พิธีกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินแสดงออกด้วยการละเล่น

Socail Like & Share

หลังเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร มนุษย์ก็จะรอฤดูการผลิตครั้งใหม่ที่จะมาถึงต่อไป
ช่วงระหว่างเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวถึงฤดูกาลใหม่ ที่จะมานั้น ความแห้งแล้งปรากฏอยู่ทั่วไป เครื่องมือในการทำมาหากินประเภทที่ใช้หาปลาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ที่ใช้อยู่เป็นระยะๆ ก็คือประเภทครก สาก กระด้ง เป็นต้น เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ไม่ใหญ่โตนัก สามารถหยิบยกได้ด้วยคนๆ เดียว ไม่เหมือนไถและคราดที่ใช้ในการทำนานั้นต้องแบกต้องหามและต้องใช้แรงสัตว์ เช่น วัว ควายในการชักลาก
ความกังวลของมนุษย์ต่อฤดูการผลิตใหม่มีอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีน้ำบริบูรณ์เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าหากฤดูการผลิตที่ผ่านมาน้ำไม่ดี ข้าวปลาอาหารไม่บริบูรณ์ ก็อยากจะรู้ว่าฤดูการผลิตต่อไปจะต้องประสบปัญหาเช่นที่ผ่านมาหรือไม่ นี่เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่ต้องพึ่งธรรมชาติ แต่ก็มีความปรารถนาที่จะเป็นนายบีบบังคับควบคุมธรรมชาติ แม้จะเป็นนายบังคับไม่ได้ก็ขอเพียงให้รู้ล่วงหน้าว่าธรรมชาติ จะทำอย่างไรต่อไป
ดังกล่าวมาแล้วว่ามนุษย์มีความเชื่อในเรื่องผีเรื่องสาง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีผีสางสิงสถิตอยู่ทั้งนั้น แม้แต่ในเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ประกอบการทำมาหากินก็มีผี และผีเหล่านี้ก็เป็นผีดีไม่ใช่ผีร้าย ผีเท่านั้นที่จะรู้ความลับทั้งหลายในโลก รวมทั้งความเร้นลับของธรรมชาติด้วย ดังนั้น จึงก่อให้เกิดมีพิธีกรรมที่จะเล่นกับผี หรือที่จะเรียกผีเชิญผีมาสอบถาม แต่ผีพวกนี้มักพูดไม่ได้ หากฟังรู้เรื่องมนุษย์จะถามอะไรก็ได้ แต่ผีจะตอบด้วยการแสดงการกระทำเพื่อให้มนุษย์ไปคาดคะเนหรือเดาหรือเสี่ยงทายเอาเอง
จากการศึกษาและสำรวจภาคสนาม ได้ความว่าพิธีกรรมเชิญผีประเภทนี้มาเล่นเสี่ยงทายนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วทุกท้องถิ่นที่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง หรือภาคใต้ และน่าจะรวมทั้งในท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย
ตัวอย่างพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำมาหากินที่จะยกมานี้ ได้มาจากการร่วมเดินทางไปศึกษากับภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย¬ศิลปากร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ แหล่งที่ศึกษาก็คือ หมู่บ้านชาติตระการ ที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ดังมีรายงานต่อไปนี้
ก่อนการเล่นได้มีการไปเชิญผู้สูงอายุที่สุดในบ้าน คือ “ต้นหนอม” (นางถนอม หมั้นนาค) มาทำพิธีขอขมาต่อเจ้าปู่ วิญญาณเจ้าบ้านของหมู่บ้านเพื่อขอขมาลาโทษ เวลาเล่นจะได้ไม่มีเรื่องร้ายมาแทรก (จากการสอบถามทราบว่า เรื่องร้ายก็คือผีพรายจะเข้ามาสิงสู่คนเล่น คือ แทนที่วิญญาณเทวดา วิญญาณนางช้าง ลิงลม จะเข้า ผีปีศาจจะเข้าแทน ต้องขออำนาจเจ้าปู่เจ้าบ้านคุ้มครองผู้เล่นจะได้ไม่ถูกสิงด้วย วิญญาณร้ายแล้วเตลิดเข้าป่าหายไป)
เครื่องเซ่นในพิธีขอขมาเจ้าปู่บอกกล่าวก็คือ น้ำตาลทราย ๑ ช้อน หมาก ๑ คำ ข้าวสุก ใบพลู ๑ ใบ ยาเส้น น้ำ ๑ แกว น้ำมัน แป้ง ดอกไม้ ฯลฯ วางรวมๆ กันบนพื้นดิน คนแก่จะกล่าวเชิญเทวดาลงมาจากสวรรค์ และบอกเล่าเจ้าปู่เจ้าบ้าน กล่าวพอจับใจความได้ดังนี้ “เชิญนางฟ้า เจ้าที่ เจ้าทาง พ่อปู่เจ้าบ้าน ลงมาเล่น ลิงลม นางช้าง ลูกเขา เขาบ่เคยเห็นลงมาเถิด ลงมาอย่าเอาอย่างอื่นมาแทรก อย่าเอาแปลกมาปน นางฟ้า นางสวรรค์ ลงมารับมากินเครื่องเซ่น อย่าไปทวงไปทักเขา ให้เขาเล่นชื่น ให้เขาเล่นม่วนหลาย อย่าไปท้วงไปทักเขา”
จากนั้นชาวบ้านก็จะล้อมวงมาเล่นโดยเริ่มเล่นนางด้งก่อน มีการร้องเพลงตีกลอง กระทุ้งท่อนไม้ซางให้เกิดเสียง ผู้สังเกตได้บันทึกคำร้อง (เพลง) ของการละเล่นแต่ละอย่าง ไว้ดังนี้ (ถอดตามสำเนียงพื้นบ้าน)

นางด้ง
คำร้องนางด้ง
นางด้งเอย เข้าป่าล่าโหง    กระด้งฟัดข้าว ลงมาปี๊ดปี๊ด
ลงมาพายพาย กำดินกำทราย    มาให้นั่งเต้า มาชื่นข้าวเล่า หละแม่นางด้งเอย
คำร้องลิงลม
ลิงลมเอยมาอมข้าวพอง เด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก แกนหัวแกนหาง ตรงกลางดุกดิก มะพร้าวต๊กโต ขนมต้มพลู ไอ้แก้วหน้าหนู เล่นชู้กลางวัน อร่เล้เล่นเล
คำร้องนางควาย
นางควายเอย นางควายสองเขา ตะลาวติดลบ นบค้าง ค่าง ข้างยักดี คิ้วน้อยๆ ตกตากาแบ สั่นแท้ๆ ยกขึ้นขาควาย อี้เลเล่นเล
คำร้องนางช้าง
นางช้างเอย มาตัดเกาลัด ช้างกินใบไผ่ งังกินหญ้า ม้ากินสลัดได จานต้มไข่ ขมิ้นเหลืองอ่อน ไอ่เมไอม่อน ไอ่จ้นป่อระแม เห้โยนเอ้โยน
คำร้องนางกะลา

ต้นไม้เอย เจ้านอนไม่หลับ อย่าขยับอย่าขยาย (พอล้มลุกขึ้นฟ้อนร้องว่า “สาวน้อย เจ้ารำงามแท้ เจ้ารำงามเอย ระบำมาแต้ไหนเอย ระบำมาแต่โคราชเจ้าของมานอนพักญาติ มาร่วมกันรำฟ้อนเอย”)
รายละเอียดการเล่นมีดังนี้
นางด้ง
ก่อนเล่นจะต้องมีเครื่องบูชาเทวดา ที่นิยมกันมากได้แก่ แป้งหอม น้ำมัน หมาก ๑ คำ ซองดอกไม้พานธูปเทียน นำของบูชาเหล่านี้วางบนใบตองบนพื้นคนตีกลอง ก็เริ่มตีกลอง คนกระทุ้งท่อนไม้ซางก็กระทุ้งเป็นจังหวะไปเรื่อยๆ เหตุที่ต้องบูชาเทวดาก็เพราะว่าการละเล่นนี้ ชาวบ้านโดยเฉพาะคนสูงอายุเชื่อกันว่าผีวิญญาณร้ายจะคอยวนเวียนดูอยู่ หากมีโอกาสจะเข้าเชย (สิงสู่) คนที่เล่นต้องขออำนาจเทวดามาคุ้มครองผู้เล่นโดยมากมักเป็นผู้หญิง ๒ คน จับขอบกระด้งคนละด้าน มีคนเชิดนั่งล้อมวงร้องเพลง เชิญเทวดามาเข้าคนเล่น ชาวบ้านจะเอาน้ำใส่ภาชนะไปซ่อนไว้ไกลๆ ถ้าเทวดาเข้ามือคนทรงจะสั่นตอนแรกก็เบาๆ ก่อน กระด้งก็สั่นด้วยค่อยๆ แรงขึ้น จนสั่นรุนแรงไปมา คนถูกทรงก็จะถือกระด้งเดินสั่นไปรอบๆ วนไปมา แล้วเดินไปเที่ยวหาน้ำเรื่อยๆ จนสักพักก็กลับมาที่เก่า ชาวบ้านจะถามว่าปีนี้ ฝนจะตกดีหรือไม่ ถ้าตกดีให้ฝัดข้าว คนถูกทรงก็จะฝัดข้าว ถ้าฝนแล้งกระด้งก็จะหยุดสั่น เมื่อผู้เล่นเหนื่อยมากแล้วก็จะหยุดเล่น
นางกะลา
ก่อนเล่น ชาวบ้านจะมีการซักซ้อมกันก่อน เนื่องจากไม่ได้เล่นมานานแล้ว ตอนแรกก็มีการเอาผ้ามาผูกตาผู้เล่นโดยมากเป็นหญิงสาวที่ใจไม่แข็ง แล้วพาผู้เล่นขึ้นเหยียบ นั่งบนกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง
ชาวบ้านล้อมวงร้องเพลงเชิญเทวดาเข้า พอเข้าผู้เล่นจะหมุนร่างเป็นวงรอยกะลาหมุนตามค่อยๆ เร็วขึ้นสักครู่ก็ล้มลงนอนกับดินสักพักก็ลุกขึ้นฟ้อนรำออกท่าทาง ชาวบ้านร้องเพลงประกอบรำจนเหนื่อย จะมีคนหนึ่งเข้าไปตะโกนเสียงดัง “ปี๊ด” ที่ข้างหูคนถูกทรงเทวดาก็จะออกไป
นางช้าง
อุปกรณ์การเล่นก็มี ผ้าขาวม่า ๓ ผืน ผืนหนึ่งพันเป็นงวง อีกผืนทำเป็นหาง และเอาคลุมหลังผู้เล่นไว้ ผู้เล่นมักเป็นผู้ชาย (ผู้หญิงจะไม่เล่น) จะนั่งคล่อมสากคู่เอาไว้ ในลักษณะเข่าทั้งสองแนบกับดิน จะมีผู้ชายกลุ่มหนึ่งคอยจับผ้าขาวม้าที่เป็นหางไว้ทางข้างหลังชาวบ้านล้อมวงร้อง เพลงเชิญวิญญาณช้างเข้าสิง ถ้าเข้าร่างกายผู้เล่นจะค่อยๆ สั่น โยกเยกไปมาซ้ายขวาจนค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้เล่นจะกระโจนไปข้างหน้าไปกัดกินท่อนกล้วย ฉีก และกลืนลงในท้องในลักษณะการกินของช้าง วิ่งวนไปมาสักพักคนก็เข้าไปเป่าปี๊ดวิญญาณก็ออกไป
จากการสังเกตการณ์การละเล่นนี้ในคืนวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๖ ณ. สนามโรงเรียนบ้านชาติตระการพบว่า ใช้เวลานานมากกว่าที่วิญญาณจะเข้าสิงต้องเปลี่ยนผู้เล่นหลายคน ดังชื่อต่อไปนี้ ผู้เล่นคนแรกคือบุเรงนอง ลอยเหม็น ไม่เข้า คนที่สองชื่อบุตร ไม่เข้า คนที่สามชื่อบรรจง ไม่เข้า คนที่สี่ชื่อเพลิน ไม่เข้า คนที่ห้าชื่อแหนง ถึงจะเข้าจากการสอบถามทราบว่าเหตที่วิญญาณไม่เข้าก็เพราะหันหัวไปไม่ถูกทิศ ตอนแรกหันหัวไปทางทิศบูรพา ต้องย้ายไปทางทิศอีสานและผลของการร่วมแรงกันร้องเพลงเสียงดังกระหึ่มก็มีผลให้วิญญาณช้างเข้าผู้เล่นเร็วด้วย
ลิงลม
ลักษณะการเล่นก็คล้ายๆ กับอย่างอื่นคือผู้เล่นจะนั่งกอดเข่าของตนก้มหน้าจรดเข่าอยู่ข้างบนครกตำข้าวขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะเอาผ้าขาวม้าคลุมหน้าผู้เล่นแล้วจะร้องเพลงว่า “ลิงลมเอยมาอมข้าวพองเด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก แกนหัวแกนหาง ตรงกลางดุกดิก มะพร้าวต๊กโต ขนมต้มพลู ไอ้แกวหน้าหนูเล่นชู้กลางวัน อิ๊เลเล่นเล” พอวิญญาณเข้าร่างของคนเล่นจะสั่นโยกเยกไปมาจนรุนแรง แล้วกระโจน พุ่งพรวดออกไปข้างหน้าไปกินกล้วยที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้แล้วจะมองหาต้นไม้ปีนป่ายขึ้นไปจนถึงข้างบนสักครู่ก็ลงมา ก่อนจะลงชาวบ้านจะร้อง “ลงมาเร็วว้า ลงมาเร็วเหวย ลงมาไม่ได้ไต่ไม้ลงมา ลงมาไม่เป็นหกคะเมนลงมา ลงมาไม่รอดกอดต้นไม้ลงมา” พอลงถึงพื้นก็มีคนร้องปี๊ดวิญญาณก็ออกกลับสู่ปกติ
นางควาย (สัมภาษณ์ต้นหนอม)
การละเล่นนี้ไม่ได้เล่นมานาน ผู้เฒ่าผู้แก่พอจะระลึกถึงความหลังเล่าพอฟังจับใจความได้ว่า การเชิญผีนางควายเข้าจะใช้หัวควายที่ชำแหละเนื้ออย่างดีตากเนื้อแห้งโดยไม่มีกลิ่นเหม็นเลย แล้วใช้ไม้ขนาดพอเหมาะมือตอกต่อจากหัวควายนั้น เพื่อใช้จับเวลาให้ควายไถนา เมื่อบูชาเทวดาแล้ว คนทรงก็จะจับไม้ยาวๆ ที่ตอกไว้นั้นคนเชิญจะต้องเพลงเชิญเทวดาให้มาสิงสู่ในหัวควาย ถ้าเทวดามาตามคำเชิญมือคนที่ จับจะเริ่มสั่นทีละน้อยจนสั่นมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดหัวควายนั้นจะสั่นเคลื่อนไหว ชาวบ้านจะถามว่าฝนจะตกพอที่จะไถนาได้ไหม ถ้าได้ขอท่านแสดงฝีมือในการไถนาให้ดูหัวควายจะไถนาโดยวิ่งปราดๆ ไปข้างหน้า เร็วบ้าง เลี้ยวไปๆ มาๆ เหมือนกับการไถนาจริงๆ เหมือนควายไถเมื่อเหนื่อยแล้วก็เชิญเทวดาออกเป็นเสร็จการเล่นนางควาย
โดยสรุปแล้ว รายงานนี้เป็นการศึกษาการละเล่นโดยพยายามค้นหาความหมายที่แท้จริง ตลอดถึงค้นหาบทบาท และหน้าที่ที่การละเล่นจะพึงมีต่อชุมชนที่เป็นเจ้าของ ขณะเดียวกับการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของการละเล่นกับสถาบันอื่นๆ ในสังคม และศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการละเล่นนั้นๆ พร้อมไปด้วย จะช่วยในการทำความเข้าใจทั้งรูปแบบและเนื้อหาตลอดจนพัฒนาการของการละเล่นได้ชัดเจนมากขึ้น และขณะเดียวกันก็จะทำให้เข้าใจถึงพัฒนาการของสังคม-วัฒนธรรมไทยได้ โดยจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในท้องถิ่นต่างๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาที่มีพัฒนาการมายาวนาน จากนั้นแต่ละชุมชนหรือสังคมก็จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดจนเกิดความหลากหลายไปตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่น
การศึกษาเรื่องการละเล่น สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของพื้นฐานทางด้านความเชื่อของสังคมไทยที่มีความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิมรับรองอยู่แล้ว ดังเช่นความเชื่อถือทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับผีสางต่างๆ ก่อนจะมีการรับวัฒนธรรมจากต่างแดนเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของตน จนยากที่จะแยกออกอย่างเด่นชัด สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในลักษณะของพิธีกรรม และการละเล่นที่ผูกอยู่กับพิธีกรรม ของความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่งมีการทำมาหากินเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากสังคมที่เป็นเผ่าพันธ์หาอาหารป่า แล้วจึงพัฒนามาเป็นสัง คม ที่ทำไร่ทำนาอยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นบ้าน เป็นเมือง แว่นแคว้นต่างๆ ดังนั้นการละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ก็ย่อมต้องเข้าใจได้ โดยอาศัยความเข้าใจพัฒนาการของสังคมประกอบ และการคลี่คลาย ของลักษณะสังคมวิถีชีวิต และระบบความเชื่อด้วย
การเข้าใจถึงระบบความเชื่อ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ รวมทั้งเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจด้วยนั้น ยังช่วยให้เข้าใจหรืออธิบายถึงลักษณะของเพลง หรือการละเล่นที่ไม่อาจเข้าใจได้ โดยการศึกษาแค่เพียงรูปแบบอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น การเล่นเพลงโต้ตอบของหญิงชาย ที่มีเนื้อหาเรื่องทางเพศ และถ้อยคำหยาบคายมากมายจนกระทั่ง ชนชั้นสูงในสังคมถือว่าเป็นเรื่อง ‘ลามกตลกเล่น, และหยาบช้า ป่าเถื่อน หรือในบางครั้งมีความเข้าใจว่า ถือเป็นการระบายความเก็บกดทางเพศก็ดีนั้น เนื่องจากผู้ที่มีความคิดเช่นนั้นไม่ทำความเข้าใจ และไม่คำนึงถึงความหมายหรือความสำคัญของพฤติกรรมดังกล่าวต่อชุมชนที่เป็นเจ้าของ ที่มิได้แยกการละเล่นออกจากวิถีชีวิต-ความเชื่อของตน ดังที่สังคมปัจจุบันเป็นอยู่ ที่ผู้เล่น หรือผู้แสดง ผู้ชม เป็นคนละกลุ่มกันมิได้มีความสัมพันธ์ หรือความเชื่อร่วมกัน เพราะแท้ที่จริงการกล่าวถ้อยคำหยาบๆ หรือเกี่ยวกับเรื่องทางเพศก็ดี ที่กระทำโดยเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม มิใช่เป็นเรื่องสนุกอย่างเดียว มักเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นลักษณะความเชื่อของชนเผ่าดั้งเดิมทุกแห่ง ซึ่งผูกพันกับ
ความมั่นคงปลอดภัยของการดำรงชีพและการเลี้ยงชีพ เป็นพื้นฐาน
จากการศึกษามาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าการละเล่นหรือการพักผ่อนหย่อนใจของคนไทยในอดีตมักมีความสัมพันธ์อยู่กับพิธีกรรมและการทำมาหากิน โดยเห็นได้จากลักษณะต่างๆ เช่น ความเชื่อ หรือที่มา กำเนิดของการละเล่นที่เชื่อว่ามีกำเนิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งโอกาสที่เล่นจะเล่นตาม กาลเทศะ และจะเป็นส่วนหนึ่งของงานพิธีกรรมของชุมชนเสมอไม่เล่นทั่วไป เนื้อหาที่เป็นสัญลักษณ์ที่เน้นความอุดมสม บูรณ์-ความเชื่อทางศาสนาที่เป็นที่รับรู้ร่วมกับของชุมชน ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของชุมชน และการละเล่นก็คือการเข้าร่วมพิธีกรรม เพื่อความอุดม-สมบูรณ์ และความมั่นคงปลอดภัยของชุมชน การละเล่นจึงมิใช่การแสดงในความหมายของการแสดงอย่างที่ปัจจุบันกระทำอยู่อย่างไรก็ตาม การละเล่นบางอย่างที่ความเชื่อเสื่อม คลายลงมากก็อาจพัฒนาไปเป็นการแสดงได้ในสมัยต่อๆ มา เช่น โขน ละคร หรือมหรสพพื้นบ้านพื้นเมือง เช่น การเล่นเพลงแค่พื้นฐานของความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ผูกพันกับพิธีกรรมก็มิได้สูญหายไปจนหมดสิ้น ยังคงมีร่องรอยให้ศึกษาได้แม้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้บทบาทความหมายในทางความเชื่อหมดความสำคญไป นอกจากนี้ การละเล่นการแสดงสมัยใหม่ ซึ่งไม่ผูกพันกับพิธีกรรมอย่างโบราณ เจริญก้าวหน้า แพร่หลายมากขึ้น เช่น หนัง วิทยุ โทรทัศน์ วงดนตรี ฯลฯสามารถสนองตอบความต้องการสมัยใหม่ได้มากกว่า และปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาการ เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วไม่ติดกับกรอบของระบบความเชื่อ และเนื้อหาที่ซ้ำซากเป็นรูปแบบที่เรียกว่า “มีครู”
ความหมายของการละเล่นที่มีต่อชุมชนชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ที่ยังคงมีบทบาทอยู่ในปัจจุบันจึงมิใช่เรื่องสนุกสนานไร้สาระหรือป่าเถื่อนดังที่เข้าใจกันประการใดประการหนึ่ง เพราะการละเล่น ในเทศกาลต่างๆ ตามประเพณี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของ ผู้คนต่อชุมชนของตนเองว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีความสมัครสมานเป็นหนึ่งเดียวกัน และยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ความอบอุ่นทางใจของชุมชนที่ห่างไกลเทคนิควิทยาและความเอาใจใส่ จากฝ่ายปกครองอีกด้วย
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *