมของเขา เช่น สุ-ขะ ตัดเป็น สุข (สุก) พา-ละ ตัดเป็น พาล (พาน) กุ-สะ-ละ ตัดเป็น กุศล (กุ-สน) กาญ-จะ-นะ ตัดเป็น กาญจน์ (กาน) เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ยังมีพยางค์มากกว่าคำไทยเดิมของเรา

คำมูล คำที่เราตั้งขั้นเฉพาะคำๆ เดียว จะเป็นคำที่มาจากภาษาไหนก็ดี หรือคำที่ตั้งขึ้นใหม่ในภาษาไทยเฉพาะคำหนึ่งๆ ก็ดี เรียกว่า คำมูล คำเหล่านี้ บางทีก็มีความหมายพ้องกัน เช่น ‘ขัน’ หมายความว่าน่าหัวเราะก็ได้ เครื่องตักน้ำก็ได้ ไก่หรือนกบางอย่างทำเสียงอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นต้น ดังนี้นับว่าเป็น คำมูลเหมือนกัน เพราะเป็นคำเดียวโดดๆ

คำประสม คำที่เอาคำมูลเหล่านั้นมาประสมกันเข้าตั้งเป็นอีกคำหนึ่ง เรียกว่า คำประสม เช่นคำมูล ‘แม่’ กับ ‘น้ำ’ รวมกันเข้าเป็นคำประสม ว่า ‘แม่น้ำ’ หมายความว่าทางน้ำใหญ่ คำมูล ‘แสง’ กับ ‘อาทิตย์’ รวมกัน เป็นคำประสมว่า ‘แสงอาทิตย์’ ชื่องูชนิดหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าไม่รวมเป็นคำเดียวกัน เช่น ‘แสง’ ก็คำหนึ่ง แปลว่า รัศมี และ ‘อาทิตย์’ ก็อีกคำหนึ่ง, แปลว่า ดวงตะวันตามเดิม เช่นนี้ไม่นับว่าเป็นคำประสม นับว่าเป็นคำมูล ๒ คำที่เรียงอยู่ติดกัน ซึ่งเรียกว่า ‘วลี’ และคำประสมนี้มีลักษณะเป็น ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้

๑. คำประสมที่เอาคำมูลมีเนื้อความต่างๆ มาประสมกันเข้า มีใจความ เป็นอีกอย่างหนึ่งไป เช่น คำมูล ‘หาง’ ส่วนท้ายของสัตว์ กับ ‘เสือ’ สัตว์ ชนิดหนึ่ง รวมกันเป็นคำประสมว่า ‘หางเสือ’ แปลว่าเครื่องถือท้ายเรือ และคำอื่นๆ เช่นลูกน้ำ แม่น้ำ เสือป่า (คน) แสงอาทิตย์ (งู) พ่อตา แม่ยาย เป็นคน คำเหล่านี้มีความหมายต่างกับคำมูลเดิมทั้งนั้น คำประสมพวกนี้ถึงแม้ว่ามีใจความแปลกออกไปจากคำมูลเดิมก็ดี แต่ก็ต้องอาศัยเค้าความของคำมูลเดินเป็นหลักอยู่เหมือนกัน เช่น หางเสือ” ก็มีเค้าความว่าอยู่ท้ายเรือดุจหางของเสือ ‘พ่อตา’ ก็มีเค้าความว่า พ่อ ที่ลูกของตนเรียกว่า ตา ดังนี้เป็นต้น ถ้าเป็นคำที่ไม่มีเค้าความเนื่องมาจากคำมูลเดิมเลย แต่เผอิญมาแยกออกเป็นคำมูลต่างๆ ได้ เช่น “กระถาง”ดังนี้ ถึงแม้จะแยกออกได้เป็น ‘กระ’ (เต่า) และ ‘ถาง’(ถางหญ้า) ดังนี้ ก็ไม่นับว่าเป็นคำประสม เพราะคำ ‘กระถาง’ ไม่ได้ มีเค้าความเนื่องมาจาก ‘กระ’ หรือ ‘ถาง’ อย่างใดอย่างหนึ่งเลย ต้องนับว่าเป็น คำมูล

๒. คำประสมที่เอาคำมูลหลายคำ ซึ่งทุกๆ คำก็มีเนื้อความคงที่ แต่เมื่อ เอามารวมกันเข้าเป็นคำเดียวก็มีเนื้อความผิดจากรูปเดิมไป เช่น ตัวอย่าง ตีชิง ขอสู่ สมสู่ ยินดี ยินร้าย หายใจ ใจหาย ฯลฯ ซึ่งถ้าแยกออกเป็นคำๆ แล้ว จะไม่ได้ความดังที่ประสมกันอยู่นั้นเลย

๓. คำประสมที่เอาคำมูลมีรูปหรือเนื้อความซ้ำกันมารวมเป็นคำเดียว คำเหล่านี้บางทีก็มีเนื้อความคล้ายกับคำมูลเดิม บางทีก็เพี้ยนออกไปบ้างเล็กน้อย เช่น ดำๆ แดงๆ เร็วๆ ช้าๆ ดังนี้ มีความหมายผิดจากคำมูลที่ไม่ซ้ำกันบ้างเล็กน้อย คือ ‘ดำๆ’ หมายความว่าดำทั่วไป ดังนี้เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่ง ใช้คำมูลรูปไม่เหมือนกัน แต่เนื้อความอย่างเดียวกันรวมกันเข้าเป็นคำประสม ซึ่งมีความหมายต่างออกไปโดยมาก เช่น ถ้อยคำ ดูแล ว่ากล่าว ดังนี้เป็นต้น

๔. คำประสมที่ย่อมาจากใจความมาก คำพวกนี้มีลักษณะคล้ายกับที่เรียกว่า ‘คำสมาส’ หรือ ‘ตัทธิต’ ในภาษาบาลี เพราะเป็นคำย่ออย่างเดียวกัน เช่น ‘ชาวป่า’ ย่อมาจาก ‘คนอยู่ในป่า’ ‘ชาววัง’ ย่อมาจาก ‘คนอยู่ในวัง’ เป็นต้น รวมทั้งคำอาการนามที่มีคำว่า ‘การ’ หรือ ‘ความ’นำหน้า

คำประสมพวกนี้มีคำต่อไปนี้ประกอบอยู่ข้างหน้า คือ

ชาว เช่น ชาวนา ชาวเมือง ชาวประมง ฯลฯ
ผู้  เช่น ผู้ทำ ผู้ดี ผู้อื่น ผู้นี้ ผู้ใด ฯลฯ
นัก เช่น นักเลง นักรบ นักปราชญ์ ฯลฯ
ช่าง เช่น ช่างทอง ช่างเขียน ช่างหม้อ ฯลฯ
หมอ เช่น หมอช้าง หมอความ หมอลำ ฯลฯ
การ เช่น การกิน การอยู่ การนอน ฯลฯ
ความ เช่น ความตาย ความคิด ความจน ฯลฯ
เครื่อง เช่น เครื่องใช้ เครื่องว่าง เครื่องเขียน ฯลฯ
ของ เช่น ของเล่น ของกิน ของใช้ ฯลฯ
ที่  เช่น ที่นอน ที่อยู่ ที่นั่ง ฯลฯ
เหล่านี้เป็นตัวอย่าง

คำเหล่านี้มักใช้ประกอบข้างหน้าคำประสมพวกนี้อย่างเดียว จะแยกใช้ เฉพาะคำเดียวโดดๆ ไม่ได้ เช่นจะใช้ว่า ‘ฉันเห็น-ผู้’ หรือ ‘ฉันเห็น-ชาว’
เช่นนี้ไม่ได้ความ ต้องใช้ประสมกับคำอื่นว่า ‘-ผู้ทำ’ หรือ ‘-ชาวนา’ จึงจะ ได้ความเต็ม เพราะฉะนั้นจึงนับรวมกันเข้าเป็นคำประสม และคำประสมเหล่านี้ จำแนกเป็นชนิดต่างๆ เช่น คำนาม คำสรรพนาม ฯลฯ ได้อย่างเดียวกับคำมูลเหมือนกัน

ข้อสังเกต มีคำหลายคำรวมกันเข้าเป็นกลุ่มหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่คำประสม เพราะคำเหล่านี้ต่างก็ประกอบกันได้ความตามรูปเดิม เช่น ตาบอด ตาข้างหนึ่งบอด ตาข้างหนึ่งเป็นต้อ กลุ่มของคำเหล่านี้เรียกว่า ‘วลี’ หาใช่คำประสมไม่ ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ด้วย

๕. คำประสมที่มาจากคำสมาสของภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ราชกุมาร(ลูกหลวง) เศรษฐิภริยา ( เมียเศรษฐี) ฯลฯ จึงควรสังเกตว่าคำสมาสของบาลีและสันสกฤตนั้น ก็นับเข้าในคำประสมพวกหนึ่งเหมือนกัน

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร