เรื่องราวเกี่ยวกับท้าวจตุโลกบาล

Socail Like & Share

Digital Camera
จตุโลกบาล บางทีก็เขียนเป็น จัตุโลกบาล ก็ได้ครับ และบางแห่งเขียนเป็น จาตุโลกบาลก็ได้อีก บางทีก็เรียกเป็น จตุรมหาราชก็มี จาตุมหาราชก็มีอีกนั่นแหละ ความหมายก็อย่างเดียวกันทั้งนั้น คือหมายถึงผู้รักษาโลกทั้ง ๔ ทิศละ

ตามลัทธิพราหมณ์นั้นเขาเชื่อว่า โลกเราแบนๆ ครับไม่ใช่กลมๆ เบี้ยวๆ อย่างที่เรารู้กันอยู่เดี๋ยวนี้หรอก ทีนี้ก็ต้องมีผู้มีฤทธิ์มีอำนาจคุ้มครองโลก อำนวยความสุขแก่มนุษย์ที่ทำความดีละครับ การรักษาโลกก็ต้องรักาทั้ง ๔ ทิศละ ซึ่งก็มีดังนี้
๑. ท้าวกุเวร บางทีก็เรียกเป็นท้าวเวสสุวัณหรือเวสวัณ มีหน้าที่พิทักษืรักษาโลกทางทิศอุดร(เหนือ) ท้าวกุเวรนี้มียักษ์เป็นบริวารคอยรับใช้ในกิจการต่างๆ มีช้างพลายชื่อหิมปาณฑระเป็นพาหนะ

๒. ท้าวธตรฐ มีหน้าที่รักษาโลกทางทิศบูรพา (ตะวันออก) ท้าวธตรฐ นี้เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์ เรียกว่ามีคนธรรพ์เป็นบริวารคอยรับใช้ว่างั้นเถอะ จะให้เล่นดนตรีขับร้องให้สำเริงอารมณ์อย่างไรก็ได้ เพราะนัยว่าเรื่องนี้คนธรรพ์เก่งมากครับ ท้าวธตรฐมีช้างพลายชื่อวิรูปากษ์เป็นพาหนะ

๓. ท้าววิรุฬหก  มีหน้าที่รักษาโลกทางทิศทักษิณ (ใต้) เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาและกุมภัณฑ์ มีช้างพลายชื่อมหาปทมเป็นพาหนะ

๔. ท้าววิรูปักษ์ บางทีก็เขียนเป็น วิรุฬปักษ์ นี่รักษาโลกทางทิศประจิม(ตะวันตก) เป็นใหญ่ในหมู่นาค มีฝูงนาคคอยรับใช้ปรนนิบัติ มีช้างพลายชื่อโสมนัสเป็นพาหนะ

ส่วนที่สถิตของเหล่าจตุโลกบาลนั้น มีแตกต่างกันตามคัมภีร์ต่างๆ อันเป็นธรรมเนียมของลัทธิพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดละครับ ท่านว่าก็อยู่บนภูเขายุคนธรนั่นแหละ โดยอยู่ตามทิศต่างๆ ตามที่ท่านมีหน้าที่รักษาประจำทิศนั้นๆ คือ ท้าวกุเวรก็อยู่ทางทิศเหนือ ท้าวธตรฐอยู่ทางทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกอยู่ทางทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์อยู่ทางทิศตะวันตก อ้อ ภูเขายุคนธรก็คงเป็นที่รู้ๆ กันอยู่นะครับ ก็เทือกเขา ๗ ลูกที่เรียกกันว่า สัตภัณฑคิรี เขาเจ็ดทิวล้อมรอบเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ ได้แก่ยุคนธร อิสินธร กรวิก ทัส เนมินธร วินตก และอัสกัณ

บางตำนานก็ว่า เหล่าจตุโลกบาลนี้สถิตอยู่สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา โดยอยู่ตามทิศต่างๆ ที่จะต้องพิทักษ์รักษาละครับ เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่งในจำนวน ๖ ชั้น ที่เรียกว่า ฉกามาพจร มีจตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรดี ปรินิมมิตวสวัตดี

ในเรื่องศกุลตลา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนเท้าทุษยันต์ ราชาแห่งนครหัสดินยกทัพเทวดาไปปราบกาลเนมี มีบรรยายถึงจตุโลกบาลไว้ ทำให้จำง่ายดีครับ
“งามทรงองค์ท้าวทุษยันต์    เหมือนจอมเทวัญ
ผู้ทรงมหิทธิ์ฤทธา
ทรงรถวิมานรัตนา               มาตุลีเทวา
ขึ้นขับละลิ่วปลิวไป
ทัพหน้าคนธรรพ์ชาญชัย     ธตรฐยศไกร
พระขรรค์ทะนงคงกร
ปีกขวาวิรุฬหกเริงรอน         คุมหมู่อมร
ผู้ฤทธิรุทธยุทธนา
ปีกซ้ายกุเวรราชา               คมยักขะเสนา
กำแหงด้วยแรงเริงรณ
วิรูปักษ์ทัพหลังยังพล         นาคนาคานนต์

กระเหิมประยุทธราวี”

กล่าวกันว่า ในเรื่องจตุโลกบาลนี้ คติทางพุทธศาสนาก็ได้รับเข้ามาเหมือนกัน เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ท้าวจตุโลกบาลก็มาเฝ้า มีคาถาบาลีว่า

“ปุริสทิสํ    ธตรฏโฐ    ทกฺขิเณน    วิรุฬฺหโก
ปจฺฉิเมน    วิรูปํกฺโข    กุเวโร        อตฺตรํ ทิสํ”

ท้าวธตรฐอยู่ทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกอยู่ทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์อยู่ทิศตะวันตก ท้าวกุเวรอยู่ทิศเหนือ

เรื่องโลกบาลของดั้งเดิมไม่ใช่ท้าวต่างๆ ที่ผมเอ่ยพระนามมาหรอกครับ แล้วต่อมาน่ะก็ไม่ใช่มีเพียง ๔ ทิศ กลายเป็น ๘ ทิศ ผมจำเป็นต้องคัดพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประกอบให้ข้อเขียนของผมบ้างละครับ แต่ก่อนอื่นผมขอปูพื้นนิดหนึ่ง ชาวอินเดียดั้งเดิมน่ะเรียกกันว่า มิลักขะหรือทัสยุ พวกนี้มีลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาอยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีชนชาติอริยกะบุกรุกเข้าไปครอบครองครับ ผมจะเล่ารายละเอียดกันอีกเมื่อเกล่าวถึงเทพองค์อื่นๆ นะครับ ตอนนี้ว่าเฉพาะที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องโลกบาลกันเท่านั้น ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎฯ มีตอนหนึ่งดังนี้ครับ

“พวกอริยกะที่เข้าไปนั้น นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งเรียกว่า “สาวิตรี” หรือ “สวิตะระ” และพวกอริยกะ นำความนับถืออันนั้นเข้าไปในอินเดียด้วย พวกอริยกะนี้เป็นชั้นสูงชั้นหนึ่งแล้ว คือสังเกตเห็นได้แล้วว่าถ้าฤดูไหนมีแสงแดด มีฝน มีตะวัน ต้นไม้ก็ได้รับความงอกงามดี ต้นไม้ย่อมหันไปหาทางตะวันเสมอ จึงนับถือตะวัน เรียกว่าสาวิตรี นับถือฝนหรือน้ำทั้งหลาย เรียกว่า วรุณะ นับถือผู้ที่บันดาลให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปในโลก เรียกว่า “อินท์” นับถือผู้ซึ่งทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ อันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า “มฤตยู” หรือ “ยม” จึงเกิดท่านทั้ง ๔ นี้ เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์รักษาทิศทั้ง ๔ เรียกว่าโลกบาล พวกอริยกะเหล่านี้จึงมีวิธีบูชา วิธีทำให้โลกบาลชอบ”

ครับ ข้างบนเป็นข้อความที่ผมคัดมา ก็เพื่อแสดงว่าดั้งเดิมนั้นท้าวจตุโลกบาลมีชื่อไม่เหมือนกันกับที่ผมเล่าข้างต้นหรอก เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ ครับ และในสมัยหลังๆ ลัทธิอะไรต่อมิอะไรปนกัน จึงกลายเป็น ๘ ทิศไป ก็เลยเก็บมาเพิ่มเติมละครับ แต่ก็ผิดเพี้ยนกับที่เล่าข้างต้น ถ้าถามผมว่ายึดหลักนับถืออะไรแน่ว่าถูก ก็ขอตอบว่านับถือจตุโลกบาลตอนที่ผมเล่าข้างต้นนั้นไว้ก่อนเถอะ

๑.ทิศอุดร(เหนือ) ท้าวกุเวรทำหน้าที่รักษาทิศนี้ (จะเหมือนกับที่เล่าข้างต้นก็คือทิศนี้ละครับ)

๒. ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) พระจันทร์หรือมีชื่ออีกว่าโสมและอีสาน เป็นผู้รักษาทิศนี้ ทิศเฉียงๆ นี้นัยว่าตั้งชื่อตามชื่อเทพที่เป็นใหญ่อยู่ละ อย่างอีสานหรือเอสาน ก็มีมูลมาจากอีศานซึ่งแปลว่าทิศของพระอีศาน

๓. ทิศบูรพา (ตะวันออก) พระอินทร์เป็นใหญ่ประจำทิศนี้

๔. ทิศอาคเณย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) พระอัคนี (พระเพลิง) เป็นใหญ่ประจำทิศนี้ คำว่าอาคเณย์ มีมูลศัพท์มาจาก อัคนี แปลว่าทิศของพระอัคนี

๕. ทิศทักษิณ (ใต้) พระยมเป็นใหญ่ประจำทิศนี้

๖. ทิศหรวดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พระอาทิตย์เป็นใหญ่ประจำทิศนี้ แต่พระอาทิตย์มีอีกนามหนึ่งว่า พระเนรติ พระเนรดี พระนิรฤดี คำว่า เนรดี มีมูลศัพท์มาจากนิรฤดี แปลว่าทิศของพระนิรฤดี ทิศนี้ของเดิมภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ไนรฤติ” เมื่อใช้เป็นไทยก็ควรใช้ว่าทิศเนรดี แต่เรามาใช้เป็น หรดี ครับ

๗. ทิศปัจจิม (ตะวันตก) พระวรุณ (ฝน,น้ำ) เป็นเทพประจำทิศนี้

๘. ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) พระพาย (ลม) หรือพระวายุเป็นเทพประจำทิศนี้ พายัพมีมูลมาจากพายุ แปลว่าทิศของพระพาย

เอาความว่า ชื่อทิศที่เพิ่มอีกสี่ ที่มีคำว่าเฉียงในภาษาไทย เช่น อีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) อาคเณย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) หรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ได้นามชื่อทิศตามชื่อเทพที่เป็นใหญ่ประจำรักษาอยู่ละครับ

แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า เทพประจำทิศออกจะผิดกับตอนที่เล่าถึง ๔ ทิศ ไงๆ ก็ถือชื่อเทพสี่ทิศไว้ก่อนนะครับ เพราะในวรรณคดีไทยเราหมายถึงเทพที่กล่าวข้างต้น

แต่นั่นแหละครับ ประตูที่สวนจิตรลดา ๔ ด้านมีชื่อว่า “พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้ม พระวรุณอยู่เจน พระกุเวรอยู่เฝ้า” ซึ่งก็คือนามโลกบาลที่ผมเล่าตอนหลังนั้น เมื่อต่างกันอย่างนี้ก็แล้วแต่ศรัทธากันเองเถอะ

ครับ เทพแต่ละองค์ที่เอ่ยมานั้น ก็ต้องดูประวัติของท่านในหมวดนั้นๆ ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร