ผู้มุ่งเจริญสมณธรรมเพื่อโมกขธรรม

Socail Like & Share

ผู้ที่มุ่งจะเจริญอย่างจริงใจต้อง
๑. มีธุรกิจน้อย เลี้ยงง่าย มักน้อย
๒. กินน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. ไม่นอนมาก(ไม่หาความสุขจากการนอน) ตื่นประกอบความเพียรมากกว่านอน
๔. เป็นพหูสูต
๕. รู้จักพิจารณาใจ

หรือ
๑. เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๒. มีโรคน้อย มีอาพาธน้อย
๓. ไม่โอ้อวด มายา
๔. หมั่นเพียรละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม
๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ

ผู้มุ่งเจริญสมณธรรม เพื่อโมกขธรรมอย่างจริงใจ ควรมีลักษณะอย่างนี้

การมอบตัว
เพื่อเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติสมณธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจแก่ตน เพื่อระงับความหวาดกลัวที่อาจเกิดขึ้น เมื่ออยู่ในที่สงัด หรือมีนิมิตบางอย่างเกิดขึ้นในขณะบำเพ็ญสมาธิ หรือเข้ากัมมัฏฐาน และเพื่อได้กัลยาณมิตร ดังนั้นก่อนลงมือปฏิบัติสมาธิ หรือบำเพ็ญกัมมัฏฐาน จึงควรมอบตัวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแด่พระรัตนตรัย หรือแด่ท่านอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าขอมอบตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือเพื่อบูชาพระรัตนตรัย หรือแด่ท่านอาจารย์ด้วยเหตุนี้ ศิษย์ในสำนักอาจารย์กัมมัฏฐานนั้นๆ จึงเคารพเชื่อฟังอาจารย์มาก และยอมอาจารย์ทุกอย่าง

สัปปาย
คำว่าสัปปาย ในภาษาไทย หมายถึง สบาย เป็นสุข แต่ในความหมายเดิมในภาษามคธ(ศัพท์นี้เดิมเป็นภาษามคธ) หมายถึง สะดวก ถูกกับอัธยาศัย เช่น เสนาสนสัปปาย คือ ที่อยู่อาศัยสะดวกแก่การเป็นอยู่ เงียบสงบไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ถูกกับอัธยาศัย บุคคลสัปปาย คือ บุคคลที่ถูกอัธยาศัย เป็นที่อาศัยได้ เป็นกัลยาณมิตร ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องการเข้าสมาธิ เช่น ในเรื่องนิมิตได้ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งผู้มุ่งบำเพ็ญสมาธิต้องมี

จริต
หมายถึงธาตุแท้ของใจ หรือปกติของใจที่โน้มเอียงไปในทางไหน เช่น โกรธง่าย เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องจริตไว้ ๖ ประเภท คือ
ราคจริต  คนประเภทนี้มีราคะเป็นปกติของใจ ชอบของสวยของงาม หน้าตายิ้มแย้ม เรียบร้อย โลภ ถือตัว ลบหลู่คุณคน ชอบหวาน กินช้า

โทสจริต
คนประเภทนี้โกรธง่าย มักหงุดหงิด ทำอะไรรวดเร็ว ใจร้อน ไม่เรียบร้อย ริษยา ชอบเปรี้ยว กินเร็ว

โมหจริต
คนประเภทนี้มีโมหะเป็นปกติทางใจ มักเป็นคนเขลา งมงาย เชื่องช้า รู้ช้า ดื้อรั้น ไม่แน่ใจ ชอบรสไม่แน่ กินมาก

วิตักกจริต
คนประเภทนี้มีความดำริตริตรองเป็นปกติของใจ มักเป็นคนคิดฟุ้งซ่าน ใจอยู่นิ่งยาก คิดมากเกินไป พูดมาก ชอบมั่วสุม เกียจคร้าน มักสงสัย

สัทธาจริต
คนประเภทนี้ มีความเชื่อเป็นปกติของใจ เป็นคนซื่อ ไม่มีแง่งอน เชื่อง่ายไม่เป็นตัวของตัวเอง สอนง่าย

พุทธิจริต
คนประเภทนี้ เป็นคนเฉลียวฉลาด เชื่อยาก เจ้าความคิด กินน้อย ขยัน พูดเข้าใจง่าย

การนั่งเข้าสมาธิ
ผู้มุ่งเจริญกัมมัฏฐาน หรือบำเพ็ญสมาธิ เมื่อทุกสิ่งเรียบร้อยแล้ว เช่น มีศีล มีสัปปาย เป็นต้น พึงเตรียมตัวเริ่มแต่การนั่ง ดังนี้

๑. นั่งขัดสมาธิเพชร คือ ขัดเท้า เท้าขวาอยู่เหนือเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางอยู่บนตักให้หัวแม่มือทั้งสองข้างเกือบจดกัน หรือเพียงจดกัน

๒. ตั้งตัวให้ตรง อย่าให้โอนไปข้างหน้าเอนไปข้างหลัง และเอียงไปข้างๆ ต้องตั้งตัวให้ตรง

๓. ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า เพื่อกำหนดสิ่งที่จะใช้เป็นอารมณ์สำหรับคิดหรือภาวนา โดยคิดว่าสิ่งนี้ๆ พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นอารมณ์ในการบำเพ็ญเพียรทางใจจนได้ผลมาแล้ว จึงนำมาสอน ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องดีแน่ ใช้ได้แน่ แล้วตั้งสติไว้ในสิ่งซึ่งใช้เป็นอารมณ์นั้นๆ ตามควรแก่ความประสงค์

การสั่งขัดสมาธิเพชรนั้น คือ นั่งอย่างพระพุทธรูปเชียงแสนเก่า หรือพระพุทธรูปอินเดีย การนั่งอย่างนี้จะไม่ค่อยรู้สึกปวดเมื่อย ถ้าเวลาสัปหงกหงายหลัง ขาจะไม่ดีดออก เพราะขัดกันไว้ แต่ถ้านั่งขัดสมาธิราบ เท้าขวาทับเท้าซ้าย แบบพระพุทธรูปลังกา หรือพระพุทธรูปแบบสุโขทัยแล้ว เวลาสัปหงกหงายหลัง เท้าจะดีดออก การนั่งตั้งท่าตั้งทางเข้าสมาธิดังกล่าวนี้ ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยู่ในภาวะปกติที่พอจะนั่งอย่างนี้ได้ ถ้าไม่สามารถนั่งอย่างนี้ได้ก็แล้วแต่ว่าอิริยาบถไหนจะสะดวกมีคุณค่าต่อการเข้าสมาธิ ก็ใช้อิริยาบถนั้น

ผู้บำเพ็ญสมาธิ
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว สำรวจดูว่ามีศีลบริสุทธิ์แล้ว(การที่สำรวจดูศีล รู้ว่ามีศีลบริสุทธิ์จะทำให้รู้สึกโปร่งใจ มีปีติ) ต่อไปต้องทำใจให้ว่างจากเครื่องเศร้าหมองใจ และกังวลใจ ดังนี้

๑. ให้ใจว่างจากนิวรณธรรม มีความนึกถึงเรื่องกามารมณ์ เป็นต้น

๒. มีสติสัมปชัญญะ วางเฉย ไม่สนใจในความห่วงใย ความกังวลใจในสิ่งนั้นๆ เป็นต้น

๓. มีสติสัมปชัญญะคุมใจ คุมอารมณ์ไว้ทุกขณะ

๔. พิจารณาแล้ว ใช้เมื่อควรใช้ อดกลั้นเมื่อควรอดกลั้น บรรเทาเมื่อควรบรรเทา

๕. กำจัดความคิดฟุ้งซ่าน

๖. ละเลิกการคิดแสวงหากามารมณ์ และชาติภพ(ด้วยอาศัยบุญอันเป็นผลของสมาธิ)

๗. เว้นคิดเรื่องไม่ดี เช่น คิดเบียดเบียนเขา เป็นต้น

๘. มีกาย-วาจา สงบเรียบร้อยไม่ปัดนั่น เกานี่ เพราะถูกแมลงกวน เป็นต้น

๙. ทำใจให้ว่างจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองของใจ

๑๐. กำหนดใจรู้ว่า ว่างแล้ว

และต้องทำใจให้ว่างจากความกังวลใจ ความห่วงใยในที่อยู่ ในสกุล ในลาภผล ในคณะ ในการงาน ในการเล่าเรียน เป็นต้น ตลอดจนความคิดในเรื่องกาม ข้อหลังนี้สำคัญมาก เมื่อใจว่างแล้ว ก็นึกถึงสิ่งที่จะเป็นอารมณ์สำหรับนึกหรือกำหนดหรือภาวนาแทนต่อไป โดยมีสติสัมปชัญญะกำกับ

จงกรม
การบำเพ็ญสมาธิ นอกจากจะใช้อิริยาบถนั่งแล้ว ยังใช้อิริยาบถเดินในการบำเพ็ญสมาธิด้วย โดยเจริญอารมณ์ของกัมมัฏฐานเหมือนนั่งบำเพ็ญ เปลี่ยนแต่อิริยาบถจากนั่งมาเป็นเดิน จงกรม แปลว่า เดินไปมา เดินไปประมาณ ๒๕-๓๐ ก้าว เดินกลับ ๒๕-๓๐ ก้าว (อย่าให้ต่ำกว่า ๑๐ ก้าว) แล้วหยุด หมุนตัวกลับและเดินกลับไปกลับมา จนกว่าจะรู้สึกพอ หรือตามรอบที่กำหนดไว้ การเดินนั้น เดินตัวตรง ไขว้มือทั้งสองไว้ข้างหน้า หรือข้างหลัง เดินค่อนข้างช้า กำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานไปทุกขณะที่ก้าว บางท่านแจ้งว่าการเดินจงกรมบำเพ็ญสมาธิจิต เป็นสมาธิเร็ว การเดินจงกรมนี้ได้ประโยชน์มาก เช่น เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ แก้เมื่อย แก้ง่วง การที่กำหนดก้าวเดินไม่ให้มากเกินหรือน้อยเกินนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลในใจ หรือความเผลอตัว หรือเกิดความหยุดชะงักในขณะเดิน หรือเวียนศีรษะ สำหรับทางเดินที่สั้นเกินไป สิ่งที่เป็นปัญหาในการเดินจงกรมนั้น คือความกลัว เช่น กลัวว่าจะเดินเลยกำหนด หรือต่ำกว่ากำหนด กลัวผี กลัวสัตว์ร้ายเป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาของผู้ที่บำเพ็ญใหม่ๆ ถ้าเคยชินแล้วก็จะไม่กลัว และการกลัวว่าจะเดินผิดกำหนดตัวนั้น ย่อมแก้ได้ด้วยการกำหนดจิตเอาไว้ก่อน การกลัวผี กลัวสัตว์ร้ายนั้น ย่อมแก้ได้ด้วยการเจริญเมตตา และอุทิศร่างกายนี้เป็นเครื่องบูชารัตนตรัย(ถ้าเดินหลับตาหรือเดินกลางคืนอาจมีปัญหานี้)

อารมณ์กัมมัฏฐานหรือสมาธิ
เรื่องสำหรับคิด หรือสำหรับกำหนด หรือสำหรับภาวนาในเวลาบำเพ็ญสมาธิ เรียกว่า อารมณ์(แปลว่าเครื่องหน่วงเหนี่ยว) ในพระพุทธศาสนาได้แสดงสิ่งที่เป็นอารมณ์แห่งสมาธิไว้ ๔๐ ประการ คือ
๑. อสุภ(สิ่งที่ไม่งาม แต่เป็นของจริง) ๑๐
๒. กสิน(สิ่งที่ควรเพ่ง) ๑๐
๓. อนุสสติ(สิ่งที่ควรระลึกถึงเสมอ) ๑๐
๔. พรหมวิหาร ๔
๕. อรูป ๔
๖. สัญญาและววัฏฐาน(การกำหนด) ๒

อสุภ ๑๐
คือ ศพที่ขึ้นพอง ศพที่ขึ้นเขียว ศพที่มีน้ำเหลืองเยิ้ม ศพที่หลุดขาดเป็นท่อนเป็นชิ้น ศพที่ถูกสัตว์กัด ศพที่กระจัดกระจาย ศพที่ถูกตัดวางกระจายเรี่ยราด ศพที่เปื้อนเลือด ศพที่มีหนอนขึ้น ศพที่มีแต่กระดูก กำหนดสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์

กสิณ ๑๐
กสิณที่กำหนดเอาสิ่งบางสิ่งเป็นอารมณ์สำหรับเพ่งให้ใจรวมอยู่ในจุดเดียว สิ่งเหล่านั้นได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว แสงสว่าง ช่องว่าง

อนุสสติ ๑๐
ได้แก่ นึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ศีล การบริจาค เทวดา ความตาย ร่างกาย ลมหายใจ ความสงบระงับ (หรือพระนิพพาน) อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์

พรหมวิหาร ๔
ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กำหนดสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์

อรูป ๔
ได้แก่ สิ่งที่เป็นอารมณ์ของอรูปฌาน คือ
อากาสานัญจายตนะ กำหนดอากาศเป็นอารมณ์ว่า อากาศหาที่สุดมิได้

วิญญานัญจายตนะ กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ว่า วิญญาณหาที่สิ้นสุดมิได้

อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรแม้แต่น้อยเป็นอารมณ์

เนวสัญญานาสัญญายตนะ กำหนดความมีสัญญาก็มิใช่ หาสัญญามิได้ก็มิใช่ เป็นอารมณ์

สัญญาและววัฏฐาน
สัญญา
ในที่นี้ได้แก่ อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ ความสำคัญอาหารว่าเป็นของปฏิกูล กำหนดอย่างนี้เป็นอารมณ์

ววัฏฐาน
ได้แก่ จตุธาตุ ววัฏฐาน คือ กำหนดสภาพของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอารมณ์(ในกสิณกำหนด ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ ใช้สำหรับมองดู หรือภาวนา แต่ในจตุธาตุววัฏฐานนี้ใช้สำหรับกำหนดสภาพของธาตุเป็นอารมณ์)

การเลือกสิ่งที่เป็นอารมณ์ คือ สำหรับกำหนดนึก หรือสำหรับภาวนานั้น จะต้องเลือกให้เข้ากับจริต มิฉะนั้นจะเกิดผลเสีย เช่น คนโมหจริต กลัวผี จะกำหนดอสุภะ เป็นอารมณ์ในการบำเพ็ญสมาธิย่อมไม่ควร เพราะจะทำให้กลัวผียิ่งขึ้น

บางคนอาจรู้ว่าตนเป็นคนมีอะไรเป็นจริต แต่บางคนไม่แน่ใจว่าตนมีอะไรเป็นจริต เพราะเมื่อพิจารณาใคร่ครวญแล้ว รู้สึกว่าตนมีทั้งราคะ โทสะ โมหะ วิตก เป็นจริตปนกันไป เลยไม่ทราบว่าจะใช้อะไรเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดนึก จะได้เข้ากับจริตของตน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอารมณ์ใน ๔๐ ประการนั้น บางอย่างใช้ได้แก่คนทุกจริต เช่น พุทธานุสสติ คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ เช่น ภาวนาว่า พุทโธ เป็นอารมณ์ เป็นต้น หรืออานาปานัสสติ คือกำหนดลมหายใจ เป็นอารมณ์ หรือกสิณ เช่น ปฐวีกสิณ คือ กสิณที่กำหนดดินเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง เป็นต้น

การบำเพ็ญกัมมัฏฐาน
ในการบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือสมาธินั้น เมื่อกำหนด เช่น พุทธคุณ หรือลมหายใจเป็นอารมณ์ แม้นานใจก็ยังไม่นิ่ง ยังคงซัดส่ายอยู่ เป็นอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า บางคนเมื่อประสบอย่างนี้ก็ท้อใจ คิดว่าตนไม่มีวาสนาบารมีพอ ที่จะพบความสำเร็จ ในการบำเพ็ญกัมมัฏฐาน เพราะไม่อาจให้ใจหยุดอยู่ในอารมณ์เป็นจุดเดียวได้ เลยเลิกบำเพ็ญ ผู้ปฏิบัติผู้มุ่งความหลุดพ้นไม่ควรท้อถอย ต้องคิดว่าคนมีวาสนาบารมีสร้างมาไม่เท่ากัน บางคนเขามีมาก เขาก็ได้จิตเป็นสมาธิเร็ว บางคนมีน้อยก็ต้องได้ช้าเป็นธรรมดา และในการบำเพ็ญทุกครั้งก็ได้ชื่อว่าได้สร้างวาสนาบารมีเพิ่มเติมไปด้วย เมื่อตั้งใจบำเพ็ญแล้ว วันหนึ่งต้องได้แน่นอน เหมือนม้าแข่งเมื่อออกวิ่งแล้วถ้าไม่หยุดวิ่ง ถ้าไม่ตาย ถ้าไม่แหกสนามแล้ว ก็วิ่งถึงจุดหมายทุกตัว ต่างกันที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น หรือเหมือนผ้าขาวเปื้อน ถ้าเปื้อนน้อยก็ซักน้อย ถ้าเปื้อนมากก็ต้องเสียเวลาซักมาก เพราะฉะนั้น อย่าท้อใจ ในการบำเพ็ญสมาธิครั้งแรก ใจก็วิ่งไปวิ่งมาก่อนจะนิ่งอย่างนี้ทุกคน ต้องใช้สติอย่างเต็มที่ พอบำเพ็ญนานเข้าๆ บังคับบ่อยเข้าในที่สุดใจก็นิ่งเอง เพราะฉะนั้น อย่าท้อใจ หรือดูหมิ่นวาสนาบารมีของตัวเอง

นิมิตเกิดและการข่มนิมิต
เมื่อบำเพ็ญกัมมัฏฐานเพ่งหรือพิจารณา หรือภาวนาสิ่งที่เป็นอารมณ์ มีรูป เช่น กสิณบ้าง ไม่มีรูป เช่น ลมหายใจบ้าง ภายในใจ แล้วเกิดเห็นนิมิตต่างๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง น้อยบ้าง มากบ้าง มีสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาวบ้างต่างๆ กัน เพราะอารมณ์ของกัมมัฏฐานมีมาก นิมิตก็ต้องมาก แม้เพียงบำเพ็ญอานาปานัสสติ คือ กำหนดลมหายใจอย่างเดียวยังมีนิมิตต่างๆ กัน เช่น บางคนปรากฏเป็นดุจดวงดาว บางคนปรากฏเป็นดุจเม็ดแก้วมณี บางคนปรากฏเป็นดุจพวงมาลัย ดุจเปลวควันก็มี เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ อาจทำให้ใจฟุ้งไป หรือติดใจในนิมิตที่ปรากฏ ดังนั้นท่านจึงให้ครอบงำนิมิตนั้นเสีย ให้เป็นสักแต่ว่าเห็น แต่ไม่ติดใจ ไม่ปล่อยให้ใจฟุ้งไปตาม โดยวิธีการ ๘ ประการ เช่น

๑. สำคัญหมายรูปภายใน เห็นรูปภายนอก เล็กน้อยทั้งมีวรรณะ(สี) ดีไม่ดี ครอบงำ(ไม่สนใจ) รูปนั้นเสีย มีความสำคัญแต่เพียงว่ารู้ว่าเห็นเท่านั้น

การกระทำอย่างนี้ เรียกว่า อภิภายตนะ คือ เหตุเครื่องครอบงำสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิ

การที่เห็นนิมิตต่างๆ กันนั้นอาจเป็นเพราะเหตุ คือ วาสนาบารมีแต่ปางก่อน และความจำ(สัญญา) หรือเกิดจากการได้ยินได้ฟังได้เห็น แล้วจำไว้ในใจโดยไม่รู้ตัว แล้วปรากฏออกมาเมื่อใจสงบได้ที่ นิมิตนั้นอาจเป็นของจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ จึงไม่ควรเห็นว่าเป็นของจริงแต่ส่วนเดียว และต้องระวังเรื่องสะกดจิตตัวเองให้เห็นให้เป็นไปต่างๆ ด้วย อำนาจของความเชื่อที่ลึกที่ประกอบด้วยความจำ เช่น เห็นนรก สวรรค์ อย่างที่เขียนไว้ตามโบสถ์ไทย ของแขก ของพม่า ก็มี แต่ไม่เหมือนไทย จึงควรระวังใจไว้ นิมิตไม่ดีที่เกิดขึ้นนั้นท่านว่า เพราะอาจเป็นเพราะศีลไม่บริสุทธิ์

อุปจารสมาธิ นิวรณ์ และ อัปปนาสมาธิ
จะกล่าวถึงอุปจารสมาธิ และวาระที่จิตปราศจากนิวรณ์ก่อน ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า

อุปฺปนฺนกาลโต จ ปนสฺส ปฏฺฐาย นิวรณานิ วิกฺขมฺภิตาเนว โหนฺติ กิเลสา สนฺนิสินฺนาว อุปจารสมาธินา จิตฺตํ สมาหิตเมว

แปลว่า
ก็ตั้งแต่กาลที่ปฏิภาคนิมิตเกิด นิวรณ์ทั้งหลายย่อมถูกสยบไว้ กิเลสทั้งหลายย่อมหยุดเฉย ใจย่อมเป็นสมาธิด้วยอุปจารสมาธิ

และว่า
อุปจารภูมิยํ นิวรณปฺปหาเนน จิตฺตํ สมาหิตํ โหติ
แปลว่า
โดยการละนิวรณ์ในอุปจารสมาธิภูมิ ใจย่อมเป็นสมาธิ

แม้ในมัชฌมิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ก็แสดงว่า นิวรณ์ระงับแล้วตั้งแต่อุปจารสมาธิ

จากข้อความดังกล่าว ย่อมแสดงว่านิวรณ์ย่อมระงับไปตั้งแต่ใจได้อุปจารสมาธิ แต่เรื่องนี้ผู้ปฏิบัติย่อมทราบด้วยตนเอง

เมื่อใจเป็นอุปจารสมาธิ เป็นเอกัคคตาจิต คือ ใจรวมอยู่ในอารมณ์เป็นจุดเดียว(ในวิสุทธิมรรค ท่านกล่าวไว้ว่า อปฺปนาปุพฺพจิตฺเตสุ เอกคฺคตา อุปจารสมาธิ แปลว่า เอกัคคตา ในใจก่อนถึงอัปปนาสมาธิย่อมเป็นอุปจารสมาธิ) เมื่อใจเป็นอย่างนี้ ย่อมเป็นใจที่มีพลังสูง(เมื่อยังไม่ใช้ พลังนี้ก็เป็นพลังศักย์เหมือนน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อน) เป็นใจที่ปราศจากนิวรณ์(เครื่องกั้นใจไม่ให้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง และเป็นเครื่องทำใจให้ขุ่นมัว พิจารณาอะไรก็เห็นไม่ชัด) ใจใสอย่างนี้จะพิจารณาอะไรก็เห็นชัด(มีพระบาลีว่า สมาหิโต ภิกฺขุ ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ภิกษุมีใจเป็นสมาธิย่อมรู้แจ้งชัด ตามความเป็นจริง ดุจกระจกใสจะส่องดูหน้าก็เห็นชัด หรือดุจผ้าสกปรก ที่ฟอกขาวสะอาดแล้ว ควรแก่การย้อมสีให้งามต่อไป ดังนั้นจึงควรบำเพ็ญขั้นวิปัสสนา คือ ปัญญาพิจารณาให้เห็นสภาพตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ตัวเราต่อไป(การใช้พลังใจอย่างนี้ ก็เป็นดั่งปล่อยกระแสน้ำให้พุ่งออกจากเขื่อนไป ทำให้เกิดพลังอย่างอื่นอีก พลังที่ใช้อย่างนี้เป็นดุจพลังจลน์)

ส่วนสมาธิขั้นอัปปนา คือ แน่นแฟ้น หรือลึกซึ้งนั้น เกิดขึ้นต่อจากอุปจารสมาธิ และต่อไปก็เป็นเรื่องของการได้ฌานชั้นต่างๆ อุปจารสมาธิเปรียบเสมือนเด็กเดินได้ แต่อัปปนาสมาธิเปรียบเหมือนเด็กวิ่งได้ สำหรับนักปฏิบัติบางท่าน อาจต้องใช้สมาธิกล้าลึกซึ้งกว่าขั้นอุปจารสมาธิ ต้องให้ใจปราศจากองค์ ๕ คือ นิวรณ์ ๕ และประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้ว จึงควรจะบำเพ็ญขั้นวิปัสสนาต่อไป โดยละ วิตก วิจาร ปีติ และสุข เหลือแต่เอกัคคตา ในสองพวกนั้น พวกแรกเป็นพวกปัญญาวิมุติ ใช้สมาธิพอเป็นพื้นฐาน ถึงขั้นอุปจารสมาธิ พวกหลังนี้เป็นพวกเจโตวิมุติ ต้องใช้สมาธิหนัก ต้องใช้ฌานเป็นเครื่องข่ม จิตจึงอยู่ แต่เมื่อจะบำเพ็ญวิปัสสนา ต้องออกจากฌาน คงมีแต่เอกัคคตา มาอยู่ที่อุปจารสมาธิ

ฤทธิวิธี
ฤทธิ์ หรืออิทธิ(คำแรกเป็นภาษาสันสกฤต คำหลังเป็นภาษามคธ) แปลว่า ความสำเร็จ ฤทธิ์เกิดได้หลายทาง แต่จะกล่าวโดยสังเขปตามนัยแห่งวิสุทธิมรรคดังนี้

ผู้ที่มีวาสนาบารมีแก่กล้าได้ฌานสมาบัติแล้ว เมื่อจะแสดงฤทธิ์ ย่อมเข้าฌานตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว อธิษฐานว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ เช่น ให้ตัวไร้น้ำหนักจะได้ลอยได้ ให้เข้ากับภาวะของอากาศ แล้วเข้าจตุตถฌานอีก ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว สั่งว่าจงเป็นอย่างนั้น เช่น สั่งว่าตัวลอยไป ตัวก็จะลอยไป แต่ถ้าผู้นั้นมีวาสนาบารมีน้อย ต้องได้สมาบัติ ๘ จึงจะทำฤทธิ์ได้ ฤทธิ์นั้นมีมาก เช่น ย่นทาง ยืดทาง เดินน้ำ เป็นต้น เรื่องนี้ผู้ใคร่ศึกษาขอให้หารายละเอียดได้ในวิสุทธิมรรค

เรื่องฤทธิ์เกิดจากอำนาจฌานนี้ แม้ผู้มิได้เป็นพระอรหันต์เป็นเพียงปุถุชน เช่น พวกฤษี ก็สามารถทำได้(แต่ฌานเสื่อมได้) พระอรหันต์บางรูปสามารถทำได้(และฌานไม่เสื่อม) เช่น รูปที่ได้วิชชาและอภิญญา แต่บางรูปทำไม่ได้ เช่น รูปที่เป็นสุกขวิปัสสก สิ้นแต่กิเลส แต่ไม่ได้คุณพิเศษดังกล่าว ทั้งนี้แล้วแต่เหตุคือ วาสนาบารมีของแต่ละรูป เรื่องฤทธิ์มิใช่เป็นทางแห่งความหลุดพ้น แต่ชวนให้ติด พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนไม่ให้ติดในเรื่องนี้ สำหรับพระอริยเจ้านั้น ท่านไม่ติด แต่ปุถุชนนั้นมักติด เมื่อติดอยู่เพียงขั้นนี้แล้ว โอกาสที่จะยกระดับใจให้ก้าวไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใช้วิปัสสนาปัญญาก็ไม่มี

มหาสติปัฏฐานและสามัญญลักษณะ
สิ่งที่ควรใช้ปัญญาพิจารณา ตามความเป็นจริง ให้รู้แจ้งเห็นจริง มีหลายอย่าง แต่จะกล่าวแค่ตามนัยของมหาสติปัฏฐาน และนัยแห่งไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะเท่านั้น

มหาสติปัฏฐาน
กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

หนทางอันเอกอันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อพ้นความโศก ปริเทวนาการ เพื่อความดับทุกข์ โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ่มแจ้งแก่ตน หนทางอันเอกนั้น คือ สติปัฏฐาน อันได้แก่ การตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณา ๔ อย่างคือ

๑. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณากาย(กายย่อย เช่น ลมหายใจ) ที่กาย(กายใหญ่ คือ ร่างกาย)

๒. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาเวทนา(ความรู้สึกอารมณ์ส่วนย่อย) ที่เวทนา(ความรู้สึกอารมณ์ส่วนใหญ่)

๓. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาจิต (จิตส่วนย่อยคือ ดวงหนึ่ง) ที่จิต(จิตส่วนใหญ่คือ จิตแต่ละดวงๆ ที่เกิดดับเกิดดับ)

๔. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาธรรม(ธรรมส่วนย่อย) ที่ธรรม(ธรรมส่วนใหญ่)

พิจารณากาย
๑. พิจารณาด้วยกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เรียกว่า อานาปานปัพพะ

๒. พิจารณาด้วยกำหนดอิริยาบถของกาย เช่น ยืน เดิน เป็นต้น เรียกว่า อิริยาบถปัพพะ

๓. พิจารณาด้วยรู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไป เป็นต้น เรียกว่า สัมปชัญญปัพพะ

๔. พิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย โดยแบ่งเป็นส่วนย่อย เช่น ผม ขน เป็นต้น เรียก ปฏิกูลปัพพะ

๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นสักแต่ว่าธาตุ คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม และธาตุ ๖ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ เรียกว่า ธาตุปัพพะ

๖. พิจารณากายที่เป็นศพ ที่มีลักษณะต่างๆ มีศพขึ้นอืด เป็นต้น เรียกว่า นวสีวถิกาปัพพะ

จะกล่าวตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางสักข้อหนึ่ง คือ การพิจารณาในอานาปานปัพพะ ซึ่งมีข้อความดังที่มีในอุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ดังนี้

ภิกษุ(ที่ใช้คำว่า ภิกษุ เพราะตอนที่ทรงแสดงนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ภิกษุ แต่ธรรมนี้ก็ใช้ได้ทั่วไป แม้แก่คฤหัสถ์) ในธรรมวินัยนี้ ไปป่าก็ตาม ไปสู่โคนไม้ก็ตาม ไปสู่เรือนว่าง(ไม่มีคนอยู่) ก็ตาม นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ตั้งสติมั่นคง เธอมีสติหายใจเข้า หายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดตริตรองลมหายใจทั้งหมด พลางหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดตริตรองลมหายใจทั้งหมด พลางหายใจออก เราจักระงับลมหายใจเข้า-ออก พลางหายใจเข้า เราจักระงับลมหายใจเข้า-ออก พลางหายใจออก พิจารณาเห็นกายที่กายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายที่กายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายที่กายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายมีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาบ้าง เธอมีความระลึกว่า กายมีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าพอเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอมิได้ติดมิได้ยึดถืออะไรเลยในโลก
นี่คือการพิจารณากาย ตามแบบ อาณาปานปัพพะ

พิจารณาเวทนา คือความรู้สึก
คือพิจารณาความรู้สึกว่า
๑. สุข
๒. ทุกข์
๓. ไม่ทุกข์ไม่สุข
๔. สุขประกอบด้วยอามิส(มีรูป เสียง เป็นต้น)
๕. สุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส
๖. ทุกข์ประกอบด้วยอามิส
๗. ทุกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิส
๘. ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส
๙. ไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ประกอบด้วยอามิส

เมื่อมีความสุข หรือมีความทุกข์ ฯลฯ หรือความไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส ก็รู้ชัดว่าบัดนี้เราเป็นอย่างนั้นๆ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา(มีความรู้สึกว่าสุข เป็นต้น) ที่เวทนาภายในบ้างภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาที่เวทนาบ้าง พิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาที่เวทนาบ้าง พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาที่เวทนาบ้าง เธอมีความระลึกว่า เวทนามีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอย่อมไม่ติด ไม่ยึดถืออะไรในโลก
เป็นการพิจารณาที่เวทนาโดยย่อ

พิจารณาจิต
คือ พิจารณาจิตที่๑. มีราคะ ๒. ไร้ราคะ ๓. มีโทสะ ๔. ไร้โทสะ ๕. มีโมหะ ๖. ไร้โมหะ ๗. หดหู่ ๘. ฟุ้งซ่าน ๙. จิตใหญ่(อยู่ในฌาน) ๑๐. จิตไม่ใหญ่(ยังไม่ถึงฌาน) ๑๑. จิตมีจิตอื่นเหนือกว่า(คือยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ) ๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นเหนือกว่า(คือถึงอุปจารสมาธิ) ๑๓. จิตเป็นสมาธิ ๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ ๑๕. จิตหลุดพ้น(ด้วยพ้นชั่วคราวหรือด้วยข่มไว้) ๑๖ จิตยังไม่หลุดพ้น

เมื่อจิตเป็นอย่างไร มีราคะหรือไม่ เป็นต้น ก็รู้ชัดอย่างนั้น ย่อมพิจารณาเห็นจิตภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นบ้าง ความเสื่อมสิ้นไปบ้าง ทั้งเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมสิ้นไปบ้างเป็นธรรมดา ที่จิต เธอมีความระลึกว่าจิตมีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอย่อมไม่ติด ไม่ยึดถืออะไรในโลก
เป็นการพิจารณาที่จิตโดยย่อ

พิจารณาธรรม
๑. พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ ได้แก่ นิวรณธรรม เรียกว่า นิวรณปัพพะ

๒. พิจารณาขันธ์ ๕ เรียกว่า ขันธปัพพะ

๓. พิจารณาอายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมเป็น ๖ เรียกว่า อายตนปัพพะ

๔. พิจารณาโพชฌงค์ คือ องคธรรมเป็นเหตุสำหรับให้รู้มี ๗ มีสติ เป็นต้น เรียกว่า โพชฌงคปัพพะ

๕. พิจารณาอริยสัจ ๔ เรียกว่า อริยสัจจปัพพะ

จะกล่าวเฉพาะตัวอย่างที่เป็นขันธปัพพะ ดังนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาว่า รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมที่ธรรมภายในบ้างภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดบ้าง ความเสื่อมสิ้นบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อสิ้นบ้าง เป็นธรรมดา ที่ธรรม เธอมีความระลึกว่า ธรรมมีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอย่อมไม่ติด ย่อมไม่ยึดถืออะไรในโลก
เป็นการพิจารณาธรรม ที่ธรรมโดยย่อ

ข้อความดังกล่าวเป็นใจความย่อในมหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าต้องการทราบความพิสดาร ขอให้ดูจากมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีใจความเต็ม และถ้าต้องการทราบความพิสดารยิ่งขึ้นไปอีก ก็ขอให้ดูในอภิธรรมอันว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งอาจเปรียบได้ดังนี้ ถ้าจะดูเรื่องกายให้ดูเรื่องรูป ถ้าจะดูเรื่องเวทนาให้ดูเรื่องเจตสิก ถ้าจะดูเรื่องจิตให้ดูเรื่องจิต ถ้าจะดูเรื่องธรรมให้ดูเรื่องนิพพาน

ผลแห่งการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ ตามหลักมหาสติปัฏฐานนี้ พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า สามารถทำให้บรรลุอริยมรรค อริยผลได้อย่างเร็ว ๗ วัน อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างช้าไม่เกิน ๗ ปี แน่นอน

สามัญญลักษณะ หรือไตรลักษณะ
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

ถ้าบุคคลผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เห็นว่าการพิจารณาปฏิบัติตามหลักแห่งมหาสติปัฏฐานนั้น พิสดารเกินไปจะพิจารณาตามหลักแห่งสามัญญลักษณะ คือ ลักษณะทั่วไปในสิ่งทั้งหลาย หรือลักษณะทั้งสามของสิ่งทั้งหลาย อันได้แก่ อนิจจ คือ ความไม่เที่ยง ทุกข คือ ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา คือ เป็นอนัตตาก็ได้ สิ่งทั้งหลาย่อมตกอยู่ในสภาพ คือ ภาวะที่แท้จริงอย่างนี้

สังขาร คือสภาพที่ธรรมดาแต่งขึ้น หรือสัตว์คนสร้างขึ้น หรือสิ่งที่เกิดโดยการรวมของสิ่งต่างๆ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น คน และสิ่งที่ไร้ชีวิต เช่น บ้านเรือน แม้สังขาร คือ ความคิดนึก สร้างอารมณ์ต่างๆ ในขันธ์ ๕ ก็รวมอยู่ในความหมายว่า สังขารด้วย

ธรรมในที่นี้หมายถึง สังขารและวิสังขาร คือ พระนิพพาน สังขารนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระนิพพานนั้นเที่ยง เป็นสุข แต่เป็นอนัตตา ดังนั้นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์นั้น จึงทรงใช้คำว่าสังขาร พอถึงเรื่องอนัตตา จึงทรงใช้เป็นธรรมทั้งหลายแทน แทนที่จะใช้คำว่าสังขารและวิสังขาร คือพระนิพพานซึ่งจะยาวไป

สังขารทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อาศัยเหตุเกิดขึ้น มีความสิ้น มีความเสื่อม มีความจาง มีความดับไปเป็นธรรมดา และถ้าจะกล่าวถึงเรื่องสังขารทั่วไป ย่อมจะพิสดารมาก ดังนั้นจะกล่าวแต่เฉพาะสังขารร่างกายของคน ที่ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา เป็นต้น

การใช้ปัญญาพิจารณาสังขารร่างกาย โดยพิจารณาอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ จะนำมากล่าวโดยย่อ

การพิจารณาสังขารร่างกาย โดยอนิจจลักษณะ ดังนี้
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตวา นิรุชัฌนฺติ….
สังขารร่างกายทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมสิ้นเป็นธรรมดา เกิดๆ แล้วก็ดับ

สังขารร่างกาย มีเกิดในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลางและดับไปในที่สุด มีแล้วๆ ก็ไม่มี ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะจะต้องทรุดโทรมด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะต้องเปลี่ยนไปด้วยความแก่ เจ็บ ตายและโลกธรรม เพราะต้องเสื่อมโทรมด้วยต้องทำงานการด้วยความบากบั่น เพราะไม่ยั่งยืนด้วยไม่มีความมั่นคงแน่นอนและมีแต่จะตกไปสู่ความเสื่อมโทรมเป็นนิจ เพราะต้องแปรปรวนเป็นธรรมดา ด้วยแปรเปลี่ยนไปเพราะอำนาจชรา พยาธิ มรณะ เพราะหาความคงทนมิได้ด้วย เป็นสิ่งเสียง่าย ทุพพล ถูกทำลายง่าย เพราะไม่มีด้วยไร้ความมี เพราะมีเหตุปัจจัยสร้างสรรค์ด้วยเกิดจากเหตุปัจจัยคือ กิเลส กรรม และผลกรรม เพราะต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นธรรมดา เป็นต้น สังขารร่างกายไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้ เป็นการพิจารณาสังขารร่างกายโดยอนิจจลักษณะโดยย่อ

การพิจารณาสังขารร่างกายโดยทุกขลักษณะนั้น ดังนี้

สังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ด้วยถูกความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปเบียดเบียน ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทั้งเป็นดุจเป็นโรค เป็นนิจด้วยต้องเยียวยาบำบัดด้วยปัจจัย๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ และยาร่ำไป ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งพยาธิความเจ็บไข้ ทั้งเป็นดุจเป็นฝี โดยมีความเจ็บปวดด้วยความทุกข์ เป็นที่หลั่งไหลแห่งสิ่งที่น่าเกลียดคือ กิเลส มีอาการบวม แก่ และแตกด้วยความแก่ เจ็บ และตาย ทั้งเป็นดุจต้องศรด้วยให้เกิดความเจ็บปวดความเสียดแทงภายใน ที่ต้องคับแค้นด้วย นำมาซึ่งความคับแค้น ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งความยุ่งยากทั้งแก้หายยาก ต้องลำบากด้วยเป็นที่เกิดแห่งความเจ็บไข้ไม่ให้เกิดความคล่องตัวในการทำอะไรๆ ทั้งเป็นดุจจัญไรด้วยนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งเป็นอุปัทวะด้วยนำมาซึ่งอันตรายนานาชนิด และเป็นที่เกิดแห่งอุปัทวะ ทั้งเป็นภัยอันน่ากลัวด้วยเป็นที่เกิดแห่งภัยทั้งปวง ทั้งเป็นปฏิปักษ์ต่อความเบาใจ ด้วยทำให้เกิดความหนักใจ ทั้งเป็นอุปสรรคด้วยพัวพันอยู่กับความขัดข้อง เกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งไม่ดี ห้ามไม่ได้ ทั้งเป็นสิ่งที่ต้านทานไม่ได้ด้วยต่อต้านความแก่ ความเจ็บ ความตาย โดยไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บเลย ไม่ให้ตายไม่ได้ ทั้งเป็นสิ่งที่หลบซ่อนไม่ได้ ด้วยหลบหรือเลี่ยงความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้ ทั้งเป็นที่เกิดแห่งอาสวะ ทั้งเป็นเหยื่อของมารคือ มัจจุมาร และกิเลสมาร ตอนต้นมีเกิดและมีแก่และมีเจ็บในตอนกลาง แล้วมีตายเป็นที่สุดของชีวิตร่างกาย อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นการพิจารณาสังขารร่างกายโดยทุกขลักษณะโดยย่อ

การพิจารณาสังขารร่างกายโดยอนัตตลักษณะนั้น สังขารร่างกายทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะหาคำว่าตัวตนไม่ได้ เมื่อแยกออกเป็นส่วนๆ เช่น เป็นมือ เท้า ก็เป็นเหมือนคนอื่น ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เชื่อฟัง เป็นเช่นของที่ยืมเขามาใช้ เป็นสิ่งว่างเปล่าจากตัวตน จากอัตภาพที่ยั่งยืน จากความงาม จากความมีความสุข จากการบังคับได้สั่งได้ ไม่มีผู้เป็นเจ้าของ และผู้อยู่ที่แท้จริง เป็นต้น

การพิจารณาอย่างนี้คือการพิจารณาสังขารร่างกายโดยอนัตตลักษณะโดยย่อ

เมื่อพิจารณาอย่างนี้ได้จนลึกซึ้งเห็นชัด รู้ชัด(ไม่ใช่รู้ด้วยความจำ) ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกาย ย่อมคลายความพอใจในสังขารร่างกายนี้ ใคร่จะพ้นจากภาวะที่เป็นอยู่มีอยู่ในสังขารร่างกายนี้ เพราะคลายความติดความยึดความพอใจ จึงถึงวิมุติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ (อันเป็นอกุศลมูล คือต้นตอแห่งชั่ว) และเป็นเหตุให้ยึดถือว่า นั่นคือเรา เราคือนั่น นั่นเป็นของเรา นั้นคือเขา นั้นเป็นของเขา อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ และเป็นเหตุให้เกิดใหม่อีก เมื่อจิตหลุดพ้นก็เป็นอันสิ้นชาติสิ้นภพในกาลต่อไป การเกิดในชาตินี้เป็นครั้งที่สุดแล้ว ดังพระบาลีในอนัตตลักขณสูตร ในมหาวรรคว่า

นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจฺจติ วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมีติ ญาณํ โหติ ขีณา ชาติ
แปลว่า เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความติด ความยึด ความพอใจ เพราะคลายความติด ความยึด ความพอใจ จิตย่อมพ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่า จิตพ้นแล้ว สิ้นชาติ(ความเกิด) แล้ว

และในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในมหาวรรคว่า
อกุปฺปาเม วิมุตฺติ อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว
แปลว่า เกิดความรู้ความเห็นเองว่าความหลุดพ้นของเราไม่เปลี่ยนแปลง การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ไม่มีการเกิดใหม่ภาพใหม่อีกแล้ว

คนย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา สมดังพระพุทธพจน์ว่า
ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ แปลว่า คนบริสุทธิ์ด้วยปัญญา

เมื่อบริสุทธิ์จากกิเลส พ้นจากกิเลส ดับกิเลสได้หมด การดับนั้นคือ พระนิพพาน บุคคลผู้ดับกิเลสได้หมด ก็เป็นพระอรหันต์

สรุปแล้วการที่ใจหลุดพ้นจากกิเลสได้ ใจต้องคลายความติด ความยึด ความพอใจในสังขารร่างกายก่อน ใจจะเป็นอย่างนั้นได้ ใจก็ต้องเบื่อหน่ายในสังขารร่างกายก่อน การที่ใจจะเบื่อหน่ายได้ ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาความจริงของสังขารร่างกาย ด้วยวิธีดังกล่าว

มีบางท่านอาจนึกว่า ส่วนดีๆ ของสังขารร่างกายก็มี ทำไมจึงต้องพิจารณาอย่างนั้น เป็นการมองทางแง่ร้าย เรื่องนี้ขอตอบว่า ก็เพื่อให้ใจเกิดเบื่อหน่าย แล้วจะได้คลายความติด เพื่อผลคือ ความหลุดพ้นจากกิเลส ถ้าใครไม่ต้องการให้ใจเกิดเบื่อหน่าย ไม่ต้องการพ้นกิเลส ก็ไม่ต้องพิจารณาอย่างนั้น นึกแต่ส่วนดีๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ผลที่ต้องการ

พระนิพพาน
เรื่องพระนิพพานนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในที่ต่างๆ เช่น
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
แปลว่า พระนิพพานเป็นบรมสุข

สุขอันเกิดจากพระนิพพาน มิใช่สุขเกิดจากเวทนา(สุขเวทนา) อย่างในขันธ์ ๕ แต่เกิดจากความไร้เวทนา เรื่องนี้ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกับท่านพระอุทายี ดังมีเรื่องใน นวกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า

พระสารีบุตร แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระนิพพานเป็นสุข พระอุทายีได้ฟังจึงแย้งว่าสุขจะมีอย่างไรในพระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีเวทนา คือ ความรู้สึกในอารมณ์ พระสารีบุตรจึงตอบว่า ความสุขที่ไม่มีเวทนานั้นแลเป็นตัวสุขแท้จริง สุขมีเวทนานั้นไม่ใช่สุขแท้จริง เพราะไม่เที่ยง(ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่า เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานแล้ว จิตดับไปด้วยแล้ว จะเอาอะไรไปเสวยนิพพานสุข)

พระนิพพานเป็นภาวะที่บริสุทธิ์ที่สุด สมบูรณ์ที่สุดแห่งใจ เป็นภาวะที่ปราศจากกิเลส จึงปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างสิ้นเชิง เมื่อไม่เห็นแก่ตัว ก็ไม่มีความต้องการอะไรเพื่อตนเอง ไม่มีริษยาใคร เป็นสภาพที่ไม่มีการยึดถือตัวเอง มีแต่ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น คนที่ถึงพระนิพพานย่อมยอมรับความจริงของชีวิต เช่น ความตาย เป็นต้น โดยไม่สะดุ้งหวาดกลัว มีความสงบทางใจอย่างสมบูรณ์ที่สุด และสุขอื่นนั้นจะยิ่งกว่าความสงบไม่มี การอยู่ของผู้ที่ถึงพระนิพพานนั้น ย่อมอยู่อย่างสงบไม่เห็นแก่ตัว แต่ไม่ใช่อยู่อย่างเกียจคร้าน และความไม่เห็นแก่ตัวนั้น จะเป็นพลังส่งให้ทำงานเพื่อผู้อื่นด้วยความปรารถนาดีต่อเขา โดยมิได้หวังลาภยศชื่อเสียง เพื่อตัวเองหรือพวกตัวเลย คนมีกิเลสย่อมทำอะไรเพื่อหวังลาภยศสรรเสริญ ชื่อเสียง เพื่อตนเองหรือเพื่อพวกตน แต่คนไร้กิเลสไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นคนชนิดนี้ จึงเป็นผู้เสีนสละเพื่อผู้อื่นที่สมบูรณืที่สุด

การถึงความสำเร็จเร็วหรือช้า
การปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นไปตามลำดับของการปฏิบัติตามปกติของผู้ปฏิบัติ ไม่ได้หมายถึงบางท่านที่ฟังพระธรรมเทศนาจบ แล้วได้อริยมรรคอริยผลสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันจนพระอรหันต์ พระอริยเจ้า เป็นบุคคลพิเศษ ได้สร้างเหตุ คือ วาสนาบารมีแต่ปางก่อนมามาก จึงได้สำเร็จเร็ว เปรียบเหมือนคนเดินทางมาถึงประตูเมืองแล้ว พอมีคนเปิดประตูให้ก็เข้าไปได้เลย ไม่เหมือนผู้อื่น ที่เปรียบเหมือนกำลังเดินทางมาโดยลำดับจนกว่าจะถึงประตูเมือง

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานยอดเยี่ยม
นี่คือคำอธิบายโดยย่อของทางพระนิพพาน

ทางแห่งพระนิพพาน เป็นเพียงนัยหนึ่งที่มีปรากฏในหนังสือต่างๆ ถ้ากล่าวโดยหลักการแล้วก็มีทางเดียวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา(การพิจารณาตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐาน และสามัญญลักษณะ หรือไตรลักษณะ ซึ่งเป็นเองของปัญญา) ส่วนรายละเอียดที่ใครจะรู้อย่างไรนั้น อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปบ้าง แล้วแต่วาสนาบารมีของผู้ปฏิบัติ(เรื่องทางพระนิพพานมีหนังสือวิสุทธิมรรค สมถ-วิปัสสนากัมมัฏฐาน มหาสติปัฏฐาน ธรรมวิจารณ์ และหนังสืออื่นอีกมากที่น่าสนใจ) แต่จุดมุ่งหมายคือให้รู้หลักของนิพพาน หรือวิมุติเช่นเดียวกัน

กถมฺภูตสฺส รตฺตินฺทิวํ วีติปตนฺติ
วันคืนล่วงไปทุกวัน บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา