มารยาทในสังคม

Socail Like & Share

การอยู่ในสังคมต้องมีมารยาทสำหรับประพฤติ เช่น มารยาทเกี่ยวกับการกินอยู่ เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้

มารยาททั่วไป เช่น
ไม่แอบฟังความ
ต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย
ไม่เดินกระโหย่งเท้าเข้าไปในบ้านเขา

มารยาทในการกินอาหาร เช่น
ไม่ทำคำอาหารให้ใหญ่นัก
เมื่ออาหารยังไม่ถึงปาก ไม่อ้าปากไว้ท่า
กำลังกิน ไม่ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในปาก
เมื่ออาหารอยู่ในปาก ไม่พูด
ไม่โยนอาหารเข้าปาก
ไม่กินอาหารทำให้กระพุ้งแก้มตุ่ย
ไม่กินพลาง สะบัดมือ(ช้อน) ไปพลาง
ไม่กินอาหารให้หก
ไม่แลบลิ้นกินอาหาร
ไม่กินให้มีเสียง
ไม่กินเลียมือ(เลียช้อน)
ไม่กินเลียปาก
ไม่ใช้มือเปื้อนจับภาชนะน้ำ

ลงมือกินพร้อมกัน อิ่มพร้อมกัน ผู้อิ่มก่อนต้องรอผู้อิ่มทีหลัง แล้วลุกขึ้นพร้อมกัน

ระวังไม่ให้น้ำบ้วนปาก และน้ำล้างมือกระเซ็นไปถูกผู้อื่น

มารยาทของอาคันตุกะ(แขก) ผู้ไปหาเขา หรือไปพักบ้านเขา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมือนกันพร้อมด้วยมารยาทของเจ้าของบ้าน ดังนี้

มารยาทของอาคันตุกะ มีดังนี้
๑. มีความเคารพในเจ้าของบ้าน ให้ความสำคัญแก่บ้าน เช่น ถอดรองเท้าเมื่อเข้าบ้าน เป็นต้น

๒. มีความเกรงใจเจ้าของบ้าน เช่น เห็นเจ้าของบ้านมีธุระก็รอ และเมื่อเสร็จธุระแล้วอย่าอยู่นาน เป็นต้น

๓. แสดงอาการสุภาพ เช่น อย่าขึ้นบ้านเขาทั้งมีเท้าเปื้อน เป็นต้น

๔. แสดงอาการเข้ากันได้กับเจ้าของบ้าน

๕. ถ้าจะพักอยู่กับเขา ต้องทำตนให้ถูกธรรมเนียมของบ้านนั้น เป็นต้น

มารยาทของเจ้าของบ้าน มีดังนี้
๑. เป็นผู้เห็นความสำคัญในการทำปฏิสันถารอาคันตุกะ
๒. แสดงความนับถือ หรือให้ความสำคัญแก่อาคันตุกะ
๓. ทำการต้อนรับโดยธรรม หรือสมภาวะของอาคันตุกะ
๔. ถ้าอาคันตุกะจะพักด้วย ก็เอาใจใส่เอื้อเฟื้อให้ที่พัก เป็นต้น

มารยาทในการใช้ห้องส้วม มีดังนี้
๑. การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การใช้ห้องน้ำ ให้เป็นไปตามลำดับผู้มาก่อน มาหลัง(ข้อนี้แสดงว่าการเป็นไปตามลำดับของผู้มาก่อนมาหลัง คือ การเข้าคิวนั้น ในพระพุทธศาสนามีมานานแล้ว)

๒. ให้รักษากิริยา เช่น เห็นประตูปิด ต้องเคาะ หรือให้เสียงก่อนเปิดเข้าไป จะเข้าหรือจะออกต้องนุ่งผ้าให้เรียบร้อย อย่าถ่ายและชำระให้มีเสียงดัง

๓. รู้จักรักษาเครื่องนุ่งห่ม

๔. รักษาตัว อย่าเบ่งแรง อย่าใช้ของแข็งชำระ ต้องชำระด้วยน้ำ
๕. อย่าทำกิจอื่นในขณะถ่าย เช่น อย่าเคี้ยวไม้ชำระฟัน

๖. อย่าทำสกปรก

๗. ช่วยกันรักษาความสะอาด อย่าเกี่ยงกัน

เกี่ยวกับความสะอาดในที่อยู่อาศัย พระองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

สุขวิทยา เช่น
ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายรดต้นไม้
ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงน้ำ
ไม่ไว้เล็บมือยาว
ไม่ไว้ขนจมูกยาว(จนออกมานอกจมูก)
ไม่เปลือยกายในที่แจ้ง และในเวลาอันไม่ควร

ใช้ไม้ชำระฟัน(คือแปรงสีฟันในสมัยนี้)
น้ำที่ดื่มต้องกรองเสียก่อน
เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว ให้ชำระด้วยน้ำ (ทำให้สะอาดไม่เป็นริดสีดวง)

ไม่สีกายในที่ไม่ควร เช่น ฝาเรือน เป็นต้น หรือด้วยของที่ไม่ควร เช่น เกลียวเชือก เป็นต้น และไม่ให้ใช้หลังสีกัน(ใช้ผ้าได้)

ไม่อยู่โดยปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง(เป็นการระวังมิให้จีวรหาย หรือสับเปลี่ยนกับใคร เพราอาจทำให้ติดโรคจากผู้อื่นได้)

ไม่กินอาหารร่วมภาชนะเดียวกัน(อย่างพระฉันในบาตร บาตรของใครก็ของผู้นั้น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงบัดนี้ หรือฉันแยกเป็นสำรับๆ สำหรับพระแต่ละรูป หรือถ้าฉันเป็นวงก็ต้องใช้ช้อนกลาง เป็นการป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากผู้อื่น ข้อนี้ขอให้เปรียบกับการกินของชาวตะวันตก)

เรื่องที่ใช้ไม้ชำระฟันหรือถูฟันนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงประโยชน์ไว้อีก คือ
๑. ทำให้ฟันสะอาด
๒. ทำให้ปากไม่เหม็น
๓. ทำให้เส้นประสาทรับรสหมดจดดี
๔. ทำให้เสมหะไม่หุ้มอาหาร
๕. ทำให้กินอาหารมีรส

การรักษาที่อยู่และสิ่งของ ข้อนี้ทรงแสดงไว้ดังนี้

เอาของใช้ตั้งไว้ในที่แจ้งแล้วต้องเก็บ เช่น เตียง เป็นต้น

อย่าทำสกปรก รักษาความสะอาด อย่าให้เปรอะเปื้อน

อย่าให้รกรุงรัง มีฝุ่นละอองมาก

ระวังไม่ให้ชำรุด รักษาเครื่องใช้ เช่น เตียง เก้าอี้ ที่อยู่ในที่นั้น น้ำดื่มน้ำชาตั้งไว้ให้พร้อม

เครื่องใช้จากที่หนึ่ง อย่านำไปใช้อีกที่หนึ่ง เว้นแต่เป็นการยืมไปใช้ชั่วคราว

อย่าเหยียบผ้าขาวที่เขาปูลาดไว้

พิจารณาก่อนแล้วจึงนั่งลงบนที่นั่ง

อย่าทิ้งของลงทางหน้าต่าง และทิ้งออกมานอกกำแพง

ไม่ล้างเท้า อย่าเหยียบเสนาสนะ

มีเท้าเปียกอย่าเหยียบเสนาสนะ

สวมรองเท้าอย่าเหยียบเสนาสนะ

ไม่พึงบ้วนน้ำลายลงบนพื้นที่ทาสี
เท้าเตียง เท้าเก้าอี้ ครูดพื้นที่ทาสี ให้พันเท้านั้นด้วยผ้า

อย่าพิงฝาที่ทาสี(รวมทั้งฝาผนัง กรอบประตู หน้าต่าง)

ผู้ควรพยาบาลคนไข้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงผู้ที่ควรเลือกให้เป็นผู้พยาบาลคนไข้ไว้ด้วย ดังนี้

๑. สามารถจัดยาให้ถูก

๒. รู้จักของควรให้กิน ไม่ควรให้กิน เช่น ของแสลง ให้คนไข้กินแต่ของที่กินได้ ไม่แสลง

๓. พยาบาลคนไข้ด้วยเมตตาจิต ไม่มุ่งอามิส

๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ เป็นต้น ไปทิ้ง

๕. เป็นผู้สามารถในการพูดปลุกปลอบใจคนไข้ด้วยธรรมกถา

คนมีคุณธรรม ๕ ประการนี้ จึงควรให้พยาบาลคนไข้ ถ้าไม่มีคุณธรรมดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ควรให้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนไข้

คนไข้ที่พยาบาลยาก
ลักษณะของคนไข้ที่พยาบาลยากและง่าย พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. ฝืนคำสั่งหมอ

๒. ไม่รู้จักความพอดีในสิ่งที่สบาย หรือชอบของแสลง

๓. ไม่ยอมกินยา

๔. ไม่บอกอาการเจ็บไข้ตามความจริงแก่หมอ หรือแก่คนพยาบาล

๕. ไม่อดทนต่อทุกขเวทนา

คนไข้มีลักษณะอย่างนี้ เป็นผู้พยาบาลยาก ไม่มีใครอยากพยาบาล ส่วนคนไข้ที่มีลักษณะตรงกันข้ามจากนี้ ย่อมเป็นคนไข้ที่พยาบาลง่าย

การรักษาต้นไม้
ปัญหาเกี่ยวกับการทำลายต้นไม้ในปัจจุบัน จึงมีการชักชวนกันให้ปลูกต้นไม้ รักษาต้นไม้ รักษาป่าไม้ ไม่ทำลายป่าไม้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ไว้ว่า

๑. ภิกษุอย่าพรากของเขียว คือ ต้นไม้ที่เกิดกับที่ให้พ้นจากที่

๒. ภิกษุอย่าถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายรดต้นไม้

๓. เว้นการทำลายพืชและต้นไม้(การทำลายคือ ทำให้ย่อยยับ)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา