พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

Socail Like & Share

สุภาพสตรีท่านหนึ่งผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของกุลสตรี มีความจงรักภักดีในใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระราชทานพระอิสริยยศอันสูงส่ง เป็นพระวรราชเทวี แต่การดำเนินพระชนมชีพกลับต้องผันแปรไป มิได้เสวยสุขอันสมบูรณ์ เนื่องด้วยความทุกข์โทมนัสอย่างสุดแสน จากการเสด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีสวรรคตอย่างกะทันหันของพระราชสวามี ในขณะที่ความปลาบปลื้มปีติจากการมีพระประสูติกาลพระราชธิดายังมีทันได้คลายลง เป็นสิ่งที่ปุถุชนที่ได้ประสบ ยากที่จะหักห้ามใจมิให้อาดูรได้โดยง่าย แต่ด้วยพระขันติบารมีอันสูงส่ง กอปรด้วยคุณสมบัติของความเป็น “แม่” อย่างเปี่ยมล้น มิได้ทรงท้อแท้ แต่กลับตั้งพระทัยอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเพียงพระองค์เดียวแห่งรัชกาล จนเจริญพระชันษา โดยมิได้บกพร่อง พร้อมกับดำรงพระองค์ให้มั่นคงอยู่ในพระเกียรติยศแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ โดยมิด่างพร้อยตลอดพระชนม์ชีพ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประสูติ เมื่อปีมะเส็ง ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ในสกุลอภัยวงศ์ เป็นธิดาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว ทรงได้รับการศึกษาอบรมในพระบรมมหาราชวัง โดยอยู่ในความดูแลของท้าวศรีสุนทรนาฎ ผู้เป็นยาย จากนั้นได้ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าฝึกหัดดุริยางค์ไทยในราชสำนัก ตำแหน่งต้นเสียง ทรงมีความสามารถเป็นศิลปินนักแสดง มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณแสดงละครบทพระราชนิพนธ์ในหลายโอกาสด้วยกัน อาทิ ได้ทรงแสดงละครเรื่อง พระร่วง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงรับบทนางจันทน์ ด้วยทรงเป็นที่โปรดปราน ดังนั้น ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ยังประทับอยู่ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้นเอง ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สุวัทนา”

การอภิเษกสมรสได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เหตุการณ์ในวันนั้นพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ทรงเล่าประทานถึงวันแห่งความทรงจำแก่ข้าราชบริพาร ในพระองค์ว่า

“…ในตอนบ่ายห้าโมงเศษของวันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ณ ห้องรับแขกชั้นบนพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ได้อ่านประกาศสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าจอมชั้นพระสนมเอก แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนํ้าพระสังข์ และทรงเจิมพระราชทาน ทรงสวมธำมรงค์พระราชทาน แล้วพระราชทานหีบกับกระโถนลงยา เป็นเครื่องยศ อีกทั้งพระราชทานเครื่องเพชรส่วนพระองค์ แล้วทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรส โดยมีผู้ลงนามเป็นพยานหลายคน มีเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ท้าวศรีสุนทรนาฏ เจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุธเทวา พระยาอุดมราชภักดี พระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น เสร็จพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงทรงคล้องพระหัตถ์นำไปนมัสการพระพุทธปฏิมา ณ พระพุทธรัตนสถาน โดยทรงลอดใต้ซุ้มกระบี่แห่งราชองครักษ์ทหารบก ตำรวจหลวง ทหารเรือ และเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ รวม ๘๔ นาย ซึ่งร้องชโยตลอดทางเสด็จผ่าน”

ภายหลังพระราชพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ขณะนั้นมีพระชันษาย่างเข้า ๑๙ ปี ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ ๔๔ พรรษา และในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ศกนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์และแหลมมาลายู เพื่อเจริญพระราชไมตรีเป็นเวลา ๒๓ วัน

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อเจ้าจอมสุวัทนามีพระชันษาครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นครั้งที่สอง และโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานในโอกาสดังกล่าว มีการเลี้ยงพระกระยาหารคํ่า ได้พระราชทานหนังสือพระราชนิพนธ์ บทเสภาเรื่อง พญาราชวังสัน กับ สามัคคีเสวก เป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมงาน ทรงร่วมแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรื่องท้าวแสนปมและได้ทรงพระราชนิพนธ์ฉันท์ พระราชทานแด่เจ้าจอมสุวัทนา ดังนี้

ถึงวนิวิเศษะศุภะมัง          คะละวาระชาตา
อวยพรณแม่สวะทะนา      ปิยะยอดสุนารี

ด้วยเดชะคุณรตนะไตรย์   อุปะการะโฉมศรี
ขอจงเจริญศุภะสุขี           บ่มิเสื่อม ณ วันใด

ขออายุยงณศตะพรร         ษะและทุกข์นิราศไกล
อีกปลอดบ่พบประทุษะภัย และสราญณกายา

กิจใดประสงคะจะประดิษ   ฐะก็สิทธิเถิดหนา
การใดจำนงก็บ่มิช้า          และสำเร็จเถอะสมปอง

ขอลาภะหลั่งประดุจะธาร   นทิทันถนัดนอง
ขอยศและเกียรติคุณะผ่อง ทวินิจจะเนืองนันท์ฯ

ช่วงระยะเวลานั้น เจ้าจอมสุวัทนาทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ดังมีข้อความเล่าถึงพระราชจริยวัตรในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“ในขณะที่ประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ระหว่างวันที่ ๑๒ เมษายน ถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๘ เป็นเวลาสองเดือนเศษนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าจอมสุวัทนา พัก ณ พระที่นั่งพิศาลสาคร ซึ่งเป็นหมู่พระที่นั่งที่มีระเบียงสูงเสมอพื้นชั้นบนเชื่อมกับที่ประทับ ณ พระที่นั่ง สมุทรพิมาน ที่มีระเบียงต่อเนื่องกับพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์และพระที่นั่งองค์อื่นๆ

พระราชจริยวัตรประจำวัน ณ พระราชนิเวศนมฤคทายวันนั้น กล่าวได้ว่า เมื่อบรรทมตื่นแล้วทรงมีเวลาทรงพระอักษร ณ ห้องเขียน ซึ่งเป็นห้องด้านชายทะเลติดกับห้องพระบรรทม ในหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน ใกล้เวลา ๑๔ นาฬิกา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งพิศาลสาคร เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันพร้อมกับเจ้าจอมสุวัทนา และโปรดเสวยแบบไทย กล่าวคือ ประทับราบบนพระสุจหนี่ เสวยด้วยพระหัตถ์ โดยพนักงานฝ่ายในเชิญเครื่องเสวยใส่พระสุพรรณภาชน์มาตั้งถวาย

ในตอนบ่ายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดทรงกีฬาประเภทแบดมินตัน หรือคริกเกต กับข้าราชการหรือข้าราชบริพารฝ่ายหน้า และหากเสด็จลงสรงแล้ว โปรดให้เจ้าจอมสุวัทนามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาลงสรงฝ่ายหน้า ส่วนตอนกลางคืนเวลา ๒๑ นาฬิกา โปรดเสวยพระกระยาหารคํ่าแบบฝรั่ง ประทับโต๊ะเสวย ณ หอเสวย ในหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับเจ้าจอมสุวัทนา ณ พระที่นั่งพิศาลสาคร เพื่อไปร่วมโต๊ะเสวยทุกคืน”

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นวโรกาลครบรอบการอภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนาภรณ์ แก่เจ้าจอมสุวัทนา พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ จัดงานฉลองขึ้น ณ พระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท จนกระทั่งถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ศกนั้น เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า เจ้าจอมสุวัทนาจะมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ได้ทรงจัดเตรียมงานฉลอง เพื่อถวายการสมโภช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่จะประสูติใหม่ให้เป็นงานใหญ่ ถึงกับพระราชนิพนธ์บทกล่อมพระหน่อกษัตริย์ไว้ดังนี้

พระเอยพระหน่อนาถ       งามพิลาศดังดวงมณีใส
พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย   มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์

ดอกเอยดอกจำปา          หอมชื่นจิตติดนาสา
ยิ่งดมยิงพาให้ดมเอยฯ

หอมพระเดชทรงยศโอรสราช แผ่เผยผงาดในแดนไกล
พึ่งเดชพระหน่อไท               เป็นสุขสมใจไม่วางวายฯ

รูปลม้ายคล้ายพระบิตุราช      ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวี    เพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญฯ

ดอกเอยดอกพุทธชาด          หอมเย็นใจใสสะอาด
หอมบ่มิขาดสุคนธเอยฯ

หอมพระคุณการุญเป็นประถม เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
เหล่าข้าทูลละออง                ภักดีสนองพระคุณไทฯ

เมื่อพระครรภ์เจ้าจอมสุวัทนาเจริญขึ้น ใกล้จะมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยมีพระราชดำริปรากฏอยู่ในคำประกาศสถาปนาว่า

“เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะได้ทรงยกย่องให้เป็นใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติกาลในเบื้องหน้า”

ข่าวการตระเตรียมพระประสูติกาลที่แพร่ไปนั้น ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีในหมู่ข้าราชสำนัก และประชาชนชาวไทยถ้วนหน้า เพราะจะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกแห่งรัชกาล ระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระอาการประชวรพระนาภีโดยกะทันหัน และมีพระอาการกำเริบรุนแรง ตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จนกระทั่งวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๐ นาที พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระประสูติกาลพระราชธิดา ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส พระปรัศว์ขวา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในครั้งแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ยินเสียงปืนเที่ยงบอกเวลาเที่ยงวัน ทรงปีติยินดี ด้วยทรงเข้าพระทัยว่าเป็นการยิงสลุตเมื่อพระราชกุมารประสูติ จนเวลาล่วงเลยมาอีก ๕๐ นาที เสียงประโคมฆ้องชัย แตร สังข์ ดุริยางค์บรรเลงขึ้น จึงทรงทราบว่าเป็นพระราชกุมารี ทรงหลับพระเนตรด้วยความอ่อนเพลีย และมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงแผ่วเบาว่า “ก็ดีเหมือนกัน” แล้วบรรทมต่อ จนถึงวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เชิญเสด็จพระราชธิดาเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เนื่องจากไม่มีพระราชดำรัสได้แล้ว ได้แต่ทอดพระเนตร ซึ่งคลอด้วยพระอัสสุชลมายังพระราชธิดา พร้อมกับมีพระอาการ ซึ่งทรงพยายามจะยกพระหัตถ์ขึ้นจับต้อง เจ้าพระยารามราฆพจึงยกพระหัตถ์ขึ้นวางบนพระอุระสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพียงครู่หนึ่ง ทรงหลับพระเนตร ถอนพระอัสสาสะ และหายพระหฤทัยเบาลงจนถึงเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน จึงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ขณะมีพระชนมพรรษาได้ ๔๖ พรรษา

เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้บังเกิดขึ้น ความสดชื่นยินดีปรีดากลับกลายเป็นความหม่นหมองเศร้าสลด พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงประทานเล่าถึงความทรงจำในครั้งนั้นว่า

“เวลาล้นเกล้าฯ สวรรคต ฉันจำอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากจำได้ว่าตัวเองร้องไห้… เจ้าฟ้าประสูติที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ใพระบรมมหาราชวัง ประสูติแล้วก็ยังไม่มีใครมาบอกข่าวว่าล้นเกล้าฯ ประชวรหนักถึงขนาดรุนแรง จึงนอนไฟอยู่ตามปกติ จำได้ว่า ดูเหมือนจะตอนค่อนรุ่งวันนั้นก็ได้ข่าวเสด็จสวรรคต…ความคิดในขณะทราบข่าวนั้น มึนอย่างไรก็บอกไม่ถูก ยังไม่ได้ร้องไห้ จนกระทั่งล่วงไปเป็นเวลานาน ความคิดของฉันมันแคบอย่างความคิดของเด็ก ที่แท้ควรจะเสียอกเสียใจ ควรจะได้ความคิดไกลไปถึงความหมดหวัง หมดร่มโพธิ์แก้วโพธิ์ทอง ใครเขาจะมารักมาคุ้มครองให้ความสุขสำราญได้ต่อไปอีก ก็หาได้คิดไกลไปถึงอย่างนั้นไม่… เพียงไม่ได้นึกอย่างนั้น ยังไม่พอ แม้เรื่องในอนาคตของเจ้าฟ้า เรื่องของลูกคนเดียวที่จะมีชีวิตอย่างไรต่อไปภายหน้าเมื่อปราศจากพ่อ ก็ช่างไม่นึกอะไรเสียเลย ดูช่างมึนงงอะไรอย่างนั้นก็ไม่รู้… อยู่จนกระทั่งวันรุ่งขึ้น จำได้ว่าเป็นเวลาก่อนเที่ยง มหาดเล็กมาทูลว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ…ก็ยังมึนอยู่เช่นเดิม ฉันยังนึกอยู่ในขณะที่เขามา บอกว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัวของฉัน…เป็นพระเจ้าอยู่หัวของฉัน ไม่ใช่เป็นพระเจ้าอยู่หัวของใคร…มหาดเล็กเขาคงจะเห็นว่าฉันยังไม่เตรียมตัวรับเสด็จ เขาก็บอกซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ ก็หวนนึกได้ทันทีว่าล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแน่แล้ว พอคิดได้เท่านั้น ก็จำอะไรไม่ได้อีก นอกจากเรื่องร้องไห้และร้องอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งมหาดเล็กเตือนอีกครั้งหนึ่ง…จึงหยุดร้องไห้รีบจัดแจงล้างหน้าล้างตาคอยรับเสด็จ…จำไม่ได้ทั้งหมดว่า พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่มีรับสั่งว่าอย่างไร แต่ที่ยังก้องอยู่ในหูมิรู้หายคือพระดำรัสที่ทรงไต่ถามถึงอนามัยของตัวเองและของลูก มีพระราชดำรัสแก่พวกมหาดเล็กให้ดูแล และทรงรับรองว่าไม่ต้องเดือดร้อนรำคาญ จะทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความร่มเย็นเป็นผาสุก… พอพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่เสด็จกลับออกไปจากห้องแล้ว ฉันก็กอดลูกร้องไห้ต่อไปอีก… ต่อจากวันนั้นมาก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จำได้ว่าแข็งใจไปกราบถวายบังคมพระบรมศพ เพียงครั้งเดียว แล้วก็ไม่มีแก่ใจจะไปพบเห็นถึงต่างๆ ได้”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ หากแต่การพระราชพิธีที่เคยตระเตรียมให้ยิ่งใหญ่นั้น กลับต้องย่อลง ด้วยมีงานที่สำคัญอีกงานหนึ่งคืองานพระบรมศพ

ความเปลี่ยนแปลงของวิถีแห่งพระชนมชีพ ตลอดจนความผันผวนทางการเมืองที่บังเกิดขึ้นขณะนั้น เป็นผลให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จย้ายนิวาสสถานที่ประทับอยู่เสมอมา ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราซเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงมีพระทัยเมตตาห่วงใยนับแต่ทรงพระมหากรุณาจัดการเรื่องพระประสูติกาล พระราชทานทั้งหมดและได้มีพระราชประสงค์ให้นำเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต ซึ่งมีบรรยากาศรื่นรมย์กว่า ภายในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดกบฏบวรเดช ก็ได้โปรดให้ทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับกับพระองค์ ณ วังสระปทุม แต่เหตุการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่สงบลง ดังนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินนำทั้งสองพระองค์แปรพระราชฐานไปประทับที่จังหวัดสงขลา จนกระทั่งเหตุการณ์สงบจึง กลับมาประทับที่วังสระปทุมอีกระยะหนึ่ง ก่อนเสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต จวบจนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ เจริญพระชันษาขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี จึงทรงขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ นำพระราชธิดาเสด็จไปประทับยังวังสร้างใหม่ที่สวนรื่นฤดี ถนนสุโขทัย บนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อคราวอภิเษกสมรส พร้อมกับทรงตั้งพระทัยจะสร้างพระตำหนักพระราชทานให้ โดยพระราชทานนามไว้ล่วงหน้าก่อนเสด็จสวรรคตว่า วังรื่นฤดี พระตำหนักใหม่นี้ สร้างจำลองแบบมาจากพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ กำหนดแบบพระราชทานไว้ เพื่อสร้างในที่ดินพระราชทานอีกแปลงหนึ่ง แต่มิทันได้มีโอกาสสร้าง ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ วังรื่นฤดี จนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มีพระชนม์ย่างเข้า ๑๓ พรรษา ทรงสังเกตว่าพระธิดามีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นัก หากได้รับการอภิบาลดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จึงนำเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ไปประทับยังประเทศอังกฤษ โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งทรงสละราชสมบัติ และเสด็จประทับอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ทรงเป็นพระธุระเอาพระทัยใส่ดูแลและจัดหาที่ประทับให้ ณ ประเทศอังกฤษ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงจัดหาพระอาจารย์ชาวอังกฤษมาถวายการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ และเปียโน ให้ต่อเนื่องจากที่พระธิดาทรงเคยได้รับจากกรุงเทพฯ ส่วนพระองค์เองก็ทรงศึกษา ภาษาอังกฤษไปด้วยจนสามารถอ่าน เขียน และรับสั่งสนทนาได้พอสมควร ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลพระสุขภาพพลานามัย และทรงถวายการอบรมพระธิดาให้เป็นผู้มีความมัธยัสถ์ ละเอียดถี่ถ้วน ใช้เวลามิให้ เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และเพื่อมิให้ทรงลืมประเทศไทยหรือคนไทย จึงทรงนำเสด็จฯ ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี อยู่เป็นเนืองนิตย์ กับทั้งได้เสด็จไปร่วมงานพบปะสังสรรค์กับคนไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นประจำ เป็นที่ปรากฏว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มีพระอุปนิสัยอ่อนโยน มีพระเมตตา และมีพระจริยวัตรอันงดงาม สามารถประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โดยมีบกพร่อง

ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ เป็นช่วงระยะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงต้องทรงประสบความทุกข์ยากลำบากเช่นเดียวกับชาวอังกฤษทั้งปวง คือต้องอพยพย้ายที่ประทับต้องขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเงิน แต่ยังทรงมีนํ้าพระทัยอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดของประเทศอังกฤษ อาทิ ทรงถักเครื่องกันหนาวประทานทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยรบ ทรงม้วนผ้าพันแผล และทรงบำเพ็ญประโยชน์ในลักษณะต่างๆ อีกนานัปการ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงได้ตกลงพระทัยที่จะเสด็จกลับมาประทับยังประเทศไทยเป็นการถาวร โดยเสด็จกลับมาประทับ ณ วังรื่นฤดี ซึ่งเป็นวังที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ที่ซอยสันติสุข สุขุมวิท ๓๘

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงดำรงพระองค์ให้อยู่ในพระเกียรติยศแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้อย่างมั่นคงตลอดพระชนมชีพ ดังเช่นตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง ๒๓ ปี ที่ประทับ อยู่ ณ ประเทศอังกฤษนั้น ทรงมีข้าราชบริพารที่เป็นคนไทยตลอดจนพระอาจารย์และเจ้าหน้าที่ดูแลงานในพระตำหนัก ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ล้วนเป็นสุภาพสตรีทั้งสิ้น ความเป็นอยู่ในส่วนพระองค์มีพระนิสัยร่าเริงไม่ถือพระองศ์ มีเรื่องรับสั่งกับบุคคลทุกอาชีพ ทุกวัยได้เป็นอย่างดี โปรดการเลี้ยงสุนัข และการตกแต่งสวน ทรงสามารถขับร้องเพลงไทยได้อย่างไพเราะอีกด้วย แม้จะทรงได้รับเงินรายได้เป็นเงินปีจากรัฐบาลจำนวนจำกัด แต่ก็ทรงพอเพียง เนื่องจากทรงตั้งพระองค์อยู่ในความพอดี และมีความมัธยัสถ์ พระอัธยาศัยอันควรยกย่องอีกประการหนึ่งคือทรงเป็นผู้ประมาณตน และเคารพเทิดทูนพระบรมวงศานุวงศ์เป็นล้นพ้น เมื่อได้รับพระราชทานพระราชมรดกบางส่วนได้แก่อัญมณีมีค่า ก็ไม่ทรงนำมาใช้ในส่วนพระองศ์ด้วยถือว่าเป็นของสูง ตลอดพระชนมชีพทรงใฝ่พระทัยในการบำเพ็ญพระกุศลอยู่เสมอมิได้ขาด เช่น

ด้านศาสนา
โปรดการสร้างพระพุทธรูป สร้างพระอุโบสถถวายวัดต่างๆ เสด็จฯ ไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ปีละ ๓ วัด เป็นประจำทุกปีในทุกภาคของประเทศ พร้อมกับทรงนำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไปประทานแก่เด็ก และนักเรียนยากจนในท้องถิ่นนั้น

ด้านสาธารณประโยชน์
ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคม องค์การต่างๆ ที่มีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ ๕ รอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาท เป็นทุนประเดิมการก่อสร้างตึกมงกุฎเพชรรัตน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทรงปลื้มปีติยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ นอกจากนี้ยังได้ประทานทรัพย์มรดกที่ดินและบ้านของท่านบิดาที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการ อนุญาตให้จังหวัดปราจีนบุรีสร้างเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเจ้าของเดิม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงยกย่องพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ เสมอมาในฐานะเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงเคารพนับถือ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรดนํ้าสงกรานต์เป็นประจำทุกปี และถึงแม้พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี จะทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง เช่น ปฐมจุลจอมเกล้ามาแล้วก็ตาม ก็ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน) อันเป็นเครื่องทรงเฉพาะพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จเจ้าฟ้าเท่านั้น สำหรับผู้ที่มิได้มีกำเนิดในราชตระกูลที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทาน ดังเช่นพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีนั้น ก็เพราะทรงเป็นผู้มีคุณงามความดีอันพิเศษสุด ที่สมควรได้รับการเทิดทูนยกย่องนั่นเอง

พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ทรงพระประชวรเนื่องจากพระอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับพระปับผาสะอักเสบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดแพทย์หลวงถวายการรักษาพยาบาล ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์อย่างใกล้ชิดตลอดมา จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๙ นาที พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ จึงได้สิ้นพระชนม์ลง ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระหฤทัยยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ๑๕ วัน และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพโดยประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อย่างสมพระเกียติ โดยพระราชทานพระโกศทองน้อยประกอบพุ่มและเฟื่องพร้อมทรงพระศพ ประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าลายสลักปิดทองภายใต้ฉัตรตาดทองห้าชั้น แวดล้อมด้วยฉัตรอภิรุม ๕ ชั้น พร้อมพวงมาลาพระราชทาน พวงมาลาฝ่ายราชการ และพวงมาลาข้าในพระองค์ เบื้องหน้าพระโกศทองพระศพตั้งโต๊ะหมู่ปิดทองทอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ทรงดำรงอยู่ครบทุกประการ คือ

๑. เครื่องขัติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน)
๒. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน)
๓. เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ฝ่ายใน)
๔. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๑
๕. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ ชั้นที่ ๒
๖. เหรียญบรมราชาภิเษกทอง รัชกาลปัจจุบัน

เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ทอดถวาย ได้แก่
๑. พานพระศรีทองคำลงยา
๒. กากระบอกสลักลายดอกไม้ ฝาตรามงกุฎพร้อมถาดรอง
๓. ขันนํ้าพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำเกลี้ยง
๔. หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรองลายสลัก
๕. หีบพระสุพรรณศรีสลักลายดอกไม้
๖. ขันสรงพระพักตร์ทองคำขอบสลักลายพร้อมคลุมปัก

ส่วนการพระราชทานเพลิงพระศพ ได้จัดขึ้น ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ในวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ทรงเพียบพร้อมด้วยพระจริยสมบัติสมเป็นกัลยาณี ด้วยพระหฤทัยที่ทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อมหาจักรีบรมราชวงศ์ อย่างไม่เสื่อมคลาย กอปรด้วยกุศล บุญราศีความดีงามที่ทรงบำเพ็ญตลอดมานั้น ส่งผลให้ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพทรงพระเกษมสำราญ และมีพระชนมายุยืนนาน สมดังพระพรชัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ในวันคล้ายวันประสูติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ อันจะขออัญเชิญมาดังนี้

ขอเดชะพระคุณแห่งตรัยรัตน์ คุ้มสุวัทนาเฉลิมศรี
โปรดบันดาลสารพัดสวัสดี      พร้อมพระพรทั้งสี่ทวีคูณ
ขออายุยืนไปและไร้โรค          เสริมโศลกโชคดีอย่ามีสูญ
ขอวรรณะเรืองรองผ่องไพบูลย์ เหมือนแสงสูรย์ส่องงามยามอุทัย
ขอสุขจงยงอยู่มิรู้วาย             โศกสลายทุกขาอย่ากรายใกล้
ขอพลังพรั่งพร้อมประนอมใน   กายและใจร่าเริงบรรเทิงดี
ยศจงมียิ่งยวดอย่าชวดยศ       ศรีสง่าปรากฏอย่าหมดศรี
เกียรติคุณเผยแผ่แพร่เกียรตี เจริญถ้วนมวลทวีเจริญเทอญ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ฤดีรัตน์ กายราศ