บัตรอวยพรวันขึ้นปีใหม่

Socail Like & Share

ศศิธรได้รับบัตร ส.ค.ส. ในวันปีใหม่จากเพื่อนฝูงและญาติที่อยู่ต่างจังหวัดบางคนมากเหลือเกิน เธอพูดกับคุณแม่ของเธอว่า
“สมัยนี้บัตร ส.ค.ส.ขายดีนะคะคุณแม่ ใครๆ ก็ต้องส่งกัน”

คุณแม่ตอบ
“ไม่ใช่เพราะตื่นเต้นตามสมัยดอกจ้ะ”
“แต่เพราะว่าคนที่ส่ง ส.ค.ส. ให้กัน เขาคิดถึงกัน และอยากจะแสดงว่า ระลึกถึงมากเป็นพิเศษในโอกาสปีใหม่อย่างนี้ แม่ว่าดีนะ ส.ค.ส. เพียงแผ่นเดียว แสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมตรีและมิตรภาพอันดีพร้อมเสร็จ”

“อย่างสุวรรณีเพื่อนรักของหนู เขาอยู่ต่างจังหวัด หนูจะเขียนจดหมายไปถึงเขาด้วย แล้วใส่ของไปกับ ส.ค.ส. ติดแสตมป์เท่าส่ง ส.ค.ส. เฉยๆ ไปรษณีย์เขาคงจับไม่ได้หรอกนะคะ จดหมายตอนนี้ออกมากมาย เขาคงไม่มานั่งตรวจดูทีละอันหรอก…”

คุณแม่ติงขึ้นทันทีว่า
“แต่ลูกก็ไม่ซื่อสัตย์น่ะสิจ๊ะ”
“ถ้าลูกจะส่งจดหมายไปด้วย ลูกต้องติดแสตมป์เท่าส่งจดหมาย ไม่ใช่ครึ่งเดียว มีคนโกงอย่างนี้มากมาย เขาจับได้เขาก็ส่งกลับคืนไป หรือไม่ไปปรับเอาปลายทาง มันจะดีอะไรล่ะจ๊ะ?”

“ถ้าคุณแม่กับคุณพ่อส่ง ส.ค.ส. ไปให้คนอื่น คุณแม่เขียนชื่อใครนำหน้าคะ?”

“ความจริงไม่มีกฎหรอกจ้ะ แต่แม่ชอบเขียนชื่อคุณพ่อขึ้นหน้า”

“คุณแม่เขียนชื่อหนูไปด้วยนี่คะ หนูเห็น”

“จ้ะ สำหรับญาติๆ และเพื่อนสนิท แม่ต่อชื่อลูกลงไปข้างท้ายด้วย แต่แม่เขียนชื่อหนูถัดลงมาอีกบรรทัดหนึ่ง”

ศศิธรดูบัตร ส.ค.ส.ของมารดาและของตนเองอยู่ และเลือกมาหนึ่งแผ่น
“คุณแม่คะ ดูสิคะ แผ่นนี้จากบริษัทที่เราซื้อเครื่องกระป๋องเขาเสมอๆ”

คุณแม่ตอบรับ
“จ้ะ แทบจะไม่ต้องบอกเลย”

“ทำไมเขาพิมพ์รูปกระป๋องอาหารต่างๆ ขวดอาหาร และตราเครื่องกระป๋องเอาไว้เต็มไปหมด ไม่เห็นจะเป็นการส่งความสุขเท่าไรเลยนะคะ” ศศิธรอดหัวเราะไม่ได้

คุณแม่ตอบ
“นั่นซี แม่ก็ว่าไม่ค่อยเหมาะ ที่จะโฆษณากันอีกในวันสำคัญอย่างนี้ เอาไว้โอกาสอื่น หรือสักนิดหนึ่งตามปฎิทินน่าจะเหมาะสมกว่า”

แล้วศศิธรก็หยิบอีกแผ่นขึ้นมา
“นี่จากคุณลุงค่ะ”
ด้านหน้าของบัตรพิมพ์เป็นภาพเทพธิดากำลังโปรยดอกไม้จากพานอย่างสวยงาม
“ข้างในคุณลุงเขียนว่า ‘ส่งความรักและระลึกถึงมายังหลานด้วย’ เอ! อย่างนี้ควรเขียนไหมคะ?”

คุณแม่พูด
“ได้สิจ๊ะ เพราะนี่ไม่ใช่จดหมายนี่ เพียงแต่ต่อขึ้นไปนอกเหนือจากลงชื่อนิดหน่อยเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้ทำให้หนักซอง เพราะไม่ได้เขียนในกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง”

“แผ่นนี้ก็เหมือนกัน จากป้าประภา เขียนว่า ‘คิดถึงมากและอยากมาหาอีก ยายหนูศศิธรคงจะโตเป็นสาวแล้ว บอกด้วยว่าพี่คิดถึงจากพี่ประภา’ ป้าประภาก็เขียนมาใน ส.ค.ส. เหมือนกัน ถ้าหนูเขียนถึงคนสนิทสนมกันจะแทรกข้อความเหล่านี้นิดๆ หน่อยๆ ไปได้ไม่เป็นไรจ้ะ แต่ถ้าเขียนถึงคนไม่สนิท ควรเซ็นชื่อเท่านั้น ไม่ควรเขียนข้อความใดๆ ลงไปอีก”

ศศิธรชูบัตรขึ้นแล้วอ่าน
“พูดถึงเซ็นชื่อ ในบัตรของคุณลุงก็เซ็นเสียเยอะเชียวค่ะ”
“เขียนว่า จากพี่ทั้งสองและลูกๆ-ป้อม, แป๋ว, ป๋อม และแป๋ม อย่างนี้จ้ะ ใช้ได้ไหมคะคุณแม่?”

คุณแม่อธิบาย
“ได้จ้ะ เพราะว่าเราสนิทกันมาก ถ้าเป็นคนอื่น คุณลุงกับคุณป้าก็คงจะเซ็นชื่อและนามสกุลเท่านั้น ไม่ใส่ชื่อลูกๆ ลงไปด้วย”
“ถ้าแม่จะส่งบัตร ส.ค.ส. ถึงครูเก่าแก่ของแม่ ครูคนนี้ไม่รู้จักคุณพ่อหรือลูก แม่ก็เซ็นชื่อแม่คนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าส่งถึงคนที่แม่หวังและอยากให้เจอคุณพ่อหรือท่านวันหนึ่ง แม่ก็เขียนชื่อคุณพ่อและลูกลงไปด้วย”

ศศิธรมาสะดุดอยู่ที่บัตรแผ่นหนึ่ง จากที่เธอดูมาอย่างเพลิดเพลิน ด้านหน้าของบัตรเป็นภาพวาดทิวทัศน์ในป่าไม้ที่ร่มรื่น ดูสงบและเย็นตา ใช้สีฟ้าเทา เทาอ่อนแก่ ขาวแต้ม และตัดเส้นด้วยสีดำ

ศศิธรพูดว่า
“แผ่นนี้แปลก….สีสันเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดเลยนะคะ”

“อ๋อ! นี่มาจากเพื่อนคนหนึ่งของแม่ สามีของเขาเพิ่งถึงแก่กรรมลง ลูกจะเห็นว่า คนที่รู้จักมารยาทงามนั้น ทำอะไรก็ไม่ผิด เขาไม่เลือกภาพหีบศพส่งมาให้เรา และเขาไม่เลือกภาพสีฉูดฉาด หรือละครรำร้องสีสวยติดกากเพชรส่งมา แต่เขาเลือกภาพเรียบๆ เย็นตา ที่เหมาะสมกับเวลาไว้ทุกข์ของเขา โดยที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ไปด้วย เมื่อแม่ส่งตอบแทนไปให้เขา แม่ก็เลือกภาพเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดร่าเริงเกินไปนักประเภทนี้เหมือนกัน”

ศศิธรถาม
“ถ้าคนกำลังอยู่ในความทุกข์อย่างเพื่อนคุณแม่คนนี้ไม่ส่งบัตร ส.ค.ส. ก็ไม่ผิดใช่ไหมคะ?”
“หนูหมายความว่า ถึงคุณแม่ส่งไปให้เขาแล้ว เขาไม่ต้องส่งตอบแทนมาก็ไม่เป็นไร ใช่ไหมคะ คุณแม่?”

แม่ตอบว่า
“ในระยะเช่นนี้ ความทุกข์ก็เอาเวลาของเขาหมดไปแล้ว เราจึงเรียกว่าไม่ผิดจ้ะ แม้ว่าเขาจะส่ง ส.ค.ส. มาให้เราหรือไม่ส่ง และจะส่งตอบแทนมาหรือไม่ก็ตาม”

คุณแม่ชูบัตรขึ้นแล้วพูดว่า
“เออแน่ะ บัตรใบนี้เซ็นชื่อสีแดงแปร๊ดเชียว”

ศศิธรหันไปมองพร้อมกับหัวเราะ
“อ๋อ! จากยายราศีเพื่อนหนูเองค่ะ ราศีเขาเป็นคนชอบทำอะไรแผลงๆ เสมอ นี่คงเอาหมึกแดงเซ็นให้ทุกคนละซี”

คุณแม่ก็อธิบายว่า
“ตามธรรมเนียมแล้ว เขาไม่นิยมเซ็นชื่อจ่าหน้าซอง หรือเขียนด้วยหมึกสีแดง เขียว หรือแสดนะจ๊ะ นอกจากว่าเจตนาจะให้เป็นสีเดียวกับตัวอักษรคำอวยพรที่พิมพ์ไว้ในบัตร ส.ค.ส.”
“สมัยนี้มีซองที่มีสีแจ๊ดๆ ซับข้างในซอง ซึ่งก็ไม่เรียกว่าผิดอีกน่ะแหละ เพราะนิยมกันทำให้สะสวยขึ้น”

ศศิธรพูดว่า
“ซองนี้เขาเขียนที่อยู่ไว้ข้างหลังซองด้วยค่ะ”

คุณแม่ตอบว่า
“นี่ก็จากเพื่อนคุณพ่อ ซึ่งไม่ได้พบกันมานาน จนเราไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เขาจึงเขียนตำบลที่อยู่มาให้หลังซองด้วย เราจะได้ส่ง ส.ค.ส. ไปตอนแทน และจดหมายไปติดต่อกันได้อีกภายหลังไงล่ะจ๊ะ”

ศศิธรจัดบัตร ส.ค.ส. ในกล่องกระดาษเป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย แล้วถามมารดาต่อว่า
“คุณแม่คะ หนูถามเรื่องบัตรอวยพรวันเกิดหน่อยได้ไหมคะ?”

“ได้ซิจ๊ะ ลูกอยากทราบอะไร?”

“ทำไมบางคนส่งบัตรอวยพรมาให้หนู? บางคนไม่ส่ง? นี่เป็นเพราะว่าบางคนนิยมตามแบบฝรั่งหรือเปล่าคะ?”

คุณแม่อธิบายศศิธรว่า
“พูดกันไปแล้ว เรื่องการส่งบัตรอวยพร นี่ก็เอาอย่างมาจากตะวันตกแทบทั้งนั้นแหละจ้ะ การที่มีใครเขาส่งบัตรอวยพรมาให้ลูก ก็หมายความว่า เขาแสดงความปรารถนาดีอย่างจริงใจมาให้ ถ้ามีคนส่งของขวัญวันเกิด หรือของขวัญปีใหม่มาให้ลูกจากทางไกล ลูกอาจส่งของปีใหม่ตอบแทนไปให้เขาได้ แต่สำหรับของวันเกิด เมื่อได้รับแล้วควรรีบเขียนเป็นจดหมายขอบใจตอบไปยังผู้ส่งทันที อย่าใช้บัตรที่พิมพ์เสียสวยหรูเป็นการขอบใจ บางคนเขาว่า พอได้รับบัตรขอบใจที่ผู้ส่งแทบไม่ต้องหยิบเขียนเองสักใบละก็ เขารู้สึกเหมือนถูกคนทุบหัวแรงๆ เลยทีเดียว จดหมายขอบใจแม้ว่าจะสั้นหน่อย จึงมีค่ามากกว่าบัตรพิมพ์ที่มาจากร้านเครื่องเขียนเสมอจ้ะ”

ศศิธรถามต่อว่า
“อย่างหนูได้รับจดหมายจากพี่พรรณ ลูกของคุณป้า ให้ไปพักอยู่ที่บ้านศรีราชาด้วย แล้วหนูไปไม่ได้ จะตอบยังไงถึงจะถูกล่ะคะ?”

คุณแม่บอกว่า
“ลูกก็ต้องมีจดหมายตอบไป บอกว่าเสียใจที่มาไม่ได้ และบอกเหตุผลไปด้วยว่าทำไมจึงมาไม่ได้ พร้อมกับขอบคุณที่เขาชวนมา”

ศศิธรพูดต่อ
“วันก่อนหนูเห็นคุณพ่อเขียนตอบงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง แต่เขียนบนบัตรสั้นๆ เท่านั้นแหละค่ะ ไม่ได้เขียนเป็นจดหมายหรอกค่ะ”

คุณแม่อธิบายต่อว่า
“อ๋อ! งานเลี้ยงนั่น เพื่อนรักของคุณพ่อชวนจ้ะ แล้วก็เวลาชวนเขาส่งบัตรอันนิดๆ เขียนด้วยมือมาให้เรา แสดงว่าไม่ใช่วงนอก แต่เป็นงานสำหรับเพื่อนสนิทและญาติไม่กี่คน คุณพ่อจึงเขียนในบัตรว่า ‘ขอบใจที่เชิญ วันศุกร์จะมาได้ราวทุ่มพร้อมภรรยา’ แล้วเอาไปฝากไว้ที่บ้านของผู้เชิญ เพราะผู้เชิญเผอิญไม่อยู่บ้าน การที่เราบอกให้เขารู้ตัวว่า เราจะมาในงานได้หรือไม่ได้ จึงสำคัญมาก เพราะเจ้าของงานจะได้จัดที่และปริมาณอาหารได้ถูกต้องไม่ขาดเหลือ”

ศศิธรพูดว่า
“อ๋อ! ครูสอนหนูว่า ในบัตรเชิญของฝรั่ง เขาเขียนไว้ตรงมุมบัตรด้านหนึ่งว่า R.S.V.P. เพราะเขาอยากรู้ว่าคนที่ได้รับเชิญจะมาได้หรือไม่”

แม่ถาม
“ลูกทราบไหมล่ะว่า R.S.V.P. หมายความว่าอะไร?”

ศศิธรยิ้มก่อนที่ตอบว่า
“แปลว่า ‘Repondez s’ il vous plait’ ค่ะเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวว่า ‘Answer if you please’ ภาษาไทยก็บอกว่า ‘ขัดข้องโปรดตอบ’ อะไรอย่างนี้ละมัง”

คุณแม่บอกว่า
“ใช่แล้วจ้ะ ทั้งนี้ก็เพราะเจ้าของงานอยากทราบจำนวนคน สำหรับจะได้กะอาหารได้ถูกต้องนั่นเอง คนที่ไปไม่ได้จึงควรเขียนหรือโทรศัพท์ไปบอก”
“เย็นนี้แม่ก็จะใช้บัตรชื่อของแม่ เพราะแม่มีเพื่อนชาวต่างประเทศมาพักอยู่ที่โรงแรมในกรุงเทพฯ นี่ แม่ต้องการให้เขาทราบว่า เบอร์โทรศัพท์ของเราคืออะไร และเราจะเชิญเขามารับประทานอาหารที่บ้านค่ำวันพรุ่งนี้ด้วย”

ศศิธรทำหน้ายินดีแล้วพูดว่า
“หรือค่ะ?”
“เขาจะโทรศัพท์มาหรือคะ?”

คุณแม่บอกว่า
“เขาอาจไม่โทร ถ้าเขาไม่มีความจำเป็น แต่ให้เขารู้เบอร์ไว้ดีแล้ว แม่จึงใช้นามบัตร เพราะมีเบอร์โทรศัพท์ ชื่อและสกุลของคุณพ่อและแม่ ตลอดจนตำบลที่อยู่อย่างพร้อมสรรพ ในกรณีนี้ แม่เขียนชื่อของแหม่มไว้ เหมือนชื่อแม่ในบัตร พนักงานที่โรงแรมผู้รับนามบัตรนี้ไว้ จะได้ให้กับแหม่มได้ถูกต้อง และแม่เริ่มเขียนคำเชิญในตอนท้ายชื่อแม่ ไปต่อเอาด้านหลังถึงตอนจบ เพราะถ้าแม่พลิกไปเขียนด้านหลังทั้งหมด แล้วแหม่มไม่ได้พลิกดู ก็เป็นอันว่าแหม่มจะไม่รู้ว่า แม่เชิญมาที่นี่พรุ่งนี้”

ศศิธรพูดอย่างพอใจว่า
“แหม! คุณแม่รอบคอบดีจัง”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์