ท่านผู้หญิงยมราช(ตลับ สุขุม)

Socail Like & Share

สตรีไทยได้รับยกย่องว่ามีความสามารถสูง ทั้งในเรื่องการบ้านการเรือน และกิจการของบ้านเมืองทุกสมัย ประเพณีวัฒนธรรมไทยจะอบรมสั่งสอนกุลสตรีให้มีคุณสมบัติงามทุกวัย นับตั้งแต่วัยดรุณี วัยมีเรือน และวัยสูงอายุ ให้เป็นผู้รู้จักไว้ยศ รักศักดิ์ศรี มีท่านผู้หญิงยมราช(ตลับ สุขุม)จรรยามารยาทเชิดชูวงศ์ตระกูล ทั้งของตนและสามี ให้เป็นผู้มีความเมตตากรุณา รู้จักเสียสละ ทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม แบบฉบับของสตรีไทยที่ เป็นตัวอย่างอันดีในสมัยโบราณ จะเห็นประจักษ์ทั้งในวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ส่วนในยุคที่ล่วงเข้าสู่สมัยใหม่เมื่อไทยเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ปรากฏว่าสตรีไทยนั้น มีความเก่งกล้าสามารถไม่แพ้สตรีสมัยโบราณหรือชาวต่างประเทศในยุคเดียวกันเลย

ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม กำเนิดมาในสกุล “ณ ป้อมเพ็ชร” เมื่อวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่บ้านบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรพระยาชัยวิชิตสิทธิศักดา มหานคราภิบาล (นาค ณ ป้อมเพ็ชร) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ปู่คือ พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง ณ ป้อมเพ็ชร) ปลัดพระนครศรีอยุธยา มารดา ชื่อ คุณหญิงนวน สกุล ณ ป้อมเพ็ชร สืบเชื้อสายมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่ภายในกำแพงพระนคร ใกล้กับป้อมเพชร เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ได้พระราชทานชื่อให้แก่สายสกุลนี้ว่า “ณ ป้อมเพ็ชร”

เมื่อยังเยาว์ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ได้รับการศึกษาในโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น อยู่เล่าเรียนในเวลาอันสมควร แล้วจึงลาออกมาดูแลบ้านเรือนเนื่องจากคุณหญิง นวน มารดาถึงแก่กรรม เป็นเหตุให้รู้จักการปกครองภายในบ้านมาตั้งแต่เล็ก ครั้นอายุเจริญได้ ๑๙ ย่าง ๒๐ ปี เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อครั้งยังเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น ผู้เป็นพระอภิบาลพระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์ คือ กรมพระจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจีนกิตติบดี และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้ตามเสด็จกลับมาเยี่ยมเมืองไทยชั่วคราว ได้กราบทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นกรมหมื่น และพระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ให้ทรงพระเมตตาเป็น เถ้าแก่เสด็จมาสู่ขอท่านผู้หญิงตลับ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่บ้านบางขุนพรหม พระยาชัยวิชิตฯ ตกลงด้วยความยินดีและปลูกเรือนหออยู่ภายในบริเวณบ้านเดิมนั้นเอง

เมื่อเสร็จพิธีแต่งงาน เป็นเวลาที่พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เจ้าพระยายมราชรับหน้าที่พระอภิบาลเช่นเดิม จึงเตรียมออกเดินทางพร้อมกับท่านผู้หญิงด้วย

ก่อนออกเดินทางท่านผู้หญิงตลับได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้า เพื่อกราบบังคมลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี ประเพณีการเข้าเฝ้าในสมัยก่อน ฝ่ายหน้าและฝ่ายในจะไม่ปะปนกัน ครั้งนี้คุณหญิงอภัยพิพิธ (ห่วง) ภรรยาพระยาอภัยพิพิธ (สุ่น) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒนโกษา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำท่านผู้หญิงเข้าเฝ้า ทุกพระองค์ได้ทรงฝากฝังให้ช่วยดูแลพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า มหาวชิราวุธ ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ด้วย นับตั้งแต่นั้นมาท่านผู้หญิงตลับก็ได้ยึดถือว่า ตนเข้ารับราชการแล้วส่วนหนึ่ง และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีในเวลาต่อมา

ในระหว่างที่เจ้าพระยายมราชเป็นพระอภิบาลและทำหน้าที่พระอาจารย์สอนหนังสือไทยไปพร้อมๆ กันนั้น เป็นเวลาที่ตำแหน่งผู้ช่วยสถานทูตลอนดอนว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยา ยมราชทำหน้าที่แทนอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขานุการชั้น ๑ ในเวลาต่อมา ท่านผู้หญิงตลับ จึงมีโอกาสทำหน้าที่สนองพระคุณบ้านเมืองโดยตรง โดยได้เป็นผู้แทนสตรีไทยเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้า วิกตอเรีย พระบรมราชินีแห่งกรุงอังกฤษ ในฐานะภรรยาข้าราชการไทยคนแรก ซึ่งปรากฏว่าท่านผู้หญิง ตลับ สุขุม สามารถวางตัวให้เป็นที่ชื่นชม และเป็นที่เกรงใจของบรรดาชาวต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ท่านผู้หญิงตลับ ได้ถวายความจงรักภักดีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในเรื่องต่างๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ โปรดให้ตามเสด็จหลายครั้ง ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาก ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม อยู่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา ๖ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ก็เสด็จกลับประเทศไทย เจ้าพระยายมราชจึงได้กลับในโอกาสนี้

ต่อมา เจ้าพระยายมราชไปรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นเวลานาน ๑๑ ปี จากต่างประเทศออกสู่ชนบท ทั้งเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงเป็นวัยที่กำลังมีไฟในการ สร้างสรรค์งาน การได้พบเห็นสิ่งเจริญรุ่งเรืองในต่างถิ่นนั้นได้นำมาพัฒนาบ้านเมืองเป็นผลดีต่อไป

เจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงเป็นสามีภรรยาที่ความคิดและอุปนิสัยละม้ายคล้ายคลึงกัน งานใดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมที่เจ้าพระยายมราชต้องปฏิบัติจะได้รับความสนับสนุนส่งเสริมให้ ดำเนินไปด้วยดีจากท่านผู้หญิงตลับเสมอ เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ฝักใฝ่ในพระบวรพุทธศาสนา เนื่องด้วยตนเองอยู่ในเพศบรรพชิตเป็นเวลานาน คุณลักษณะนี้แสดงออกในทางมีมนุษยสัมพันธ์ ที่สามารถติดต่อกับบุคคลทุกระดับได้อย่างไม่ถือตัว มีความโอบอ้อมอารี ชอบให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลที่ต่ำกว่า ตลอดทั้งงานสารประโยชน์นานา ลักษณะเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของท่านผู้หญิงตลับทั้งสิ้น ในระหว่างที่เจ้าพระยายมราชดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ได้บำเพ็ญประโยชน์นานาประการ ในส่วนการสงเคราะห์ได้แก่ ช่วยเหลือบุตร ภรรยาข้าราชการ ที่ออกไปประจำในต่างจังหวัดที่ห่างไกล เฉพาะในยามป่วยไข้ และดูแลราษฎรด้วยความจริงใจ

เจ้าพระยายมราชได้จัดระเบียบบริหารมณฑลนครศรีธรรมราชอย่างเรียบร้อยทำนุบำรุงความเจริญทั้งในส่วนการปกครองและปรับปรุงสภาพบ้านเมืองให้มีระเบียบตามแบบแผนใหม่ เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาตรวจหรือเสด็จผ่าน ทรงพอพระราชหฤทัยทุกครั้ง ท่านผู้หญิงตลับจะเป็นผู้ทำหน้าที่เตรียมการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เสด็จประพาสเกาะยอที่กลางทะเลสาบสงขลา จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเข็มกลัด จ.ป.ร. ประดับเพชร และเมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศชวา ก็ได้รับพระราชทานกำไล สลัก จ.ป.ร. เป็นรางวัลในการตอบแทนความจงรักภักดี

ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม เป็นสตรีที่กล้าเผชิญเหตุการณ์นานาประการที่ขวางหน้า ดังเช่นเมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ในตำแหน่งเลขานุการสถานทูตไทย ท่านก็มีความกล้าหาญ พร้อมจะก้าวเข้าสู่สมาคมชั้นสูงของต่างบ้านต่างเมืองออกไปเคียงบ่าเคียงไหล่สามีอย่างมั่นใจ ทั้งๆ ที่มิได้คุ้นเคยกับธรรมเนียมประเพณีของอังกฤษมาแต่ก่อน ท่านรักษามารยาท วางตัวเหมาะสม ทั้งกิริยาวาจา อย่างถูกกาลเทศะ สามารถเชิดชูขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเกียรติภูมิที่ดีงามของชาติได้อย่างดียิ่ง

ท่านมีอุปนิสัยรักเรียน มีความสังเกต และไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย เมื่ออยู่ในประเทศอังกฤษ ได้พบเห็นความเจริญก้าวหน้าอันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองไทย และสิ่งที่ชาวไทยยังไม่ทัดเทียมกัน ก็จะจดจำไว้ และฝึกฝนขวนขวายเพิ่มพูนความรู้ให้เป็นกำไรแก่ชีวิต และปัญญาของตนเอง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในภายภาคหน้า ครั้นเมื่ออยู่ที่มณฑลนครศรีธรรมราช ก็ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่พบเห็นมา เข้ามาช่วยสามีดำเนินงานในส่วนพัฒนาสตรีชาวภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ได้กล้าหาญที่จะเปิดสถานสอนหนังสือให้แก่สตรีที่ใต้ถุนจวนที่พัก โดยไม่คิดค่าสอนก่อน ได้ปลูกฝังการเรียนแก่ดรุณีไว้เป็นเบื้องต้น จนต่างเห็นคุณค่าของการเรียน จากนั้นก็ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดโรงเรียนสตรีที่ยั่งยืนสืบมาจนปัจจุบันนี้ ด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง คือ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสงขลาและโรงเรียนวิเชียรมาตุประจำจังหวัดตรัง

เจ้าพระยายมราชกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงโยธาริการ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ในปลายรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ราชการในระยะหลังเป็นงานใหญ่และยุ่งยาก ซึ่งท่านผู้หญิงตลับก็ได้เป็นกำลังสำคัญอีกเช่นเคย

ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม เป็นผู้มีจริยวัตรอันประณีตงดงาม อ่อนโยน และสุภาพ เคารพนบนอบผู้สูงกว่าตน ซื่อตรงจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เมตตาโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ญาติมิตร ผู้อยู่ใต้ปกครองให้ความสงเคราะห์และอนุเคราะห์ตามเหตุผลและควรแก่กำลังกายและกำลังทรัพย์ จึงได้รับพระเมตตาและประทานความสนิทสนมจากบรรดาเจ้านายทั่วไป และเป็นที่เคารพรักของชนทุกชั้น กล่าวกันว่า เมื่อใครสมาคมกับท่านแล้วย่อมที่จะอดสรรเสริญไม่ได้

ในส่วนของครอบครัว ท่านผู้หญิงตลับเป็นภรรยาที่ดีมาก มีอัธยาศัยหนักแน่นประกอบการงานสิ่งใดมักจะยึดถือความชอบธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงเพราะอำนาจอคติ ชีวิตการงานของสามีระยะนี้ ล้วนเป็นตำแหน่งหน้าที่ใหญ่ยากที่จะบริหารให้ลุล่วงไปด้วยความรอบคอบและปรีชาสามารถอย่างสูง ท่านผู้หญิงในฐานะภรรยาก็รู้จักประมาณตน ไม่ทำจิตใจให้ฟูเพราะลาภยศ สรรเสริญ และกอบโกย ผลประโยชน์ตามโอกาสดังเช่นภรรยาของผู้ใหญ่บางคน ท่านจะไว้ยศศักดิ์ป้องกันมิให้มีเรื่อง “หน้าบ้าน” “หลังบ้าน” ไม่ยอมให้พ่อค้าวานิชที่ต้องการอภิสิทธิ์ต่างๆ มาเสนอให้ภรรยาใช้อำนาจทางราชการของสามี เพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างเด็ดขาด การที่สามีเป็นใหญ่และเจริญขึ้น ภารกิจภายในครอบครัวก็ยิ่งสูงตามตัว ท่านก็จัดว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ไม่ ทำให้มีสิ่งบกพร่องเกิดขึ้น เพื่อมิให้สามีห่วงใย ปล่อยกังวลทางบ้าน เพื่อจะได้ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินให้เต็มความสามารถ และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทั้งสามีและภรรยา บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง

ในรัชกาลที่ ๖ ท่านผู้หญิงตลับ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ให้ปฏิบัติหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่า นางพระกำนัล  ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นได้โปรดให้ช่วยงานเกี่ยวกับการศึกษาของสตรี เนื่องด้วยในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ สวรรคต ข้าราชการและประชาชนพลเมืองหลายหมู่หลายเหล่า ต่างพากันเศร้าโศกคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ หรือบำเพ็ญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ถวายสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ภรรยาข้าราชการ คณะหนึ่ง รวมทั้งท่านผู้หญิงตลับได้คิดจะสร้างโรงเรียนเด็กหญิงอนาถา ท่านผู้หญิงตลับได้ช่วยทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งช่วยเป็นหัวหน้าเรี่ยไรเงินแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันปีหลวง พระองค์ทรงโสมนัสยินดี ทรงพระอุปถัมภ์จนโรงเรียนได้เปิดในปีรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศ” ถนนบำรุงเมือง อยู่ที่โรงเลี้ยงเด็ก ตรงข้ามกับสวนมะลิ แล้วทรงตั้งท่านผู้หญิงตลับ เป็นผู้อำนวยการ ท่านผู้หญิงตลับได้ปกครองโรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศนี้ มาด้วยความเอาใจใส่แก่เด็ก นอกจากวิชาหนังสือ ยังหาครูมาสอนให้ทอผ้าทำครัวและอื่นๆ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ตามควรแก่ฐานะของเด็ก นับเวลาที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้มาได้ ๒๐ ปีเศษ มีนักเรียนที่ได้ออกไปจากโรงเรียนหลายร้อยคน เมื่อออกไปแล้วก็อุตส่าห์คอยสอดส่องว่าจะไปเจริญรุ่งเรืองประการใด

ส่วนการสาธารณกุศลอย่างอื่นๆ ท่านผู้หญิงตลับได้กระทำอยู่เสมอตามกำลัง ได้มีส่วนในการสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถานเสาวภา ได้รับเลือกเป็นกรรมการแห่งสภากาชาดสยามเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

นอกจากนั้นท่านผู้หญิงตลับได้ทำนุบำรุงเกี่ยวกับการพระศาสนาเนืองนิจ ได้สร้างกุฏิวัดปทุมวนาราม และเป็นผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในครอบครัวและราชการเจริญยิ่งๆ ทุกรัชกาล เป็นที่กล่าวขวัญว่า ครอบครัวของเจ้าพระยายมราชเป็นครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ควรยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง ดังเช่นเมื่อเวลามีบุตรหลานข้าราชการและเชื้อพระวงศ์สมรสครั้งใด มักจะขอให้เจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเป็นผู้ปูที่นอน เพื่อจะได้เป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิตครอบครัวหลายคู่

ท่านผู้หญิงตลับมีชีวิตร่วมกับเจ้าพระยายมราช ๔๒ ปีเศษ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ มีอายุได้ ๖๒ ปี นับว่าการดำรงชีวิตและผลงานของท่านจะเป็นตัวอย่างแก่สตรีสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก