สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

Socail Like & Share

“๏ ข้าขออำนวยให้ วรราชะชายา
พระอินทระศักดิ์นา ริศะจีวิไลยวรรณ
๏ เพื่อเป็นพยานรัก ฤดีร่วมสิเนห์กัน
ยืนจนประจบพรร ษะชิวีดนูสลายฯ”

คำประพันธ์ร้อยกรองข้างต้นนี้เป็นพระราชนิพนธ์
“คำอำนวย” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องละคร “โรเมโอและจูเลียต” เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อพระราชทานแด่ “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา” ครั้งเป็น “พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี” อันเป็นประจักษ์พยานรักของพระองค์ที่ทรงแสดงต่อพระวรราชชายาคู่พระชนมชีพพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา มีพระนามเดิมว่า “ประไพ สุจริตกุล” เป็นพระธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) และท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (ไล้) พระองค์เป็นบุตรลำดับที่ ๕ ในจำนวนพระญาติทั้งสิ้น ๑๑ คน ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ บ้านคลองด่าน อันเป็นบ้านของพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) ผู้เป็นปู่ เมื่อครั้งประสูตินั้นพระบิดามีบรรดาศักดิ์ เป็น “พระอรรถการประสิทธิ์ อธิบดีศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงสืบสายสกุลแห่งราชินิกูล คือ พระยาราชภักดี เป็นน้องชายของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรามาตา ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ เมื่อพระชันษา ๙ ปี ทรงศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนราชินี เป็นนักเรียนประจำ เลขประจำตัว ๓๘๗ พ.ศ. ๒๔๕๔ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ระหว่างทรงศึกษานั้น โปรดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี การฝีมือ และกีฬา

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีผู้เป็นบิดา ได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อเข้ารับราชการฝ่ายใน พระองค์ทรงสนพระทัยการขับร้องอย่างมาก ทรงเป็นต้นเสียงร่วมกับพระสุจริตสุดา พระสนมเอก ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโขนสมัครเล่น เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนนางลอย พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับหน้าที่บอกบทพากย์และเจรจาด้วยพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงแสดงเป็น “อินทิรา ดุลยวัจน์” นางเอกของพระราชนิพนธ์ละครพูด ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง “เสือเถ้า” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นเจ้าคุณปู่ของนางเอก คือ “พระยาอรรถประกาศกรณีย์”

ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงมีความสามารถในการแสดง ทั้งทรงสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเป็นที่โปรดปราน จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศตามลำดับดังนี้

วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส และทรงพระกรุณาแต่งตั้งเป็น “พระอินทราณี” ตำแหน่งพระสนมเอก

วันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี”

วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “พระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี” เนื่องจากทรงพระครรภ์

วันที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ โปรดให้ออกพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา” เนื่องจากพระครรภ์ไม่มีพระประสูติกาลถึงสองคราว

ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงรับราชการฝ่ายในนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทั้งลิลิต นิราศ เพลงยาว และบทละครพระราชทานหลายเรื่อง ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ “คำอำนวย” พระราชทานทุกครั้ง เป็นต้นว่า

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน – ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครแปลเรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” พระราชทานคำอำนวยตอนหนึ่งว่า

“๏ ข้าเพียรประพนธ์บท วรนาฏะกากร
เพื่อเพิ่มวรักษร ณ สยามะภาษา
๏ ข้าขออำนวยให้ วรราชะชายา
พระอินทรศักดินา ริศะจีวิไลยวรรณ”

เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ลิลิตนารายณ์สิบปาง” และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพิมพ์ในงานฉลองพระชนมายุ ๒๑ พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ พระราชทานคำอำนวยตอนหนึ่งว่า

“๏ เรื่องนี้ข้าแต่งให้ ราชินี
อินทรศักดิ์ศจี นิ่มน้อง
โดยเธอกล่าววาที เชิญแต่ง
ซึ่งเฉพาะเหมาะต้อง จิตข้าประสงค์…
๏ อ้าน้องจงรับด้วย ใจดี
ลิลิตเปนพลี รักลํ้า
พยานรักซึ่งมี ห่อนเหือด หายเลย
จนจวบสิ้นดินนํ้า ฟากฟ้าคลาสูญฯ”

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครคำฉันท์เรื่อง “มัทนะพารา” หรือตำนาน แห่งดอกกุหลาบ โดยทรงนำเค้าเรื่องมาจากประเทศอินเดีย แล้วพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ด้วยความประณีต ทั้งตัวละครและภาษาถูกต้องตามยุคสมัย พระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๗ วรรณคดีสโมสรได้ประกาศยกย่องเรื่องมัทนะพาธาว่า เป็นหนังสือแต่งดี ดังพระราชนิพนธ์คำอำนวยตอนหนึ่งว่า

“๏ อ้าอินทรศักดิศะจีองค์ วรเอกมเหสี
ผู้คู่หทัยและวรชี- วิตะร่วมสิเนหา
๏ อันเธอสิเปรียบประดุจะกุพ- ชะกะเลิดสุมาลา
ดาลดวงฤดีสุมะทะนา วติชื่นระตีหวาน…”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประลองยุทธ์ ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงได้รับพระราชทานพระราชนิพนธ์ “โคลงนิราศประลองยุทธ” ซึ่งพระราชทานพิมพ์พระราชนิพนธ์เป็นของชำร่วยเพื่อพระราชทานในงาน “ขึ้นพระตำหนักที่สวนราชฤดี”ณ ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” เพื่อทรงอรรถาธิบายตอบ พระปุจฉาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ขณะทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นพระบรมราชินี พระราชนิพนธ์เรื่องนี้แม้มิได้ทรงออกพระนามชัดเจน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใกล้ชิด

นอกจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ยังทรงได้รับพระราชทานพระราชนิพนธ์ “เพลงยาว” ซึ่งสันนิษฐานแน่ชัดว่าทรงพระราชนิพนธ์ไล่เลี่ยกับพระราชนิพนธ์เรื่อง “โคลงนิราศประลองยุทธ” เนื่องจากได้ท่องจำกันในบรรดาหมู่ข้าหลวงราชสำนัก เพลงยาวดังกล่าวมีชื่อว่า “เขียนสารามาฝากจากดวงจิต” ดังความตอนหนึ่งว่า

“…เสนาะเสียงเพียงพิณประสานศัพท์ อาจระงับเหงาใจในยามคํ่า หวานอะไรก็ไม่ปานหวานนํ้าคำ ที่หล่อนรํ่าพาทีกับพี่ยา
เสียงเจ้าซาบอาบจิตติดในหู เมื่อยามตูเลิศร้างห่างเคหา
แว่วสำเนียงเสียงเสนาะเพราะติดมา ให้พี่ยาเป็นสุขทุกข์ระคน… ”

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงสนพระทัยส่งเสริมการศึกษาอย่างมาก ทรงเริ่มประทานเงินทุน ๓,๐๐๐ บาทแก่โรงเรียนราชินีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วประทานเนื่องในวันประสูติเรื่อยมาตามลำดับ จนถึงวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ โรงเรียนราชินีเริ่มใช้เป็นทุนของ ปีการศึกษา ๒๔๗๔ นับแต่บัดนั้น ปัจจุบันโรงเรียนราชินียังคงให้ทุนแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่ สอบได้คะแนนเยี่ยมขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา บางครั้งทรงสนับสนุนให้ศึกษาต่อเนื่องยังต่างประเทศ ปรากฏว่าบุคคลที่ได้รับการศึกษาเนื่องจากทุนที่ได้รับประทานดังกล่าวล้วนเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องของสตรีนั้นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงมีคุณูปการต่อสตรีในรัชสมัย โดยเฉพาะทรงสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทในสังคม รู้จักออกสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ข้าหลวงของพระองค์จักต้องมีความรู้ ความสามารถในการออกสังคมทุกคน ทรงสนับสนุนให้ข้าราชบริพารศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ เช่น ทรงจัดผู้ชำนาญมาสอน ทำให้ข้าหลวงสมัยนั้นมีความสามารถหลายด้าน เป็นต้นว่า ดนตรี ภาษา ละคร และกีฬา ด้านกีฬานี้ทรงสนับสนุนให้มีการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ นักกีฬาของพระองค์ที่มีชื่อเสียง คือ นางสาว สงวน สุจริตกุล ชนะเลิศการแข่งขันแบดมินตันหญิงแห่งประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ พ.ศ. ๒๔๖๕ ยังโปรดให้ข้าหลวงหัดกีฬาหลายประเภท เช่น ขี่ม้า จักรยาน และฟุตบอล

เรื่องการทหาร สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงสนพระทัยและมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ จนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศนายพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กองพันที่ ๒ กรมทหารบกราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมทหารบกราบที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ดังที่หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ได้กล่าวถึงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง “ผิดวินัย” ในหนังสือ “งานละครของสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม” ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จทอดพระเนตรละครพระราชนิพนธ์เรื่องผิดวินัย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นการแสดงถวายของนายทหารกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชินี ทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ ๒ กรมทหารบกราบที่ ๑ และกรมทหารบกราบที่ ๑๑

ส่วนกิจการเสือป่านั้น สมเด็จพระนาง เจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงได้รับพระราชทานพระยศเป็น “นายนาวาตรี ราชนาวีเสือป่า” ทรงติดตามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในการซ้อมรบทุกครั้ง ยกเว้นในคราวเสด็จประลองยุทธ์ไม่ได้ตามเสด็จด้วย เนื่องจากเป็นการปฏิบัติของบุรุษโดยตรง

ต่อมาวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรคักดิศจีฯ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาของวชิรพยาบาล

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงได้รับพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๕- ๒๔๖๖ ตามลำดับ ดังนี้

วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ จปร. ชั้นที่ ๑

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานมหาจักรีบรมราชวงศ์ พร้อมทั้งทรงดำรงที่ภคินีของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ และรับพระราชทานรัตนวราภรณ์ ในวันเดียวกันด้วย

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า พร้อมทั้งทรงดำรงที่มหาสวามินีของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานนพรัตนราชวราภรณ์

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ รับพระราชทานมหาวชิรมงกุฎ

ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงดำรงพระชนม์อย่างเรียบง่าย ทรงมัธยัสถ์ในความสุขส่วนที่พึงเป็นของพระองค์ ทั้งที่มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายอย่างสะดวกสบาย ทรงสนพระทัยเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทรงสนพระทัยอ่าน ฟัง และสนทนาเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงได้รับพระมหากรุณาให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานนํ้าพระมหาสังข์และทรงเจิม เมื่อพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ และทรงรับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๖ รอบ พ.ศ. ๒๕๑๗ ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวรวิหาร รวมทั้งทรงรับพระมหากรุณาให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลี
พระบาทเพื่อทรงเจิม และทรงรับพระราชทานนํ้าพระมหาสังข์ด้วย นอกจากนี้ยังทรงได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาโดยตลอดทุกครั้งเมื่อประชวร

ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ มีพระอาการประชวรกำเริบจึงทรงเข้ารับการรักษา ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย พระอาการเริ่มทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๐๗ นาฬิกา ๕๕ นาที สิริพระชนมายุ ๗๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙

แม้จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระเกียรติคุณยังปรากฏอยู่ในความทรงจำของซาวไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวกำแพงแสน ที่ได้รับประทานที่ดิน ๒๑ ไร่ พร้อมพระตำหนักในการจัดสร้างสถานศึกษาเพื่อชุมชน นั่นคือ “โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย” ข้าราชการ พ่อค้า คหบดีชาวกำแพงแสนจึงพร้อมใจกันขอพระบรมราชานุญาตก่อสร้าง “พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดพระราชานุสาวรีย์ฯ แห่งนี้ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ หลังจากนั้น ชาวกำแพงแสนจึงประกาศให้วันที่ ๓๐ พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ” และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นวาระสำคัญครบ ๑๐๐ ปี วันประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระภารกิจของพระองค์ ชาวกำแพงแสนทุกคน จึงพร้อมใจกันจัดงาน “รวมใจภักดิ์อินทรศักดิศจี” สมโภช ๑๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ จึงเป็นสตรีไทยที่ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่เด็กและสตรี ตลอดจนผู้ใกล้ชิดตลอดมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าจวบจนสิ้นพระชนม์ โดยยังคงมีอนุสรณ์สถานเป็นสิ่งสำคัญ ที่ยํ้าเตือนความทรงจำของอนุชนสืบมา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ผกาวรรณ เดชเทวพร