ชีวประวัติของสุนทรภู่

Socail Like & Share

สุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นกวีคนสำคัญของชาติคนหนึ่ง ชีวิตของท่านอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นกวีที่มีชีวิตอยู่ถึง ๔ แผ่นดิน คือถือกำเนิดในรัชกาลที่ ๑ และถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๔ ถึงแม้ในยุคสมัยของสุนทรภู่จะมีกวีที่เรืองนามอีกหลายท่าน และแต่ละท่านมีความเด่นในด้านของตนเอง พระบาท¬ศมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นจินตกวีบทละครรำที่มีพระเกียรติสูงสุด สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงสันทัดในด้านลิลิตและฉันท์จนหาใครเทียบได้ยาก นายนรินทร์ธิเบศ (นรินทร์อิน) เป็นยอดในเรื่องโคลงรำพันพิศวาส สำหรับสุนทรภู่เป็นเอกเหนือกวีคนอื่นๆ ในเรื่องกลอนสุภาพและนิยายประโลมโลก

สุนทรภู่” เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป โดยการนำบรรดาศักดิ์มาผสมกับชื่อจริง กล่าวคือ ชื่อเดิมของท่านว่า “ภู่” และเมื่อรับราชการได้รับแต่งตั้งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร”ในรัชกาลที่๒ และ เป็น “พระสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๔

แม้ว่าสุนทรภู่จะมีชาติกำเนิดในตระกูลสามัญชน แต่ด้วยความสามารถปราดเปรื่องในการแต่งกลอน ได้ช่วยส่งให้สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนัภของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่วรรณคดีประเภทร้อยกรองได้เจริญถึงขีดสุด อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่เกิดมาเพื่อเขียนหนังสือโดยแท้ ท่านเขียนหนังสือได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขียนมาตลอด ๔ รัชกาล ประมาณ ๕๐ ปี และสามารถจะเขียนหนังสือได้ทุกสถานที่ ทั้งในบ้าน ในวัด ในวัง ในเรือ หรือในคุก ผลงานของท่านจึงให้คุณค่าอย่างสูงส่ง เป็นที่ชื่นชมของประชาชนชาวไทยมาจนทุกวันนี้และกวีรุ่นหลังได้อาศัยทัศนะงานนิพนธ์เป็นแบบอย่างสืบมา

ชีวประวัติของสุนทรภู่ประดุจความฝันหรือนวนิยายเรื่องหนึ่ง เพราะตลอดชีวิตเต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่สั่นสะเทือนใจ มีทั้งความรุ่งโรจน์ ตกยากทุกข์เข็ญจนเลือดตาแทบกระเด็น แล้วก็กลับรุ่งโรจน์ขึ้นมาอีก มีตำแหน่งเป็นกวีที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ทีเป็นจอมกวี แต่ต่อมาต้องกลายเป็นคนขี้คุก เป็นพ่อค้าเรือเร่ เป็นคนเจ้าชู้ หรือแม้แต่เป็นคนขี้เมาเมียทิ้ง

ศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ได้กล่าวถึงผลงานของสุนทรภู่ไว้ว่า หากสุนทรภู่สามารถใช้สื่อภาษาที่เป็นสากล ในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือใช้ภาษาที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจ หรือว่าโลกสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่านี้ เมื่อนั้นทั่วโลกอาจจะตะลึงในจิตตารมณ์ที่สุนทรภู่ได้สร้างขึ้น เพราะจิตใจและวิญญาณในทางศิลปะการประพันธ์ของสุนทรภู่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากวีชาติอื่นเลย แต่ในเมื่อโลกเข้าใจภาษาไทยน้อยมาก เสียงศิลปะและความคิดของสุนทรภู่จึงก้องกังวานอยู่เฉพาะ ภายในประเทศไทยเท่านั้น ไม่สะท้อนออกไปกว้างไกลเท่าใดเลย

ถึงแม้ว่าสุนทรภู่จะถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว แต่ผลงานนิพนธ์ของท่านยังคงอยู่ ยังเป็นมรดกที่ลํ้าค่าของชาติไทย โดยเฉพาะงานนิพนธ์ที่เป็นนิราศยังเป็นที่ประทับใจมาตลอด เมื่อถึงวันนี้ ชาวไทยได้เทิดทูนท่านในฐานะอมตกวีที่ควรแก่การสดุดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันยกย่องว่าเป็น “บรมครูทางกลอนแปด” และในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เสนอต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ประกาศเกียรติคุณว่า สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทย มีผลงานทางด้านวัฒนธรรมดีเด่นและเป็นกวีของประชาชน รวมทั้งให้องค์การแห่งนี้ช่วยเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของสุนทรภู่ไปยังสมาชิกทั่วโลกอีกด้วย

ในการเรียบเรียงชีวประวัติของสุนทรภู่ครั้งนี้ ผู้เขียนขอน้อมถวายความเคารพแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงพระนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ขึ้นมา และคำสันนิษฐานของพระองค์ได้เป็นแนวสำหรับผู้สนใจรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแนวทาง นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้อาศัยงานเขียนของผู้รู้อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล เป็นบรรทัดฐานในการเรียบเรียงครั้งนี้ จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพและสำนึกในพระคุณมาตลอด

ปฐมวัยของอมตกวี

พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันเป็นสามัญว่า “สุนทรภู่” เกิดในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้น ๑ คํ่า ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑๙ ปี และหลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีได้ ๔ ปี ในระยะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระทุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้องทำศึกสงครามกับกองทัพพม่าที่ตำบลท่าดินแดง

สุนทรภู่เกิดในสกุลสามัญชน บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฎ เกี่ยวกับบรรพชนของสุนทรภู่ มีการสันนิษฐานเอาไว้หลายประเด็นตามหลักฐานที่แต่ละคนได้ศึกษามาและยังเป็นที่ถกเถียงกันจนทุกวันนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บิดาของสุนทรภู่ เป็นชาวบ้านกรํ่า ในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชาวเมืองใด ได้มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เมื่อสุนทรภู่อายุได้ประมาณ ๒ ขวบ บิดากับมารดาได้หย่ากัน ฝ่ายมารดาได้สามีใหม่ มีลูกหญิงสองคนชื่อฉิมและนิ่ม และได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ จึงได้อยู่กับมารดาที่พระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังตั้งแต่ยังเด็ก

บางท่านได้สันนิษฐานไว้ว่า บรรพบุรุษฝ่ายบิดาและมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปู่ของสุนทรภู่ได้พาญาติและบิดาของสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นยังเล็กอยู่ พยายามลงมาตามสายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านกรํ่า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ปู่ของสุนทรภู่คงจะรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย และเมื่อสิ้นสมัยกรุงธนบุรีจึงได้กลับไปอยู่ที่ระยองตามเดิม ส่วนบรรพบุรุษทางฝ่ายมารดาเป็นชาวไทยที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน และมาตั้งหลักฐานอยู่ที่กรุงธนบุรี มารดาของสุนทรภู่จึงเป็นชาวกรุงธนบุรีนั้นเอง

นายล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์ภาษาไทยวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้สันนิษฐานและแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบรรพบุรุษของสุนทรภู่ โดยพบหลักฐานที่ปรากฎท้ายเรื่องนิราศเมืองเพชรที่พบใหม่ และได้สรุปไว้ว่าบรรพชนของสุนทรภู่เป็นสกุลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ตอนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าก็ได้พลัดพรากกันไป ต่อเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว บรรพชนรุ่นบิดามารดาจึงได้มาเป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง

การศึกษา สุนทรภู่ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ริมคลองบางกอก¬น้อย กรุงเทพฯ ดังความที่ปรากฎในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า

“วัดปะขาวคราวรุ่นรู้        เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน            สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน            หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย            สวาทห้างกลางสวน”

สุนทรภู่คงจะมีความเฉียวฉลาด ปราดเปรื่องในเรื่องวิชาการทางการหนังสือเป็นอย่างยิ่ง มีความรู้ในวิชาเลขและหนังสือ ต่อมาได้สอนวิชาเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่จะทำหน้าที่เสมียน โดยสอนอยู่ที่วัดชีปะขาว นอกจากจะมีอาชีพครูแล้ว สุนทรภู่ยังได้เคยเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวนและอาชีพ บอกดอกสร้อยสักวา ซึงเป็นการละเล่นที่นิยมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เป็นที่น่าเสียดายว่า บทสักวาของสุนทรภู่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ และไม่มีใครจดจำเอาไว้ จึงไม่เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย มิฉะนั้นแล้วชาวไทยคงจะได้ชื่นชมโวหารของสุนทรภู่ทางด้านนี้ ในหนังสือของ ศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ได้เขียนสักวาที่เป็นโวหารของสุนทรภู่เอาไว้บทหนึ่ง โดยกล่าวไว้ว่าทราบมาจากนายแปลก หลานสุนทรภู่ จึงขอคัดมาอีกต่อหนึงดังนี้

“สักวามาพบประสบโฉม    งามประโลมผิวสีฉวีเหลือง
เมื่อผันแปรแลพบหลบชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
พี่หมายรักจักถนอมใคร่กล่อมเกลี้ยง    เป็นคู่เคียงเรียงน้องประคองโฉม
ไม่สมรักหนักหน่วงเพียงทรวงโทรม    มิได้โลมน้องแก้วเสียแล้วเอย”

การเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนมาตั้งแต่วัยรุ่นเช่นนี้ ประกอบกับการมีใจรัก ทำให้สุนทรภู่ไม่ชอบทำงานด้านอื่นจึงลาออกจากงานมาอยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดาเช่นเดิม และหันเหวิถีชีวิตสู่การประพันธ์บทกลอนตามใจรัก ในช่วงนี้สุนทรภู่คงจะมีชื่อเสียงและเริ่มเป็นที่รู้จักกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในวงการสักวาและกลอนดอกสร้อยและคงจะแต่งบทกลอนเบ็ดเตล็ดต่างๆ รวมทั้งนิทานคำกลอนเรื่องโคบุตรด้วย แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องโคบุตรเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งก่อนนิราศเมืองแกลง หรือเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี

วัยหวานของท่านภู่

ด้วยวัยที่หนุ่มคะนอง ประกอบกับความเป็นอัจฉริยะในเชิงกลอน และการได้พำนักในบริเวณพระราชวังหลังทำให้สุนทรภู่ได้ไปลอบรักกับสาวชาววังชื่อจัน เมื่อความนี้ทรงทราบถึงกรมพระราชวังหลัง เป็นเหตุให้ถูกกริ้วและต้องโทษเวรจำด้วยกันทั้งคู่ แต่ถูกขังอยู่ได้ไม่นานเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตในปีพ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งคู่ก็พ้นโทษ

หลังจากพ้นโทษแล้วพอถึงปีพ.ศ. ๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ออกเดินทางไปเมืองแกลง จังหวัดระยองเพิ้อไปหาบิดาซึ่งกำลังบวชอยู่ ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี สาเหตุของการไปเมืองแกลงอีกประการหนึ่งคือ เพื่อต้องการจะไปบวชเป็นการสะเดาะเคราะห์กรรมที่ถูกคุมขัง หรือมีอายุครบเกณฑ์บวชแล้ว ในการเดินทางมีลูกศิษย์ช่วยแจวเรือไปให้สองคน แสดงว่าในเวลานั้นสุนทรภู่เริ่มจะมีชื่อเสียงบ้างแล้ว จึงมีผู้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ในครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้น นับเป็นนิราศเรื่องแรก

เส้นทางไปเมืองแกลงของสุนทรภู่คราวนั้น โดยออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนเจ็ด ใช้เรือประทุนเป็นพาหนะเดินทาง นอกจากจะมีลูกศิษย์ช่วยแจวเรือให้แล้ว ยังมีคนขี้ยาชาวเมืองระยองรับนำทางอีกคนหนึ่ง ออกไปทางคลองสำโรง คลองศีรษะจระเข้ ไปออกปากนํ้าบางมังกร (บางปะกง) แล้วขึ้นบกที่บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี จากนั้นเดินทางบกต่อไป เมื่อถึงเมืองระยองคนขี้ยาที่ทำหน้าที่นำทางได้หลบหนี สุนทรภู่พยายามถามชาวบ้านจนถึงวัดป่าที่บิดาบวชอยู่

เมื่อได้พบบิดาแล้วแต่ยังไม่ได้บวชสุนทรภู่ก็ป่วยเป็นไข้ป่า รักษาตัวอยู่หลายวันกว่าจะหายเป็นปกติและล้มเลิกความคิดที่จะบวช จากนั้นได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ รวมเวลาที่สุนทรภู่ออกไปเมืองแกลงราว ๓ เดือน เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาอยู่ที่พระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ (พระโอรสองค์น้อยในกรมพระราชวังหลัง) ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง และได้แม่จันมาเป็นภรรยาคนแรก ซึ่งคงจะเป็นเพราะพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง หรือที่เรียกกันว่าเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ประทานให้ แต่สุนทรภู่อยู่กินกับแม่จันได้ไม่นานเท่าใดก็มีเรื่องทะเลาะโกรธกัน อาจจะมีสาเหตุมาจากนิสัยเจ้าชู้หรือนิสัยชอบดื่มเหล้าจนเมามายของสุนทรภู่ก็เป็นได้

ปีพ.ศ. ๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสในกรมพระราชวังหลังไปนมัสการพระทุทธบาท จังหวัดสระบุรี กลับมาได้แต่งนิราศพระบาทขึ้น มีถ้อยคำครํ่าครวญ อาลัยความรักที่มีต่อแม่จันเป็นอย่างยิ่ง ในระยะนั้นคงจะยังโกรธกันอยู่ ดังความบางตอนในนิราศพระบาท

“นี่ดู ดู เราขาดแล้วบาดจิต    พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เข้าใจ”

ต่อมาแม่จันคงจะนำความเรื่องนิสัยเมาเหล้าของสุนทรภู่ไปร้องทุกข์ต่อพระองค์เจ้าปฐมวงค์ เป็นเหตุให้ทรงขุ่นเคืองพระทัย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สุนทรภู่รู้สึกคับแค้นใจจึงลาออกจากมหาดเล็ก โดยไปหาอาชีพใหม่ในทางเป็นผู้บอกบทละคร และน่าจะไปบอกบทให้แก่คณะของนายบุญยัง นายโรงละครนอกที่มีชื่อเสียง สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้เป็นหลักฐานในโคลงนิราศสุพรรณว่า

“บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง    คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน            พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน            แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า            พี่อ้างรางวัล”

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด