ทางเจริญของชีวิต

Socail Like & Share

ผู้ที่ต้องเดือดร้อนภายหลัง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้บุคคลต้องเดือดร้อนในภายหลังไว้เป็นอันมาก เช่น อบายมุข ดังที่ได้กล่าวแล้ว และยังมีอีกมาก เป็นต้นว่า

๑. เมื่อเป็นเด็กไม่ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น ไม่เล่าเรียน ไม่หาความรู้เพื่ออนาคต

๒. เกียจคร้านทำการงาน

๓. มีความคิดจม คือ ไม่คิดถึงอนาคต

๔. คิดสบายไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

๕. ไม่หาทางให้เกิดปัญญา(จึงจมอยู่ในความโง่)

และ
๑. เมื่อเป็นหนุ่ม ไม่แสวงหาทรัพย์

๒. เมื่อเป็นเด็ก ไม่เล่าเรียนวิชาหาความรู้เพื่ออนาคต

๓. เป็นคนเจ้าเล่ห์ ชอบพูดยุยงให้มีเรื่องวุ่นวาย กินสินบน เหี้ยมโหด(แต่ดูภายนอกเป็นคนดี)

๔. ทุศีล ขาดขันติ ขาดเมตตา

๕. เจ้าชู้

๖. ตระหนี่ มีทรัพย์ก็ไม่ยอมให้แม้พอให้ได้

๗. อกตัญญู

๘. ดื้อดึงกับพ่อแม่ ดูหมิ่นพ่อแม่

๙. ไม่ยอมเข้าใกล้สมณะ

๑๐. ชอบทำทุจริต ไม่ยอมเข้าใกล้สัตบุรุษ

และมีเหตุแห่งความเดือดร้อนอีกมาก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นต้นว่า

๑. มีความรู้น้อย ชอบทำชั่ว ไร้สิ่งที่มีคุณค่าในตัว
๒. ชอบคบคนเลว พอใจในธรรมที่เลว
๓. ชอบนอน ชอบคุย เกียจคร้าน เจ้าอารมณ์
๔. อกตัญญู
๕. ชอบหลอกลวง แม้แต่สมณะก็ไม่เว้น
๖. เห็นแก่ตัวจัด มีของกินของใช้ก็กินก็ใช้แต่ตัว
๗. เย่อหยิ่ง ดูหมิ่นญาติของตน

๘. เป็นนักเลงผู้หญิง -การพนัน -เหล้า (สิ่งเสพติด) –หัวไม้ ล้างผลาญทรัพย์ที่มีอยู่
๙. เจ้าชู้ ชอบคบหญิงเสเพล
๑๐. ชายแก่ได้เมียสาว(หญิงแก่ได้ผัวหนุ่ม)
๑๑. ตั้งหญิง-ชาย นักเลง สุรุ่ยสุร่าย ให้เป็นใหญ่ในการงาน
๑๒. เกิดในตระกูลสูง แต่ยากจน และคิดมักใหญ่ใฝ่สูง

เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ย่อมประสบความเดือดร้อนในภายหลังแน่นอน

ชีวิตที่ไร้สาระ
ชีวิตของคนบางคนมีความหมายมาก แต่บางคนก็ไร้สาระ ชีวิตที่ไร้สาระที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือชีวิตที่

๑. ติดของเสพติด
๒. ไร้สมบัติ(ทั้งคุณสมบัติและทรัพย์สมบัติ)
๓. ไม่ทำการงาน
๔. ประมาทมัวเมา
๕. ไร้คุณค่า

อย่างนี้เป็นชีวิตที่ไร้สาระ ว่างเปล่า รกโลก น่าเสียดาย

ทางเจริญของชีวิต
คนทุกคนย่อมต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงวิธีการที่ใช้ได้ทั่วไปหลายประการเพื่อความเจริญ เช่น

๑. จงเดินไปตามทางแห่งความดีที่เดินมาแล้ว อย่าถอยหลัง ถ้าเป็นทางชั่วจงกลับ อย่าเดินต่อไป

๒. จงอย่าทำลายฝ่ามืออันชุ่มด้วยเหงื่อ(คือ ความขยันช่วยตนเองและช่วยผู้อื่น)

๓. อย่าประทุษร้ายมิตร (ไม่ว่าจะในทางร่างกาย ความคิด ทรัพย์ หรือชีวิต)

๔. อย่าอยู่ในอำนาจหญิง

และทรงแสดงหลักปฏิบัติอันทำให้เกิดความไม่เสื่อมมีแต่ความเจริญในชีวิต คือ
๑. คบคนดี
๒. สนใจในคำแนะนำของคนดี
๓. ไตร่ตรองให้รู้ดีรู้ชั่วโดยแยบคาย
๔. ปฏิบัติตนตามควรแก่ความดีความชั่วนั้น

ทางเจริญอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย เมื่อได้ดำเนินตามทางดังกล่าวแล้วย่อมได้ประสบความเจริญในชีวิตแน่นอน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา