ชีวิตราชการในรัชกาลที่ ๒ ของสุนทรภู่

Socail Like & Share

ราวปีพ.ศ. ๒๓๕๖ ปรากฎว่ามีการทิ้งบัตรสนเท่ห์กันมาก จนกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าสุคันธรสในรัชกาลที่ ๑) ถูกกล่าวหาว่าทิ้งบัตรสนเท่ห์ และต้องถูกจำขัง สุนทรภู่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ด้วย ด้วยความกลัวต่อพระราชอาญาสุนทรภู่จึงหนีไปเพชรบุรีพร้อมกับแม่จัน โดยไปหลบซ่อนอยู่ที่ถํ้าเขาหลวงหลายวัน ความตอนนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชร ว่า

“โอ้ยามยากจากบุรินทร์มาถิ่นเถื่อน    ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา        แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น
ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทร์กระแจะ    เหมือนจะแนะนำจิตให้คิดเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    โอ้จำเป็นเป็นกรรมจงจำไกล’’

ปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๐ เมื่อเห็นว่าเรื่องสงบลงแล้ว สุนทรภู่และแม่จันได้พากันออกจากถํ้าไปพักที่บ้านขุนรองเพื่อนเก่าซึ่งเวลานั้นได้เลื่อนเป็นขุนแพ่งและมีภรรยาแล้ว ในเวลานั้นสุนทรภู่คงจะยึดอาชีพเป็นครูบ้าง แต่งหนังสือบ้าง จนมีลูกศิษย์หญิงชายหลายคน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า บางทีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะได้ทอดพระเนตรเห็นสำนวนกลอนของสุนทรภู่ในเวลาสอบสำนวน หาผู้ทิ้งหนังสือสนเท่ห์คราวนั้นและงานที่สุนทรภู่แต่งขึ้น เช่น โคบุตร นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท คงจะปรากฎชื่อเสียงทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์คงจะพอพระราชหฤทัยในความสามารถและความรอบรู้ของสุนทรภู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาตัวมารับราชการเป็นอาลักษณ์ ในขณะนั้นคงเป็นเวลาที่สุนทรภู่และแม่จันยังคงอยู่ที่เพชรบุรี และเมื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ญาติผู้ใหญ่คงจะหมดความรังเกียจเพราะเห็นว่าได้รับราชการตามพระบรมราชโองการ จึงอนุญาตให้สุนทรภู่และแม่จันเข้าพักอาศัยในพระราชวังหลังตามเดิม

สุนทรภู่ได้รับราชการในกรมอาลักษณ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๖๓ ขณะนั้นอายุได้ ๓๕ ปี และตอนต้นปีพ.ศ. ๒๓๖๓ แม่จันก็ให้กำเนิดบุตรคือหนูพัด

ในระหว่างรับราชในราชสำนักรัชกาลที่ ๒ นี้ สุนทรภู่ได้ทำความดีความชอบหลายครั้ง จนเป็นที่โปรดปรานมากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นกวีที่พอพระทัยในการพระราชนิพนธ์บทละคร ในราชสำนักของพระองค์มีกวีที่ปรึกษาหลายคน ตำแหน่งของสุนทรภู่เป็นตำแหน่งที่ต้องอยู่รับใช้อย่างใกล้ชิดในการพระราชนิพนธ์ กล่าวกันว่าสุนทรภู่ได้รับความชอบเมื่อสามารถต่อกลอนพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทนางสีดาว่า

“จงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด    เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่”

บทที่จะแต่งต่อไปเกิดขัดข้อง คือจะต้องแต่งบทของหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ปรึกษาไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัย จึงทรงลองดำรัสให้สุนทรภู่ แต่งต่อ สุนทรภู่ได้แต่งต่อไปว่า

“ชายหนึ่งผูกศออรไท        แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น                วายุบุตรแก้ได้ดังใจหาย”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพอพระราชหฤทัยและยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่ในคราวนี้มาก เพราะบทที่สุนทรภู่แต่งถวายเข้ากับกระบวนการเล่นละครได้เหมาะสมดีมาก

อีกครั้งหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ บทชมรถทศกัณฐ์มีว่า

“รถที่นั่ง                บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง        เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน            พื้นแฝนดินกระเด็นไปเป็นจุณ”

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะแต่งต่อไป โดยมีความประสงค์จะให้มีความประกอบให้สมกับเป็นรถมหึมาจริงๆ จึงโปรดให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่จึงว่า

“นทีตีฟองนองระลอก        คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น

เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อนันต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท    สุราวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเลือน        คลาเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา”

เล่ากันว่าความที่สุนทรภู่แต่งถวายนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงยกย่องสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาคนหนึ่ง และทรงตั้งให้เป็นขุนสุนทรโวหาร มีตำแหน่งในกรมพระอาลักษณ์ ได้รับพระราชทานให้ปลูกบ้านอยู่ใกล้ท่าช้าง แต่อยู่ในกำแพงวังชั้นนอก และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

สุนทรภู่ได้เป็นขุนนางและมีตำแหน่งรับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ประกอบคุณความดีและได้รับความดีความชอบในฐานะทีแต่งกลอนได้ถูกพระทัยหลายครั้ง แต่กระนั้น สุนทรภู่ก็ยังมิได้ละทิ้งนิสัยเจ้าชู้และความเป็นนักเลงสุรา ครั้งหนึ่งสุนทรภู่เมาสุราอย่างเต็มที่ได้ไปหามารดา เมื่อมารดากล่าวตักเตือนก็อาละวาดขู่เข็ญต่างๆ ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งได้เข้ามาห้ามปราม สุนทรภู่ซึ่งเป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวอยู่แล้ว และประกอบด้วยฤทธิ์ของสุราจึงเกิดโทสะมากขึ้น เข้าทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส ญาติผู้นั้นได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเป็นเหตุให้กริ้วมาก จึงรับสั่งให้เอาตัวสุนทรภู่ไปจำคุก และสุนทรภู่ได้นำประสบการณ์ที่ต้องติดคุกครั้งนี้มาแทรกไว้ในเสภาเรื่องขุนช้าง- ขุนแผน ตอนเมื่อพลายงามจะขออยู่ในคุกกับขุนแผน

มีคำเล่ากันมาอีกข้อหนึ่งว่าในระหว่างที่ติดคุกนั้น สุนทรภู่ได้เริ่มแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีขึ้น เพื่อขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่นั้น (แต่กรมศิลปกรสันนิษฐานว่า สุนทรภู่คงจะแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นขายจริงแต่คงไม่ใช่เรื่องพระอภัยมณี เพราะเรื่องพระอภัยมณีนั้นสุนทรภู่เริ่มแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงความตอนนี้เอาไว้ว่า ประเพณีการแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่คงจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕

สุนทรภู่ติดคุกได้ไม่นานก็พ้นโทษในราวปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๔ หรือต้นปีพ.ศ. ๒๓๖๕ เหตุที่พ้นโทษนั้นเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งติดขัดไม่มีผู้ใดจะแต่งต่อให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยได้ จึงรับสั่งให้เบิกตัวสุนทรภู่ออกมา สุนทรภู่มีโอกาสต่อกลอนต้องพระราชหฤทัยอีกครั้งหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้ออกจากคุกมารับราชการตามเดิม

เมื่อตอนที่สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาอยู่นั้นได้คุยว่า สำนวนกลอนที่จะแต่งให้เป็นคำปากตลาดนั้น ต้องเป็นไพร่เช่นตนจึงจะแต่งได้ ความข้อนี้มีนัยความหมายว่า ถ้าเป็นเจ้านายก็คงจะแต่งไม่ได้ ความนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไกรทอง เพื่อพิสูจน์ให้ปรากฏว่าเจ้านายก็ทรงแต่งกลอนให้เป็นสำนวนตลาดได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ากันว่าสุนทรภู่ได้ทำให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่พอพระทัยหลายครั้ง เรื่องมีว่า พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมอบให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไปแต่งบทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษบาเล่นธาร เมื่อทรงพระนิพนธ์แล้วก็รับสั่งให้สุนทรภู่ช่วยตรวจแก้ สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีอยู่แล้ว ความบางตอนตามพระนิพนธ์ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ว่า

“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว    ว่าย (ปลา) แหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”

เมื่อถึงเวลาอ่านถวายหน้าพระที่นั่ง ต่อหน้าชุมนุมกวีที่ปรึกษา สุนทรภู่กลับตีบทข้างต้นว่า ยังมีข้อบกพร่องและข้อแก้เป็น

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา    ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดและทรงรับสำนวนที่สุนทรภู่แก้ขึ้นใหม่ การกระทำดังกล่าวทำให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงละอาย เพราะเป็นการหักหน้าและมีเจตนากลั่นแกล้ง เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่

ต่อมาสุนทรภู่ได้ทำเรื่องให้เป็นที่ขัดพระทัยของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยรับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่งบท ละครเรื่องสังข์ทองตอนท้าวสามลให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ พระองค์ทรงนิพนธ์คำปรารภของท้าวสามลว่า

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว    ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ได้ติติงเป็นเชิงคำถามว่า “ลูกปรารถนาอะไร” พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแก้ใหม่ว่า “ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา” ทรงขัดเคืองสุนทรภู่มากยิ่งขึ้น และนับแต่นั้นมาก็ทรงมึนตึงสุนทรภู่มาตลอด

ในระหว่างรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ นี้ สุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่ม เป็นชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ อาจจะด้วยเหตุที่สุนทรภู่มีภรรยาใหม่หรือเป็นเพราะเหตุอย่างอื่นทำให้แม่จันหย่ากับสุนทรภู่ แล้วไปมีสามีใหม่ ส่วนภรรยาคนที่ชื่อนิ่ม พอมีบุตรได้ไม่ช้าก็ตาย เจ้าครอกข้างในจึงรับบุตรสุนทรภู่ทั้งสองคนไปเลี้ยงในพระราชวังหลัง นอกจากภรรยาที่ชื่อจันกับชื่อนิ่มแล้ว สุนทรภู่ยังมีคู่รักอีกหลายคนซึ่งระบุชื่อไว้ในนิราศ แต่ไม่ปรากฏว่าสุนทรภู่อยู่กับใครได้นาน

ตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ราวปีพ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗ สุนทรภู่ทำหน้าที่ถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งประสูติกับเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยดี พระอัครชายา ในช่วงนี้สุนทรภู่ได้แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และกรมศิลปากรยังเข้าใจว่าสุนทรภู่คงจะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไกรภพตอนต้นๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ด้วย

สุนทรภู่รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงปีวอก พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงพระประชวร และได้เสด็จสวรรคตในปีเดียวกันนั้น ภายหลังประชวรอยู่ได้ ๘ วัน สิริพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด