ทางไปสู่สุคติ ทุคติ

Socail Like & Share

คนที่เข้าใจว่าตายแล้ว เมื่อยังมีเหตุคือ กิเลสอยู่ ย่อมต้องไปเกิดอีก จึงวิตกว่าตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ จะไม่ได้เกิดในสุคติ สวรรค์ จะได้รับความลำบากเหมือนที่ตนได้รับอยู่ในชาตินี้ หรือเกรงจะไม่ได้รับความสุขเหมือนที่ตนได้รับอยู่ในชาตินี้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทางไปสุคติโลกสวรรค์ หรือไปเกิดเป็นคนอีกก็ไม่ลำบาก ทางนี้มีมากเป็นต้นว่า

๑. สมบูรณ์ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่ออย่างมีเหตุผล เช่น เชื่อเรื่องการทำดีทำชั่ว และผลของการกระทำนั้น

๒. สมบูรณ์ด้วยศีล คือ มีความเรียบร้อยทางกาย ทางคำพูด มีศีล ๕ ข้อ เช่น เว้นการฆ่าเขา เบียดเบียนเขา เป็นต้น

๓. สมบูรณ์ด้วยความเสียสละของที่เป็นของตน เป็นการเฉลี่ยความสุขให้ผู้อื่น คือ ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากของของตน และช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้

๔. สมบูรณ์ด้วยปัญญา รู้จักว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีประโยชน์ไร้ประโยชน์ เป็นต้น แล้วละสิ่งที่ชั่ว ทำสิ่งที่ดี

เมื่อปฏิบัติตามหลักดังกล่าวดีแล้ว ย่อมแก้ปัญหาได้ หรือไม่ก็ให้แก้ด้วยวิธีนี้คือ

๑. ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ประพฤติผิดทางเพศ

๒. ไม่ปด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดยุให้เขาแตกกัน ไม่พูดเหลวไหล

๓. ไม่อยากได้ของเขามาเป็นของตน ไม่ปองร้ายใคร และมีความเห็นถูกต้องตาม หรือ
-ไม่ทำชั่วทางกาย มีฆ่าเขา เป็นต้น
-ไม่ทำชั่วทางวาจา มีพูดปด เป็นต้น
-ไม่ทำชั่วทางใจ มีอยากได้ของเขามาเป็นของตน เป็นต้น
-สรรเสริญพระอริยเจ้า
-มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
-ทำกิจการต่างๆ ด้วยอำนาจความเห็นถูกต้องนั้น

หรือรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด หรือ
๑. เชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในเรื่องที่ควรเชื่อ
๒. มีหิริ คือ ละอายตนเองไม่กล้าทำชั่ว
๓. มีโอตตัปปะ คือ เกรงตนเอง โดยเกรงผลของการทำชั่ว
๔. ไม่โกรธง่าย โกรธแล้วก็ไม่ผูกโกรธไว้ โกรธแล้วก็แล้วกันไป
๕. มีปัญญา รอบรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อย่างมีเหตุผล

หรือว่า
๑. ไม่โกรธง่าย โกรธแล้วก็ไม่ผูกโกรธไว้
๒. ไม่ลบหลู่ผู้มีบุญคุณ และผู้ใหญ่
๓. ไม่หนักในลาภในผล
๔. ไม่ติดในสักการะ
เมื่อดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ได้ เมื่อตายไปแล้ว และเมื่อไปเกิดเป็นคนอีกก็ไม่ลำบาก

ทางไปสุคติมีมาก แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยที่เดินทางไปทุคติ

ทางไปทุคติ ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า ละเมิดศีล ๕ เพียงข้อใดข้อหนึ่งเป็นประจำ หรือ

๑. ทำชั่วทางกาย เช่น ฆ่าเขา ทางวาจา เช่น ปดเขา ทางใจ เช่น ละโมบอยากได้ของเขา
๒. ติเตียนพระอริยเจ้า
๓. เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าฆ่าเขา ข่มเหงเขา เป็นของดี แสดงว่าตนเป็นคนเก่ง โกงเขา เป็นของดีเพราะรวยเร็ว เป็นต้น
๔. ทำการต่างๆ ตามความเห็นผิดนั้น

หรือว่า
๑. ฆ่าเขา เบียดเบียนเขา ลัก-โกงเขา ประพฤติผิดทางเพศ เช่น เป็นชู้ เป็นต้น เพียงข้อใดข้อหนึ่ง
๒. พูดปด พูดหยาบคาย ด่าว่า พูดยุให้เขาแตกกัน พูดเลอะเทอะ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
๓. อยากได้ของเขา คิดปองร้ายเขา เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

หรือ
๑. โกรธง่าย โกรธแล้วผูกโกรธไว้
๒. มักลบหลู่บุญคุณคน ไม่มีกตัญญูกตเวทีใคร
๓. หนักในลาภผลมาก ไม่ยอมให้อะไรแก่ใคร อยากได้แต่ของผู้อื่น
๔. หนักในสักการะยกย่อง ชอบติดในสิ่งนั้น ถ้าใครไม่สักการะ ก็ไม่ชอบใจ

หรือ
๑. เชื่ออย่างงมงาย ไม่เชื่ออย่างมีเหตุผล เรื่องที่ควรเชื่อกลับไม่เชื่อ กลับไปเชื่ออย่างไร้เหตุผลเป็นนิตย์
๒. ไร้หิริ คือความละอายตนเอง อยากจะทำชั่วอย่างไรก็ทำ
๓. ไร้โอตตัปปะ คือความเกรงต่อผลของการกระทำชั่วของตน
๔. โกรธง่าย โกรธแล้วก็ผูกใจโกรธไว้
๕. ทรามปัญญา ไม่รู้ผิดรู้ถูก
อาการแต่ละอย่างนั้น ย่อมเป็นทางแห่งทุคติได้ทั้งสิ้น ถ้าทำเป็นประจำ และคนชนิดนี้มักมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ เมื่อตายในขณะใจขุ่นมัวก็ไปทุคติ แต่บางอย่างแม้ทำเพียงอย่างเดียวและครั้งเดียว ตายไปแล้วก็ไปทุคติแน่นอน การกระทำนี้คือ อนันตริยกรรม ๕ ประการ ได้แก่

๑. ฆ่าพ่อ
๒. ฆ่าแม่
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าแม้เพียงห้อพระโลหิต
๕. ทำลายสงฆ์ผู้สามัคคีให้แตกกัน

และทางทุคติที่เกี่ยวกับหญิงโดยเฉพาะก็มี คือ หญิงรีดลูก๑ ดูหมิ่นสามี๑ ดูหมิ่นญาติของสามี๑ ย่อมไปทุคติ

การดำเนินตามทางเช่นนี้ย่อมไปอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้ เมื่อตายไปแล้ว แม้จะไปเกิดเป็นคนอีก ก็ต้องได้รับความลำบาก

มีพระพุทธภาษิตสรุปรวมได้อีกมาก เป็นต้นว่า ธรรมกับอธรรมไม่เหมือนกัน มีผลต่างกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำไปสู่สุคติ

ทางดำเนินชีวิต เพื่อความสุขความทุกข์ของมนุษย์ และทางที่จะไปสู่สุคติ ทุคติเป็นอย่างไรก็ได้ทราบดังที่กล่าวแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา