ทางนิพพาน

Socail Like & Share

เมื่อทราบทางมนุษย์ ทางสุคติ ทางทุคติ ทางสวรรค์ ทางนรกแล้ว ก็ควรทราบทางไปนิพพานต่อไป

ทางนิพพาน
บางคนมีธุลีในนัยน์ตาน้อย คือมีกิเลสบาง มีอุปนิสัยน้อมไปเพื่อความต้องการหลุดพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จากชาติภพสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด ย่อมเบื่อหน่ายในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ต้องการแต่นิพพานสมบัติ อันเป็นไปเพื่อความสิ้นความต้องการ สิ้นกิเลส ที่เป็นเหตุให้ไม่ต้องเกิดอีก เป็นบรมสุข ในพระพุทธศาสนาได้แสดงทางแห่งนิพพานไว้มากกว่าทางอื่น เพื่อสนองความต้องการของผู้ต้องการไป(แม้ว่าทางแห่งพระนิพพาน พระพุทธองค์จะทรงแสดงไว้มาก แต่กลับปรากฏว่ามีผู้เดินไปทางนี้น้อยเต็มที คนส่วนมากยังไม่ยอมเดินทางสายนี้ บางคนไม่ชอบ กลัว บางคนไม่เห็นคุณค่า เพราะเข้าไม่ถึงคุณค่า บางคนกลับพูดตำหนิเสียอีก หนทางมีอยู่ แต่หาผู้เดินยาก)

ทางไปนิพพาน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เช่น มรรคมีองค์ ๘ คือ

ความเห็นถูก ได้แก่ เห็นว่าความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น

ความดำริถูก คือ ดำริออกจากกาม ดำริเพื่อไม่พยาบาทเบียดเบียนเขา

เจรจาดี คือ พูดจริง ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดยุยง ไม่พูดเหลวไหล

มีการงานดี คือเว้นการฆ่า การลัก การทำผิดทางเพศ(เฉพาะฆราวาส) หรือประพฤติพรหมจรรย์(เฉพาะบรรพชิต)

เลี้ยงชีพดี คือ เว้นมิจฉาชีพ เช่น ขายอาวุธ ขายคน เป็นต้น

ทำสัมมาชีพเพียงพยายามถูกต้อง คือ เพียรไม่ให้อกุศลเกิด เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรให้กุศลเกิด เพียรให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญยิ่งขึ้น

มีความระลึกถูกต้อง คือ มีสติระลึกพิจารณากาย เวทนา จิตธรรม

มีความตั้งใจมั่นถูกต้อง คือ ได้ฌาน

สัมมัตตะ คือ ความถูกต้อง ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑-๘ เหมือนมรรค ๘ กับรู้เข้าใจถูกต้อง คือ รู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมเป็นอนัตตา เรียกว่า สัมมาญาณ ๑ และหลุดพ้นดีแล้ว คือ พ้นจากกิเลสทั้งปวง เรียกว่า สัมมาวิมุติ๑

โพชฌงค์
คือ องค์คุณเป็นเหตุให้รู้ ๗ ประการ ได้แก่ สติ๑ ธรรมวิจัย๑ เพียร๑ ปีติ๑ ความสงบ๑ สมาธิ๑ ความวางเฉยอันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม ๖ ข้อแรก๑

สัมมัปปธาน
คือ ความพากเพียรถูกต้อง ๔ ได้แก่ ระวังมิให้ความชั่วเกิด๑ เพียรละความชั่วที่เกิดแล้ว๑ เพียรให้ความดีเกิด๑ และเพียรรักษาความดีที่เกิดมีแล้วมิให้เสื่อม๑

สติปัฏฐาน ๔
คือ สติกำหนดพิจารณากาย ที่กายเป็นอารมณ์๑ พิจารณาความรู้สึกสุขทุกข์เป็นอารมณ์๑ พิจารณาใจเป็นอารมณ์๑ พิจารณาธรรมเป็นอารมณ์๑ ว่า กายสักแต่ว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของเราของเขา

อิทธิบาท
คือ ธรรมเป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ ๔ ได้แก่ ความพอในเรื่องที่จะบำเพ็ญ๑ พากเพียรบำเพ็ญในสิ่งนั้น๑ เอาใจใส่ในสิ่งนั้นมาก๑ และหมั่นค้นคว้าพิจารณาความจริงในสิ่งนั้น๑

อินทรีย์

คือ ธรรมที่เป็นใหญ่ และมีความสำคัญ ๕ ได้แก่ ความเชื่ออย่างมีเหตุผล๑ ความเพียร๑

พละ
คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ เหมือนอินทรีย์๕
รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นฝ่ายแห่งความรู้ ๓๗ ประการ เป็นต้น

อริยสัจจะ
คือ ความจริงอย่างประเสริฐ ทำให้ผู้รู้จริงถึงความดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้อริยสัจจะนี้ จึงสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อริยสัจจะมี ๔ คือ
ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด แก่ ตาย ความทุกข์กาย-ใจ เป็นต้น รู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ชื่อว่ารู้ทุกข์

สมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความทะยานอยากในกาม(กามตัณหา) ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่(ภวตัณหา) และความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่(วิภวตัณหา) รู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุเกิดทุกข์ ชื่อว่ารู้สมุทัย(ความอยากที่ได้ชื่อว่าตัณหานั้น ต้องเป็นความอยากมีอีกเป็นอีกเกิดใหม่อีก ประกอบด้วยความติดด้วยอำนาจ ความยินดีพอใจ และยินดียิ่งนักในสิ่งที่ต้องใจนั้นๆ ความอยากถึงพระนิพพาน ไม่มีลักษณะเป็นอย่างนี้ และเป็นความอยากเพื่อสิ้นอยาก จึงไม่เป็นตัณหา)

นิโรธ ได้แก่ ความดับความอยากนั้นโดยสิ้นเชิง รู้ความจริงว่า ความดับความอยากได้เป็นความดับทุกข์ ชื่อว่ารู้นิโรธ

มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ หนทางให้ถึงนิโรธมี ๘ มีความเห็นถูกว่า ความเกิดเป็นทุกข์(สัมมาทิฏฐิ) เป็นต้น รู้ความจริงว่าหนทางมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง เป็นหนทางให้ถึงนิโรธ ชื่อว่ารู้มรรค หรือรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รู้ความจริงแท้เหล่านี้ด้วยญาณ ย่อมทำให้ถึงพระนิพพานได้ในที่สุด(ความรู้อริยสัจจะ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระสาวกสำเร็จเป็นพระอริยเจ้า เช่น เป็นพระโสดาบัน เราก็รู้แต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้เพราะเรายังรู้จำ ยังไม่รู้จริงอย่างพระอริยเจ้าเหล่านั้น)

แต่ธรรมทั้งหมดนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุป ได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปฏิบัติได้บริบูรณ์ถึงขีดแล้ว พระนิพพานก็เป็นสิ่งที่หวังได้

ไตรสิกขา
ศีล
เป็นเรื่องการรักษากาย วาจา ให้ดีไม่ให้เป็นทุจริต มีเว้นการฆ่า เป็นต้น

สมาธิ
คือการตั้งใจมั่น ทำใจให้เป็นหนึ่ง สงบ มีอารมณ์รวมเป็นจุดเดียวจนปราศจากนิวรณธรรม ๕ ประการ(คือความพอใจหรือรักในสิ่งที่ชอบใจ เรียกว่า กามฉันท์ การปองร้ายผู้อื่น เรียกว่า พยาบาท ความมีใจหดหู่เคลิบเคลิ้ม ซึมง่วง เรียกว่า ถีนมิทธะ ความมีใจฟุ้งซ่านรำคาญ คิดพล่าน เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ และความลังเลสงสัย เรียกว่า วิจิกิจฉา) เป็นอย่างต่ำจนถึงได้ฌานสมาบัติ

ปัญญา
คือ รู้แจ้งสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง เป็นเครื่องทำให้ทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง

ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกันจะขาดเสียมิได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ในมหาวรรค ทีฆนิกาย ความไทยว่า ศีลอบรมดีแล้ว สมาธิย่อมมีผลานิสงส์มาก สมาธิอบรมดีแล้ว ปัญญาย่อมมีผลานิสงส์มาก ปัญญาอบรมดีแล้ว จิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

ธรรมทั้ง ๓ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างนี้ ดังนั้น ก่อนจะบำเพ็ญชั้นปัญญา ใจต้องเป็นสมาธิก่อน และก่อนที่ใจจะเป็นสมาธิ กาย-วาจา ต้องเรียบร้อยด้วยศีลก่อน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติเพื่อโมกขธรรม หรือเพื่อพระนิพพานจึงต้องมีศีลก่อน ด้วยการสมาทานรักษาศีล จะเป็นศีล๕ หรือศีล๘ ก็ได้ ส่วนศีล๑๐ และศีลนอกนั้นเป็นศีลของบรรพชิต เมื่อมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ มีกาย วาจา เรียบร้อยดีแล้ว การบำเพ็ญสมาธิก็สะดวก เมื่อใจเป็นสมาธิปราศจากนิวรณ์แล้ว การบำเพ็ญปัญญาก็สะดวก เพราะพิจารณาเห็นได้แจ่มแจ้งชัดเจน ในความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เช่น ตัวเรา เป็นต้น อันเป็นเหตุให้ใจพ้นจากกิเลส พ้นจากการยึดถือว่าเราของเรา เขา ของเขา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา