พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

Socail Like & Share

เป็นที่ประจักษ์ว่า ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ บ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงเจริญรุดหน้าในทุกด้าน ซึ่งมีผลเป็นความมั่นคงและเป็น พื้นฐานในการพัฒนาประเทศสืบมาจนทุกวันนี้พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

และก็เป็นที่ยอมรับกันว่าพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีนั้นก็เพราะพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาญาณอันลึกซึ้งในการดำเนินวิเทโศบายด้วยประการต่างๆ และที่สำคัญทรงมีผู้ช่วยอย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า แขน ขา ซึ่งได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ พระราชโอรส พระบรมวงศานุวงศ์ และแม้แต่ “ฝ่ายใน” อันได้แก่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระอัครชายา เจ้าจอม พระราชธิดา และเหล่าข้าราชบริพารทั้งปวง ที่พร้อมใจกันทำราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มความสามารถ ทำให้แผ่นดินแห่งพระพุทธเจ้าหลวงเป็นช่วงระยะเวลาที่พสกนิกรอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง อยู่เย็นเป็นสุขตลอดทั่วทั้ง ขอบขัณฑสีมา

เมื่อกล่าวถึง “ฝ่ายใน” อันมีความหมายรวมตั้งแต่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระอัครชายา เจ้าจอม พระราชธิดา จนถึงข้าราชสำนักผู้ปฏิบัติราชการในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งปฏิบัติกิจถวายในส่วนพระองค์ ให้ทรงพระเกษมสำราญ และรับผิดชอบดูแลการทั้งปวง ให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี ตามที่มีกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลนั้น ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นราชสำนักที่มีเหตุการณ์เรื่องราวน่าสนใจ น่าศึกษา ดังที่มีผู้นำมาเขียน นำมาเล่ากันไว้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของรัชกาลนี้ และแน่นอนว่าเรื่องราวที่กล่าวขานกันสืบมานี้ย่อมมีเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องถึงพระคุณลักษณะและพระจริยวัตรในพระอัครชายาพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมให้รับราชการ สนองพระเดชพระคุณ ทรงได้รับการยกย่องทั้งในความดีความชอบ และในพระบรมราชสัมพันธ์อันสนิทตราบจนสิ้นรัชกาล พระอัครชายาพระองค์นี้ ได้รับพระราชทานอิสริยยศสูงสุด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีฐานันดรศักด์เมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าสาย เป็นพระธิดาในพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมจีนเป็นพระมารดา (หม่อมจีนนี้ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาจีนด้วยมีหลานดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า) ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๖ เป็นพระธิดาองค์เล็กมี พระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาอีก ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว และหม่อมเจ้าปิ๋ว ซึ่ง ๓ พระองค์นี้ ผู้ที่คุ้นเคยออกพระนามเรียกว่า ท่านองค์ใหญ่ ท่านองค์กลาง และท่านองค์เล็ก ตามลำดับ

พระวิมาดาเธอฯ และพระเชษฐภคินีทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบิดาได้นำถวายตัวให้เป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ จึงต้องเข้ามาอยู่ในวังหลวง และได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ส่วนพระเชษฐภคินีอีก ๒ พระองค์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระ อรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค และพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริถึงพระจริยวัตรที่ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติพระองค์โดยความเรียบร้อยตราบจนสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ส่วนพระวิมาดาเธอฯ นั้น ในปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ก็ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศสูงขึ้นเช่นกัน ดังปรากฏความในคำประกาศ ดังนี้

“ศุภมัศดุ พระพุทธสาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๑ พรรษาปัตยุบันกาล มุสิกสังวัจฉรพิสาขมาส กาฬปักษ์ทศมีดิถี โสรวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาช้านาน โดยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีเปนอันมาก มิได้มีระแวงผิดให้เปนที่ขุ่นเคืองพระราชหฤไทย แลเสื่อมเสียพระเกียรติยศแต่สักครั้งหนึ่งเลย ได้ดำรงพระยศเปนพระอรรคชายา มีพระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ ก็มิได้มีความกำเริบวุ่นวายด้วยยศศักดิ์ ประพฤติพระองค์เปนสุภาพเรียบร้อย เหมือนพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น เพราะเหตุทั้งปวงอันได้กล่าวไว้ในคำประกาศเลื่อนพระนามพระอรรคชายาพระองค์ก่อนก็เหมือนกับพระอรรคชายาพระองค์นี้ จึงเปนการสมควรที่จะทรงยกย่องพระเกียรติยศไว้ ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันสูงศักดิ์ตามที่สมควรนั้นฯ จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สฐาปนาพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ขึ้นเปนพระองค์เจ้า มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัตรว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ให้ทรงศักดินา ๒๐๐๐๐ ตามตำแหน่งพระอรรคชายามีกรมในพระราชกำหนดใหม่ จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒมงคล วิบุลยศุภผล อดุลยเกียรติยศ มโหฬารทุกประการ”

และในศุภวาระเดียวกันนับที่พระวิมาดาเธอฯ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศนั้น พระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ ก็ได้รับการเลื่อนพระยศเป็นเจ้าฟ้าตามโบราณราชประเพณี และทุกพระองค์ต่างได้รับการเฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ต่อมาในภายหลังทั้งสิ้น

พระราชโอรสพระราชธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ทุกพระองค์ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระบรมชนกนาถเป็นที่ยิ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลจากการอบรมดูแลและวางพื้นฐานทั้งในส่วนของพระจริยวัตรและการ ศึกษาจากผู้เป็นพระมารดามาแต่ทรงพระเยาว์นั่นเอง

พระราชโอรส พระราชธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ทั้ง ๔ พระองค์ คือ

๑. พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ทรง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เสด็จกลับมารับราชการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และเมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในรัชกาลต่อมาทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยศเป็นนายพลโท ราชองครักษ์สมุหมนตรี ตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและอภิรัฐมนตรี

พระราชปิโยรสพระองค์เดียวในพระวิมาดาเธอฯ พระองค์นี้ทรงมีวังที่ประทับชื่อว่า “วังลดาวัลย์” ซึ่งพิจารณาจากพระภารกิจแล้วจะเห็นว่าต้องเสด็จประทับ ณ หัวเมืองปักษ์ใต้ ที่จังหวัดสงขลาตลอดมา เมื่อสิ้นรัชกาลพระพุทธเจ้าหลวง พระวิมาดาเธอฯ ได้เสด็จออกจากพระราชวังสวนดุสิตไปประทับกับพระราชโอรสพระองค์นี้ ณ วังลดาวัลย์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับ ณ สวนสุนันทาตามพระราชประสงค์เดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระราชธิดาพระองค์แรก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เมื่อแรกประสูติมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเขจรจำรัส แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระชนกนาถไม่โปรด ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันความว่า

“อนึ่ง วันนี้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระนามพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเขจรจำรัสเสียใหม่ ด้วยพระนามเดิมไม่โปรด โปรดให้คิดใหม่ว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้านภาจรจำรัสศรี มีเวียนเทียนสมโภชเหมือนสมโภชสามวัน…”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี เจริญพระชันษาได้เพียง ๖ ปี ก็ประชวรสิ้นพระชนม์ นำความสลดพระราชหฤทัยแก่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระมารดายิ่งนัก แต่พระวิมาดาเธอฯ ก็มิได้ทรง ปล่อยให้ความเศร้าโศกครอบงำพระหฤทัย หรือกัดกร่อนให้เกิดความทดท้อ หากแต่ทรงแปรความสูญเสียให้บังเกิดเป็นการสร้างสรรค์อันจะเป็นพระราชกุศลแต่สมเด็จพระลูกเธอพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงหวนคิดไปถึงบรรดาทารกของบิดามารดา ซึ่งมีฐานะลำบากขัดสนว่า หากมีความเจ็บป่วยไข้แสนสาหัสแล้วก็คงจะยิ่งมีความลำบากมากกว่านัก จนถึงอาจทอดทิ้งบุตรเสียแต่เยาว์ให้เป็นกำพร้า หรือปล่อยให้เติบโตตามยถากรรม โดยมิได้รับการบำรุงสุขภาพหรือให้การศึกษามีวิชาสำหรับเลี้ยงชีพต่อไปได้ ด้วยพระดำริอันเป็นพระกุศลดังกล่าว พระวิมาดาเธอฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างโรงเลี้ยงเด็ก โดยทรงบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน ตึกโรงเรือนต่างๆ ซ่อมแซม ก่อสร้างบริเวณ และเครื่องใช้เครื่องแต่ง ณ ที่ตำบลสวนมะลิ ริมถนนบำรุงเมือง เพื่อจัดการบำรุงเลี้ยงทารกและเด็กชายหญิงบุตรคนยากจน พระดำริอันกอปรด้วยพระจริยวัตรอันเป็นกุศลยิ่งนี้เป็นที่ทรงพระโสมนัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงอนุโมทนาและเป็นพระราชธุระ ช่วยอุปการะบำรุงด้วยพระบรมเดชานุภาพ จนการจัดสร้างโรงเลี้ยงเด็กแห่งแรกแล้วเสร็จตามพระประสงค์ ในพระวิมาดาเธอฯ ทุกประการ และได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ประกอบพระราชพิธีเปิดเป็นพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ (พุทธศักราช ๒๔๓๒) และทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกชื่อว่า “โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอ” อันเป็นพระอนุสรณ์รำลึกในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระราชธิดาพระองค์แรก พระจริยวัตรในพระวิมาดาเธอฯ ดังกล่าวนี้ นับได้ว่า ทรงเป็นผู้ริเริ่มงานสังคมสงเคราะห์ในสมัยเริ่มแรกของไทย

๓. พระราชธิดาพระองค์ที่สองคือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัย สุรกัญญา ทรงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นเจ้าฟ้าเมื่อพระมารดาได้รับการสถาปนาเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้า ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ และได้รับพระมหากรุณาให้เพิ่มพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ในพุทธศักราช ๒๔๓๙ เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้วยังคงประทับ ณ พระราชวังสวนดุสิตกับพระมารดาอยู่ระยะหนึ่งจึงตามเสด็จไปประทับ ณ วังลดาวัลย์และเมื่อพระวิมาดาเธอฯ พระมารดาเสด็จมาประทับในสวนสุนันทาก็ได้มีพระตำหนักอยู่เคียงข้างกับพระตำหนักในพระวิมาดาเธอฯ ด้วย แต่ได้เสด็จประทับได้เพียงระยะเวลาอันแสนสั้นก็ด่วนสิ้นพระชนม์ ขณะมีพระชันษาเพียง ๔๑ ปี

๔. พระราชธิดาพระองศ์เล็กมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาพระองค์นี้ทรงเป็นที่สนิทเสน่หา และเป็นที่โปรดปรานให้ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน ซึ่งพระราชกระแสหรือกระแสพระราชดำริสำคัญๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นหลักฐานลำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตกทอดมาจนปัจจุบันนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ได้ทรงรับสนองพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงบันทึกไว้ เป็นต้นว่า พระราชบันทึกคราวเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขต ที่รู้จักกันดีก็ได้แก่จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ โดยดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงเขียนไว้ และได้ทรงรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกตามพระราชปรารภในพระวิมาดาเธอฯ เพื่อประทานตอบแทนผู้ถวายรดนํ้าสงกรานต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ นอกจากนี้ก็มีหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มสำคัญที่ประมวลพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ผู้ทรงเรียกด้วยความรักว่า “ลูกหญิงน้อย” เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองในพุทธศักราช ๒๔๔๙ –๒๔๕๐ หนังสือพระราชนิพนธ์เล่มนี้คือ พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ซึ่งทรงพระกรุณาให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้อำนวยการจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในงานไหว้พระประจำปี ณ วัดเบญจมบพิตร ในปีที่เสด็จฯ กลับจากยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้นเอง พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านนี้ ได้พระราชทานกรรมสิทธิ์ไว้แก่ “ลูกหญิงน้อย” คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล และเมื่อถึงอภิลักขิตสมัยที่พระวิมาดาเธอฯ พระมารดาจะมีงานฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงมีรับสั่งให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นธุระจัดพิมพ์ตามพระประสงค์อีกครั้งหนึ่ง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดลมีพระชนมชีพอยู่จนทันได้ทอดพระเนตรการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วจึงได้ตามเสด็จไปประทับกับพระเชษฐา คือ จอมพลเรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ ประเทศชวา และสิ้นพระชนม์ ณ ต่างแดนใน พ.ศ. ๒๔๗๘

นอกเหนือจากการเป็นพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่มีพระคุณลักษณะและมีพระปรีชาสามารถปฏิบัติราชการอันเป็นคุณแก่แผ่นดินนับเป็นอภิชาตบุตรถึง ๔ พระองค์ ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของพระจริยวัตรของพระวิมาดาเธอฯ เองก็เป็นที่ประจักษ์และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงสนองพระเดชพระคุณในเรื่องสำคัญจนตลอดรัชกาล นั่นคือ ได้ทรงเป็นผู้กำกับห้อง เครื่องต้น ซึ่งทรงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทั้งคาวและหวาน และได้ทรงยึดถือพระภาระหน้าที่อันหนักนี้เป็นความรับผิดชอบโดยเต็มความสามารถ ดังนั้น ไม่ว่าจะเสด็จประพาส ณ ที่ใดก็จะโปรดให้พระวิมาดาเธอฯ ตามเสด็จ เพื่อประกอบพระกระยาหารถวายด้วยแทบทุกครั้ง

คำเลื่องลือในเรื่องความเป็นเลิศในการประกอบการครัวทั้งคาวและหวานดังกล่าวนี้ ทำให้พระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับการยกย่องเป็นประดุจสำนัก ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สำหรับกุลสตรีชาววังในเรื่องสำรับคาวหวาน บรรดาข้าหลวงในสำนักนี้ได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญและฝีมือเป็นเลิศ ผู้ใดผ่านการอบรมในสำนักนี้แล้วย่อมเป็นที่ยกย่องกันว่า “ยอดเยี่ยม” ทุกคน ตัวอย่างเช่น หม่อมเจ้าหญิง คอยท่า ปราโมช ซึ่งเข้ามารับราชการทำเครื่องต้นอยู่กับพระวิมาดาเธอฯ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเป็นผู้อำนวยการ ห้องเครื่องต้นสืบต่อมาอีกรัชกาลหนึ่ง

พระเกียรติคุณในพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งทรงกำกับห้องเครื่องต้นอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากพระปรีชาสามารถในการประกอบเครื่องคาวหวานให้มีรสอันเป็นที่พอพระราชหฤทัยและสบอัธยาศัยแก่ผู้ลิ้มรสแล้ว ในส่วนที่เป็นพระภาระ และนํ้าพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเสียสละก็ควรนำมากล่าวไว้ให้เป็นที่ปรากฏด้วย ดังที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ได้บันทึกไว้มีความว่า

“เรื่องห้องเครื่องต้นที่จริงเป็นงานหนักสำหรับพระวิมาดาเธอฯ มาก เงินหลวงพระราชทานปีละเก้าพันบาท เลี้ยงพร้อมทั้งองครักษ์เวร มหาดเล็ก กรมวังเวร และแขกพิเศษเป็นการจร เงินหลวงจ่ายจึงไม่พอ พระวิมาดาเธอฯ ก็ทรงเอาเงินจ่ายเพิ่มเติม เพราะผู้คนของพระวิมาดาเธอฯ เองก็รวมกินอยู่ในห้องเครื่องต้นด้วย แยกจ่ายต่างหากไม่ออก
เมื่อท่านจ่ายเพิ่มส่วนพระองค์เท่าไรๆ ก็ต้องนิ่ง จะขอพระราชทานเพิ่มเติมอีกก็เห็นว่าจะเป็นโลภไป เพราะเหตุที่แยกบัญชีไม่ออกเช่นนี้ ท่านจึงตัดสินพระทัยไม่กราบบังคมทูล เมื่อเงินส่วนพระองค์ของท่านเอามาจ่ายเพิ่มทางห้องเครื่องเสียแล้ว เงินใช้จ่ายส่วนพระองค์ก็ไม่พอใช้จ่าย ต้องทรงขอยืมเงินลูกหลานหนักเข้าท่านป้าสารภี (ม.จ. หญิงสารภี ลดาวัลย์) ที่เป็นผู้ฉลาด สบโอกาสอันควรประการใดไม่ทราบ ท่านก็ไปเอ่ยเล่าขึ้นกับเจ้านาย พระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหลวงเป็นต้น จึงได้ทรงเป็นตัวตั้งตัวตีเป็นพระธุระกราบบังคมทูลให้ทรงทราบความจริง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงพระราชทานเงินเพิ่มค่าเครื่องต้นให้อีก…

นี่แหละคือนํ้าพระทัยพระวิมาดาเธอฯ ผู้ทรงมีพระทัยสมแก่ความเป็นขัตติยกัลยาณี… ”

สำนักพระวิมาดาเธอฯ นั้น นอกจากจะมีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องคาวหวานแล้ว ในส่วนของการอบรมสั่งสอนวิชาการความรู้ก็มิได้ทรงละเลย แต่ “…การเรียนหนังสือพระวิมาดาเธอฯ ไม่โปรดให้เด็กผู้หญิงไป โรงเรียน โปรดหาครูมาสอนที่ตำหนักผลัดเปลี่ยนกัน วิชาที่เรียนก็มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ว่ายนํ้า จักรยาน ตลอดถึงวิชาที่ทันสมัยเช่นกอล์ฟ และที่สำคัญ ได้ทรงปลูกฝังในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยได้โปรดให้มีครูสอนการขับร้องและดนตรีไทย ซึ่งข้าหลวงในสำนักนี้ได้รับหน้าที่ให้กล่อมพระบรรทมและมีวงมโหรีหรือวงเครื่องสายบรรเลงถวาย โดยเฉพาะเมื่อได้ตามเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังสวนดุสิตแล้ว พระวิมาดาเธอฯ ได้ทรงเริ่มงานดนตรีขึ้นอย่างจริงจัง โดย…” ทรงจัดให้บรรดาข้าหลวงของท่านฝึกหัดเด็กผู้หญิงทั้งที่เป็นพระญาติและสามัญชนขับร้องบรรเลงเพลง โดยเชิญครูผู้ชายเข้ามาสอนในเวลากลางวัน ที่ควรกล่าวนามท่านไว้ ได้แก่ ครูพระประดิษฐไพเราะ (ดาด) ซึ่งเคยประจำการกรมมหรสพที่วังบ้านหม้อมาก่อนเป็นครูใหญ่ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครูเหลือ (ไม่ทราบนามสกุล) มาเป็นผู้สอนดนตรี ส่วนการขับร้องนั้นเดิมให้คุณเฒ่าแก่จีบ หม่อมส้มจีน บุนนาค เป็นผู้หัด ต่อมาได้หม่อมนักร้องของเจ้าพระยาเทเวศร์ วงศวิวัฒน์จากวังบ้านหม้อมาต่อทางร้องเป็นครั้งคราว หรือบางทีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ช่วยต่อทางร้องให้ ครูดนตรีและครูร้องจึงเข้ากันได้ดี เพราะมาจากสำนักเดียวกัน “…วงเครื่องสายของพระวิมาดาเธอฯ วงนี้ได้หยุดชะงักล้มเลิกไประยะหนึ่ง เมื่อพระผู้อุปถัมภ์คือ พระวิมาดาเธอฯ เสด็จไปประทับ ณ วังลดาวัลย์ เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งเมื่อเสด็จออกมาประทับที่สวนสุนันทา… ระยะนี้ข้าหลวงเก่าๆ ก็กลับมาเฝ้าหรือมาอยู่กับท่านที่พระตำหนักในสวนสุนันทา ดนตรีของพระวิมาดาเธอฯ ก็ได้จับกลุ่มขึ้นใหม่ นักร้องที่ถูกตามตัวให้กลับมาร้องเพลงในชุดหลังนี้มีครูท้วม ประสิทธิกุล ซึ่งเคยร้องในวงนี้มาตั้งแต่สมัยสวนดุสิตในรัชกาลที่๕…” การบรรเลงสืบมาตราบจนสิ้นพระผู้อุปถัมภ์ในวาระสุดท้าย เมื่อพุทธศักราซ ๒๔๗๒

ตลอดรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระวิมาดาเธอฯ ทรงได้รับพระมหากรุณายกย่องทั้งด้วยฐานันดรศักดิ์ และด้วยการพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงอยู่ในฐานะ พระมเหสีที่ยิ่งด้วยพระอิสริยศักดิ์ และได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศอย่างครบถ้วน เช่น ในส่วนของพระตำหนักที่ประทับ พระ วิมาดาเธอฯ จะทรงได้รับพระมหากรุณาให้มีพระตำหนักที่ประทับ ทั้ง ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังที่สร้างสำหรับเสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับเป็นครั้งคราว เช่นที่พระราชวังบางปะอิน หรือ พระราชวังใหม่ที่สวนดุสิต และที่สวนสุนันทา ซึ่งทรงเตรียมไว้เมื่อสิ้นรัชกาล นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิ่งของพระราชทานอื่นๆ ตามโอกาสสำคัญๆ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น พระวิมาดาเธอฯ ก็ทรงได้รับพระราชทานตามควรแก่พระจริยวัตรทั้งสิ้น เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งทรงพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติม ครั้งมีพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ หรือคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง พระวิมาดาเธอฯ ทรงได้รับพระราชทานเข็มทองอักษรเสด็จพระราชดำเนินยุโรปในฐานะผู้รักษาพระนครฝ่ายในด้วย เป็นต้น

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่สอง ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๔๙ – ๒๔๕๐ นั้น มีประจักษ์พยานของพระบรมราชสัมพันธ์ ซึ่งทรงห่วงใยต่อพระวิมาดาเธอฯ ที่น่าประทับใจยิ่งในพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีมาพระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทรงพระราชปรารภถึงพระอาการประชวร และทรงฝากฝังให้เป็นธุระช่วยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ มีความตอนหนึ่งว่า

“ได้รับจดหมายตอบเรื่องหมอปัวซ์ รับจะเป็นธุระนั้น ฉันมีความยินดีขอบใจเป็นมาก ผู้ซึ่งได้ออกชื่อทั้ง ๕ คนนั้นไม่ใช่คนดีเลย เจ็บมากบ้างน้อยบ้างทุกคน กล่าวคือ เจ้าสาย ตั้งแต่เปนสุกใสครั้งนี้ เปนฝีเดินไม่ได้ตลอดมา เลยซูบผอมทรุดโทรม เดินไม่ค่อยจะได้นอนไม่ใคร่หลับ…

เรื่องอาการเจ้าสายนั้น ฉันให้วิตกกลัวจะตาบอดอย่างกรมภูมินทร์ ขอให้ระวังจงมาก…”

และเมื่อทรงทราบว่ามีพระพลานามัยดีขึ้นก็ทรงคลายพระวิตก มีพระราชหัตถเลขามาว่า

“มีความยินดีที่ได้ทราบว่า เจ้าสายค่อยอ้วนขึ้น เปนข่าวดีซึ่งฉันเปนที่พอใจมาก”

การเสด็จพระราชดำเนินยุโรปครั้งหลังนี้เมื่อเสด็จนิวัตคืนพระนคร ได้มีกำหนดการจะเสด็จแวะเมืองตราด และจันทบุรี จึงทรงพระราชดำริว่าจะให้มีกระบวนฝ่ายในไปในกระบวนเสด็จเหมือนอย่างเคย เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลแต่ก่อนมาในครั้งนั้น ได้เชิญเสด็จพระวิมาดาเธอฯ ให้เป็นประธานเสด็จไปพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา เจ้าฟ้านิภานภดล และข้าราชการพนักงานผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่ง ซึ่งพระวิมาดาเธอฯ ได้ทรงรับสนองพระราชดำริให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ ซึ่งหลังจากเสด็จประพาสยุโรปกลับคืนพระนครครั้งนั้นแล้วล่วงมาอีกเพียง ๓ ปีก็เสด็จสู่สวรรคาลัย

เมื่อสิ้นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว พระวิมาดาเธอฯ ทรงดำรงพระองค์โดยปกติและเหมาะสมแก่พระอิสริยยศสืบมา ในชั้นแรกได้เสด็จไปประทับถวายการปฏิบัติพระราชโอรส ณ วังลดาวัลย์ระยะหนึ่ง ต่อมาภายหลังทรงพระประชวรจึงเสด็จมาประทับรักษาพระองค์ ณ สวนสุนันทา พร้อมด้วยพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ซึ่งในเบื้องปลายแห่งพระชนมชีพนั้น ก็ยังได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลอันเป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาไว้ประการหนึ่งนั่นคือ โปรดให้จัดพิมพ์หนังสือที่ดีมีคุณค่าแก่การศึกษาค้นคว้าประทานเป็นมิตรพลีทุกปี ในวาระที่ทรงบำเพ็ญพระกุศลในงานฉลองพระชันษาครบรอบวันประสูติ ในงานวันขึ้นปีใหม่และในงานรดนํ้าสงกรานต์ ได้แก่

พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน และจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน พิมพ์ในงานฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

เสด็จประพานต้นครั้งที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๕ พิมพ์ในงานรดนํ้าสงกรานต์ ๒๔๖๗

ประชุมเพลงยาวสุภาพ พิมพ์ประทานเมื่อปีฉลู ๒๔๖๘

บทเห่กล่อมพระบรรทมประชุมลำนำของสุนทรภู่ พิมพ์ประทานเมื่อปีขาล ๒๔๖๙

จารึกวัดอัษฎางคนฤมิต พิมพ์ประทานเมื่อปีมะโรง ๒๔๗๑

จารึกเรื่องสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ พิมพ์เป็นมิตรพลีในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๒

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริในพระเกียรติคุณแห่งพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น “พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา” ดังปรากฏคำประกาศมีความดังนี้

“อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ เป็นที่นับถือของพระบรมวงศานุวงศืและคนทั้งหลายอื่นโดยมากมา ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ด้วยปรากฏพระคุณความกตัญญูกตเวทีในการที่ทรงปฏิบัติวัฏฐาก สนองพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้าหลวง และทรงพระเมตตาอารีแก่บรรดาพระราชโอรส ธิดามิได้มีที่จะรังเกียจ แม้พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระเยาว์ พระอัครชายาเธอฯ ก็ได้ทรงรับเป็นผู้เลี้ยงดูอุปการะอยู่คราวหนึ่ง ครั้นถึงเวลาเสด็จออกไปศึกษาวิชชาการประทับอยู่ต่างประเทศ พระอัครชายาเธอฯ ก็อุตสาห์ทรงฝากสิ่งของ เครื่องบริโภคไปถวายเป็นเนืองนิจ เห็นได้ว่ายังผูกพระหฤทัยอยู่ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิรู้วาย ในส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังระลึกถึงพระคุณของพระอัครชายาเธอฯ อยู่ไม่ขาด ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่าสมควรจะเลื่อนพระเกียรติยศพระอัครชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ให้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน สนองพระคุณที่ได้มาแต่หนหลัง จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมพระอัครชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏขึ้นเป็นกรมพระมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา วรรคบริวาร ทรงศักดินา ๒๐๐๐๐ ตามตำแหน่งพระอัครชายา มีกรมในพระราชกำหนดใหม่ จงทรงพระเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผล สกลเกียรติยศ อิสริยศักดิ์มโหฬาร ทุกประการเทอญ”

พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ประชวรด้วยพระโรคมะเร็ง สิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักที่ประทับในสวนสุนันทาจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสรใน บริเวณสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ เมื่อถึงกำหนดพระราชทานเพลิงศพก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงพระโกศทองใหญ่ในการออกพระเมรุ เป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดแก่พระวิมาดาเธอฯ เป็นวาระสุดท้าย

อนึ่ง ด้วยพระอัธยาศัยที่โปรดให้พิมพ์หนังสือประทานเป็นมิตรพลีเช่นนี้ เมื่อสิ้นพระชนม์จึงได้มีบุคคลต่างๆ ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดำเนินรอยตามจัดพิมพ์หนังสือดีถวายเป็นพระกุศลอีกหลายเล่มในงานพระศพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ดังนี้

ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอและบทดอกสร้อยสุภาษิต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวม

ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนา

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน เล่ม ๑, ๒ ความเรียงและบทกลอน

ประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาและคำวินิจฉัย

จดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

พระประวัติและพระจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยพระเกียรติคุณในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา นั้นกล่าวได้ว่า ทรงเป็นราชนารีที่ประเสริฐยิ่ง ควรคู่แก่พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งพสกนิกรชาวไทยพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ด้วยประการทั้งปวง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก