เรือนเครื่องผูกในวรรณคดี

Socail Like & Share

เรือนเครื่องผูก7
วรรณคดีไทยหลายเรื่องได้นำเอาสาระสำคัญของเรือนชนิดนี้มาเป็นส่วนประกอบเหตุการณ์ หรือเป็นส่วนเชื่อมโยงเนื้อความให้ดำเนินเรื่องไปได้ หรือเพื่อระบุตำแหน่งที่ตัวบุคคลในเรื่องปรากฏขึ้นตามเนื้อเรื่อง ฯลฯ การที่กวีหลายท่านได้เก็บเอาสาระสำคัญของเรือนเครื่องผูกนำมาร้อยประดับเข้าไว้ในบทประพันธ์แต่ละเรื่องๆ นั้น นับว่าเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีใจรักจะศึกษาความรู้ในเชิงความคิดเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนของชาวบ้านเป็นงานสถาปัตยกรรมสามัญธรรมดาเสียจนเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในสายตา และความสนใจของนักวิชาการมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงไม่สู้มีบันทึกเรื่องราวอันควรแก่ความสนใจเกี่ยวกับเรือนประเภทนี้ ดังนั้นวรรณคดีบางเรื่องจึงเป็นแหล่งที่อาจค้นได้ข้อมูลเรือนเครื่องผูกได้ค่อน ข้างดีทีเดียว
วรรณคดีที่กล่าวถึงเรือนเครื่องผูกอย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีสาระตรงต่อความเป็นจริงในด้านตัวไม้ส่วนประกอบเรือน คือ เรื่องมหาเวสสันดรชาดก มีพรรณนาเรือนของพราหมณ์ชูชกว่า
“ธุชีมิไว้ใจด้วยเคหาเก่าคร่ำคร่ำซวนโซเซ อ่อนโอ้เอ้ เอียงโอนเอน กลัวว่าจะครำเครนครืนโครมลง โย้ให้ตรงกรานไม้ยัน ค้ำจดจันจนจ้องไว้ เกลากลอนใส่ซีก ครุคระ มงจะจะจากปรุโปร่ง แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า ขึ้นหลังคาครอบจากหลบ โก้งโค้งกบกดซีกกรอบ ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่ ไม้ข้างควายแขวะเป็นรู สอดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้อย กบทูย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างๆ ฝาหน้าต่างแต่งให้มิด ล่วงหลวมปิดปกซี่ฟาก ตงรอดครากเครียดรารัด ต่อม่อขัดค้ำขึงขัง ทวารํ ปฏิสงฺขริตฺวา จักตอกมาขมวดเป็นเกลียว ผูกแน่นเหนียวหน่วงประตู ห่วงหิ้วฉวยชักชิด ปิดมือมิดไม่เห็นห่าง ใตส่กลอนกลางกลัดเหน็บแนม ลิ่มเสียดแซมซ้ำให้ชิด ไม่เคยปิดอย่าพักเปิด เท้าถีบเถิดถูกไม่ลื้น บันไดลงขึ้นขันชะเนาะ มันเหมาะเจาะจ้องจุนชาน ทำลนลานโน่นนี่เสร็จ กอบกำสะเก็ดกวาดปักแผ้ว”
วรรณคดีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องหนึ่งที่อาศัยเรือนเครื่องผูก เป็นฉากประกอบเหตุการณ์ในเรื่องมากที่สุด คือ บทละครเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จับความตั้งต้นแต่มารดาพระสังข์ ไปอาศัยยายตาอยู่ในป่าว่า
“เมื่อนั้น        พระกุมารเยี่ยมหอยแลหา
ไม่แจ้งว่าองค์พระมารดา    แฝงฝาคอยอยู่ไม่รู้กาย
สงัดเงียบผู้คนไม่พูดจา    เล็ดลอดออกมาแล้วผันผาย
นั่งที่นอนชานสำราญกาย    เก็บกรวดทรายเล่นไม่รู้ตัว
มารดาซ่อนเร้นเห็นพร้อมมูล        อุแม่เอ๋ยพ่อคุณทูนหัว
ซ่อนอยู่ในสังข์กำบังตัว        พ่อทูนหัวของแม่ประหลาดคน
ย่างเข้าในห้องทับจับได้ไม้        ก็ต่อยสังข์ให้แหลกแตกป่น
พระสังข์ตกใจดังไฟลน            จะหนีเข้าหอยตนก็จนใจ”
ต่อมาก็ถึงตอนที่ท้าวสามล ขับนางรจนา ให้ไปอยู่เสียที่กระท่อมปลายนา ความว่า
“คิดพลางทางสั่งเสนาใน    อีรจนากูไม่ขอเห็นมัน
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา    จะว่าเรากลับคำทำหุนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน            ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา
บัดนั้น                เสนีมี่ฉาวเรียกบ่าวไพร่
ต่างถือมีดพร้าแล้วคลาไคล        ตรงไปปลายนานอกธานี
ครั้นถึงจึ่งเที่ยวเกี่ยวแฝก    ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงมี่
บ้างกล่อมเสาเกลาฟากมากมี    ปลูกกระท่อมลงที่ท้องนา
แล้วปัดปูเสื่อฟูกผูกมุ้งม่าน        หม้อข้างเชิงกรานตุ่มน้ำท่า
ทั้งลูกผักฟักแฟงแตงกวา        จอบเสียมมีดพร้าหาพร้อมไว้”
ครั้นนางรจนาออกเมืองมาถึงปลายนา พอเห็นกระท่อม เป็นครั้งแรกในชีวิต นางก็บรรยายว่า
“ครั้นถึงกระท่อมทับทีอยู่    แลดูสมเพชเป็นนักหนา
ไม่เคยเห็นเช่นนี้แต่เกิดมา        ก็โศกาทรุดนั่งอยู่นอกชาน”
ส่วนพระสังข์ทองนั้นไม่สู้กระไร     เพราะเคยอยู่และเติบโตมาในกระท่อมมาก่อนจึง
‘‘ว่าพลางทางถอดเงาะเสีย    เอาซ่อนเมียวางไว้ในห้อง
รูปทรงโสภาดั่งทาทอง            ค่อยย่องมานั่งข้างหลังนาง
เมื่อนั้น                พระสังข์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี
เชยชมสมสวาทด้วยเทวี        ในที่กระท่อมทับลับแลง”
และตอนที่พรรณนาลักษณะของห้องหับภายในกระท่อม หรือเรือนเครื่องผูกอย่างถี่ถ้วน ก็คือตอนที่นางรจนาลักเอาหัวเงาะไปเผาไฟ มีความที่เป็นสาระสำคัญโดยลำดับต่อไปนี้
เมื่อนั้น                รจนานารีศรีใส
คิดจะลักรูปเงาะภูวไนย        นางมิได้สนิทนิทรา

เห็นพระหลับไหลไม่ไหวองค์        โฉมยงยินดีเป็นหนักหนา
ค่อยขยายยกหัตถ์ภัสดา        ขยับตัวออกมาเอาหมอนรอง
ฟากลั่นเกรียบเกรียบเหยียบย่าง    มืดไม่เห็นทางคลำล่อง
ลุกขึ้นลดเลี้ยวเที่ยวมอง        หาเงาะในห้องกระท่อมทับ
ครั้นเห็นหิ้วหัวมาครัวไฟ    ฉวยพร้าโต้ใหญ่เข้าเสี่ยงลับ
ฟันซ้ำร่ำไปมิได้นับ            รูปเงาะไม่ยับยิ่งขัดใจ”
โดยความที่คัดมาแสดงเป็นลำดับนี้จะเห็นได้ว่า บทละครเรื่องสังข์ทอง ได้บันทึกความรู้เรื่องเรือนเครื่องผูกไว้มิใช่น้อย
ยังมีบทละครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เรื่องหนึ่งที่ให้รายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกไว้เป็นอย่างดี คือ บทละครเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรัพย์) มีความแสดงเครื่องประกอบเรือนเครื่องผูกโดยลำดับต่อไปนี้
ล่องแมว
“พอดึกดึกสักหน่อยนะน้องแก้ว    พี่จะรอด ล่องแมว ขึ้นไปหา”
“เห็นทีท้าวประดู่ผู้ผัว            จะนอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง
แต่โฉมศรีนิรมลอยู่บนปรางค์        กูจะขึ้นหานางทาง ล่องแมว”
“แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจุด    นอนนิ่งกลิ้งทูตอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง        ครางกระหึ่มครึ้มก้องบนกบทู”
ฟาก
“ผลักมาผลักไปอยู่เป็นครู่         จะเข้าไปในประตูให้จงได้
กระทึบฟากโครมครามความแค้นใจ     อึกทึกทั่วไปในพารา”
บันไดเข็น
“เมื่อนั้น                    โฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชาน        ยกเชิงกรานสุมไปใส่ฟืนตอง”
ตง
“ครั้นถึงจึงขึ้นบนตำหนัก         ตงหักกลัวจะตกงกเงิ่น
ค่อยพยุงจูงนางย่างดำเนิน             ชวนเชิญโฉมเฉลาเข้าที่นอนหลังคาพาไล
“อัศจรรย์ลั่นพิลึกกึกก้อง         ฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่
เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไป        หลังคาพาไลแทบเปิดเปิง
นอกชาน
‘‘ครั้นถึงจึงขึ้นบน นอกชาน        เห็นทวารบานปิดคิดสงสัย”
“เมื่อนั้น                    นางทวายยิ่งพิโรธโกรธขึ้ง
ยืนกระทืบ นอกชาน อยู่ตึง            หวงหึงด่าว่าท้าทาย”
ครัวไฟ
“ว่าพลางทางคว้าได้พร้าโต้        ดุด่าตาโตเท่ากำปั้น
ผลักประตู ครัวไฟ เข้าไปพลัน        นางประแตะยืนยันลั่นกลอนไว้”
สาระสำคัญของเรือนเครื่องผูกที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยยังพอจะมีอยู่อีกบ้างในเรื่องอื่นๆ แต่ไม่สู้ชัดเจนเท่าที่ปรากฏในเรื่องดังกล่าวมานี้ จึงจะยุติเรือนเครื่องผูกในวรรณคดีไว้แต่เพียงนี้
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *