เรือนเครื่องผูกในประวัติศาสตร์

Socail Like & Share

เรือนเครื่องผูก8
การที่จะมองย้อนหลังกลับไปสู่อดีต เพื่อสืบค้นสาระสำคัญทั้งในด้านรูปแบบและสถานภาพของเรือนเครื่องผูก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพลเมืองทั่วไปในเมืองไทยโดยลำดับนั้นออกจะเป็นการไม่สู้ง่ายนัก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า เรือนชนิดปลูกขึ้นด้วยทัพสัมภาระที่ไม่สู้คงทนถาวรอยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี อีกประการหนึ่งก็เนื่องด้วยเรือนเครื่องผูกส่วนมากเป็นที่อยู่ของคนระดับชาวบ้าน ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเรือน
ประเภทนี้ไม่สู้สนใจเรื่องอื่นนอกเหนือไปกว่าการเป็นเจ้าของ และอาศัยอยู่อย่างปกติสุขได้เท่านั้น ส่วนที่จะจดบันทึกอะไรที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับความเป็นอยู่ภายใต้หลังคาเรือนเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งพ้นวิสัย เพราะมองไม่เห็นประโยชน์อันพึงจะได้ อย่างไรก็ตาม การมองย้อนหลังเพื่อสืบค้นเรือนประเภทเครื่องผูก ก็พอมีช่องทางอยู่บ้างด้วยการพึ่งบันทึก ในลักษณะจดหมายเหตุและพงศาวดารที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งยังจะพอมีอยู่บ้าง
จดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาสู่เมืองไทยคราวแรกๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลายคนที่ได้จดบันทึกสาระสำคัญเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกซึ่งเป็นที่อยู่ของพลเมืองส่วนมากในพื้นบ้านขึ้นไว้ และมีข้อความสำคัญช่วยให้นึกเห็นรูปแบบ และสถานภาพของเรือนเครื่องผูกในอดีตกาลได้เป็นอย่างดีทางหนึ่ง
จดหมายเหตุที่ได้บันทึกเรื่องเรือนเครื่องผูกนี้ขึ้นไว้ให้ปรากฏ ควรกล่าวถึงคราวแรกคือ จดหมายเหตุของเชวา ลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ชาวฝรั่งเศสที่ร่วมเดินทางมากับคณะทูต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชทรงแต่งตั้ง เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรียังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คราวแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๗ มีความว่า
“เมื่อเรือนมาถึงปากน้ำ ก็คํ่ามืดลง แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำใหญ่ที่สุดแม่น้ำหนึ่งในบูรพาทิศคนไทยเรียกชลธารนี้ว่า “แม่น้ำ’’ ซึ่งแปลว่า “แม่ของน้ำ” เวลานั้นน้ำทะเลกำลังไหลขึ้น เรือต้องทวนน้ำ เราจึงต้องแวะเข้าฝั่ง ได้แลเห็น เรือนขัดแตะ มุงหลังคาจากสามหรือสี่เรือน ม. วาแชร์ บอกฉันว่า ผู้ว่าราชการปากน้ำอยู่ที่หมู่บ้านนั้น”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ บาทหลวง กวีย์ ตาชาร์ด ผู้ซึ่งเดินทางร่วมมาในงบทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง ได้จดบันทึก เรือนเครื่องผูกที่เขาได้เห็นเป็นครั้งแรทที่เขาได้มาถึงเมืองไทยว่า
“ตั้งแต่บางกอกไปจนถึงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) เราพบหมู่บ้านเป็นอันมากเกือบทั่วไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ หมู่บ้านเหล่านี้ประกอบด้วยกระท่อม เป็นเรือนยกพื้นสูง เนื่องจากน้ำท่วม เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ อันเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม้ของมันนำไปใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างในประเทศนี้ ลำต้นกับกิ่งใหญ่ใช้ทำเป็นเสา กับคาน กิ่งเล็กใช้ทำหลังคาและสานทำเป็นฝาห้อง”
ชาวต่างประเทศที่เข้ามายังเมืองไทย เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้จดบันทึกเรื่องเรือนเครื่องผูกไว้ได้ถี่ถ้วน เห็นจะไม่มีใครเกิน มร. เดอ ลาลูแบร์ จดหมายเหตุของเขา พรรณนารายละเอียดของเรือนมีโดยลำดับดังนี้
“ที่อยู่อาศัยของชาวสยามนั้นเป็นเรือนหลังย่อมๆ แต่มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาลับเป็นฟากและเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก แล้วยังจักตอกขัดแตะ เป็นฝาและใช้เป็นเครื่องบนหลังคาเสร็จไปด้วยในตัว เสาตอม่อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วมก็ใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่กว่าขา และสูงจากพื้นดินราว ๑๓ ฟุต เพราะลางครั้งน้ำที่ท่วมขึ้น มาสูงถึงเท่านั้น ตอม่อแถวหนึ่งมีไม่มากกว่า ๔ หรือ ๖ ต้น แล้วก็เอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอด บันไดก็เป็นบันไดไม้ไผ่ ซึ่งทอดอยู่ข้างนอกตัวเรือนเหมือนบันไดโรงสีลม คอกสัตว์ของสยามก็อยู่กลางแจ้งและยกพื้นเหมือนกัน มีตะพานทำด้วยไม้ไผ่ฟากสำหรับสัตว์ปีนขึ้น”
ข้อความจากจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศที่ได้คัดมาแสดงโดยลำดับนี้ พอจะเป็นเครื่องชี้ส่องให้เห็นภาพของเรือนเครื่องผูกของไทยในอดีตผุดขึ้นมาอย่างกระจ่างชัดได้ พอสมควร และยังเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นต่อไปอีกว่า เรือนเครื่องผูกเป็นเคหะสถานที่อาศัยสำหรับพลเมืองทั่วไป ความข้อนี้มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทยสนับสนุนให้เห็นเป็นจริงคือ เอกสารว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยาตอนที่ พรรณนาย่านตลาดขายสินค้าต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา มีความบางตอนว่า
“ย่านฉะไกรใหญ่ ซื้อไม้ไผ่มาทำฝาเรือนหอขาย
นั่งร้านขายผ้าสุหรัด ผ้าขาวมีตลาดขายของสดเช้าเย็นตลาด ๑…
ย่านสัมพะนีตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกะเบา น้ำมันสำโรงขาย พวกหนึ่งทำฝา เรือนหอ ด้วยไม้ไผ่กรุแผงดำ ขาย….

บ้านคลองฉนู พะเนียด ตั้งโรงขายไม้ไผ่ ขายเสาน้อยใหญ่”
จากเอกสารทางฝ่ายไทยนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะปลูกเรือนเครื่องผูก นับตั้งแต่เรือนหอสำหรับอยู่ ก็จะต้องมีผู้หาเอาทัพสัมภาระสำหรับทำเรือนประเภทนี้นำมาขาย เป็นการบริการความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการ และได้ทำเป็นธุรกิจอย่างมั่นคง ดังปรากฏในเอกสารดังกล่าว
ต่อไปขอชวนให้พิจารณาด้านสถานภาพของเรือนเครื่องผูกในประวัติศาสตร์บ้าง สถานภาพของเรือนประเภทนี้ ในสายตาของคนทั่วไปมักจะมองเห็นเป็นเคหะสถานที่ไม่สู้มีความสลักสำคญสักเท่าใด เพราะเป็นเรือนที่ไม่สู้คงทน ซ้ำยังทำขึ้นด้วยวัสดุพื้นๆ แต่กระนั้นก็ตามถ้ามองสถานภาพของเรือนเครื่องผูกนี้ย้อนเข้าไปตามสายธารแห่ง ประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าสถานภาพของเรือนประเภทนี้มีความสำคัญ อย่างคาดไม่ถึง สถานภาพของเรือนเครื่องผูกมีความสำคัญอย่างไร ขอให้พิจารณาจากจดหมายเหตุของบาดหลวง เดอ ชวาสี ต่อไปนี้
“เวลาเช้า ๘ นาฬิกา เราออกจากเรือฟริเกท ลงเรือหลวงเดินทางต่อไปด้วยขบวนเดิม พอเที่ยงวันก็ถึงเรือนหลังแรกในบรรดา ๗ หลังที่สร้างไว้สำหรับรับรองท่าน อัครราชทูต ทำด้วยไม้ไผ่ทุกหลัง มีห้องพัก ห้องประชุม ห้องพักสำหรับท่านราชทูต และสำหรับพวกในงบทูต”
จากข้อความในจดหมายเหตุ จะเห็นได้ว่าเรือนเครื่องผูกนั้นเป็นเคหะสถานที่มีสถานภาพสำคัญถึงขั้นใช้เป็นที่พักรับรองราชทูตทีเดียว มิใช่เคหะสถานที่ทำต่ำทรามหรือด้อยคุณค่าเลย และเรือนประเภทนี้ดูจะไม่เป็นที่รังเกียจหรือเป็นที่ไม่น่าพึงพอใจในสายตาชาวต่างประเทศเลย มร. เดอ ลาลูแบร์ เขียนบันทึกเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า
“เป็นด้วยไม่มีเรือนที่สมควรจะให้เราพักตามริมแม่น้ำ เจ้าพนักงานจึงสร้างเรือน แบบพื้นประเทศขึ้นให้เราพัก เรือนนั้นสร้างบนเสาปูฟากและลาดด้วยเสื่อกก ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นพื้นเรือนเท่านั้น ยังเป็นพื้นเฉลียงอีกด้วย ห้องโถงและห้องในนั้นแขวนผ้ามีดอกดวง เพดานผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องนั้นลาดเสื่อกกสานรายละเอียดและเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้ลาดพื้นเฉลียง และภายในห้องนอนของเอกอัครราชทูตพิเศษนั้น ยังลาดพรมเจียมทับเสื่อกกอีกชั้นหนึ่ง ความสะอาดสะอ้านมีอยู่ทั่วไป”
การใช้เรือนเครื่องผูกปลูกด้วยไม้ไผ่เป็นเรือนรับรองราชทูตและคณะนี้ นอกเสียจากได้ทำขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยายังคงได้ปลูกขึ้นเป็นเรือนรับรอง ต่อมาอีกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเทาเซนต์ แฮรีส ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แฟรงกลิน เพียรซ์ แห่งสหรัฐอเมริกาให้เป็นทูตมาเมืองไทย นายเทาเซนต์ จดหมายเหตุเกี่ยวกับเรือนรับรองที่เจ้าพนักงานไทยทำขึ้นรับรองว่า
“ประมาณ ๖ นาฬิกา เรามาอยู่ในระยะที่มองเห็นสถานทูตโปตุเกสได้ สถานกงสุลนั้นได้ชักธงของตนขึ้นเป็นการคำนับเรา และเหนือขึ้นไปไม่ไกลนัก เราเห็นเสาธงสูงกับเรือนไม้ไผ่หลังใหม่ ซึ่งรู้ได้ว่าเป็นที่อยู่ใหม่ของเรา”
เรือนเครื่องผูกปลูกด้วยไม้ไผ่ ในทัศนะของคนไทย ยังมีสถานภาพต่างออกไปกว่าที่กล่าวมาแต่ข้างต้นนั้นอีกลักษณะหนึ่ง คือใช้เป็นเคหะสถานที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลที่ถูกทำโทษโดยปลดยศลดศักดิ์ คล้ายกันกับที่ท้าวสามลลงโทษนางรจนา ดังที่ว่า
“คิดพลางทางสั่งเสนาใน         อีรจนากูไม่ขอเห็นหน้า
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา     จะว่าเรากลับคำทำหึนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน            ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา”,
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีตัวอย่างให้เห็นการลงโทษ แก่บุคคลโดย ลดยศปลดศักดิ์ด้วยลักษณะคล้ายกันดังกล่าว มีความปรากฏตามพระราชพงศาวดารในรัชกาลนี้ว่า
“เมื่ออาสาฬมาสเข้าพระวษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยสนมราชกัลยา ออกไปนมัสการจุดเทียนพระวษา ถวายพระพุทธปฏิมากร ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์เสด็จประพาศมาหน้าพระวิหารใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นพระอาทิตย์วงศ์ ราชบุตรพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งยกออกเสียจากราชสมบัตินั้น ขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่เหนือกำแพงแก้ว ชี้พระหัตถ์ตรัสว่า อาทิตย์วงศ์องอาจมิได้ลงจากกำแพงแก้วให้ตํ่า ลดพระอาทิตย์วงศ์ลงจากยศ ให้ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ ๒ ห้อง ๒ หลังริมวัดท่าทราย ให้อาทิตย์วงศ์อยู่ให้คนอยู่ด้วย ๒ คน แต่พออยู่ตักน้ำตำข้าว”
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *