การแนะนำตัว

Socail Like & Share

วันนี้เป็นฤดูหนาวที่อากาศเย็น แต่ใจของรำไพร้อนตั้งแต่เช้า ทำอะไรก็ขัดไปหมด จนพี่สาวของเธอที่ชื่อ รำภา ทนไม่ได้ต้องถามขึ้นมาว่า
“เป็นอะไรไปน่ะ รำไพ เดินงุ่นง่านยังกับเสือติดจั่น วันนี้ไม่ถักเสื้อต่อหรือจ๊ะ?”

รำไพตอบ
“ไม่หรอกค่ะ”
“มีเรื่องไม่ค่อยสบายใจ ไอ้ที่ไม่สบายก็เพราะว่าความรู้ด้านนี้ของน้องมันไม่ค่อยจะมี จะหาหนังสืออ่านให้แตกฉานก็หาไม่ได้”

พี่สาวพูดขึ้นว่า
“หนังสืออะไรกันที่จะหาไม่ได้ในเมืองไทย? มีออกเต็มตลาดไป”
“แล้วก็เรื่องอะไรที่รำไพกลุ้มใจ ไหนเข้ามาในนี้ซิ”

รำไพเดินเข้ามาอย่างไม่ค่อยสบายใจ แล้วพูดว่า
“หัวหน้าของน้องที่บริษัทเขาจะจัดงานเลี้ยงต้อนรับฝรั่งที่เป็นผู้จัดการใหญ่จากยุโรปและอเมริกา เขามอบให้น้องเป็นเจ้าของงานร่วมกับเขาค่ะ หมายความว่า น้องจะต้องคอยแนะนำให้ใครต่อใครรู้จัก ฝรั่งรู้จักไทย ไทยรู้จักชาติอื่นๆ แหม! น้องละงงไปหมดเลย เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไงถูก แล้วแนะนำเสร็จ เขาจะพูดอะไรกัน หรือได้แต่ยืนเก้อ?”

รำภาถามขึ้นว่า
“น้องอยากรู้ว่า ควรแนะนำใครให้กับใคร ยังงั้นหรือ?”

รำไพตอบ
“น้องไม่ทราบว่า ผู้หญิงกับผู้ชายน่ะเราจะแนะนำให้ใครมารู้จักกับใคร ชายหรือหญิง?”

รำภาให้คำตอบว่า
“เราต้องแนะนำชายให้รู้จักหญิงเสมอจ้ะ”
“จำไว้นะ ธรรมเนียมต่างประเทศนั้น ไม่ว่าหญิงจะอายุสักสิบแปด หรือชายใจใหญ่สักปานใด ผู้แนะนำจะต้องแนะนำชายให้รู้จักกับหญิง เช่น น้องอาจพูดว่า… “คุณดอนคะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักคุณสุมาลีค่ะ”

รำไพพูด
“อ้อ! ในงานนี้ท่านเอกอัครราชทูตก็จะมาร่วมด้วยค่ะ”
“นึกถึงแต่ท่านเหล่านี้เท่านั้น น้องก็ชักใจคอไม่ดีเสียแล้ว กลัวเปิ่นออกมาละแย่ทีเดียว”

รำภาแนะนำว่า
“สำหรับท่านราชทูต น้องก็ใช้คำแนะนำได้ง่ายๆ เช่น ดิฉันใคร่จะขอแนะนำให้ ฯพณฯ รู้จักกับคุณหญิงราชไมตรี ภาษาอังกฤษก็เรียก ฯพณฯ ว่า Your Excellency”

“ทีนี้สำหรับคนธรรมดาๆ มั่งล่ะคะ พี่” รำไพถาม

รำภาตอบน้องสาวว่า
“บางคนนิยมพูดลอยๆ เช่น ‘คุณดอน นี่คุณสุมาลี’ แต่พี่คิดว่าไพเราะสู้ทั้งประโยคไม่ได้ ยิ่งบางคนพูดว่า ‘คุณดอนคุณสุมาลี…คุณสุมาลี นี่คุณดอน’ ยิ่งไม่ไพเราะใหญ่ เพราะซ้ำชื่อทั้งสอง ชื่อละสองหน”

“น้องจะสังเกตได้ว่า ถ้าสามีแนะนำภรรยาให้รู้จักกับคนอื่น เขาจะพูดแทนนามภรรยาว่า ‘ภรรยาผม’ ไม่ใช่ ‘คุณประภา’ หรือ ‘ประภา ธนารักษ์’ เช่น สามีแนะนำว่า ‘คุณณรงค์ครับ ผมอยากแนะนำให้รู้จักภรรยาของผม’ ถ้าสนิทกันกับคนๆ นั้นมาก สามีอาจพูดได้ว่า ‘ประภามารู้จักคุณณรงค์หน่อย’ แต่ข้อหลังนี้ต้องใช้สำหรับเพื่อนที่เก่าแก่รู้จักกันดีกับสามีจริงๆ”

“ฝ่ายภรรยาก็เช่นเดียวกัน เธอจะแนะนำให้ใครคนหนึ่งรู้จักสามีได้โดยใช้สรรพนามแทนชื่อสามีว่า ‘สามีของดิฉัน’ เช่น เธออาจพูดว่า ‘นี่คุณสมศักดิ์คะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักสามีดิฉันค่ะ’ หรือ ‘คุณสมศักดิ์คะ นี่คุณยศ สามีดิฉันค่ะ’

“ส่วนในการติดต่อธุรกิจ ฝรั่งนิยมใช้เรียกชื่อสกุล เช่น Mr. White หรือ Mrs. White กับคนอื่น เขาไม่นิยมเรียกชื่อแรก เช่น John หรือ Mary และไม่นิยมใช้คำว่า My husband หรือ My wife ในการพูดจาติดต่อเกี่ยวกับการงาน”

รำไพถามต่อว่า
“บางทีเราอาจถามเขาว่า เขารู้จักกันมาก่อนหรือยังก็ได้ ใช่ไหมคะ?”
“เช่น ‘คุณกัลยา รู้จักคุณสุมาลีแล้วใช่ไหมคะ?’ หรือ ‘คุณกัลยาเคยพบคุณสุมาลีมาแล้วนี่คะ ใช่ไหม’”

รำภาบอกว่า
“พี่คิดว่า เลือกเอาข้อความแรกดีกว่าใช่ไหม? ตรงปลายตัดทิ้งเสียไพเราะกว่า”

รำไพถามพี่สาวต่อว่า
“แล้วน้องจะพูดยังไงต่อไปอีกล่ะคะ? เพราะว่าแนะนำเขาแล้ว เขาก็คงจะพากันยืนเก้ออยู่ตรงนั้นเอง เขาจะหาเรื่องอะไรมาคุยกันต่อได้ล่ะคะ?”

รำภาตอบน้องสาวว่า
“อ้อ! นั่นเป็นหน้าที่ของน้องอีกจ้ะ น้องจะต้องทราบว่า คนที่น้องแนะนำนั้น เขาชอบอะไร ทำอะไร เช่น ‘Mr. White คะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักคุณณรงค์ ผู้ชนะเลิศกอล์ฟประจำปีนี้ค่ะ’ ถ้าคนหนึ่งสนใจในงานของคนที่ถูกแนะนำให้รู้จัก การสนทนาก็จะดำเนินไปได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ถ้าเขาไม่ใคร่สนใจ อย่างน้อยที่สุด พี่ว่าเขาก็ยังจะพอหาเรื่องมาสนทนาได้นานพอใช้ ภายหลังจากที่ทราบเป็นเลาๆ ว่า อีกฝ่ายหนึ่งชอบอะไร และเป็นใคร”

รำไพแสดงความเข้าใจด้วยการพยักหน้าน้อยๆ ส่วนรำภากล่าวต่อว่า
“ขอแต่อย่าพูดอย่างนี้จ้ะ เช่น ‘Mr. White คะ จับมือกับคุณณรงค์สิคะ’ หรือ ‘Mr. White คะ ดิฉันอยากให้คุณเป็นเพื่อนกับคุณณรงค์ต่อไปค่ะ’ อะไรอย่างนี้ไม่น่าฟังเลย อย่าถามว่า ‘คุณชื่ออะไร?’ เพราะคนบางคนไม่ชอบบอกชื่อของเขาง่ายๆ ถ้าอยากรู้ว่าเราได้คุยกับใครอยู่ ก็จงถามบุคคลที่สามภายหลังว่า ผู้หญิงใส่ชุดสีเทานั่นชื่ออะไรคะ?’ เมื่อทราบแล้วจำเอาไว้ พอเจอผู้หญิงชุดเทาอีก น้องก็อาจเข้าไปคุยด้วยได้ โดยเรียกชื่อเธอถูกต้องทันที”

รำไพขัดขึ้นว่า
“พี่คะ งานนี้เขาจะมีการเลี้ยงแบบหรูหรามากเชียวค่ะ ข้างหน้าแต่ละที่นั่งมีบัตรเขียนชื่อตั้งเอาไว้ เราจะเลือกที่นั่งเองไม่ได้ ชื่ออยู่ตรงไหน เราก็นั่งตรงนั้น”

รำภาพูดว่า
“น่าสนุก”
“น้องคงไม่มีอะไรสงสัยสินะจ๊ะ?”

รำไพบอกพี่สาวว่า
“มีสิคะ มีมากทีเดียว เพราะน้องกลัวว่าอาจโดนนั่งใกล้กับใครที่น้องไม่อยากรู้จักเท่าไรนัก และไม่อยากบอกชื่อของน้องด้วย”

รำภาตอบ
“ในกรณีอย่างนี้คงเป็นไปไม่ได้หรอกจ้ะ”
“เพราะบนโต๊ะมีบัตรชื่อน้องวางอยู่ น้องจะเก็บเสียก็ไม่ได้ พี่คิดว่าคงไม่มีใครที่น้องรู้สึกไม่ชอบถึงขนาดไม่อยากให้เขารู้ชื่ออยู่ในงานนี้กระมัง”

รำไพยังรู้สึกไม่สบายใจและตอบว่า

“ก็ไม่แน่นักค่ะ”

พี่สาวพูดต่อ
“อือม์ พี่ก็เห็นใจ เพราะรำไพยังเป็นสาวอายุยี่สิบเศษเท่านั้น ถ้าเป็นการเลี้ยงโต๊ะธรรมดาไม่มีบัตรชื่อ แล้วเขาถามว่าน้องชื่ออะไร น้องไม่อยากบอกว่าชื่อรำไพ ก็อาจเลี่ยงไปพูดได้ว่า ‘ดิฉันเป็นหลานคุณวรพงศ์ เทพอารักษ์ เป็นคนกว้างขวาง ใครๆ ก็เคยได้ยินชื่อ’ หรือ ‘ดิฉันก็คนหนึ่งในบรรดาพวกสกุล เทพอารักษ์ ค่ะ’ เรื่องอย่างนี้สิพี่สบายใจได้ เพราะพี่อายุสามสิบกว่าปีแล้ว พี่จึงจะบอกคนที่ถามชื่อพี่ได้ทันทีว่า ‘ดิฉันชื่อรำภา เทพอารักษ์’ น้องคงจะหลีกไปได้หรอกจ้ะ ถ้าเขาส่งบัตรชื่อจากใกล้จานของเขามาให้น้องดูแล้วพูดว่า ‘นี่ชื่อผม คุณล่ะครับ?’ น้องก็ควรส่งบัตรชื่อน้องให้เขาอ่านเสียก็แล้วกัน พี่คิดว่าไม่มีอะไรน่ารังเกียจจนน้องต้องเก็บเอาไปกลุ้มใจนะจ๊ะ”

รำไพตอบอย่างหนักแน่นว่า
“ค่ะ ถ้ามันช่วยไม่ได้ก็แล้วไป เพราะน้องก็ไม่ใช่คนคิดมาก และอาจไม่มีคนนั่งข้างๆ ที่น้องรังเกียจถึงขนาดนั้นตามที่พี่ว่า”
“อ้อ! เมื่อเราแนะนำเขาแล้ว เขาพูดยังไงกันคะ?”

รำภาตอบ
“เขาก็พูดว่า ‘ผมดีใจมากที่ได้มีโอกาสรู้จักคุณ’ หรือ ‘รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รู้จักคุณ’ ‘ยินดีที่รู้จักคุณ’ แต่ถ้าเป็นคนที่เราอยากเจอมานานแล้ว พอได้รับการแนะนำ เราอาจพูดได้ว่า ‘แหม! ดิฉันดีใจจริงๆ ค่ะ ที่ได้รู้จักคุณ’ หรือ ‘ยินดีเหลือเกินที่ได้รู้จักคุณในที่สุด’ และอาจเสริมได้ว่า ‘เพื่อนๆ ของดิฉันกล่าวถึงคุณเสมอ พวกเราชอบอ่านบทความที่คุณเขียนกันมากค่ะ’ สมมติว่า เด็กสาวถูกแนะนำให้รู้จักเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เด็กหนุ่มคนนี้รู้จักเผินๆ กับเพื่อนของเธอที่ชื่อว่าวิมาลา เธออาจพูดว่า ‘วิมาลาเคยพูดถึงชื่อคุณค่ะ’ แต่ไม่พูดว่า ‘โอ้โฮ! ฉันได้ยินวิมาลาพูดถึงคุณบ่อยจนหูชา จนรู้สึกว่าได้รู้จักตัวคุณมานมนานแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งจะเห็นวันนี้เอง!’”

“เด็กสาวต้องพูดให้น้อยหน่อย และต้องไม่บอกเด็กหนุ่มหรือชายหนุ่มใดๆ ว่า ตัวเธอหรือเพื่อนเธอมีความสนใจในเขาเพียงใด ถึงขนาดเอาชื่อเขาไปกล่าวถึงบ่อยๆ ลับหลังเขา เธออาจเพียงพูดว่า ‘วิมาลาเคยพูดว่า คุณเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ปีนี้ใช่ไหมคะ?’ แล้วเขาก็จะตอบว่า ‘ถูกแล้วครับ ขณะนี้ผมกำลังฝึกงานอยู่’ ฟังดูไพเราะ เรียบร้อยกว่าการพูดเรื่อยเจื้อยเมื่อได้พบกันครั้งแรกตั้งก่ายกอง!”

เมื่อรำไพนึกถึงอีกเรื่องก็ถามขึ้นว่า
“พี่คะ จับมือกันแบบฝรั่งนี่ ทำยังไงถึงจะถูกคะ?”

รำภายิ้มก่อนจะอธิบายว่า
“หญิงยื่นมือขวาออกไป ชายยื่นมือขวาออกมาสัมผัสกันเบาๆ แต่อย่าปล่อยมือเราให้ห้อยๆ ตกๆ เหมือนที่ฝรั่งเรียกว่า ‘ปลาตาย’ ให้เขาเป็นฝ่ายจับมือคนเดียว และก็อย่าจับมือรุนแรงจนเกินต้องการ ทำให้พอดีๆ แหละเหมาะ ในงานเช่นนี้ น้องในฐานะเจ้าของงานคนหนึ่งจะต้องจับมือกับแขกทุกคน จึงควรลุกขึ้นยืนเสมอ และจับมือด้วยความเต็มอกเต็มใจ หญิงต่อหญิงอาจจับมือกันได้ หรือไม่จับกันก็ได้ เมื่อได้คุยกับใครมานานพอแล้วตลอดงาน ขากลับจะลาจากกันก็ไม่จำเป็นต้องจับมือ”

“ถ้าน้องนั่งอยู่ และมีแขกสตรีเข้ามา น้องไม่ต้องลุกไปทักทายก็ได้ แต่ถ้าสตรีนั้นอายุสูงกว่ามากก็ควรลุกขึ้น ถ้าอายุเท่ากัน หรือน้อยกว่าก็ไม่จำเป็น นอกจากน้องเห็นว่าแขกคนนั้นเพิ่งมาถึง และยังไม่ได้รับการแนะนำอะไรเลย หากน้องเป็นคนแนะนำ ก็ลุกขึ้น ถ้าคนอื่นเป็นคนแนะนำ น้องก็ไม่ต้องลุก คอยจนเขามาถึงที่เรานั่งอยู่ก่อน ถ้าเขาอายุมากกว่าควรลุกเสียหน่อย ถ้าอายุน้อยกว่าหรือเท่ากัน ก็นั่งอยู่อย่างเดิมขณะที่รับการแนะนำได้ไม่ผิด”

รำไพมีคำถามอีก
“พี่คะ เวลาเขาจะกลับล่ะคะ?”

รำภาตอบ
“ถ้าแขกแสดงความประสงค์จะกลับ น้องก็จับมือกับเขา แล้วพูดว่า ‘ดิฉันหวังว่าเราจะได้พบกันอีก สวัสดีค่ะ’ หรือ ‘ดิฉันเพลินกับการคุยของเรามากค่ะ’ หรือ ‘ขอบคุณที่อุตส่าห์ฟังดิฉันคุย ลาก่อนนะคะ’ หรือ ‘ขอบคุณที่กรุณามางานนี้ค่ะ สวัสดีค่ะ’”

รำไพพูดต่อว่า
“แหม! เรื่องยุ่งเหมือนกันนะคะ แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้ได้ว่าไม่สมควรแนะนำล่ะคะ?” “น้องพอจะรู้เรื่องการแนะนำให้รู้จักกันแล้วค่ะ

รำภาตอบ
“ดีจ้ะ”

รำไพถามต่อ
“น้องอยากรู้ว่า ตอนไหนที่ไม่ควรแนะนำ?”

รำภา
“ก็เช่น อย่าแนะนำแขกที่เพิ่งมาใหม่แก่แขกที่กำลังจะลากลับอยู่ในเวลานั้นแล้ว อย่าแนะนำบุคคลที่สามเข้าไป ในขณะที่คนสองคนกำลังคุยกันอย่างสนุกสนาน”

รำไพถามต่อ
“มีอีกข้อหนึ่งค่ะพี่”
“คือถ้าเราอยากแนะนำตัวเราเอง เราจะทำยังไงคะ?”

รำภาบอกว่า
“น้องก็เดินเข้าไปหาคนๆ นั้น พูดว่า ‘คุณหญิงราชไมตรีคะ คุณแม่ดิฉันเป็นเพื่อนกับคุณหญิงใช่ไหมคะ? ดิฉันเป็นลูกของคุณราตรี เทพอารักษ์ ค่ะ’ หรือกับหญิงวัยเดียวกัน น้องอาจเข้าไปถามว่า ‘คุณสุมาลีใช่ไหมคะ?’ น้องก็อธิบายว่า ‘พี่รำภาพี่สาวดิฉันพูดถึงคุณเสมอค่ะ’ เมื่อเขาตอบ ‘อ๋อ! น้องของรำภาหรือคะ? เธอชื่อรำไพหรือรำพรล่ะคะ?’ น้องตอบเขาว่า ‘รำไพค่ะ’ เขาอาจพูดต่อว่า ‘แหม! ยินดีที่ได้พบเธอในที่สุดค่ะ รำไพ’ แต่ถ้าเป็นพี่ชายหรือน้องชายของเพื่อน ควรจะกล่าว ‘สวัสดีเฉยๆ’ น้องไม่ควรแนะนำตัวให้รู้จักเพื่อนของแม่ หรือเพื่อนของพี่ ฯลฯ ถ้าแม่และพี่รู้จักเขาเพียงผิวเผิน อย่าพูดว่า ‘นี่คุณ แนะนำฉันให้รู้จักคนนั้นหน่อยซิ’ อย่าพูดว่า ‘คุณไม่รู้จักคุณยศหรือ? ตายแล้ว! ไม่เชื่อหรอก!’ หรือ ‘ไม่เห็นบอกฉันเลยว่า เพื่อนเธอคนนี้ชื่ออะไร’ หลีกเลี่ยงการพูดว่า ‘อ้าว! นี่สองคนยังไม่รู้จักกันหรือคะ?’ หรือ ‘นี่คุณจะไม่แนะนำฉันรู้จักกับเพื่อนคุณมั่งหรือ? คนอะไร!’ บางทีน้องอาจพบว่า เราแนนำตัวเองให้กับคนที่เขาลืมเราแล้ว เช่น ‘คุณหญิงราชไมตรีคะ ดิฉัน รำไพ เทพอารักษ์ ค่ะ’ ถ้าคุณหญิงทำท่าว่าจำเธอไม่ได้ น้องก็เสริมว่า ‘ดิฉันเป็นเพื่อนของสุรางค์บุตรสาวของคุณหญิงค่ะ เราเคยไปที่บ้านของสุรางค่อยๆ ค่ะ’ อย่างนี้จะช่วยเตือนความจำของคุณหญิงได้ดีขึ้น ท่านอาจตอบว่า ‘อ๋อ! เธอน่ะเอง ขอโทษที่ฉันจำเธอไม่ได้ เพราะหนุ่มสาวโตเร็วและเปลี่ยนแปลงกันมาก ขอบใจที่อุตส่าห์ทักฉันนะจ๊ะ ฯลฯ’

รำไพพูดว่า
“บางทีเราก็แนะนำคนโดยไม่ได้ตั้งใจนะคะพี่”
“เช่นเมื่อวันก่อน น้องพูดกับป้าไสวว่า ‘ป้าคะ ลุงบุญมีคนสวนอยากให้เอาหางนกยูงต้นโน้นมาปลูกข้างทางค่ะ’ ป้าไสวเลยรู้จักว่าคนสวนเราชื่อลุงบุญมี”

รำภามองดูนาฬิกาแล้วพูดว่า
“สายมากแล้ว พี่จะต้องไปธุระเสียทีว่าไงจ๊ะ รำไพ? พอจะสบายใจขึ้นมั่งไหม ก่อนงานใหญ่คราวนี้?”

รำไพไหวพี่สาวอย่างนอบน้อมแล้วพูดว่า
“ค่ะพี่ ขอบพระคุณมากที่สุด”
“น้องพอจะมั่นใจตัวเองขึ้นบ้าง ไม่ไปทำผิดพลาดให้ฝรั่งเห็นละค่ะ”

รำภาพูดเสริมว่า
“แต่น้องต้องสังเกตด้วยนะจ๊ะ ว่าประเพณีของเขาก็งามของเราก็งาม แต่จะงามแตกแตกกัน เพราะของเรานั้นผู้น้อยต้องเข้าไปแนะนำตัวต่อผู้ใหญ่เสมอ ไม่ว่าหญิงหรือชาย เราใช้วิธีไหว้และรับไหว้ แต่ฝรั่งจะใช้วิธีจับมือ”

รำไพหัวเราะเบาๆ และพูดว่า
“บางทีฝรั่งอยู่เมืองไทยก็ชอบไหว้ค่ะ มองดูเก้งก้างเขินๆ แต่เขาชอบ”
“ที่บริษัทของน้องน่ะมีบ่อยเชียว ที่เขาไม่ยอมจับมือ แต่ชอบไหว้แทน”

พี่สาวตอบ
“เราก็ควรภูมิใจละจ้ะ”
“ถ้าเขาไหว้ได้ก็ให้ไหว้เถอะ เราไหว้ตอบเขา เขาก็พอใจที่เขาทำอย่างเราได้ และจะพอใจกว่าจับมือเสียอีก พี่มีเรื่องขำอีกนิดหนึ่ง คือฝรั่งที่พี่รู้จักเขามาบ่นว่า คนไทยบางคนนี่เป็นยังไงไม่รู้ พอเขาไหว้กลับยื่นมือขวาออกมาจะจับมือกับเขา พอเขาพูดไทยด้วยก็แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ ไม่พยายามเข้าใจเอาเสียยังงั้นแหละ แล้วพยายามส่งภาษาฝรั่งกับเขาจนได้ อันที่จริงพี่ว่า แม้เราอาจเคยจับมือ หรือพูดฝรั่งได้คล่องแค่ไหน แต่ก็ควรถือเป็นความภูมิใจข้อหนึ่งที่คนต่างชาติยังชอบประเพณีของเรา และพยายามทำตามประเพณีเรา”

รำไพตอบ
“นั่นสิคะ ถ้ามีฝรั่งมาไหว้น้องละก็ น้องคงรีบรับไหว้ไปเลยด้วยความดีใจ ส่วนเรื่องภาษาไทยนั้นไม่ต้องพูดถึงละค่ะ เพราะน้องคล่องกว่าภาษาอื่นๆ อยู่แล้ว ขืนโดนฝรั่งพูดไทยด้วยละก็ น้องคงรีบคุยด้วยไม่ทันเชียว!”

สองคนพี่น้องก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์