ฆราวาสธรรมและบรรพชิตธรรม

Socail Like & Share

คนไทยมีอยู่ ๒ ประเภท คือ เป็นนักบวชกับเป็นฆราวาส ชีวิตของฆราวาสที่จะดำเนินไปโดยปกติ นอกจากจะอาศัยกฎหมายของบ้านเมืองแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยหลักปฏิบัติอื่นๆ ด้วย เพื่อให้มีการตั้งตัวและมีฐานะที่ดี เพื่อการปฏิบัติต่อกันในสังคมนั้นๆ เพื่อการปฏิบัติของผู้ที่มีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวกับความสุขของประชาชน เช่น ข้าราชการ หรือผู้ที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติเพื่อสิ่งนั้นๆ ไว้แล้ว และยังมีหลักที่เป็นกลางๆ สำหรับฆราวาสปฏิบัติ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขและความสงบ เช่น

๑. มีสัจจะต่อกัน ไม่ตระบัดสัจจะ

๒. รู้จักข่มใจ ข่มอารมณ์

๓. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ การถูกนินทาว่าร้าย และความเจ็บป่วย

๔. เสียสละของๆ ตนแก่คนอื่น ให้คนอื่นได้รับความสุขจากสิ่งของๆ ตนบ้าง

และ
๑. เป็นคนเรียบร้อย
๒. มีหลักปฏิบัติประจำใจ
๓. ไม่ประมาทในชีวิต ในวัย ในความไม่มีโรค เป็นต้น
๔. ฉลาด
๕. ถ่อมตน ไม่เบ่ง
๖. ไม่ตระหนี่
๗. สงบเสงี่ยม มีรสนิยมดี
๘. พูดดี สุภาพ

และมี
๑. การสงเคราะห์เพื่อนและคนอื่น
๒. ให้สิ่งที่ควรให้ แก่ผู้ที่ควรให้
๓. รู้จักจัด รู้จักทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
๔. ช่วยบุคคลที่ควรช่วย สงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์

นอกจากนี้ยังมีหลักอื่นๆ อีก เช่น หลักการสงเคราะห์ คือ สังคหวัตถุ ที่ควรนำมาปฏิบัติอีกด้วย

ถ้าฆราวาสปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดความสุข ไม่มีการทำร้าย ทำลาย ลัก คดโกง ประพฤติผิดในทางชู้สาว มีการช่วยเหลือกัน เป็นต้น สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้เป็นอย่างดี

บรรพชิตธรรม
ภิกษุต้องปฏิบัติตามวินัย และ
๑. สำรวมระวังมือ เท้า วาจาของตน
๒. พอใจในธรรม
๓. มีใจมั่นคง อดทน
๔. ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป
๕. รู้จักพอ

และเว้น
๑. การก้มหน้าหากิน(เป็นหมอดู)
๒. การแหงนหน้าหากิน(เป็นหมอดูฤกษ์ยาม)
๓. การส่วนหน้าหากิน(เป็นนักธุรกิจติดต่อผู้คน)

๔. การเอียงหน้าหากิน(เป็นหมอดูลักษณะ)

การปฏิบัติหน้าที่ด้านปริยัติและปฏิบัติจะบกพร่อง ถ้าบรรพชิตยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่ภิกษุแบบนี้ชาวบ้านบางคนก็ชอบ เพราะถือว่าเป็นที่พึ่งได้
แต่ควรทำดังนี้

๑. เล่าเรียน(ปฏิบัติคันถธุระ หรือเรียนปริยัติธรรม)
๒. แสดงธรรมสอนประชาชน ตามความรู้ความสามารถ
๓. บอกธรรม สอนธรรม ตามความรู้ความสามารถ
๔. สาธยายธรรมวินัย
๕. ปฏิบัติพระสัทธรรม(ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติธรรม)

และต้อง
๑. เล่าเรียน
๒. ว่าง่าย อดทน
๓. เป็นพหูสูต
๔. ไม่มักมาก รู้จักข่มใจ ไม่ย่อหย่อนทางพระวินัย มีความเพียร เป็นต้น
๕. สามัคคีกัน

บรรพชิตไม่ควรลืมตัว ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่า
๑. บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ

๒. ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรเป็นคนเลี้ยงง่าย

๓. สิ่งที่ควรทำอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้

๔. เราติเตียนตัวเองโดยศีล(คือความประพฤติเรียบร้อย) ได้หรือไม่

๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

๖. เราจักต้องจากของรักของชอบไปทั้งนั้น

๗. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดีทำชั่วจักได้ชั่ว

๘. วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

๙. เรายินดี พอใจในที่เงียบสงัดหรือไม่

๑๐. คุณวิเศษอะไรของเรามีอยู่บ้างหรือไม่

ส่วนภิกษุผู้เป็นนักวิปัสสนาธุระ ต้องปฏิบัติตัวดังนี้

๑. มีธุรกิจน้อย ไม่เป็นนักสังคม เลี้ยงง่าย มักน้อย
๒. กินน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เป็นทาสของความอร่อยลิ้น
๓. ไม่นอนมาก
๔. เป็นพหูสูต
๕. หมั่นประกอบความเพียรทางจิต

เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจเกินขอบเขตจนเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติทางจิตจึงต้องปฏิบัติเช่นนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา