ปัจจัยที่ช่วยให้การเลี้ยงไก่ประสพความสำเร็จ

Socail Like & Share

ปัจจัยที่ช่วยให้การเลี้ยงไก่ประสพความสำเร็จ มีดังต่อไปนี้ คือ
๑. ไก่พันธุ์ดี
๒. อาหารดี
๓. การจัดการหรือการบริหารงานฟาร์มที่ดี
๔. มีการป้องกันโรคดี
๕. มีตลาดจำหน่ายไก่และไข่ดี

ไก่พันธุ์ดี
ในที่นี้หมายถึง ไก่ที่ให้ผลผลิตที่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจสูง ใช้อาหารในการผลิตผลหนึ่งหน่วยน้อย เช่นไก่พันธุ์ดี
ไก่ไข่พันธุ์ดีควรจะมีลักษณะที่ผู้เลี้ยงต้องการ ดังนี้คือ ตายยาก ตับไขยาวนาน (ตับไข่หนึ่ง หมายถึง ช่วงของการไข่ติดต่อกับช่วงหนึ่ง) ไข่ดกและทน ฟองโต แต่กินอาหารน้อย เป็นต้น

ชนิดของไก่ที่นิยมเลี้ยงกันในปัจจุบัน

ก. ไก่เลี้ยงเอาเนื้อ ได้แก่
๑) ไก่ตัวผู้ลูกผสมของไก่พันธุ์เนื้อ-ไข่ เช่น ไก่พันธุ์โร๊ดไอแลนด์แดง กับไก่พันธุ์บาร์พลีมัทร๊อค

๒) ไก่ลูกผสมระหว่างพันธุ์เนื้อ-ไข่ กับไก่พื้นเมือง ไก่ลูกผสมพวกนี้เป็นที่นิยมของตลาดมาก ผู้เลี้ยงก็ไม่ต้องเอาใจใส่มากเหมือนกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ หรือไก่เนื้อในข้อ ๓

๓) ไก่ลูกผสมสายเลือดสูงที่เรียกกันว่า “ไก่เกรดเอ” บ้างหรือ “ไก่ไฮบริด” บ้าง แล้วแต่จะเรียกกัน ซึ่งใช้เลี้ยงเป็นไก่กระทง ใช้เวลาเลี้ยงน้อยประมาณ ๔๕ วันถึง ๕๖ วัน ก็ขายได้ ไก่ชนิดนี้มีชื่อเรียกทางการค้าต่างๆ กัน แล้วแต่บริษัทผู้ผลิตจะตั้งชื่อเอา เป็นต้นว่า ชื่อ พิ้ลอาเบอร์เอเคอร์ เป็นต้น

สำหรับไก่เนื้อพันธุ์แท้ เช่น พันธุ์คอนิช ถึงแม้จะมีลักษณะดี ตัวโต ก็ไม่ นิยมเลี้ยงกันในปัจจุบัน เนื่องจากโตช้ากว่า ต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานกว่าจึงจะขายได้ นอกจากนี้เมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว นอกจากจะไข่ไม่ดกแล้ว ไข่ยังมีเปอร์เซ็นต์การฟักออกต่ำด้วย

ข. ไก่ที่เลี้ยงไว้เอาไข่ ได้แก่
๑) ไก่พันธุ์โร๊ดไอร์แลนด์แดง เป็นไก่พันธุ์เนื้อ-ไข่ คือ เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักตัวมาก และให้ไข่ดกไม่แพ้ไก่พันธุ์ไข่ ไก่พันธุ์นี้มีขนสีแดงเข้ม เปลือกไข่สีน้ำตาลฟองโต การใช้อาหาร ถ้าอาหารมีคุณภาพดีไก่พันธุ์นี้ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๕ เดือนครึ่ง จะใช้อาหารประมาณ ๑๐ กิโลกรัมต่อตัว และในขณะที่กำลังไข่จะกินอาหารอีกวันละประมาณ ๑๒๐-๑๓๐ กรัม ต่อตัวโดยเฉลี่ย คนทั่วไปเรียกย่อๆ ว่า “ไก่โร๊ด” ข้อดีอีกประการหนึ่งของไก่พันธุ์นี้ก็คือ ไก่ที่คัดออกขายมักมีน้ำหนักมาก และขายได้ราคาดีพอสมควร

๒) ไก่พันธุ์บาร์พลีมัทร๊อค เป็นไก่พันธุ์เนื้อ-ไข่ มีขนสีเทาสลับดำ ให้ไข่ดก ฟองโต เปลือกไข่สีนํ้าตาลคล้ายสีนมชง ไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของตลาดมากนัก กินอาหารใกล้เคียงกับไก่โร๊ด  เรียกไก่พันธุ์นี้ย่อๆ ว่า “ไก่บาร์” ตลาดมักจะให้ราคาตัวไก่ที่ขายคัดออกดีพอสมควร

๓) ไก่พันธุ์เล็กฮอร์น เป็นไก่พันธุ์ไข่ เมื่อโตเต็มที่แล้วมีน้ำหนักเบากว่าไก่สองพันธุ์แรก ไก่พันธุ์นี้มีหลายสี แต่ที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทยเป็นไก่พันธุ์เล็กฮอร์นสีขาวไข่ดก ฟองไม่โตนัก เปลือกไข่มีสีขาว ตลาดบางแห่งไม่นิยมเปลือกไข่สีขาว ประกอบกับไข่พันธุ์นี้เมื่อขายคัดออกไม่ค่อยจะมีผู้นิยม ได้ราคาต่ำ จึงทำให้มีการเลี้ยงไก่พันธุ์นี้น้อยลงไป การใช้อาหารตั้งแต่อายุ ๑ วัน จนถึงเริ่มไข่ถึงอายุประมาณ ๒๒ สัปดาห์ ใช้อาหารไปประมาณ ๘ กิโลกรัม ระยะกำลังไข่กินอาหารวันละประมาณ ๑๑๐ กรัม ต่อตัวต่อวันโดยเฉลี่ย

๔) ไก่ลูกผสมพันธุ์ไข่ เช่น ไก่ลูกผสมที่เกิดจากไก่พันธุ์โร๊ดไอร์แลนด์แดงกับไก่พันธุ์เล็กฮอร์น เป็นต้น ไก่ลูกผสมนี้ไข่ดกและไข่ทนดีกว่าไก่พันธุ์แท้ มีอัตราการเลี้ยงรอดสูง สำหรับคุณสมบัติอื่นๆ ก็ไม่แพ้ไก่พันธุ์แท้ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี