มารยาทในโรงมหรสพ

Socail Like & Share

ปีนี้วันเกิดของโฉมฉายมีเหตุการณ์พิเศษขึ้น เพราะคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้พาเพื่อนไปชมภาพยนตร์รอบบ่ายได้หลายคน โดยคุณพ่อได้จองตั๋วล่วงหน้าไว้ให้ถึงสองวัน เพื่อนๆ ของเธอก็ตื่นเต้นไม่น้อย ทุกคนนัดพบกันที่บ้านของโฉมฉาย แต่งกายกันอย่างสะสวย มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

โฉมฉายพูดขึ้น
“เราจะไปรถคันเดียวกันจ้ะ”
“ไหนพวกเรามากันกี่คน? หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า อ้อ! คนขับอีกเป็นหก พอดีทีเดียว รถคันนี้คงจะบรรทุกได้ไม่เกินหกคน แค่นี้ก็พอไหว หน้าสามหลังสามนะจ๊ะ”

มีเสียงหัวร่อต่อกระซิกอย่างแจ่มใสเกิดขึ้นรอบข้างเมื่อทุกคนเข้าไปนั่งในรถ แล้วก็ถึงที่โรงภาพยนตร์

โฉมฉายและเพื่อนๆ รู้สึกรำคาญมากเมื่อภาพยนตร์ฉายไปได้สักห้านาทีแล้ว เพราะคนที่มาช้าบางคนจะเข้าไปที่นั่งตรงแถวที่พวกเธอนั่งอยู่ก่อน เพื่อให้เขาผ่าน ทุกคนก็ต้องเบือนหัวเข่าไปเสียข้างหนึ่งก่อน ถ้าผ่านไม่ได้ก็ต้องลุกขึ้นยืนให้ผ่านไป

สุดาบ่นเบาๆ
“แหม! เบื่อจัง”
“ทำไมไม่รู้จักหัดมาให้มันตรงเวลาเสียมั่งนะ!”

โฉมฉายกระซิบตอบ
“จุ๊! อย่าเพิ่งไปว่าเขาเลย เดี๋ยวคนอื่นจะรำคาญเราเอา”

สุดายังอดที่จะพูดไม่ได้
“แปลกนะ”
“เราอุตส่าห์ลุกยืนให้ผ่าน เขาจะบอกว่า ‘ขอบใจ’ สักคำก็ไม่ได้ แม้แต่เวลาจะเข้ามา อย่างน้อยๆ ก็ควรบอกเราก่อนว่า ‘ขอโทษ’

โฉมฉายคิดเหมือนกับสุดาทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้โต้ตอบ

ระหว่างดูภาพยนตร์อยู่เพลินๆ มีหญิงที่มาช้าเดินเข้าทางแถวหลังที่พวกเธอนั่งผ่านไป สุดาจึงชะโงกมากระซิบว่า
“โอ้โฮ! มารยาททรามที่สุดเลยเธอ ไอ้กระเป๋าของเขาปัดหัวฉันไปเลย ดูซี! ผมยุ่งเลย”

ระหว่างที่ภาพยนตร์ฉาย ยังมีคนที่ลุกไปห้องน้ำ หรือที่เอาลูกเล็กมาด้วยก็ปล่อยให้ร้องน่ารำคาญจนดูหนังแทบไม่รู้เรื่อง เพราะรบกวนประสาทมาก

นงพงาที่นั่งอยู่ถัดไปบ่นเบาๆ ว่า
“เอาเด็กมาทำไมไม่รู้ซี”
“เด็กจะไปดูหนังอย่างนี้รู้เรื่องยังไง๊?”

เสาวณิตก็พูดขึ้นเบาๆ ว่า
“เขาคงไม่มีคนเลี้ยงละมัง แม่คงต้องเลี้ยงเอง พอแม่อยากดูหนังลูกก็ต้องมาด้วย”

นงพงาพูดอย่างโมโหว่า
“งั้นแม่ก็ไม่ควรมาดูหนังซี”
“ถ้าหาคนดูแลลูกไม่ได้ แม่ก็ควรจะเสียสละไม่ดูหนังเสียเลย อย่างน้อยก็ดูโทรทัศน์เอาก็ยังจะดีกว่า ทำอย่างงี้น่ะไม่มีความคิดเลย”

ส่วนสาววัยรุ่นราวสี่ห้าคนที่นั่งอยู่แถวหน้า มีคนหนึ่งสวมกำไลแบบอินเดียนที่ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะ ใส่ซ้อนกันหลายอัน เวลาเธอขยับข้อมือก็มีเสียงดังกรุ๋งกริ๋งอยู่ตลอดเวลา อีกคนก็เอาขนมเข้าไปกิน เวลาแกะก็มีเสียงดังกรอบแกรบ สร้างความรำคาญอย่างมาก บางคนก็พูดกันไม่เกรงใจใคร นั่งพากย์หนังที่เคยดูมาแล้ว และอ่านข้อความในจอไปด้วย ทำให้ทุกคนหันมาดูด้วยความไม่พอใจ

อีกคนก็กำลังเป็นหวัดอย่างรุนแรง ซึ่งจริงแล้วก็ไม่ควรมาดูภาพยนตร์ เพราะสามารถแพร่เชื้อโรคให้คนอื่นได้ เนื่องจากเธอไอ สั่งน้ำมูก และจามสลับกันไป และน่ารำคาญที่สุด

คนที่ตั้งหน้าตั้งตาคุยไม่หยุดปาก ต้องทำให้คนอื่นหมดความสนุกไปด้วย และตัวเองก็ต้องมาเสียเงินดูภาพยนตร์ก็คงไม่รู้เรื่อง ถ้านั่งดูโทรทัศน์ หรือเปิดแผ่นเสียงที่บ้านแล้วคุยกันไปพลางก็คงไม่รู้เรื่องเช่นกัน

หญิงกลางคนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ก็คงหมดความอดทน จึงหันมาจ้องหน้า แต่สาวรุ่นกลุ่มนั้นก็ไม่ได้สนใจ แถมยังพูดอีกว่า
“ดูยายนั่นแกทำหน้าตาเข้าซี”

สำหรับวัยรุ่น คนมีอายุดูเหมือนจะต้องเป็นคนล้าสมัยตลอดเวลา น้อยนักที่จะได้รับความเคารพนับถือจากวัยรุ่น การจ้องมองของหญิงกลางคนคนนั้นกลับยิ่งเพิ่มเสียงให้คึกคักมาขึ้นอีก

ชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ใกล้กัน เขาไม่หันมาจ้อง แต่พูดกับวัยรุ่นคนที่เคี้ยวขนมไม่ขาดปากอย่างเรียบๆ ว่า
“ขอโทษเถอะ ถ้าคุณพูดเสียเอง แล้วเราก็ไม่ได้ยินหนังพูดเลยซี”

เขาตั้งใจว่า ถ้าวัยรุ่นพวกนี้ไม่ยอมหยุด เขาก็จะไปเรียกเจ้าหน้าที่ในโรงภาพยนตร์มาจัดการแน่นอน
เมื่อภาพยนตร์และเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง ทุกคนถวายความเคารพแล้วเดินออกไปเป็นแถว โฉมฉายก็ไม่ได้หยุดรอเพื่อนเนื่องจากเนื้อที่ไม่อำนวย แต่เธอเดินออกไปรอที่ด้านนอกเพราะสะดวกกว่า

โฉมฉายพาเพื่อนๆ เข้าไปในภัตตาคารสะอาดแห่งหนึ่งก่อนจะกลับบ้าน เมื่อสั่งขนมและเครื่องแล้ว ทุกคนต่างก็นั่งวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ชมกันมาตามสมควรแก่กาลเทศะอย่างสนุกสนาน

มีสตรีกับชายคนหนึ่งเดินมานั่งโต๊ะใกล้ๆ ทั้งคู่เพิ่งออกมาจากโรงภาพยนตร์เหมือนกัน พอนั่งลง เธอก็เปิดกระเป๋า หยิบตลับแป้งขึ้นมาส่องดูหน้า เอามือแตะผม เอาแป้งแตะปลายจมูก แตะแก้ม แตะคาง เหมือนผัดหน้าใหม่ทั้งหมด แล้วก็ล้วงเอาหวีเล็กๆ ออกมาหวีผม หยิบกระดาษนิ่มๆ ออกมาเช็ดปาก อ้าปากเสียกว้าง เช็ดแล้วเช็ดอีกจนลิปสติคเก่าไม่เหลือ แล้วเธอก็เอาลิปสติคออกมาวาดริมฝีปากจนเป็นสีแดงสดใส แล้วของทุกอย่างก็ถูกกวาดลงไปอยู่ในกระเป๋า เธอยกขวดน้ำหอมขึ้นมาเปิดจุกดมแล้วแตะที่ขมับ แล้วบ่นว่า “ข้างนอกร้อนจัง!”

ท่าทางของชายที่มากับเธอดูเหมือนว่า เขาทรมานมากที่ต้องนั่งดูการแต่งหน้าทาปากของเธอ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย

โฉมฉายเตือนตัวเองทันทีว่า
“คุณแม่เคยสอนเราไม่ให้หวีผมแต่งหน้าในที่สาธารณะ และต่อหน้าใครๆ แม้แต่เอามือแตะผม หรือจับดึงเสื้อผ้าก็ยังไม่ควร ผู้หญิงคนนี้คงไม่ได้รับการอบรมมาอย่างเรา แหม! หน้าตาสวยๆ น่าเสียดาย”

คุณแม่ถาม เมื่อโฉมฉายกลับมาถึงบ้าน
“สนุกไหม ลูก?”
โฉมฉายตอบ
“สนุกค่ะ”
“ลูกได้รับความรู้มาอีกหลายอย่าง”

คุณแม่ซักด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
“เช่นอะไรบ้างจ้ะ?”
โฉมฉายตอบ
“คนที่ทำให้คนอื่นเกิดความรำคาญน่ะสิคะ คุณแม่”
“ลูกไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า คนที่ไปช้า คนที่พูดมาก กินขนมและขยี้กระดาษ หรือนั่งไอ นั่งโยกเก้าอี้ในโรงภาพยนตร์น่ะ ทำความเดือดร้อนให้คนอื่นมากแค่ไหน”

คุณแม่พูด
“ลูกยังไม่เคยเจอคนน่ารำคาญอีกพวกหนึ่ง พวกนี้ก็คือคนที่นัดเราแล้วไม่มาตามนัด แม่เคยมีเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งนัดกันไปดูละครสมัยเก่า แต่เขาให้แม่นั่งคอยเสียจนละครเกือบจบฉากหนึ่ง แม่จำได้ว่าแม่อยากดูไอ้ฉากหนึ่งนั่นมากเสียจนเกิดโมโหและตั้งแต่นั้นต่อมา แม่กับเขาไม่เคยนัดกันไปไหนอีกเลย”

“คุณแม่คะ สมมติว่าเราจะไปดูการละเล่นกลางแจ้งอย่างนี้น่ะ เราพูดกันได้โดยไม่เสียมารยาทใช่ไหมคะ?”

“อ๋อ! ถ้าเป็นละครสัตว์ กีฬา หรือการเล่นกลางแจ้งน่ะ ลูกควรพูดกันสิจ๊ะ เพราะอย่างเราไปดูฟุตบอล ถ้านั่งเฉย มันจะไปสนุกอะไรล่ะ หรือถ้าคณะแตรวงของละครสัตว์เขาเดินสวนสนามให้เราดู เด็กๆ ก็มักส่งเสียงโห่ร้อง แม่คิดว่ามีอย่างเดียวที่จะก่อให้เกิดความรำคาญในกลางแจ้งอย่างนี้ ก็คือ คนที่สูบบุหรี่นั่นเอง บางคนพอใจจะสูบก็สูบ ควันถูกลมพัดมาเข้าจมูกเข้าตาใครก็ไม่สนใจ กับอีกพวกหนึ่งคือ พวกที่มีนิสัยชอบยืนเวลาตื่นเต้นจนบังคนที่นั่งข้างหลังหมด คุณพ่อของลูกน่ะ ถึงกับตะโกนบอกพวกนี้ว่า
“นั่งลงได้แล้ว!”
“เพราะถ้าเราไม่เตือนเขาเสียมั่ง ทุกคนที่นั่งแถวหลังก็จะต้องพลอยยืนดูไปด้วย แล้วลูกลองคิดดูสิว่า แถวต่อๆ ไปจะเกิดอะไรขึ้น บางทีเราก็พบว่า ผู้หญิงที่กางร่มเพราะกลัวโดนแดดผิวเสีย ก็ทำให้น่ารำคาญมาก ถ้ามีคนกางร่มหรือใส่หมวกนั่งอยู่ข้างหน้าเรา เราก็ไม่อาจดูอะไรๆ กลางแจ้งได้ถนัด”

ด้วยความโกรธแทนสุดา โฉมฉายจึงตั้งคำถามขึ้นอีกว่า
“คุณแม่คะ คนที่เดินผ่านเราไปโดยไม่ขอโทษ และปัดหัวเราด้วยกระเป๋าและเสื้อผ้าของตัว จะเรียกว่าหยาบคายไหมค่ะ?”

คุณแม่ตอบ
“อ๋อ! ใช่แน่นอนจ้ะ”
“ทำไมล่ะ ลูกไปโดนเข้าอย่างนั้นรึ?”
“เปล่าค่ะ สุดาน่ะค่ะ เขาหัวยุ่งเลย เพราะผู้หญิงคนที่มาสายเดินผ่านแล้วก็ไม่ระวัง กลับเอากระเป๋าปัดหัวเขา แถมไม่ขอโทษสักคำนะคะ!”

คุณแม่ทำหน้าเคร่งขรึมและพูดว่า
“อือม์ นี่สิที่น่าเป็นห่วงนัก ในเรื่องมารยาทของคนเรา แม้แต่เราไม่สาย และจะขอทางเข้าไปนั่งในที่ ก็ควรจะกล่าวขอโทษ และเมื่อรบกวนคนอื่นแล้ว ควรพูดว่าขอบคุณให้ติดปาก เพราะเขาต้องถูกเรารบกวนแท้ๆ ต้องยืนให้เราผ่านขณะที่เขานั่งของเขาสบายๆ แล้ว”

“บางคนมีการลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปซื้อขนมของขบเคี้ยวอีกนะคะ คุณแม่”
“อย่างนั้นหรือจ๊ะ? ลูกคงรำคาญมากซิ”
“ยังรำคาญสู้ผู้ชายที่สูบบุหรี่ตรงหน้าลูกไม่ได้ค่ะ ควันมันปลิวมาเข้าตาลูกจนแสบไปหมด ผู้หญิงที่มากับเขาก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูบบุหรี่ค่ะ ลูกเห็นเธอขยี้ตาหลายหน และมองดูเขา แต่เขาไม่สังเกตค่ะ ลูกยังแปลกใจเลยว่า ทำไมเธอไม่ขอให้เขาหยุดสูบบุหรี่เสียก่อน”

“พูดถึงเรื่องไปดูภาพยนตร์ แม่ยังไม่ได้บอกลูกใช่ไหมจ๊ะว่า คุณพ่อมีแขกสามคนที่เราจะเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน แล้วพาไปดูภาพยนตร์เรื่องใหม่เอี่ยมของกรุงเทพฯ ขณะนี้?”

โฉมฉายถามอย่างตื่นเต้น
“เมื่อไหร่คะ?”
“วันศุกร์หน้าจ้ะ ตอนแรกคุณพ่อคิดว่า จะพาเขาไปที่ภัตตาคารหรูๆ แต่แล้วก็คิดว่า บ้านเราก็เรียบร้อยพอ ฝีมือกับข้าวก็ดีพอควร ควรเอาเขามาบ้านเราจะดีกว่า นี่แม่ก็ได้ยินว่า คุณพ่อไปจองตั๋วเอาไว้เรียบร้อยแล้ว”

โฉมฉายพูดขึ้นว่า
“ความจริงการจองตั๋วนี่ดีจังนะคะ”
“ถ้าคุณพ่อไม่จองตั๋วไว้ให้เพื่อนกับลูกละก็ ไม่แน่ใจว่าจะเบียดคนไหวหรือเปล่า และจะได้ดูหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบเลยค่ะ”

คุณแม่พูดด้วยความภาคภูมิใจ
“คุณพ่อของลูกเป็นคนรอบคอบเสมอ”
“เวลาเราเชิญแขกไปดูภาพยนตร์หรือละครแม่คิดว่าควรจองตั๋วเสมอ เพื่อความโล่งใจ และสบายใจ และขจัดความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น ทำให้แขกต้องเดือดร้อนและคอยนาน เอาละ….แม่เองก็จะไปเตรียมทำรายการอาหารที่จะเลี้ยงแขกเย็นวันศุกร์ ลูกมาช่วยแม่คิดสิจ๊ะ”

โฉมฉายเดินตามคุณแม่ไป คุณแม่ก็ภูมิใจที่ลูกน่ารักอย่างโฉมฉาย

อรศรีทนความรำคาญในโรงภาพยนตร์ไม่ไหว จึงไม่ชอบดูมัน เธอให้เหตุผลว่า
“ฉันทนฟังคนขยำกระดาษแก้ใส่หูไม่ไหว ทำไมต้องเกิดหิวโหยในโรงหนังโรงละครก็ไม่รู้ ของที่เขากินก็จะต้องเฉพาะบรรจุในถุงกระดาษแก้วเสียด้วย ไอ้ที่ร้ายรองลงมาคือ ดูดน้ำหวานจากถ้วยกระดาษจนหยดสุดท้าย แหม! เสียงซืดซาด รำคาญสิ้นดี”

นอกจากนี้อรศรียังเกลียดเสียงคนข้างหลังที่เคี้ยวหมากฝรั่งจั๊บๆ เกลียดเสียงผู้หญิงข้างๆ ที่กินลูกหยีใส่พริกแล้วทำเสียงซูดซาดไปด้วย เกลียดควันบุหรี่จากผู้ชายที่นั่งข้างหลัง และเกลียดเสียงร้องลั่นของเด็กเล็กๆ ที่ร้องสลับกับบอกแม่ว่า “กลับบ้านแม่…กลับบ้าน” ที่สุด ทำให้ดูภาพยนตร์เกือบไม่รู้เรื่อง

เราก็อาจเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับอรศรี ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะเคยรำคาญจนถึงขั้นอยากจะเอาปลาสเตอร์แผ่นโตๆ ไปปิดปากนักพากษ์ที่อยู่ข้างหลัง เรากำลังดูอยู่เพลินๆ ก็เล่าเหตุการณ์เสียหมด เช่น “อย่ากลัวพระเอกตายหน่อยเลยน่า เดี๋ยวพอจะจบไอ้ตัวโกงก็โดนกระสุนลูกหลง แล้วพระเอกก็ตกลงหนีออกจากที่คุมขังมาได้…”

การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดจัดว่าเป็นการเสียมารยาท แม้ผู้ที่ได้รับการศึกษาดีบางครั้งก็อาจเผลอเรอได้เหมือนกัน

ไม่ว่าท่านจะออกไปไหนท่านควรแต่งตัวให้สุภาพเพื่อมารยาทที่ดีงาม ไม่ใช่ใส่ชุดอยู่กับบ้านไปในชุมชน คนทั่วไปที่มองเห็นเขาก็คงไม่ว่าอะไร แต่ถ้าท่านไปเจอคนสำคัญที่ควรเคารพนับถือเข้าคงไม่เป็นการดีแน่ และอาจนึกอยู่ในใจว่า
“แหม! ถ้ารู้อย่างนี้ เราก็คงจะแต่งตัวให้ดีกว่านี้”

เมื่อออกไปไหนเราจะไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะไปเจอใครเข้า ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

เมื่อต้องเข้าไปชมมหรสพ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม น้ำมันใส่ผมที่กลิ่นแรง เพราะกลิ่นที่แรงเกินไปจะไปก่อความรำคาญให้กับผู้อื่นได้

คนที่เข้ามาในโรงมหรสพสายกว่าคนอื่น คือคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด เพราะรู้อยู่แล้วว่าการที่ต้องให้คนที่นั่งอยู่ก่อนต้องลุกขึ้นยืนในความมืด เพื่อที่จะให้เขาเดินผ่านไปได้มันขลุกขลักขนาดไหน บางคนอาจทำกระเป๋าหล่น หารองเท้าไม่เจอ หรือไปเหยียบขาคนอื่นเข้า

สุภาพบุรุษควรดูแลสุภาพสตรีที่ท่านพาไปชมภาพยนตร์หรือละคร คอยช่วยระวังไม่ให้เธอพลาดลื่นล้มในความมืด ควรให้เธอนั่งให้เรียบร้อยก่อนแล้วท่านถึงจะนั่งลงได้

สุภาพสตรีก็ไม่ควรนำของกินเล่นของขบเคี้ยวเข้าไปกิน จนทำให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่นให้เกิดความรำคาญได้

ผู้ที่เข้าชมมหรสพถ้าอยากคุยกันก็ทำได้แค่กระซิบเบาๆ เท่านั้น ไม่ควรออกจากโรงภาพยนตร์เร็วก่อนเพลงสรรเสริญพระบารมี เวลาลุกขึ้นก็ไม่ควรลุกลนดึงแต่งเสื้อผ้าให้เข้ารูป เพราะมีเวลาถมเถไปที่แต่งได้ในภายหลัง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์