ประวัติของพระคเณศ

Socail Like & Share

พระคเณศ

คเณศ, พระ
“คเณศาย นมะ” ขอนบแด่พระคเณศ
“หฺริ โอม ศรีคณปตาย นมะ” หริ โอม ข้าพเจ้าขอนบพระคณบดีผู้มีศรี
ครับ ผมขอขึ้นต้นเพื่อให้เกิดความขลัง สมกับนามพระคเณศผู้เป็นเทพแห่งศิลปวิทยา และเทพแห่งอุปสรรคทั้งปวง เพื่อดลให้ผมเขียนเรื่องนี้ได้จนจบ

ชาวฮินดูจะกล่าวคำไหว้พระคเณศอย่างข้างต้นเมื่อจะแต่งหรือเรียนหนังสือ โดยเฉพาะวรรณคดีของอินเดีย มักจะไหว้พระคเณศด้วยโศลกบทแรก เพราะพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะและความขัดข้องนั่นเอง

ไทยเราวรรณคดีจำพวกคำฉันท์ซึ่งถือกันว่าจะต้องเริ่มด้วยบทไหว้ครูหรือบทประณามพจน์ ในชั้นหลังจะต้องไหว้พระคเณศด้วย เช่น

โอมบังคมพระคเณศเทวะศิวบุตร
ฆ่าพิฆนะสิ้นสุด        ประลัย
อ้างามกายะพะพรายประหนึ่งระวิอุทัย
ก้องโกญจนาทให้     สหรรษื
เป็นเจ้าสิปปะประสิทธิ์วิวิธวรรณ
วิทยาวิเศษสรร-        พะสอน
ยามข้ากอบกรณีย์พิธีมยะบวร
จงโปรดประทานพร    ประสาท
(มัทธะพารา พระราชนิพนธ์ ร. ๖)

พระคเณศเป็นเทพอีกองค์หนึ่งที่เรารู้จักกันดีและเห็นบ่อยๆ ก็ที่หน้าปกหนังสือที่ผลิตจากกรมศิลปากรนั่นแหละครับ ตรานี้ใช้กันเมื่อครั้งมีวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ครับ และใช้กันมาจนทุกวันนี้ก่อนหน้ารัชกาลที่ ๖ คือในรัชกาลที่ ๕ มีโบราณคดีสโมสร หนังสือที่ผลิตออกมาจากสโมสรที่ว่านี้เป็นตราเหมือนกัน เรียกกันว่า มังกรคาบแก้ว อย่างที่เราเห็นจากหน้าปกหนังสือเก่าๆ ละครับ กรมศิลปากร ในปัจจุบันก็ใช้รูปพระคเณศเป็นดวงตราประจำกรม มีวงกลมล้อมรูปพระคเณศอยู่ ๗ วง วง ๗ วงนี้มีความหมายนะครับ ไม่ใช่ทำเล่นโก้ๆ หรอกจะบอกให้ ท่านหมายถึงแก้วเจ็ดดวง แล้วแก้วนี่แหละครับมีความหมายซ่อนอีก คือหมายถึงศิลปะเจ็ดอย่าง ได้แก่ ช่างปั้น จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วาทศิลป์ สถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์

เถอะน่า แม้เรารู้จักเทพองค์นี้ดี แต่เรื่องราวอัตชีวประวัติของท่านซิครับสับสนยุ่งยากเหลือเกิน (เขียน) ละ ที่จะเอากันเผงๆ ก็คือท่านมีพระวรกายเป็นคน มีเศียรเป็นช้าง ทรงมุสิกะ (หนู) เป็นพาหนะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ของท่านสับสนชวนปวดเฮดทั้งนั้น อันที่จริงพระคเณศท่านมีเศียรเป็นช้างก็แสดงว่าต้องใหญ่โตไม่ใช่เล่นแล้วไงถึงเกณฑ์ให้ท่านขี่หนูก็ไม่รู้ หนูจะสู้น้ำหนักไหวหรือ จะหาพาหนะอะไรที่โตๆ ให้ท่านก็ไม่ได้ นี่แหละหนา เรื่องราวของท่านจึงพิลึกพิลั่น

เอาแค่เรื่องเกิดแล้วก็มีหัวเป็นช้างก็สนุกเหลือรับประทานแล้ว

พระบิดามารดาของพระคเณศไม่สับสน คือพระอิศวรกับพระอุมาแน่นอน แต่จะร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ก็ยังงงๆ อยู่ละครับ

ผมเล่าเรื่องกำเนิดของพระคเณศก่อนนะ แต่บอกก่อนมีหลายกระแสนัก ผมจะพยายามเล่าเป็นเกร็ดๆ หรือเป็นหัวข้อ ผู้อ่านจะได้ไม่สับสน ไม่ให้ท่านปวดหมองอย่างที่ผมกำลังเป็นอยู่นี่หรอก

ท่านว่า (ท่านในที่นี้ก็คือพราหมณ์นั่นแหละ ศาสนาฮินดูไม่มีศาสดาองค์เดียวอย่างศาสนาอื่นๆ แล้วก็ไม่มีการสังคายนาด้วย เรื่องของเรื่องจึงถึงได้มีเรื่องหลายเรื่องและเป็นเรื่องๆ) อันว่าพระอิศวรกับพระอุมาก็อยู่ด้วยกันหลายปี แต่ไม่มีโอรส พระอิศวรจึงแนะนำให้พระน้องนางอุมาทำพิธีบูชาพระนารายณ์ (นั่นแน่ ตอนนี้แสดงว่าพระนารายณ์ใหญ่กว่าพระอิศวรซิครับ เรื่องนี้ค่อยเล่าถึงเรื่องเทพองค์นั้นๆ เถิด แม้แต่คำว่า “โอม” ในตอนต้นที่ผมยกมาก็น่าเล่าเหมือนกัน) อันที่จริงผมก็แปลกใจแฮะ เพราะพระอิศวรประทานพรคนเก่งจะตาย จะประทานพรให้พระอุมามีลูกไปก็หมดเรื่องกัน แต่กลับให้ทำพิธีบูชาพระนารายณ์ การบูชานั้นต้องเริ่มทำวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ เรื่อยไปจนกว่าจะครบ ๑ ปี พระอุมาก็ทำจนเกือบๆ จะท้อก็พอดีมีเสียงจากไหนก็ไม่รู้แว่วมาในอากาศว่า จงกลับเข้าไปเถิด แล้วจะพบโอรส พระอุมาก็ได้พระกุมารจริง ๆ พระกุมารนี่อันที่จริงพระกฤษณะลงไปเกิดเป็นพระโอรส พระอุมาก็ไม่ต้องตั้งครรภ์ให้เหนื่อยยากอะไรเลย ได้พระกุมารสมใจ เรื่องของเทวดาก็ต้องเป็นอย่างงี้แหละ อย่าสงสัยไปเลย ผมถึงว่าจะเป็นโอรสของพระอิศวรกับพระอุมาร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มจริงหรือเปล่าไงล่ะครับ

เมื่อพระอิศวรกับพระอุมาได้โอรสทั้งที ก็ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่เป็นที่แตกตื่นบนสวรรค์ละครับ บรรดาทวยเทพต่างก็เหาะเหินมาแสดงความยินดี หนึ่งในบรรดาทวยเทพนั้นมีพระศนิ (พระเสาร์) อยู่ด้วย เทพองค์นี้ไม่กล้ามองดูพระกุมารหรอก เอาแต่ก้มหน้าท่าเดียว พระอุมาหรืออีกนามหนึ่งว่าพระบารพตีแปลกใจ จึงได้ถามว่า ไหงไม่ชื่นชมพระกุมารบ้าง พระเสาร์อึกอักพูดไม่ออกอยู่พักหนึ่ง แล้วก็จำใจเล่าเรื่องความกลัวเมียของท่านเองให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งตัวมัวเพลินภาวนา รำลึกถึงองค์พระวิษณุ(นารายณ์) เสียเพลิน จนละเลยหน้าที่สามีที่ดีที่จะคอยปรนนิบัติภรรยา ภรรยาของท่านเลยสาปเข้าให้ว่า ถ้าพระเสาร์ไปมองใคร ก็ให้ผู้นั้นถึงแก่ความวิบัติ (แหม ผมนึกแล้วอดหัวเราะไม่ได้ เพราะช่างเหมือนบรรดาพลพรรค ต่วย’ตูน จริงๆ….แฮะ พับผ่าซิเอ้า นี่ถ้าเหล่าเมียๆ ของใครเก่งเหมือนเทวนารีแขก ไม่ใครก็ใครคงโดนเข้าให้บ้างละ คุณต่วยของผมคงโดนก่อนเพื่อน แต่คำสาปคงจำกัดเฉพาะห้ามมองผู้หญิงเท่านั้น) พระเสาร์บ่นออดๆ ว่าไม่กล้ามองใครหรอก กลัวผู้นั้นจะพินาศ พระอุมาได้ฟังกลับไม่ยอมเชื่อ เพราะถือคติว่าสิ่งใดพึงจะเกิด สิ่งนั้นก็ต้องเกิด (แน่ะ ถือคติเหมือนคุณสัญญาเปี๊ยบเลย What ever will be will be) พระอุมาจึงอนุญาตให้มอง พระเสาร์ให้พระยมเป็นพยานว่าได้รับอนุญาตแล้วนะ แล้วก็มองพระกุมาร ทันใดนั้นเศียรพระกุมารก็กระเด็นไปแหล่งเดิม คือเศียรพระกฤษณะที่แบ่งภาคมาเกิด (พระกฤษณะนี่ก็เป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์) เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็เกิดการโศกาจาบัลย์กันยกใหญ่ ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องทรงครุฑไปยังแม่น้ำบุษปภัทร เห็นช้างตัวหนึ่งนอนหลับหันหัวไปทางทิศเหนือ (บางตำนานช้างตัวนี้มีงาข้างเดียวแต่แรกเลย ตอนนี้จำไว้หน่อยนะครับ ช้างนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ) พระนารายณ์ก็ตัดหัวช้างมาต่อพระกุมาร พระกุมารหรือพระคเณศจึงมีหัวเป็นช้าง ส่วนเทพที่ซวยที่สุดและนับเป็นตัว(องค์) การก็คือพระเสาร์ ถูกเมียสาปยังไม่พอ คราวนี้ถูกพระอุมาสาปให้เดินขาเป๋เข้าไปอีก พระเสาร์คงจะต้องรำพึงว่าตูหนอตู อุตส่าห์บอกแล้วเชียวนา ว่ากลัวเมียๆ ก็ยังไม่เชื่อ ให้พระยมเป็นพยานก็แล้ว  ก็ไม่เชื่ออีก จะให้ตูขาเป๋ไปนานสักเท่าใดหนอ

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกตำนานหนึ่ง ท่านว่าพระอิศวรชอบเข้าไปหาพระอุมาตอนกำลังอาบน้ำ โดยไม่รู้ล่วงหน้า (เทพก็เทพเถอะ เหมือนคนเหมือนกันนิ) พระอุมาก็อายเป็นเหมือนกันนี่นา ถึงแม้จะสามีภรรยากันก็เถอะ พระอุมาจึงเอาไคลขมิ้นที่ทาพระกายมาปั้น และเนรมิตเป็นชายรูปงามสำหรับเฝ้าประตู นี่ก็นับว่าเป็นลูกพระอุมาข้างเดียว ไม่เกี่ยวกับพระอิศวร วันหนึ่งพระอิศาวรเสด็จมาในเวลาที่ว่านั้นตามเคยชายเนรมิตไม่ยอมให้เข้าไป เรื่องก็ต้องรบกันเท่านั้น นัยว่าแม้ทวยเทพและพระนารายณ์มาช่วยพระอิศวร ก็ยังสู้ชายเนรมิตนั้นไม่ได้ พระอิศวรยังถูกหวายเฆี่ยนเป็นการสั่งสอนเสียหลายขวับ พระนารายณ์จึงต้องใช้อุบายเนรมิตรเป็นหญิงงาม ชายหนุ่มเนรมิตนั้นก็ตะลึงงันไปเท่านั้น จ้องเสียเพลิน พระนารายณ์ได้ทีก็ตัดหัวฉับเข้าให้ เป็นเหตุให้พระอุมาฉุนโกรธ พระอิศวรเกรงใจภรรยาใช้ให้เทพไปตัดหัวสัตว์ที่นอนทางทิศเหนือมา ในที่สุดก็ได้หัวช้างมาต่อ ชายรูปงามที่กลายเป็นไม่งามนี่แหละคือพระคเณศ ละ

ตอนรบกันนี่ก็ฝอยย่อยไปอีก เป็นทำนองว่าพระอุมาให้นางฟ้ามาช่วยรบ พระอิศวรทำแกล้งแพ้ นางฟ้าเลยไป พระอิศวรจึงตัดเศียรพระคเณศได้ ต้องเอาหัวช้างมาต่อ บางตำนานว่าพระอิศวรลืมไปว่าเศียรพระคเณศเดิมน่ะเป็นอย่างไร เลยตัดหัวช้างมาต่อเรียกว่าตัดส่งเดช เรื่องก็ต้องปล่อยเลยตามเลย

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกนั่นแหละ ท่านเอาไปปนกับพระขันธกุมาร โดยเหมาเอาว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน แต่เรื่องนี้ท่านผู้รู้จริงยืนยันว่าไม่ใช่หรอก พระคเณศเป็นลูกคนหัวปีนะ พระขันธกุมารองค์ชายสอง

แต่ตอนหัวขาดนี่ ก็ต้องเล่ากันหน่อยละ คือ ตอนทำพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระคเณศ ซึ่งตอนนี้แหละบางตำนานว่าเดิมคือพระขันธกุมาร บรรดาทวยเทพก็มากันพร้อม ขาดแต่พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมเพลินอยู่เหนืออนันตนาคราชในเกษียรสมุทรโน่น พระอิศวรมีเทวบัญชาในพระอินทร์เอาสังข์ไปเป่าปลุก พระอินทร์ก็ไปเป่าสังข์ จนพระนารายณ์ทรงตื่น ครั้นทรงทราบเรื่องราวก็พลั้งปากไปว่า “ลูกหัวหาย ข้าจะนอนให้สบายหน่อยก็ไม่ได้” เท่านั้นละครับ ด้วยเดชแห่งพระวาจา พระกุมารหัวก็ขาดไปทันที เรื่องก็เป็นว่าพระวิษณุกรรมต้องไปหาหัวคนที่ตายในวันนั้นมาต่อให้ได้ แต่แปลกแฮะวันนั้นไม่มีคนตายเลย พระวิษณุกรรมเห็นช้างตัวหนึ่งนอนทางทิศตะวันตก (คราวนี้ทิศตะวันตกนะครับ ผิดกับตอนต้นที่เป็นทิศเหนือ) ก็เลยตัดหัวช้างมาต่อให้ แล้วพระขันธกุมารก็เป็นพระคเณศ อย่างที่บอกไว้แล้วว่าสับสนปนกัน แต่อย่าไปเชื่อนะ พระคเณศไม่ใช่องค์เดียวกับพระขันธกุมาร บางตำนานก็ว่าพระคเณศเป็นโอรสของพระอิศวรแต่ลำพังไม่เกี่ยวกับพระอุมา ท่านเล่าว่า พระอิศวรเคยประทานพรมนุษย์ในเมืองอินเดียว่า ถ้าใครหมั่นบูชาพระอิศวร ณ เทวาลัยโสมนาถ ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ มนุษย์ก็เลยได้ไปสวรรค์กันเยอะ เทวดาต่างก็กลัวว่าจะไม่มีที่อยู่ เลยเดินขบวนไปฟ้องพระอิศวร พระอิศวรก็ต้องตกภาวะจำยอมหาทางแก้ โดยประทับเข้าญาณทันใดนั้นก็เกิดบุรุษรูปงามขึ้น พระอุมารู้เรื่องซึ่งที่จริงน่าจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่พระอุมาก็โกรธพาลหาเรื่องว่าพระอิศวรสร้างพระโอรสโดยลำพัง ไม่ให้พระนางมีส่วนร่วมด้วย ก็เลยสาปชายงามนั้นให้มีหัวเป็นช้าง และท้องพลุ้ย พระอิศวรท่านก็เกรงใจภรรยาเป็นเหมือนกัน ยอมรับคำสาปนั้นโดยไม่ต่อปากคำและได้ให้นามชายหัวช้างนั้นว่า คเณศ และวิฆเนศ (วิฆนะ แปลว่า อุปสรรค, ความขัดข้อง) แล้วก็ให้เป็นเทพแห่งอุปสรรค ให้ได้รับการบูชาจากมนุษย์ก่อนเทพองค์อื่นๆ ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในความปรารถนาของมนุษย์ขึ้นอยู่กับพระคเณศ

ตอนนี้ก็สนุกอีก บางตำนานก็ว่าพระอิศวรทรงเขินในเรื่องประทานพรให้มนุษย์แล้ว จึงแนะนำเทวดาให้ไปหาพระอุมา พระอุมาก็ลูบกายเบาๆ ก็เกิดเป็นบุรุษสี่กรหัวเป็นช้างให้ไปคอยขัดขวางมนุษย์ที่จะหาทางเรียนลัดขึ้นสวรรค์ โดยเอาผู้หญิงและทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องล่อให้เกิดกิเลศ แหม แปลกตรงที่ว่าเทวดาก็กลัวจะไม่มีที่อยู่เหมือนมนุษย์งั้นแหละ

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกปุราณะหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นโอรสของทั้งสองพระองค์เลยเชียว ไม่ใช่องค์ใดองค์หนึ่งสร้างเอาเองตามลำพัง ตามตำนานน่ะกล่าวว่าพระอิศวรเป็นผู้เล่าให้พระคเณศผู้เป็นบุตรฟังเลย เรื่องเข้าทำนองว่า “ครั้งหนึ่ง เราพร้อมบารพตีไปสู่ป่าแถวหิมาลัยบรรพต เพื่อความสำราญ ขณะนั้นได้เป็นนางช้างสมสู่อยู่ด้วยช้างพลาย เราทั้งสองก็เกิดความใคร่ เราจึงแปลงเป็นช้างพลาย ส่วนบารพตีแปลงเป็นช้างพังและร่วมสโมสรตามความพอใจ จึงได้เกิดตัวเจ้ามา เศียรของเจ้าจึงได้เป็นเศียรช้าง”

เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องแตกกอกันไป เพราะลัทธิพราหมณ์เป็นลัทธิที่เก่าแก่มานาน และแตกเป็นหลายคัมภีร์ สุดแต่ใครจะนับถือเรื่องใดและเทพองค์ใด

เรื่องหัวเป็นช้างนี่ยังแปลกไปอีก มีคติพุทธศาสนาเข้าไปปนด้วย คือท่านว่าตอนต่อศีรษะช้างอย่างที่เล่าในตอนต้นโน้นนั้น ศีรษะไม่เชื่อมกันสนิท ต้องให้พระวิษณุกรรมลงไปเมืองมนุษย์ อาราธนาพระคิริมานนท์อรหันต์ มาสวดพระคาถา ศีรษะจึงได้เชื่อมกันสนิทคืนชีพขึ้นมา

ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือตอนทำพิธีโสกันต์พระกุมารหรือพระคเณศอย่างที่เล่าไว้แล้วน่ะ พระอิศวรตรัสให้เทวดาโหรหาฤกษ์ แต่พระราหูทูลว่า เวลาโสกันต์จะเกิดเหตุขอให้นิมนต์พระพุทธเจ้าขึ้นไปบนสวรรค์ ประทับเป็นมงคล เจริญพระพุทธมนต์ พระอิศวรกริ้ว ตรัสว่า “เราก็เป็นจอมมิ่งโมลีสุราลัย จะนิมนต์พระพุทธเจ้ามาไยไม่ต้องการ” แล้วพระอิศวรก็เชิญเทวดามาทั้งหมด แล้วลืมเชิญพระอังคารเข้า พระอังคารเลยน้อยใจจนกลายเป็นโกรธ กำบังตนเข้าในโรงพิธี ลอบตัดศีรษะพระกุมารไปโยนทิ้งในทะเล เรื่องก็เป็นว่าพระวิษณุกรรมต้องไปเอาหัวช้างมาต่อ และนิมนต์พระพุทธเจ้าขึ้นไปสวดจึงต่อเศียรกันได้สนิท พระอิศวรก็เลยทรงนับถือพระพุทธเจ้าตั้งแต่บัดนั้นมา

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกแยะครับ ผมเล่าเพียงเท่านี้ท่านผู้อ่านก็คงจะนึกว่าเอ แล้วจะเชื่อเรื่องไหนดี ถ้าว่ากันตามวิชาการก็อธิบายกันยืดละครับ เอาเป็นว่าลัทธิพราหมณ์ ท่านเป็นลัทธิที่ดีที่สุด ใครจะเชื่อหรือนับถือเรื่องใดท่านไม่ว่าทั้งนั้น ขอแต่ให้เชื่อจริงๆ เท่านั้นแหละ

ผมขออนุญาตแวะตรงช้างเจ้ากรรมที่ถูกตัดหัวนอนทิศไหนกันแน่ดีกว่า เพราะเป็นเกร็ดน่ารู้ดีออก ตำนานที่เล่าน่ะบางแห่งก็ว่าช้างนอนเอาหัวไปทางทิศเหนือ บางแห่งก็ว่าเอาหัวไปทางทิศตะวันตก ตรงนี้เราก็จับความได้ว่า การนอนเอาหัวไปทางทิศเหนือหรือไม่ก็ทิศตะวันตกเป็นของไม่ดี  แต่ตามคติของอินเดียโบราณ นะ ถือว่าทิศเหนือเป็นทิศหลายตีน (ต้องเอาตีนไปทางทิศนี้ ว่างั้นเถอะ) ส่วนทิศใต้เป็นทิศหัวนอนซึ่งก็ตรงกันกับความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง

“เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน…..”

“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏิพิหาร…..”

ความในศิลาจารึกน่ะ เบื้องตีนนอนหมายถึงทิศเหนือ หัวนอนหมายถึงทิศใต้ แม้ภาษาจะเก๋ากึ๊กอย่างงี้ก็ตามภาษาปักษ์ใต้ก็ยังใช้พูดกันอยู่ทุกวันนี้ครับ แต่แปลกแฮะ ความเชื่อของเราโดยเฉพาะภาคกลางอาจจะภาคอื่นด้วยก็ได้ เชื่อว่านอนเอาหัวไปทางทิศตะวันตกไม่ดี ทั้งนี้เป็นเพราะคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือว่าทิศตะวันตกเป็นทางไปสวรรค์แดนสุขาวดี เมื่อคนตายก็จะหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จะได้ไปสวรรค์โดยสบาย แต่ถ้ายังเป็นๆ อยู่ถึงแม้อยากจะไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตาย เราจึงไม่นอนเอาหัวไปทางทิศตะวันตก(และทิศใต้ด้วย) ฉะนั้นก็พอจะเดาได้ว่า เรื่องตัดหัวช้างที่นอนทางทิศไหนน่ะ ของเดิมคงเป็นทิศเหนือ ตกเข้ามาเมืองไทยกลายเป็นทิศตะวันตกให้เรื่องเป็นบรรยากาศไทยๆ ว่างั้นเถอะ

เรื่องพุงพลุ้ยของพระคเณศก็เหมือนกัน มีเรื่องเล่าออกจะน่ารู้อีกเหมือนกัน ท่านว่าพระคเณศชอบเสวยขนมโมทก (ขนมต้ม) ครั้งหนึ่งเสวยจนพุงกาง แล้วก็ทรงหนูไปในเวลาราตรีกาล หนูพบงู หนูตกใจหลบวูบ พระคเณศเลยตกจากหลังหนูทำให้ท้องแตก ขนมต้มทะลักออกมาหมด พระคเณศรีบโกยใส่พุงแล้วก็ฆ่างูตัวนั้น เอางูมารัดท้องเสียเลย รูปพระคเณศจึงมีงูรัดเอวคล้ายเข็มขัด แต่นั่นแหละครับ เรื่องพุงพลุ้ยนี้ก็มีนักปราชญ์กล่าวว่า พระคเณศท่านเป็นเทพแห่งสรรวิชาทั้งปวง ท่านคงจะบรรจุวิชานั้นไว้ในพุงแบบเดียวกับชาดกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงสัจกนิครนถ์เที่ยวโม้ว่าความรู้ของตนอยู่ในพุง ต้องเอาเหล็กพืดรัดพุงไว้ กลัวความรู้จะไหลหลั่งออกมา

ต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องพระคเณศเสียงาไปกิ่งหนึ่งละครับ ท่านว่าเป็นเพราะปรศุราม ซึ่งเป็นพระนารายณ์อวตารปางหนึ่ง วันหนึ่งปรศุรามจะเข้าเฝ้าพระอิศวร พระคเณศเป็นนายทวารไม่ยอมให้เข้าเฝ้าเพราะเห็นว่าพระอิศวรบรรทมอยู่ ปรศุรามไม่ยอม เกิดวิวาทจนกลายเป็นรบกัน ตอนแรกพระคเณศเอางวงรัดปรศุรามแล้วปั่นให้หมุน ปรศุรามเวียนหัวจนสลบไปครั้นฟื้นขึ้นมาปรศุรามฉุนโกรธ เอาขวานขว้างไปทันที พระคเณสเห็นขวานก็ทราบว่าเป็นอาวุธของพระศิวะที่ประทานให้ปรศุราม ความที่เคารพพ่อจึงไม่คิดต่อสู้

“ยอมหัวคอยอยู่หร้อ        รอมรับ
ปรศุรามขว้างฉับ            ฉาดต้อง
งาซ้ายมลายยับ            เยินย่อย
ขวานร่อนกระด่อนก้อง    กึงก้องโรงธาร”
(โคลงพระคเณศเสียงา)

แปลว่าพระคเณศก็เสียงาข้างซ้ายไป เหลือแต่งาข้างขวากิ่งเดียว (เรื่องงาซ้าย งาขวาก็ออกจะยุ่งๆ อีกละครับ) พระคเณศจึงได้นามกรตอนนี้ว่า เอกทนต์ แปลว่า งาช้างข้างเดียว และก็ถืองาที่หักนั้นเป็นอาวุธประจำองค์เสียเลย

แต่ก็มีเรื่องเกร็ดอีกแหละครับ คือมีเรื่องว่าอสูรตนหนึ่งชื่อคชมุขาสูร มีหน้าเป็นช้าง ก็ชื่อก็ประจานตัวเองอยู่แล้ว อสูรตนนี้มีความประพฤติไม่ค่อยจะเรียบร้อยนัก แต่เก่งชมัด เทวดาสู้ก็แพ้ พระคเณศต้องไปปราบ สู้กันหลายเพลง อสูรได้ท่าจับงาข้างขวา (คราวนี้เป็นข้างขวาแล้วนะครับ) หักออก พระคเณศโดดเข้าชิงงาข้างนั้นมาได้แล้วเอางาขว้างไปที่อสูรตนนั้นเลยกลายเป็นหนู พระคเณศก็ใช้หนูตัวนี้เป็นพาหนะไป (เห็นไหมครับ แม้แต่หนูของพระคเณศก็มีภูมิหลังอยู่เหมือนกัน ผมเล่าไม่เว้นละ) ส่วนงาก็เป็นอาวุธอย่างที่ว่าไว้แล้ว

เรื่องพระคเณศเสียงานี้ รูปปั้นพระคเณศในอินเดียส่วนมากทำงาข้างขวาหัก แต่ที่ทำงาข้างซ้ายหักก็มีอยู่บ้างแต่น้อย ผมแทรกวรรณคดีหน่อยละครับ แต่ไม่บอกหรอกว่างาข้างไหนคงอยู่ ก็ในเรื่องพระคเณศเสียงา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ มีดังนี้

“แถลงเรื่องพระคเณศวิเศษศักดิ์    ถูกพระจอมไตรจักรมหาศาล
เรืองอิทธิฤทธิไกรวิชัยชาญ          ชำนิชำนาญเจนจิตวิทยา
เศียรเธอเป็นเศียรกะรีสีแดงชาด    แสนประหลาดน่าดูเป็นนักหนา
แต่เยาวัยเธอไซร้ได้เสียงา            เพราะแกล้วกล้าสามิภักดิ์พระปิตุรงค์
ด้วยรามปรศุรามาไกรลาศ            จะเฝ้าพระปิตุราชดังประสงค์
จะเข้าไปในวิมานบรรยงก์             พระคชพักตร์จึงตรงเข้าห้ามปราม
จึงได้โกรธขึ้งถึงวิวาท                  ต่างคนต่างอาจไม่เกรงขาม
พระคณาธิบดีเสียทีพราหมณ์        ปรศุรามขว้างขวานไปรานรอน
คเณศเห็นขวานเพชรระเห็ดมา      ก็รู้ว่าพระบิดามหิศร
ประทานพราหมณ์รามรงค์ให้คงกร จะสู้ขวานพระบิดรไม่ควรกัน
จึงก้มเศียรคอยรับให้มั่นเหมาะ       ขวานจำเพาะถูกงาข้างหนึ่งสะบั้น
แต่คงงาข้างเดียวแต่ปางนั้น          เลยมีนามว่าเอกทันต์บันลือแรง
กายาเธอจ้ำม่ำและล่ำสัน              ผิวโรหิตะพรรณกั่นกำแหง
ทรงเครื่องเรืองรามอร่ามแดง         แสงกายจับแสงวราภรณ์
เป็นใหญ่ในปวงวิทยา                  สง่าทรงซึ่งวินัยสโมสร
เนืองนิตย์ประสิทธิ์ประสาทพร      สถาวรสวัสดิ์วัฒนา
ชนใดหวังข้ามอุปสรรค               พึงพำนักพิฆเนศนาถา
สำเร็จเสร็จสมดังจินดา               พระองค์พาข้ามพิฆนะจัญไร”

ตอนนี้ก็เห็นจะสรุปพรรณาพระวรกายของพระคเณศโดยทั่วๆ ไปได้แล้วนะครับ พระคเณศเป็นร่างเหมือนคน มีเศียรเป็นช้าง มีงาเดียว ส่วนมากจะเป็นงาข้างซ้าย เตี้ย พุงพลุ้ย หูยาน สีกายแดง (บางทีสีก็ออกเป็นเหลืองแดง หรือไม่ก็เหลืองขาวได้เหมือนกัน) ทรงหนูเป็นพาหนะ ตามปกติมี ๔ กร แต่ก็ไม่แน่อีกนั่นแหละ บางตำนานก็ว่ามี ๒ หรือ ๖ หรือ ๘ ก็มี ส่วนกรต่างๆ นั้นทรงถืออะไรบ้างก็เอาแน่ไม่ได้อีก บ้างก็ว่า ถือขอช้าง บ่วงบาศก์ งาที่หักและขนมต้ม บางแห่งก็ว่าถืออะไรมากมาย เช่น ชาม ขนมต้ม หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู ลูกธนู คทา ขวาน ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจารและสมุดหนังสือ บ้างก็ว่ามี ๔ กร โดยถือบ่วงบาศก์ ขอช้าง ฆ้อนเหล็ก และก้อนเหล็กแดง และยังมีเกร็ดเล่าว่าถืออะไรต่อมิอะไรอีกผมขี้เกียจจำแล้วละครับ

แต่เกร็ดน่ารู้ก็คือที่ถือเหล็กจารและสมุดหนังสือนี่แหละ เพราะมีประวัติภูมิหลังน่ารู้ออก มีเรื่องเล่า พระวาลมิกิฤษีผู้แต่งคัมภีร์รามายณะ (ก็รามเกียรติ์ของเราละครับ) พบกับพระวยาสฤษีผู้แต่งคัมภีร์มหาภารตะ คัมภีร์ทั้งสองนี้สำคัญมากครับ คือกันว่าเป็นมหากาพย์ โดยเฉพาะมหากาพย์ภารตะสำคัญและขาวที่สุดเชียวละ ทีนี้เมื่อพบกันก็ต้องถามถึงเรื่องงานเรื่องการกันบ้างละ วาลมิกิปราศรัยว่าแต่งเสร็จหรือยังวยาสฤษีก็บอกว่าเสร็จแล้ว ทำไมเสร็จเร็วนักล่ะ อ้าวได้พระคเณศเป็นเลขานุการนะซีเล่า ตอนที่ได้พระคเณศมาเป็นเลขานี่ซิ มีเรื่องน่ารู้ละ คือพระวยาสหาคนที่จะคอยเขียนตามคำบอกไม่ได้ จึงไปขอร้องพระคเณส พระคเณศตั้งเงื่อนไขฉับเข้าให้ว่า ต้องบอกเรื่องไปจนจบจะหยุดไม่ได้ พระวยาสก็ฉลาดพอ มีข้อแม้ว่าถ้าพระคเณศไม่เข้าใจความในคำใด ก็ห้ามไม่ให้จดจนว่าจะตีความได้ ด้วยข้อแม้ข้อนี้แหละฤษีวยาสจึงมีเวลาพัก บางตอนฤษีท่านบอกคำที่ต้องใช้บันไดปีนถึงจะเข้าใจ พระคเณศซึ่งเป็นเทพแห่งปัญญาก็เถอะก็ยังจนต้องไตร่ตรองเรื่องมหากาพย์จึงจบได้เร็ว พระคเณศจึงได้ถือเหล็กจารและสมุดหนังสือไงล่ะครับ (ใครอยากรู้เรื่องราวของมหากาพย์เรื่องนี้ อ่านมหาภารตยุทธคำกลอนของพระยาอุปกิตฯ)

อ้าว พระคเณศก็มีชายาเหมือนกันนา (แต่นั้นแหละ บางคัมภีร์เกณฑ์ให้ท่านถือพรหมจรรย์ก็มี) ประวัติมีดังนี้ครับ เมื่อพระคเณศและพระสุพรหมัณห์ (พระขันธกุมาร) มีวันที่จะแต่งงานได้แล้ว แต่พระอิศาวรยังทรงตัดสินไม่ถูกว่าควรจะให้ใครแต่งงานก่อนก็เลยตั้งกติกาว่า ใครเดินทางได้รอบโลกก่อนก็จะได้แต่งงานก่อน ก็ต้องแข่งขันกันซิครับ พระสุพรหมัณห์ทรงนกยูงวิ่งปร๋อไปเลย พระคเณศกลับเฉยเสีย จนลับตาไปแล้ว พระคเณศก็ตรงไปกระทำประทักษิณเวียนประศิวะกับพระอุมา ๗ รอบแล้วกล่าวพระเวทเป็นใจความว่า ถ้าบุตรประทักษิณได้เจ็ดรอบ ขอให้ได้กุศลเท่ากับไปรอบโลก พระอิศาวรและพระอุมาทรงพอพระทัยในความฉลาดของพระคเณศ ตัดสินให้เป็นผู้ชนะ แล้วก็จัดการแต่งงานให้คราวเดียวได้ชายาสององค์เลย คือนางพุทธิ และนางสิทธิ กาลต่อมาพระนางสิทธิได้โอรสมีนามว่า ลาภ ส่วนพระนางพุทธิได้โอรสมีนามว่า เกษม เห็นไหมล่ะครับ นามของพระชายาและโอรสของพระคเณศล้วนเป็นมงคลนามทั้งนั้น จึงสมควรบูชาเพื่อความเจริญและความสิริมงคล อ้อพระสุพรหมัณห์ที่แพ้นั้นยอมตัดกิเลสไปบำเพ็ญตบะครองตัวเป็นโสดเลย

พระคเณศมีพระนามมากมายละครับ เหตุที่พระอิศวรทรงตั้งให้เป็นใหญ่ในหมู่เทพที่รับใช้ จึงได้นามว่าพระคเณศ พระคณบดี ทั้งสองนามนี้ก็แปลว่าเป็นใหญ่ในคณะ ส่วนนามอื่นๆ พอจะเก็บมารวมได้ ดังนี้ สิทธิบดี (ผู้เป็นใหญ่ในความสำเร็จ) สิทธิธาดา (ผู้อำนวนความสำเร็จ) พิฆเนศวร (เจ้าแห่งความขัดข้องหรืออุปสรรค) คชมุขฒ กรีมุข (หน้าช้าง) เอกทนต์ (งาเดียว) ลัมโพทร (ท้องยุ้ย) ลัมพกรรณ (หูยาน) อาขรถ (ทรงหนูเป็นพาหนะ) เหรัมพ (ผู้ป้องกัน) ธูมราภ (มีผิวดำแดง) รักตตุนท (มีงวงแดง) ทวิเทหก (มีกายสองลอน) วิกัฎ (พิการ)

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร