คติความเชื่อและพิธีกรรมของคนไทยในจังหวัดนครปฐม

Socail Like & Share

สารทจีน
นครปฐมเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๑๘๕ ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ สุพรรณบุรี อยุธยา นนทบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ
นครปฐมเป็นเมืองที่มีประวัติอันช้านาน นับตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาบริเวณนี้ในสมัยทวาราวดี ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๖๐๐ นครปฐมเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีในสมัยต่อมาถูกทอดทิ้ง เป็นเมืองร้าง และเริ่มมาเจริญขึ้นใหม่ ในสมัย รัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ได้ไปพบพระสถูปเจดีย์ที่เมืองนครปฐม และโปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระสถูป โดยก่อเจดีย์แบบลังกาครอบสถูปองค์เดิม เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างทางรถไฟผ่านเมืองนครปฐม การคมนาคมก็สะดวกยิ่งขึ้น ประชาชนก็ได้เริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ทำกินมากขึ้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดฯ ให้ซ่อมองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างถนนรอบบริเวณองค์พระเจดีย์ และเปลี่ยนชื่อเมืองเดิม คือ นครชัยศรี เป็น นครปฐม นอกจากนี้โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ตำบลสนามจันทร์ และทรงแปรพระราชฐานมาประทับ พักผ่อน และฝึกซ้อมเสือป่าอยู่เสมอ ทำให้นครปฐมเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เนื่องจากนครปฐมตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ภูมิประเทศจึงเหมาะแก่การทำนาเป็นอย่างยิ่ง นครปฐมมีเนื้อที่ที่ใช้ในการทำนาถึง ๙ แสนไร่ ท้องที่บางแห่งสามารถทำนาได้ปีละ ๒ ครั้ง พันธุ์ข้าวจากนครปฐมเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวพวงแก้ว ข้าวปิ่นแก้ว เป็นต้น นอกจากนั้นในที่บางส่วนที่เป็นที่ราบสูง ประชาชน นิยมการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ฝ้าย ข้าวโพด เป็นต้น ที่ดินบางส่วนของอำเภอสามพราน และนครชัยศรี มีดินดำซึ่งมีปุ๋ยธรรมชาติมาก นคร ปฐมจึงสามารถผลิตผลไม้ที่มีชื่อ ได้แก่ ส้มโอชนิดต่างๆ องุ่น มะม่วงและมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ นอกจากการทำนา ทำไร่ และทำสวนผลไม้แล้ว ชาวนครปฐม โดยเฉพาะพวกที่มีเชื้อสายจีนยังนิยมทำการปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ดไก่ และสุกรอีกด้วย ในปัจจุบัน นครปฐมเป็นแหล่งผลิตอาหารประเภทเนื้อหมู และเนื้อไก่ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
จากสภาพภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ และสภาพสังคม เศรษฐกิจ ทำให้นครปฐม มีลักษณะที่น่าศึกษาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อมูลของประชากรที่มีเชื้อสายต่างๆ กัน กล่าวคือ คนไทย คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายจีน เป็นต้น บทความนี้จะสนใจศึกษาในแง่ของคติความเชื่อ และพิธีกรรมของคนไทยในจังหวัดนครปฐม
๑. คติความเชื่อเดิม
ในสมัยโบราณตั้งแต่ก่อนที่พุทธศาสนาจะประดิษฐาน ในประเทศไทยนั้น ประชาชนที่อยู่ในดินแดนไทยปัจจุบันนั้นมีความเชื่อทางศาสนาตามแบบวิญญาณนิยม (Animism) คือ มีความเชื่อในเรื่องวิญญาณว่า วิญญาณนั้นมีอยู่จริงและทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้เพื่อขอความอารักขาและความสวัสดีมีชัยในกิจการที่ตนทำอยู่ ในจารึกสุโขทัย กล่าวถึงการบวงสรวงเทพยดาที่รักษาเมืองสุโขทัย โดยเรียกว่า พระขะพุงผี โดยกล่าวว่าหากประชาชนทำการเซ่นพลีถูกต้องก็จะอยู่เย็นเป็นสุข แต่หาก “เซ่นบ่ดี พลีบ่ถูก” ก็อาจถูกลงโทษได้ คำว่า ผี ในที่นี้เป็นคำไทย หมายถึงวิญญาณนั่นเอง ในสมัย โบราณนั้น คนไทยเรียกวิญญาณทั้งหลายว่า ผี ทั้งสิ้น เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่า ตายาย เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อรับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติจึงเริ่มมีการจำแนกว่า ถ้าเป็นวิญญาณชั้นต่ำ เรียกว่า ผี ดังนี้ ส่วนวิญญาณชั้นสูง ก็เป็นเทวดา พรหม เป็นต้น
ดังนั้น จึงพบว่าแนวความเชื่อแบบวิญญาณนิยมนี้จะปรากฏอยู่ในหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์ และวรรณคดีของไทยจำนวนไม่น้อย และเมื่อชาวไทยได้รับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประชาชนตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ความเชื่อตามแบบวิญญาณนิยมก็มิได้สูญหายไป หากแต่ปฏิบัติควบคู่กัน
แนวความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยมนี้ มีปรากฏชัดเจนในความเชื่อเรื่อง เจ้าที่ คนไทยเชื่อว่าในอาณาเขตบ้านแต่ละแห่งนั้น มีวิญญาณคอยดูแล-รักษา เรียกวิญญาณนี้ว่า เจ้าที่ มีความนิยมในการสร้าง ศาลพระภูมิ เป็นบ้านหลังเล็กๆ ให้อยู่ต่างหาก โดยมากมักกำหนดให้อยู่นอกชายคาบ้าน และให้หลีกเลี่ยงมิให้เงาบ้านทับศาลนี้ และเพื่อให้เจ้าที่โปรดปรานมากๆ เจ้าของบ้านที่มีฐานะจะใช้เงินจำนวนไม่น้อยใน
การจัดทำศาลพระภูมิ ให้เจ้าที่อยู่ ศาลพระภูมิที่ขายในท้องตลาดบางศาลมีราคาเป็นหมื่น
ต่อมา เมื่อมีการรื้อฟื้นความนิยมใน พระพรหม มากขึ้น คนไทยบางคนก็อาจอัญเชิญพระพรหมเป็นเจ้าที่ในที่ดินของตน ดังนั้น ศาลก็ต้องเปลี่ยนไปกลายเป็นศาลพระพรหม มีลักษณะเปิดทั้ง ๔ ด้าน ความสลับซับซ้อนในเรื่องการบูชาศาลพระภูมิจึงมากขึ้นตามยุคตามสมัยไปด้วย
มีผู้เข้าใจว่าเรื่องการตั้งศาลพระภูมินั้นเป็นอิทธิพลของพราหมณ์ ความจริงแล้วเรื่องความเชื่อในเรื่องวิญญาณเจ้าที่นั้นมีมาก่อนที่พราหมณ์จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย และเมื่อพราหมณ์เห็นว่าคนไทยเชื่อในเรื่องวิญญาณ จึงนำเอาพิธีทางศาสนา และการอธิบาย ตามคติพราหมณ์เข้ามาประกอบ ในสมัยต่อมา ผู้ที่ประกอบพิธีตั้งศาลพระภูมิจึงนิยมให้พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี
สำหรับในจังหวัดนครปฐมนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจ กล่าวคือ ประชากร เชื้อสายจีน เมื่อประกอบพิธีทางศาสนา ในวันตรุษ และวันสารทจีนนั้น นิยมทำพิธีไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า เมื่อชาวไทยนิยมไหว้พระภูมิหรือพระภูมิเจ้าที่อยู่แล้ว ชาวจีนจึงไหว้เจ้าที่ตามแบบไทย กล่าวคือ จัดของเซ่นไหว้ตามแบบจีน แต่ไปไหว้ที่ศาลพระภูมิ จากการสำรวจ ของข้าพเจ้าพบว่าประชากรในจังหวัดนครปฐมนิยมการไหว้เจ้าและพระภูมิเจ้าที่สูงถึงร้อยละ ๘๐ ที่ได้สถิติสูงเช่นนี้ เพราะเป็นพิธีทางศาสนาที่นิยมปฏิบัติทั้งคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน
นอกจากความเชื่อในเรื่องวิญญาณที่ปรากฏในเรื่องการบูชาพระภูมิเจ้าที่แล้ว ประชากรในจังหวัดนครปฐมยังมีความนิยมในการติดต่อกับวิญญาณโดยผ่านคนทรงด้วยการทรงเจ้าเข้าผี มิใช่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานแล้วไม่เฉพาะในเมืองไทย แม้ในประเทศอื่นๆ ก็มีปรากฏการณ์นเช่นกัน แต่ลักษณะที่แปลก คือ แนวโน้มที่การนิยมการทรงเจ้าเข้าผี มีมากขึ้นในสมัยปัจจุบัน
การทรงเจ้า หมายถืงการอัญเชิญเทพเจ้าลงมาประทับในร่างมนุษย์ ถ้าเป็นวิญญาณต่ำก็มักจะเรียกว่า เข้าผี ประการหลังนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันนัก ลักษณะของการประทับทรงนั้นมีขีดขั้นต่างๆ กัน ถ้าวิญญาณประทับสนิทคนทรงจะอยู่ในลักษณะของคนหลับสนิท ไม่ได้ยินไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่วิญญาณพูดขณะประทับทรง ถ้าวิญญาณประทับไม่สนิทนัก คนทรงจะอยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น ได้ยินบ้าง รู้บ้าง เฉพาะขณะ เฉพาะตอน อีกแบบหนึ่ง คนทรงจะได้ยินตลอดเวลาแต่บังคับตัวเองไม่ได้ ต้องพูดและทำตามที่วิญญาณสั่งให้พูด
การที่ประชากรไทยหันไปให้ความสนใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าและวิญญาณที่มาประทับทรงนี้ อาจพิจารณาได้ว่ามีสาเหตุหลายประการ สืบเนื่องจากสังคมที่ซับซ้อนขึ้น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ที่ขาดความมั่นคง ประชากรขาดความอุ่นใจ ทั้งในหลักพุทธศาสนาเองก็มิได้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากนัก คนไทยจำนวนมากจึงหันไปสนใจในเรื่องการประทับทรงของเจ้าและวิญญาณต่างๆ โดยหวังว่า เทพและเจ้าเหล่านั้นจะสามารถช่วยให้ตนประสบความสำเร็จในกิจการค้า หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ
ปัญหาของการนับถือในเรื่องนี้ค่อนขางซับซ้อน และบ่อยครั้งกลายเป็นการสนับสนุนกลุ่มชนมิจฉาชีพที่แอบอ้างมาในรูปของเทพเจ้าต่างๆ
ประชากรส่วนหนึ่งในนครปฐมซึ่งมีเชื้อสายจีน ลักษณะหนึ่งของชาวจีน คือ ลักษณะสังเคราะห์นิยม นั่นคือ เชื่อว่า อะไรก็ตามถ้าปฏิบัติแล้วจะเป็นผลดีแก่ตน ก็จะปฏิบัติตามได้โดยง่ายดาย ดังนั้น ความเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความนิยมเป็นอย่างยิ่งในจังหวัดนครปฐม ปัญหาที่ชาวนครปฐมนิยมไปหาเจ่า มักเป็นเรื่องให้ช่วยในกิจการค้ามากกว่าเรื่องอื่น เพราะชาวนครปฐมจำนวนมากนิยมประกอบอาชีพในการทำการค้า
นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น มีการบวงสรวง สักการะตามฤดูกาลเสมอๆ
๒. ความเชื่อและการปฏิบัติในพุทธศาสนา
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในนครปฐมมีเชื้อสายเป็นจีน ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วความเชื่อในหลักพระพุทธศาสนา ยังไม่ลึกซึ้งแสะชัดเจน ความเชื่อและการปฏิบัติออกมาในรูปแบบของการปฏิบัติตามประเพณีโดยขาดความเข้าใจในแก่นแท้ของพระธรรมเสียเป็นส่วนมาก
ชาวนครปฐม นิยมพิธีการบรรพชาอุปสมบทลูกหลาน ที่เป็นชาย ในฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นอย่างมาก ถือเป็นกุศลผลบุญแก่บิดามารดาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าได้บวชก่อนมีครอบครัวและนิยมจัดพิธีเป็นงานใหญ่และเอิกเกริกมาก โดยจะมีการทำพิธีถึง ๓ วัน ๓ คืน คือ วันสุกดิบซึ่งเป็นวันจัดเตรียมงาน จะมีพี่น้องญาติมิตรมาร่วมในงานมากมาย มีการจัดอาหารเลี้ยงแขกที่มาในงานตลอดงาน ในวันที่สองเป็นวันทำขวัญนาค จะมีการถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ จำนวนที่นิยมคือ ๙ รูป เพราะถือเลข ๙ เป็นเลขมงคล ในตอนกลางคืนเป็นการทำขวัญนาค นิยมว่าจ้างอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาทำขวัญนาค ช่วงนี้เป็นช่วงที่บิดามารดา และญาติพี่น้องร่วมกันปลาบปลื้มใจที่ได้มีโอกาสบวชลูกหลานของตน ในวันที่สาม เป็นวันที่แห่นาคไปเข้าโบสถ์เพื่อเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท
ชาวนครปฐมนิยมจัดขบวนแห่นาครอบองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นสิ่งสักการะสูงสุดของชาวนครปฐม นำนาคขึ้นไปสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้วจึงจะไปวัด ในขบวนที่แห่นาคนี้กลุ่มที่นำหน้าจะเป็นกลุ่มหญิงชายร่ายรำตามทำนองเพลงสากล เป็นที่ครึกครื้น แสะสนุกสนาน ถัดมาจึงเป็นขบวนเด็กหญิงมักนิยมแต่งชุดไทยสมัยต่างๆ คือ เครื่องไทยทาน บิดามารดาของนาคจะเป็นผู้ประคองไตร และบาตร สำหรับนาคเองนั้น มักอยู่ท้ายขบวน อาจจะนั่งสามล้อหรือรถบรรทุกเล็กเปิดประทุน หรือแคร่หาม โดยมีสัปทนสีสดใสกั้น ขบวนแห่นาคนี้ ดูจะตั้งใจจัดกันเป็นพิเศษในทุกงาน ในการฟ้อนรำนำหน้านาคในขบวนแห่นี้อธิบายว่า เปรียบเสมือนบรรดานางมารที่ร่ายรำอยู่ต่อหน้าเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนหน้าที่จะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั่นเอง จากการสำรวจ การประกอบพิธีทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ ของชาวนครปฐมพบว่า มีผู้ประกอบพิธีทางศาสนาในเทศกาลต่างๆ คิดเป็นร้อยละดังนี้
วันขึ้นปีใหม่    ๔๔
วันเข้าพรรษา    ๖๙
ตักบาตรเทโว    ๖๒
มาฆบูชา        ๔๒
สงกรานต์        ๕๖

จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า ประชากรนิยมทำบุญในวันเข้าพรรษามากที่สุด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ที่อาจทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะประชากรนิยมการบวชลูกหลานเป็นพระภิกษุในระหว่างพรรษา ดังนี้ในวันเข้าพรรษาจึงนิยมเตรียมอาหารไปถวายพระที่วัดเพราะมีความสัมพันธ์กับวัดเป็นพิเศษด้วยเป็นช่วงที่ลูกหลานของตนบวชอยู่นั่นเอง
สำหรับวันที่มีความหมายทางพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ วันมาฆบูชาและวันวิสาฃบูชานั้นกลับมีประชากรทำพิธีทางศาสนาน้อยกว่า กล่าวคือร้อยละ ๔๒ และ ๔๗ ตามลำดับ วันมาฆบูชาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันที่ชาวพุทธกำหนดระลึกถึงว่าเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่พระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ชาวพุทธนิยมทำบุญรักษาศีล และฟังธรรมในวันดังกล่าว ชาวนครปฐมส่วนมากจะเป็นคนไทยสูงอายุที่นิยมไปทำบุญที่วัด และเพื่อรักษาอุโบสถศีล ก็นิยมนอนค้างเสียที่วัด ๑ คืน วันรุ่งขึ้นจึงจะกลับบ้าน ดังนี้
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำบุญ เพื่อระลึกถึงวันสำคัญนี้ว่าตรงกับวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ชาวนครปฐมนิยมบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา และในวันนี้ในตอนกลางคืนจะทำพิธีเวียนเทียนด้วย เป็นที่สนุกสนานสำหรับชาวพุทธรุ่นเยาว์
วันสงกรานต์ เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของไทย ตกประมาณเดือนเมษายน นอกจากการตักบาตรทำบุญแล้ว ชาวนครปฐมโดยเฉพาะคนไทย นิยมสรงน้ำพระ และสรงน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มีการปล่อยนกปล่อยปลาเป็นการทำบุญเนื่องในเทศกาลนี้ด้วย คนทั่วไปนิยมเล่นสาดน้ำเช่น เดียวกับจังหวัดอื่นๆ
นอกเหนือจากเทศกาลสำคัญต่างๆ แล้ว งานที่สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาอีกงานหนึ่งคืองานพิธีศพ โดยทั่วไปแล้ว ศพคนไทยนิยมสวดศพ ๓, ๕, ๗ วัน แล้วเก็บ ไว้ ๑๐๐ วัน จึงทำพิธีฌาปนกิจศพ สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนในนครปฐม จะจัดพิธีศพคละกัน คือ มีทั้งพิธีแบบจีน และแบบพุทธ ชาวจีนนิยมโลงศพไม้จำปา ทำตามแบบจีน มีการตั้งศพสวด ๓, ๕, ๗ วัน เช่นกัน โดยนิมนต์พระไทยไปสวดตอนกลางคืน เช่น การสวดศพไทยทั่วไป ขณะเดียวกัน ก็ทำกงเต็กเผากระดาษ นิมนต์พระจีนหรือพระญวนมาสวดให้วิญญาณของผู้ตายด้วย ศพจีนไม่นิยมทำฌาปนกิจ แต่จะไปฝังที่ฮวงซุ้ยของตระกูล หรือสุสานรวมในจังหวัดนครปฐม ในการทำพิธีศพ ชาวนครปฐมยังนิยมจัดงานใหญ่โต เช่นเดียวกับงานบวช จนบางครั้งกระทบกระเทือน เศรษฐกิจของครอบครัวลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ค่านิยมของสังคมแบบนี้ยังสูงมากทั้งในหมู่ของชาวจีนและชาวไทย
นอกจากนั้นในงานสำคัญ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน ประชาชนทั้งไทยและจีนนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวด และถวายภัตตาหารเช่นเดียวกัน
การปฏิบัติพิธีอันเนื่องในพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่า โดยทั่วไปแล้วนิยมปฏิบัติทั้งชาวไทยและชาวจีน โดยถือปฏิบัติตามประเพณี ความนิยมในสังคมมากกว่าที่จะเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวนครปฐมเช่นเดียวกับประชากรในจังหวัดอื่นๆ อีกหลายแห่ง จึงขาดหลักธรรมในการที่จะยึดถือเป็นแกนในการดำเนินชีวิต
๓. ความเชื่อและการปฏิบัติในศาสนาแบบจีน
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครปฐมนั้น สันนิษฐานได้ว่าเริ่มตั้งแต่สมัยของรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการคมนาคมสะดวกขึ้น จากการสำรวจพบว่าชาวจีนในนครปฐมนั้น อพยพมาจากเมืองโผวเล้ง เซี่ยงไฮ้ นานกิง ปักกิ่ง และจากแคว้นเสฉวน ยูนาน กวางสี กวางตุ้ง เป็นต้น ส่วนมากเป็นแต้จิ๋ว และแซ่หรือตระกูลที่สำคัญ คือ ตั้ง ลิ้ม ลี้ เฮ้ง กู เลา อัน เป็นต้น แซ่อื่นๆ ยังมีอีกมากแต่จำนวนกระจายกันไป
ชาวจีนเหล่านี้ มีความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาเช่นที่เคยนับถือปฏิบัติในประเทศจีน เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นเวลานานนับร้อยปี ประเพณีความเชื่อ และวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ยังตกทอดถึงบรรดา ลูกหลานที่เกิดในประเทศไทย ลูกหลานจีนเหล่านี้ แม้จะยังคงพูดภาษาจีนกับบิดามารดาของตนแต่ความผูกพันกับประเทศจีนเริ่มลดน้อยลง เพราะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ แม้จะยังปฏิบัติอยู่ก็มักเป็นไปตามประเพณี ไม่มีความหมายที่จะยึดถือในจิตใจมากเท่ากับคนรุ่นบิดามารดา หรือปู่ย่าตายายเอง และเมื่อเวลาผ่านไป พิธีกรรมเหล่านี้ก็นับวันจะหมดความหมายลง
แนวคำสอนที่สำคัญของขงจื้อในเรื่องความกตัญญูยังมีบทบาทและอิทธิพลพอสมควรในสังคมชาวจีนและชาวไทย เชื้อสายจีนในจังหวัดนครปฐม ขงจื้อให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัวมาก และพิจารณาว่าสังคมที่ดีจะต้องเริ่มจากสังคมจุดเล็กที่สุดคือภายในครอบครัวนั่นเอง ความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ นั้น ขงจื้อได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ ๕ ประเภท เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างบุตรกับบิดามารดา ความสัมพันธ์ระหว่าง พี่กับน้อง เป็นต้น ความสัมพันธ์ที่ขงจื้อย้ำมากคือ ความสำคัญระหว่างบุตรกับบิดามารดา บุตรถึงเคารพรักและมีความกตัญญูต่อบิดามารดา โดยเห็นว่าความกตัญญูเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์จะดีไม่สมบูรณ์หากขาดความกตัญญูต่อบิดามารดาของตนเอง มนุษย์จะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคนอื่นได้อย่างไร หากมนุษย์ขาคความ กตัญญูในบิดามารดาของต้น ซึ่งเบนผู้มีพระคุณแก่ตนโดยแท้จริง เรื่องความเคารพความกตัญญูต่อบิดามารดา และความเอาใจใส่ดูแลญาติผู้ใหญ่นี้เป็นสิ่งที่ชาวจีนปลูกฝังอบรมกันมาค่อนข้างลึกซึ้ง และเป็นคุณธรรมที่พอจะมองเห็นได้ในสังคมของจีนในนครปฐม
นอกจากแนวคำสอนสำคัญในเรื่องความกตัญญูนี้ ชาวจีนมีความเชื่อในวิญญาณของบรรพบุรุษอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับหลักความกตัญญูที่กล่าวถึงแล้วในย่อหน้าที่ผ่านมา ความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมของจีนที่มีมาก่อนสมัยขงจื้อและเล่าจื้อ จึงนับว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิมของจีนอย่างแท้จริง พิธีกรรม ต่างๆ ของจีน จึงสืบเนื่องมาจากความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษทั้งสิ้น
ในบทความนี้จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะพิธีที่สำคัญที่ชาวจีนในจังหวัดนครปฐมนิยมปฏิบัติกันมาก
พิธีกินเจเดือนเก้า พิธีนี้ชาวนครปฐมลูกหลานจีนให้ความสนใจกันมาก จะจัดงานพิธีที่โรงเจกลางเมือง ที่ถนนเทศา ในวันส่งเจ้าและรับเจ้า ซึ่งเป็นวันแรกและวันสุดท้ายของงานนั้นจะมีผู้คนมาร่วมมากจนต้องปิดถนนชั่วคราว ผู้ที่มาร่วมในพิธีทุกคนจะนุ่งขาว และรักษาศีล กินเจ คือ อาหารผัก ตลอดงาน ๑๑ วัน
ในพิธีนี้ ชาวจีนถือว่า เทพเจ้าจะเสด็จจากสวรรค์ลงมาตรวจโลกมนุษย์ ในระหว่างเวลาดังกล่าวจึงพร้อมใจกันรักษาศีล ทำบุญ เพื่อเทพเจ้าจะได้มีภาพพจน์ที่ดีของตน นำกลับไปรายงานต่อสวรรค์ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้ให้ความหมายไปในการบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ๙ พระองค์
ในระหว่างพิธีนี้ จะมีการปล่อยนก ปล่อยเต่า มีการลอยกระทงเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศให้เจ้าด้วย มีผู้มาร่วมในงานนี้มากเป็นพิเศษ ผู้ที่มารักษาศีลกินเจ เคร่งครัดตลอด ๑๑ วัน มักเป็นชาวจีนผู้หญิงที่ค่อนข้างสูงอายุ อาหารเจ จะมีขายตลอดงานทั้งที่หน้าโรงเจ และในตลาดทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมรักษาศีล มีความสะดวกเป็นพิเศษ
พิธีสารทจีน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ของปฏิทินจีน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของไทย  พิธีนี้เป็นพิธีทางศาสนาที่ทำบุญให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณทั่วไป เพื่อให้เกิดความสงบสุขทั้งในโลกวิญญาณ และโลกมนุษย์
ในจังหวัดนครปฐม ชาวจีนนิยมไหว้ ๓ ครั้ง คือ ไหว้เจ้าในตอนเช้าตรู่ ไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย และไหว้ผีทั่วไปหรือผีไม่มีญาติในตอนบ่าย ในการไหว้แต่ละครั้ง จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองให้ทุกครั้ง อาหารที่ใช้ไหว้เจ้าในตอนเช้าจะต่างไปจากอาหารที่ไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย
พิธีตรุษจีน เทศกาลตรุษจีน เป็นพิธีที่ลูกหลานเชื้อสายจีนทุกบ้านทำพิธีไหว้ ซึ่งจัดแบบเดียวกับพิธีสารทจีน แต่ในเทศกาลตรุษจีนนี้เป็น เทศกาลปีใหม่ของจีนด้วย จึงมีการจัดเตรียมอาหารไหว้อย่างสมบูรณ์ และมีการฉลองกันอย่างเอิกเกริก โดยปกติจัดทำกัน ๓ วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ในวันไหว้ และวันเที่ยว ชาวจีนโดยเฉพาะในตลาดนครปฐมจะหยุดกิจการค้าเป็นส่วนมาก ด้วยมีความเชื่อตามประเพณีว่า เป็นวันแรกของปีไม่ควรทำงาน ถ้าทำงานในวันขึ้นปีใหม่แล้ว จะต้องทำงานหนักไปตลอดปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวนครปฐมจะพบว่าราคาสินค้าในตลาดสูงกว่าปกติ เพราะมีร้านที่เปิดกิจการตามปกติเพียงไม่กี่ร้านจึงจำเป็นต้องจับจ่ายสินค้าอาหารกักตุนไว้ล่วงหน้า
ในสมัยก่อน เทศกาลตรุษจีนนี้ ชาวจีนจะหยุดงานตลอดทั้งสามวัน หรืออาจใช้เวลาเที่ยวนานหลายวัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร การหยุดงานในเทศกาลตรุษจีนจึงจำกัดลงกว่าแต่ก่อน บางบ้านอาจทำพิธีไหว้ แต่ยังคงเปิดหน้าร้านทำการค้าตามปกติทั้งสามวันก็เป็นได้
เทศกาลเช็งเมง ในพิธีนี้เทศกาลเช็งเม้งตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นวันที่ชาวจีนจัดเตรียมอาหารไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่หลุมฝังศพที่เรียกว่า ฮวงซุ้ย จุดประสงค์ของเทศกาลนี้เน้นให้ลูกหลาน ระลึกถึง และมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว , และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ไปตรวจตราทำความสะอาดฮวงซุ้ยด้วย เพราะตามปกติฮวงซุ้ย มักจะอยู่ห่างไกลจากบ้าน เนื่องจากภาระทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลจากชาวพุทธ ชาวจีนบางบ้านเริ่มฌาปนกิจศพ ดังนั้นในวันเช็งเม้ง แทนที่จะออกไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย ก็อาจทำบุญไหว้กระดูกของบรรพบุรุษที่บ้านแทน

การจัดพิธีศพ  ชาวจีนให้ความสำคัญแก่การจัดพิธีศพมาก เพราะถือว่าหากวิญญาณผู้ตายสุขสงบ ลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ก็สงบสุขไปด้วย ดังนั้นถ้าเป็นผู้มีฐานะดีจะจัดพิธีศพเป็นงานเอิกเกริกมากนับตั้งแต่สวดศพตามพิธีแบบไทย ทำกงเต็กแบบจีน ตลอดจนการเลือกหาฮวงซุ้ยที่เหมาะสมและหาวันฝังที่เหมาะสม เพื่อให้วิญญาณผู้ตายไปเป็นสุขจริงๆ นอกจากนั้นก็ยังนิยมทำพิธีสวดให้ผู้ตายเมื่อครบรอบ ๗ วัน ๔๙ วัน เป็นต้น
ด้วยความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษนี้แน่นแฟ้นมาก ชาวจีนจึงมีการประกอบพิธีทางศาสนาในโอกาสต่างๆ ล้วนแล้วแต่เนื่องในความเชื่อเรื่องวิญญาณทั้งสิ้น
ชาวจีนส่วนมากเป็นผู้ที่มีคติ ความเชื่อ และการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากแหล่งสำคัญ ๔ ประการ คือ ความเชื่อในบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม ความเชื่อในศาสนาเต๋า ความเชื่อในศาสนาขงจื้อ และศาสนาพุทธนิกายมหายาน แนวความเชื่อในศาสนาต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังปรากฏในการปฏิบัติของคนไทยเชื้อสายจีนในนครปฐมในปัจจุบัน
ชาวนครปฐมที่อยู่ในย่านชุมชนทำการค้าขาย ส่วนมากเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครปฐมในราวรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ดังได้กล่าวไว้ ชาวจีนพวกนี้เป็นพวกที่ขาดการศึกษาและด้อยในวัฒนธรรม การปฏิบัติทางศาสนาพิธี อันสืบเนื่องจากศาสนาแบบจีนแม้จะยังปฏิบัติอยู่ก็ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงเป็นการปฏิบัติอย่างผิวเผิน ขัดกับหลักการที่ขงจื้อสอนไว้ว่า การปฏิบัติศาสนพิธีนั้นจะต้องเป็นการแสดงออกของจิตใจ นอกจากนั้นชาวจีนเหล่านี้ อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือ วัฒนธรรมจีนก็ไม่ได้นับถือเคร่งครัดเพราะมาเกิดและเติบโตในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ยังมิได้ศึกษาและรับเอาวัฒนธรรม หรือศาสนาของคนไทยอย่างถ่องแท้ จึงทำให้ขาดหลักคุณธรรมที่จะยึดมั่นเมื่อการปฏิบัติในชีวิตของตน
นอกจากนั้น ชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในนครปฐม เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร อันเป็นลักษณะอุปนิสัยของชาติจีนอยู่แล้ว ประกอบกับนครปฐมอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ชาวจีนเหล่านี้จึงประสบความสำเร็จในด้านวัตถุ เป็นอย่างยิ่ง ชาวนครปฐมโดยทั่วไปมีฐานะดี มีรายได้โดยเฉลี่ยสูงกว่าหลายๆ จังหวัดในประเทศ ด้วยความสำเร็จทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้ชาวนครปฐมบางพวกมีความทะนงตนพอสมควร แต่เพราะขาดหลักคุณธรรมที่ยึดมั่นใน
จิตใจจึงทำให้ชาวนครปฐมเหล่านั้นย่อหย่อนในด้านคุณธรรม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและส่วนรวม
ปัญหาที่ตามมาจะสะท้อนให้เห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรในกรณีสำคัญที่ปรากฏ ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันหลายครั้งมักเป็นอาชญากรจากนครปฐม หรือเกี่ยวข้องพัวพันกับจังหวัดนครปฐม สาเหตุของอาชญากรรมเหล่านั้น ไม่ใช่สาเหตุของความจน แต่เป็นสาเหตุของความยึดมั่นในอัตตาอย่างแรงกล้าจนเกินไปบางสาเหตุจากความรวยไม่พอบ้าง การแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกันทางการค้าบ้าง ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นปัญหาที่มี รากเหง้ามาจากกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ทั้งสิ้น
ปัญหาของจังหวัดนครปฐมเป็นปัญหาซับซ้อน ผู้เขียนมีพื้นฐานการศึกษาในด้านศาสนา จึงเห็นว่าสาเหตุหนึ่งคือ ปัญหาที่เนื่องมาจากการขาดพื้นฐานยึดมั่นในทางจิตใจ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับความสนใจ และแก้ไขให้ตรงจุด โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาจิตใจของชาวเมืองทุกระดับ ถ้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าว โดยทำให้ประชากรได้เข้าใจความหมายของศาสนาอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็น พุทธศาสนา หรือศาสนาแบบจีน เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของศาสนานั้นๆ โดยแท้จริงแล้ว ปัญหาสังคมจะคลี่คลายลง เมื่อนั้นนครปฐมจึงจะมีโอกาสลืมตาอ้าปากเป็นเมืองพระได้สมดังชื่อของเมืองอย่างแท้จริง
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *