พระนางเธอลักษมีลาวัณ

Socail Like & Share

“๏ แลเห็นคุณน้องไพศาล พี่จึ่งจัดงาน เฉลิมพระยศใหญ่ถนัด
๏ ให้รับพระสุพรรณบัตร อีกเครื่องยศจัด ประจำตามแบบนิยม
๏ อิศริยาภรณอุดม จักรีบรม ราชะตระกูลพูลยศ
๏ ประกาศพระเกียรติปรากฏ ว่าพี่สมมต น้องให้เป็นมิ่งนารี
๏ ผู้จะได้เปนมเหษี ครองคู่ตูพี่ ประดับประเทศเขตพระนางเธอลักษมีลาวัณไท”

บทร้อยกรองข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ “อาเศียรวาท” ที่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราซทานแด่ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าลักษมีลาวัณ” เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๔ สตรีไทยในราชสำนักผู้เพียบพร้อมด้วยพระสิริโฉม พระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ การแสดงละคร มีความรักชาติ เลื่อมใสพระบวรพุทธศาสนา เทิดทูนและจงรักภักดีพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตลอดพระชนมชีพ พระนามเป็นที่ประจักษ์ทั่วกันว่า “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”

พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ” เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเป็นพระธิดาเพียงพระองค์เดียวของหม่อมหลวงตาด มนตรีกุล ประสูติเมื่อปีกุน แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ บุรพาสาฒ เอกศก จ.ศ. ๑๒๖๑ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ วังวรวรรณ ตำบลแพร่งนรา จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) มีพระนามที่กล่าวขานกันในบรรดาพระญาติและผู้ใกล้ชิดว่า “ติ๋ว”

พระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นบุตรลำดับที่ ๑๘ แห่งราชสกุลวรวรรณ ในจำนวนพระญาติร่วมพระบิดาเดียวกันทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์ ดังพระนามตามลำดับคือ

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)
หม่อมเจ้าพรรณพิมล       หม่อมเจ้าสกลวรรณากร
หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ   หม่อมเจ้าต่อม
หม่อมเจ้าวัลภากร           หม่อมเจ้าวรรณวิมล (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี)
หม่อมเจ้าปริญญากร        หม่อมเจ้านิตยากร
หม่อมเจ้าวิมลวรรณ (หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร)
หม่อมเจ้าเต๋า                  หม่อมเจ้าอรทิพย์ประพันธ์
หม่อมเจ้าสุวิชากร            หม่อมเจ้าพิมลวรรณ (หม่อมเจ้านันทนามารศรี)
หม่อมเจ้าศิวากร              หม่อมเจ้าสิทธยากร
หม่อมเจ้าไปรมากร          หม่อมเจ้าวรรณพิมล (พระนางเธอลักษมี ลาวัณ)
หม่อมเจ้าวรวีรากร           หม่อมเจ้าไวฒยากร
หม่อมเจ้าดุลภากร           หม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์
หม่อมเจ้าหญิง                หม่อมเจ้าหัชชากร
หม่อมเจ้าสรรพางค์พิมล   หม่อมเจ้าวัลลีวรินทร์ (หม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล เกษมสันต์)
หม่อมเจ้าอุบลพรรณี        หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ
หม่อมเจ้านิด                   หม่อมเจ้าบุษยากร
หม่อมเจ้าฉันทนากร         หม่อมเจ้าเจตนากร
หม่อมเจ้าอภิญญากร        หม่อมเจ้าสุนทรากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงรับการศึกษาและการอบรมเลี้ยงดูจาก เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ ๔ ผู้เป็นพระอัยยิกา ณ วังวรวรรณ จนกระทั่งพระชันษา ๑๒ ปี พระบิดาจึงถวายพระองค์ให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อครั้งทรงเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเฉลิมพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ระยะหนึ่งแล้วจึงเสด็จกลับไปประทับ ณ วังวรวรรณตามเดิม

พระนางเธอลักษมีลาวัณ และพระเชษฐภคินี ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เต็นท์เล่นไพ่บริดจ์ ในงานประกวดภาพเขียนของช่างเขียนสมัครเล่น ณ โรงละครพระราชวังพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะพระชันษา ๒๑ ปี

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่ราชสกุล “วรวรรณ” เป็นพิเศษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่แก่พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ ตามลำดับดังนี้

พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลว่า “หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวิมลวรรณว่า “หม่อมเจ้าหญิงวรรณีศรีสมร”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงพิมลวรรณว่า “หม่อมเจ้าหญิงนันทนามารศรี”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลว่า “หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวัลลีวรินทร์ว่า “หม่อมเจ้าหญิงศรีสอางค์นฤมล”

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการละคร จึงทรงชวนพระนางเธอลักษมีลาวัณ และพระเชษฐภคินี พระองค์ใหญ่ให้แสดงละครในวังหลวง และโปรดให้พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแสดงเป็นนางเอกในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เป็นต้นว่า เรื่อง “วิวาหพระสมุท” เป็นละครพูดสลับลำ ทรงแสดงบทของ “เจ้าหญิงอันโดรเมดา” เรื่อง “กุศโลบาย” เป็นพระราชนิพนธ์ละครพูด ทรงแปลจากภาษาต่างประเทศเรื่อง “The Royal Family” พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงแสดงบทของ “เจ้าหญิงแอนเจลา” นอกจากนี้ยังแสดงเรื่องอื่นๆ รวมทั้งละครสั้นอีกหลายเรื่อง

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงสนพระทัยงานวรรณกรรมอย่างมาก ประจวบกับทรงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ต่างๆ ทรงพระนิพนธ์ทั้งร้อยแก้ว โคลงกลอนด้วยพระทัยรัก จึงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาเป็นประจำ บางครั้งทรงพระราชนิพนธ์โคลงกลอนพระราชทานเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า

“เลือกสรรยี่สิบเค้า ขวบปี
บ่มิพบนางดี พรั่งพร้อม
จนได้พบลักษมี ผู้ยอด ใจนา
วาสนานำน้อม จิตให้รักกัน

ขวัญเนตรนเรศลํ้า เลอสรร
ควรรับมอบชีวัน พี่แล้ว
แลกกับจิตแจ่มจันทร์ มอบพี่ ไว้เทอญ
ขอพิทักษ์จิตแก้ว พี่ด้วยชีวา ฯ ”

“นั่งคำนึงถึงน้องผู้ต้องจิต แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี
ความรักรุกทุกทิวาและราตรี บ่ได้มีสร่างรักลักเวลา
ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง เห็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา
ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์… ”

“อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์ ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น
ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย
ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่ชม ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย
ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย”

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์และลายพระราชหัตถ์ จารึกว่า “ให้แม่ติ๋ว, พร้อมด้วยดวงจิต, และขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย” ซึ่งพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก็ทรงพระนิพนธิ์คำกลอนถวายว่า

“อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้ หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต
อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด ขอถวายไม่คิดขัดจำนง
อะไรเป็นความสุขสราญวานรับสั่ง จะถวายได้ดังประสงค์
ขอแต่เพียงทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย”

ต่อมาวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๔ พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระยศจาก หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” ขณะมีพระชันษา ๒๒ ปี ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศถอนหมั้นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีเธอ อีก ๕ เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระสุพรรณบัฏสถาปนาเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” และทรงพระราชนิพนธ์ “อาเศียรวาท” เป็นกาพย์ กลอน และฉันท์ ว่าด้วยลักษณะของหญิงที่เป็นมิ่งมเหสี พระราชทานแต่พระนางเธอฯ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน และเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑

ต่อมาวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ขณะพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเจริญพระชันษา ๒๓ ปี ทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระนามเป็น “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่พระนางเธอลักษมีลาวัณ มิได้ทรงพระครรภ์เพื่อให้กำเนิดรัชทายาทถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สมดังพระราชประสงค์ ทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยแยกกันอยู่นับแต่บัดนั้น พระนางเธอฯ ทรงแยกประทับตามลำพัง ณ ตำหนักลักษมีวิลาส มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายคู่กับพระนางเธอฯ ในพระอิริยาบถสอดพระกรคล้องกัน ขนาดภาพ ๔๘ นิ้ว ใต้ภาพจารึกลายพระราชหัตถ์ว่า “ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโต ด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก, เพื่อเปนที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต, คือวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓”

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งตลอดมา ตราบจนเสด็จสวรรคตแล้วพระนางเธอฯ ทรงครองชีวิตอย่างสงบ ทรงมีรายได้จากเงินปีในฐานะ พระราชวงศ์ และเงินพระราชทานเลี้ยงชีพตามพระราชพินัยกรรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีละ ๒,๐๐๐ บาท และทรงรับพระราชทานมรดกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตามส่วนที่จับสลากได้ เป็นเครื่องเพชรมูลค่าหลายสิบล้านบาท

ส่วนพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์นั้น พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรอง บทละคร นวนิยาย เป็นต้นว่า บทละครเรื่อง หาเหตุหึง เบอร์หก ปรีดาลัยออนพาเหรด นวนิยายเรื่อง เรือนใจที่ไร้ค่า ชีวิตหวาม พิมพ์เผยแพร่ ๒ ครั้ง โชคเชื่อมชีวิต ตลอดจนเรื่อง ยั่วรัก เป็นนวนิยายที่ทรงแปลจากเรื่อง His Hour ของ Elinor Glyn เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ และเรื่องอื่นๆ อีกมาก ทรงพระนิพนธ์ในพระนามแฝงว่า “ปัทมะ” “วรรณพิมล” และ “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงดำเนินการในด้านนาฏกรรม โดยเฉพาะกิจการของคณะละครชื่อ “ปรีดาลัย” สืบสนองพระเจตนารมณ์ของพระบิดา ทรงปฏิวัติการแสดงละครสมัยนั้น ผู้แสดงเป็นชายจริงหญิงแท้ มีเพลงร้องประกอบทำนองไทยและสากล ใช้เครื่องดนตรีฝรั่ง จำนวนผู้แสดงมากถึง ๔๐ คน เบิกโรงด้วยระบำฟากฟ้าต่อด้วยเรื่อง “พระอาลิสะนัม” แสดงครั้งแรก ณ ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วทรงย้ายคณะละครปรีดาลัยไปแสดง ณ โรงนาครเขษม การแสดงละครของคณะปรีดาลัยครั้งนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๘๙) ทรงฝึกซ้อมและทรงแสดงให้ดูเป็นตัวอย่างหากผู้แสดงยังซ้อมบทไม่ถูกตามพระประสงค์ ทรงประดิษฐ์ท่าระบำบางชุดให้กลมกลืนกับเพลงสากล ทรงสร้างศิลปินให้มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต ประวัติ ผิวเผือก (ทัต เอกทัต) จอก ดอกจันทน์ อุไร เกษมสุวรรณ

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ ทรงจัดการแสดงละครร่วมกับบริษัทสหศินิมา จำกัด เรื่อยมาเป็นลำดับ ครั้งสุดท้ายจัดแสดง ณ ศาลาเฉลิมนคร นอกจากนี้ยังทรงจัดการแสดงละครเพื่อหารายได้ให้ราชการกองทัพเรือหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๘๙ และงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกหลายคราว หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ เป็นอันสิ้นสุดคณะละครปรีดาลัยแต่บัดนั้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ยังทรงดำรงตำแหน่งกรรมการวรรณคดีสโมสรแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ทั้งทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองต่างๆ เผยแพร่ในวรรณคดีสารเป็นจำนวนมาก ครั้นพระชันษา ๖๐ ปี พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงจัดงานสมายุมงคลครบ ๕ รอบ ณ ตำหนักลักษมีวิลาส วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระนิพนธ์ร้อยกรองที่ปรากฏในงานดังกล่าว ทำให้ซึมทราบว่าพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงตระหนักถึงวัฏสงสารแห่งชีวิต และทรงยอมรับรู้ถึงสัจธรรมของโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะพระนางเธอฯ ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา และโปรดฟังเทศน์เป็นนิจสิน แม้ว่าในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ พระนางเธอฯ จะทรงดำรงพระชนม์อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง ไร้ผู้รับใช้ใกล้ชิด ดังพระนิพนธ์คำกลอนที่ทรงเรียงร้อยไว้ว่า

“ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปลี่ยวเปล่า ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว
ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรำคาญ
บ้างเข้าทำท่าเป็นบ้างั่ง เรียกจะสั่งทำให้ไม่ขอขาน
สั่งอย่างโง้นทำอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน”

พระนางเธอลักษมีลาวัณสิ้นพระชนม์ เนื่องจากคนสวนลอบปลงพระชนม์เพื่อช่วงชิงทรัพย์ ณ ตำหนักลักษมีวิลาส สี่แยกพญาไท เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ พระชนมายุได้ ๖๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

พระนางเธอลักษมีลาวัณจึงทรงเป็นสตรีไทยแห่งราชสกุลวรวรรณ ที่เพียบพร้อมด้วยพระสิริโฉม พระจริยวัตร พระปรีชาสามารถ มุ่งประกอบพระกรณียกิจ ที่ธำรงไว้ซึ่งชาติ พระบวรพุทธศาสนา และ พระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์โดยแท้จริง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ผกาวรรณ เดชเทวพร