พระนารายณ์กวนเกษียรสมุทร

Socail Like & Share

ความศักดิ์สิทธิ์ของเต่า เห็นจะเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ เพราะในเรื่องนารายณ์สิบปางนั้น พระนารายณ์ได้อวตารมาเป็นเต่าอยู่ปางหนึ่งด้วย เรียกว่า กูรมาวตาร

เหตุที่พระนารายณ์จะอวตารเป็นเต่าก็เพราะว่า พระอินทร์กูรมาวตารถูกดาบสชื่อทุรวาสสาปแช่งให้เสื่อมศักดิ์ และปราศจากพละกำลัง รวมทั้งหมู่เทวดาทั้งหลายด้วย หากรบกับพวกอสูร ก็ขอให้พ่ายแพ้ สาเหตุที่ดาบสตนนี้จะสาปก็เพราะว่าดาบสนี้ไปรับพวงมาลัยจากนางฟ้าตนหนึ่ง มาลัยนั้นทำด้วยดอกไม้สวรรค์ พอดาบสได้กลิ่นดอกไม้สติก็วิปลาสคล้ายคนบ้า เต้นรำทำเพลงไปท่ามกลางอากาศไปพบพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาก็มอบพวงมาลัยนั้นให้ พระอินทร์รับไว้วางบนเศียรช้าง ช้างได้กลิ่นดอกไม้ก็อาละวาดกระชากพวงมาลัยทิ้งและเหยียบเสียป่นปี้ ดาบสหาว่าพระอินทร์ดูถูกก็สาปเอาให้เสื่อมฤทธิ์ พวกดาบสนี้ก็แปลกไม่พอใจอะไรก็ชอบแช่งชอบสาปผู้อื่น ดังปรากฏอยู่ในวรรณคดีของอินเดียหลายเรื่อง ทำไมจึงใจร้ายอย่างนั้นก็ไม่ทราบ เมื่อพระอินทร์เสื่อมฤทธิ์ก็เกิดความเดือดร้อน เพราะรบกับอสูรกายครั้งไรก็แพ้ทุกที จึงต้องไปเฝ้าพระนารายณ์ขอให้ทรงช่วยเหลือ พระนารายณ์จึงสั่งให้จัดพิธีกวนเกษียรสมุทรขึ้น โดยเอาเขามันทรเป็นเครื่องกวน เอาพระยานาคเป็นเชือกพันไว้ ให้พวกอสูรชักทางหัวนาค พวกเทวดาชักทางหางนาค แล้วพระนารายณ์อวตารแบ่งภาคเป็นเต่าใหญ่ไปหนุนภูเขาไว้เพื่อจะให้ภูเขาตรงกวนสมุทรได้สะดวก การกวนเกษียรสมุทรคราวนั้นมีของขึ้นมาหลายอย่าง คือ

๑. โค ๒. สุราซึ่งเรียกว่า วรุณี ๓. ต้นปาริชาต คือต้นไม้สวรรค์ ๔. หมู่นางอัปสร ๕ พระจันทร์ ๖. พิษ ๗. ดอกบัวมีพระศรีซึ่งเป็นชายาพระ
นารายณ์ ๘. น้ำอมฤต ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย การกวนเกษียรสมุทรคราวนี้จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะเอาน้ำอมฤตมาให้พวกเทวดาดื่มเพื่อให้มีฤทธิ์มีกำลังเหมือนเดิมนั่นเอง แต่เมื่อพวกอสูรกวนอยู่ด้วยพวกอสูรก็ควรจะได้ดื่มด้วยพระนารายณ์จึงแปลงองค์เป็นผู้หญิงสวยงาม ล่อพวกอสูร ไปให้ห่างน้ำอมฤตเสีย พวกอสูรเห็นผู้หญิงสวยก็พากันตามไปลืมนึกถึงนํ้าอมฤต กว่าจะนึกได้ก็เมื่อพวกเทวดาดื่มน้ำอมฤตไปหมดแล้ว และกลับมีฤทธิ์มีแรงแข็งขันตามเดิมคราวนี้เวลารบกัน พวกอสูรก็แพ้เสมอมา

ด้วยเหตุที่พระนารายณ์เคยอวตารเป็นเต่านี่เอง พวกพราหมณ์จึงนับถือว่าเต่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น พวกอินเดียโบราณหรือพวกขอมโบราณยังสร้างเครื่องประดับทำเป็นรูปเต่าคล้ายกับจะเป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่งนั่นเอง

เต่านั้นคงจะเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่ยังหลงเหลือยู่ทุกวันนี้ เต่ามีหลายสิบชนิดอยู่อาศัยทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม เรียกกันเป็นสามัญว่า เต่านา ซึ่งอยู่ในน้ำจืด และที่อยู่ในน้ำเค็มเรียกว่าเต่าทะเล เต่านาส่วนมากเล็ก ส่วนเต่าทะเลนั้นมีขนาดใหญ่น้ำหนักเป็นร้อยๆ ปอนด์ก็มี สมัยผมเป็นเด็กเคยเห็นผู้ใหญ่เขาไปพบเตาริมทะเลแล้วพากันนั่งบนหลังเต่า มันสามารถคลานลงทะเลไปได้ทั้งๆ ที่คนนั่งอยู่บนหลังของมัน แสดงว่าเต่ามีกำลังไม่ใช่น้อยทีเดียว พูดถึงลักษณะพิเศษของเต่าก็คือ เต่ามีกระดองผิดกับสัตว์อื่นๆ กระดองนี้หุ้มลำตัวทั้งด้านบนและด้านล่าง กระดองนี้เป็นแผ่นโตๆ คล้ายเกล็ดซ้อนเชื่อมต่อกันสนิท เต่านั้นไม่มีฟันแต่มีอวัยวะรูปกรายและทู่ทำหน้าที่บดอาหาร เพราะปากเต่าเป็นอย่างนี้เอง ผู้ใหญ่จึงบอกเด็กว่าอย่าเอามือแหย่เข้าไปในปากเต่า ถ้าถูกเต่ากัดแล้วต้องฟ้าร้องเสียก่อนเต่าจึงจะวางหรือปล่อยนิ้วมือเรา ก็ฟ้านั้นถ้าไม่ใช่หน้าฝนจะร้องเสียเมื่อไร เด็กๆ ก็เลยกลัวไม่กล้าแหย่มือเข้าปากเต่า ถ้าแหย่เข้าไปคงนิ้วขาดเสียก่อนฟ้าจะร้องเสียอีก

ดังได้กล่าวว่า เต่านั้นมีทั้งชนิดที่อยู่บนบกและชนิดที่อยู่ในน้ำ กระดองของเต่าทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกัน คือกระดองของเต่าที่อยู่ในน้ำมักจะเป็นทรงค่อนข้างแบนและเล็ก แต่กระดองของเต่าที่อยู่บนบกส่วนมากมักจะเป็นทรงสูงงองุ้มและขนาดใหญ่และเท้าทั้งสี่ของเต่าที่อยู่บนบกรวมทั้งหัวหางจะหดเข้าในกระดองได้หมดเมื่อมีอันตรายมา ส่วนเต่าที่อยู่ในน้ำนั้นเท้ามักจะหดเข้าในกระดองไม่หมด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าธรรมชาติช่วยป้องกันมิให้เต่าสูญพันธุ์นั่นเอง เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บทั้งวิ่งหนีก็ช้าไม่ทันเพื่อน จึงถูกกระต่ายท้าวิ่งแข่งเสมอ ธรรมชาติจึงสร้างให้เต่าหลบภัยอยู่ในกระดอง โดยไม่ต้องวิ่งให้เหนื่อยแรง ว่ากันว่าเสือจะกินเต่าปลุกปล้ำเท่าไรก็กินไม่ได้ เพราะพอเข้าแหย่ทางหางหางก็หด พอหันไปทางหัวหัวก็หด สุดท้ายเสือเลยต้องเผ่นหนี ส่วนเต่าทะเลหรือเต่าที่อยู่ในน้ำอันตรายมีน้อยมาก

ลักษณะที่เต่าหดหัวเข้าออกนี้เอง ปราชญ์ท่านจึงเปรียบเทียบคนที่พูดไม่อยู่กะร่องกระรอยว่า พูดเหมือนหัวเต่าหดเข้าโผล่ออกไม่แน่นอน

เนื้อเต่าเป็นเนื้อสัตว์ที่คนไม่นิยมรับประทาน โดยเฉพาะคนไทย ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด อาจจะเป็นเพราะว่าเต่าเป็นสัตว์ที่ต่ำเตี้ยอุ้ยอ้ายไปไหนก็ไม่แคล่วคล่องว่องไว มีลักษณะที่น่าสงสารมากกว่าจะชวนให้รับประทาน นอกจากไม่รับประทานแล้ว คนยังช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูเสียอีก สมัยก่อนวัดมีสระไว้เกือบทุกวัด และชาวบ้านก็มักจะเอาเต่าไปปล่อยไว้ในสระวัดมากมายเหลือเกิน อย่างสระในวัดเบญจมบพิตรในกรุงเทพ ฯ มีเต่าเป็นร้อยๆ เป็นเหตุให้น้ำเสียเต่าตายเป็นเบือ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี